ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ
ต้องเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ และการเข้าสมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ จะทำให้เกิดความชำนาญในการนำจิตเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยในยามเมื่อจิตต้องการเพิ่มพลังงานในการเจาะทะลุทะลวงความคิดบางอย่างที่มีรากราคะ โทสะ โมหะกล้า คือ อารมณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น มีความละเอียด และมีความยึดมั่นถือมั่นที่เหนียวแน่น
อารมณ์บางอย่างที่มีความยึดมั่นถือมั่นเหนียวแน่น เพราะมีรากมาจากราคะ บางอย่างมีรากมาจากโทสะ มาจากปฏิฆะความขัดเคืองใจ ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจ บางอย่างมีรากมาจากโมหะ ก่อตัวขึ้นมาอย่างรุนแรงและหนักหน่วง ถ้าขืนสู้ก็อาจจะแตกหัก หรือพ่ายแพ้ ก็หลบเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยในสมาธิที่ลึก
การฝึกสมาธิที่สูงขึ้นไปจึงเป็นการสร้างพื้นที่หลบภัยให้กับจิต เหมือนการทอดสมอในยามแล่นเรือไปแล้วเจอพายุใหญ่ต้องทอดสมอยึดเรือไว้ ป้องกันไม่ให้เรือถูกพายุซัดไป ในยามกระทบอารมณ์ที่หนักก็เข้าพักในสมาธิที่ลึกเหมือนไปหลบตั้งหลักในที่ปลอดภัย
อีกอย่างหนึ่ง ในยามใดก็ตามที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ เกิดความฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่าย เศร้าซึม ลังเล สงสัย ไม่เป็นอันดำเนินจิตเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ แม้เพียรพยายามอย่างไร นิมิตในอารมณ์พระกรรมฐานก็ไม่ปรากฏชัด คือ กำหนดอารมณ์กรรมฐานไม่ได้ เมื่ออารมณ์กรรมฐานไม่ปรากฏ การดำเนินจิตเข้าไปสู่ความเป็นกลางก็เป็นไปได้ยาก การเข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่ชำนาญมีความฉลาดในการเข้าสมาธิ ฉลาดในการดำเนินจิตให้ตั้งอยู่ในสมาธิ เป็นต้น ก็จะเป็นเหตุให้ได้รับคำแนะนำสั่งสอน ให้ได้สอบสวนทวนสภาวะในอารมณ์พระกรรมฐาน ทำให้แก้อารมณ์กรรมฐานของตนได้ และรู้ถึงวิธีการที่จะเข้าสมาธิ รู้วิธีในการดำเนินจิตให้ตั้งอยู่ในสมาธิ รู้วิธีดำเนินจิตเข้าสมาธิสูงขึ้นไป เรียกตามที่นิยมกันในหมู่ผู้ปฏิบัติสมาธิก็ว่า สอบอารมณ์ซึ่งก็คือ การสนทนา สอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติ นั่นเอง
ทุกครั้งที่คิดไปจนสิ้นสุดความคิด จิตจะกลับเข้าสู่ความว่างภายใน จิตจะกลับเข้าไปอยู่กับความสงบ มีความเป็นเอกภาพ ดำรงสภาวะความเป็นกลางในอุเบกขา
ขณะที่จิตเข้าสู่ความสงบ ก็ยังมีกระแสความคิดอยู่ แต่เป็นกระแสความคิดที่เรียกกันว่า ธรรมารมณ์ เป็นห้วงความคิดภายใน
เพราะในขณะนั้น จิตสงัดจากการรบกวนจากกามคุณภายนอก ไม่หน่วงอารมณ์ภายนอกเข้ามา ปิดการรับอารมณ์จากภายนอก ไม่เติมเชื้อจากภายนอก แต่จิตก็ดึงเอาอารมณ์ที่สะสมไว้ภายในขึ้นมาคิดปรุงแต่ง อารมณ์ภายในนี่แหละ เรียกว่า ธรรมารมณ์ เหมือนตะเกียงที่ไม่ได้เติมน้ำมันใหม่เข้าไป ไส้ตะเกียงก็ดึงน้ำมันเก่าที่อยู่ภายในตะเกียงมาใช้ให้เกิดแสงไฟต่อเนื่อง
จากนั้น ค่อยๆ ให้ความคิดภายในสงบระงับไปตามลำดับ
บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๗) ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)