วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๕ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๙ จบ)

“รู้ความหมายภวังคจิตเข้าใจเรื่องจิตตกภวังค์ “

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

รู้ความหมายภวังคจิตเข้าใจเรื่องจิตตกภวังค์

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเราสนใจที่จะปฏิบัติสมาธิ ก็มักจะได้ยินคำว่า “จิตตกภวังค์” ที่พูดกันในหมู่ผู้ปฏิบัติอยู่บ่อยๆ  

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในเรื่องนี้ จึงขอพูดไว้พอเป็นหลัก  ที่จริงก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการปฏิบัติโดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรจะรู้ไว้ เพราะเมื่อได้ยินพูดกันถึงคำนี้ ก็จะได้ไม่หลงไปว่า เป็นคำที่วิเศษในทางปฏิบัติ

จะได้เป็นการฟังอย่างเข้าใจในความหมาย ไม่ใช่ฟังอย่างที่ตัณหาและทิฐิเข้าไปอิงอาศัยคิดอยากให้เป็นอย่างที่ใจอยาก

จิตตกภวังค์เป็นแต่เพียงคำที่ใช้สื่อความหมายถึงอาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติสมาธิขณะจิตกำลังดำเนินไปสู่ความสงบก็เกิดอาการสะดุดขึ้นมาอย่างกระทันหัน พูดง่ายๆ ก็เป็นคำที่ครูบาอาจารย์ท่านใช้สื่อสารกับลูกศิษย์ลูกหาในการอธิบายสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติสมาธิเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นคำที่พิเศษออกไปแต่อย่างใด

แล้วภวังคจิต คือ อะไร

ภวังคจิตเป็นการอธิบายกระบวนการทำงานของจิตตามพระอภิธรรม หมายถึง จิตดั้งเดิม

จิตดั้งเดิมมาจากไหน

ดั้งเดิมตั้งแต่เกิดมาทีแรก ซึ่งมีคำเรียกจิตตั้งแต่เกิดมาทีแรกนี้ว่า “ปฏิสนธิจิต” จากปฏิสนธิจิตก็สืบต่อมาเป็นภวังคจิต แล้วจิตก็สงบนิ่งอยู่ในรูปของภวังคจิตเหมือนคนนอนนิ่ง จนกว่าจะมีอารมณ์อะไรมาทำให้เคลื่อนออกจากภวังค์

จิตแรกที่เกิดนี้มีความเป็นปภัสสร ยังใสอยู่ ยังไม่มีอะไรมากวนให้ขุ่น ยังสะอาดอยู่ เพราะอาสวะกิเลสยังสงบนิ่งอยู่ตามลักษณะเดิมของภวังคจิต

กามราคะ ปฏิฆะ อวิชชาซึ่งเป็นกิเลสละเอียดยังไม่ฟุ้งขึ้นมา จิตก็เลยยังไม่ขุ่น ช่วงนั้นจิตจึงป็นจิตปภัสสร ยังผ่องใสอยู่แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส มีอยู่เพียงแต่กิเลสยังนอนก้น ยังไม่มีอารมณ์อะไรมากวนให้ฟุ้งขึ้นมาปกปิดใจ กิเลสละเอียดที่หมักดองอยู่จะค่อยๆ ฟุ้งขึ้นมาพร้อมๆ กับการเติบโตของอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

“อายตนะที่เกิดการสั่นสะเทือน

เพราะรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนี่แหละ

ไปรบกวนให้อาสวะกิเลส

ที่นอนก้นนิ่งอยู่ให้ค่อยๆ ฟุ้งขึ้นมา”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เป็นกิเลสมูลฐานผสมกันเข้าแล้วพัฒนาต่อไป เราโตขึ้นเท่าไหร่ ก็ฟุ้งมากขึ้นเท่านั้น เมื่ออายตนะเติบโตเต็มที่ก็รับรู้อารมณ์ได้เต็มที่ จำได้หมายรู้สุขทุกข์ ชอบชังได้เต็มที่ ปรุงแต่งจินตนาการได้เต็มที่ อาสวะกิเลสก็ฟุ้งขึ้นมาเต็มที่

จิตจะเคลื่อนออกจากภพของตนเองขึ้นสู่เส้นทางของอายตนะคือ ตา หู จมูก  ลิ้น กาย ใจอย่างต่อเนื่องเป็นกระแส จนกลายเป็นกระแสชีวิต

กามราคะ ปฏิฆะ อวิชชาที่สงบนิ่งอยู่ในภวังคจิต พอถูกสั่นสะเทือนจากตา หู อยู่บ่อยๆ ก็ฟุ้งขึ้นมาปกคลุมใจให้เป็นใจมืดใจบอด พฤติกรรมการแสดงออกของคนจึงเต็มไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ จนกลายเป็นโลภะกล้า ราคะกล้า โทสะกล้า และโมหะ คือ ลุ่มหลงอย่างแรงกล้า

อีกอย่างหนึ่ง จิตที่เป็นตัวจิตเดิมแท้ยังไม่มีอารมณ์ หรือกิเลสจรมาสู่ใจ เรียกว่าภวังคจิตเป็นภพเดิมของจิต ทำหน้าที่ในการดำรงภพชาติไว้ เมื่อเข้าสู่ปฏิสนธิวิญญาณภวังคจิตนี้ก็จะเป็นตัวภพให้กระแสชีวิตดำเนินไปทำให้นามรูปดำรงอยู่ในที่นี้ มุ่งถึงการมีชีวิต

ภวังคจิตก็ดำรงการมีชีวิตอยู่แบบนี้มาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เป็นการทำหน้าที่ต่อจากปฏิสนธิจิต เมื่อชีวิตเติบโตขึ้นมาตามลำดับ การรับรู้ก็จะเติบโตขึ้นมาตามลำดับ ตามอารมณ์ที่รับรู้ผ่านวิถีทางตา หู จมูก เป็นต้น

ที่ว่าภวังคจิตเป็นจิตดั้งเดิม มีความเป็นปภัสสรนั้น มุ่งหมายเอาจิตที่ยังไม่มีอารมณ์ ยังเป็นจิตที่ไม่รับอารมณ์ เหมือนคนนอนหลับอยู่ก็ไม่รู้เรื่องอะไร ใครจะทำอะไรก็ไม่รู้ พอตื่นขึ้นมาก็งัวเงีย  ความรู้สึกตัวก็ค่อยๆ เริ่มชัดขึ้นจนรับรู้สิ่งรอบตัว

จิตที่อยู่ในภวังคจิตเมื่อมีการกระทบอารมณ์จึงเคลื่อนออกจากฐานมารับอารมณ์ตามทางของตน ถ้ายังไม่มีอะไรมากระทบก็นิ่งอยู่ กระทบอารมณ์ทางไหนก็เคลื่อนออกมาทางนั้น ทางที่จิตเคลื่อนออกมารับอารมณ์นั่นแหละ เรียกว่า “วิถีจิต” ทางที่จิตออกไปรับอารมณ์ บางครั้งก็เคลื่อนออกมารับอารมณ์ทางตาเรียกว่า “จักขุวิถีวิญญาณ”บางครั้งก็เคลื่อนออกมารับอารมณ์ทางหู เรียกว่า“โสตวิถีวิญญาณ”เป็นต้น

            เข้าใจง่ายๆ ขณะที่จิตยังไม่รับอารมณ์ ยังนิ่งๆ อยู่ในภพเดิมของตน เรียกว่า “ภวังคจิต

ขณะที่จิตเคลื่อนออกไปรับอารมณ์ เรียกว่า “วิถีจิต

โดยเรียกอาการที่จิตเคลื่อนออกจากฐานหรือเคลื่อนจากภพของตนไปรับอารมณ์นั้นว่า วิถีจิต เหมือนคนนอนอยู่ในบ้านของตนเองแล้วออกไปทำงานได้หลายเส้นทาง แล้วแต่ว่าวันไหนจะใช้เส้นทางใด

แต่ไม่ว่า จะเป็นภวังคจิต หรือ วิถีจิต ก็จิตอันเดียวนี่แหละ เพียงแต่ทำคนละขณะจิต และเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เหมือนคนไม่ว่าจะนอนอยูในบ้าน หรือขับรถออกไปทำงาน ก็คนคนเดียวกัน แต่ทำคนละหน้าที่ หรือทำคนละครั้ง

เพราะจิตเกิดการสั่นสะเทือนจากการเคลื่อนตัวขึ้นสู่วิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอด อาสวะกิเลสจึงไม่สงบ ก็ฟุ้งขึ้นมาอยู่ตลอด

 จิต หรือ วิญญาณนี้ โดยปกติจะนิ่งอยู่ในภวังค์ เป็นกระบวนการดำรงอยู่ของกระแสชีวิต และกระแสชีวิตจะดำรงอยู่ก็ด้วยอาหาร คือ อาสวะกิเลสที่กักตุนไว้นอนเนื่องดองอยู่ในจิต บางขณะก็จะออกไปหาอาหาร คือ กามคุณ ๕ จากข้างนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส มากักตุนไว้ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

จิตเมื่อยังอยู่ในร่างกาย เป็นธาตุรู้ ยังไม่แสดงอาการอะไรออกมาแค่ดำรงความเป็นภพ เป็นชาติ ดำรงกระแสชีวิตไว้เท่านั้น จนกว่าจะมีอะไรมากระทบเข้าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตจึงออกจากภวังค์ไปรู้อารมณ์นั้นตามวิถีของตน ๖ ทาง แล้วแต่ว่า จิตจะใช้เส้นทางไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ากระทบกับอารมณ์แบบใด ถ้าเป็นรูปก็ใช้วิถีรู้ทางตา ถ้าเป็นเสียงก็ใช้วิถีรู้ทางหู

จิตทำหน้าที่รู้ รู้ตอนแรกก็เป็นวิญญาณ ๖ คือ รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาเห็นรูป ก็รู้ว่าเป็นรูป หูได้ยินเสียงก็รู้ว่าเป็นเสียง จมูกได้กลิ่นก็รู้ว่าเป็นกลิ่น ลิ้นลิ้มรสก็รู้ว่าเป็นรส

รู้ถัดมาแรงขึ้นมาอีกก็เป็นรู้ผัสสะรู้ว่ามีการกระทบ มีการสัมผัส

รู้ถัดมาก็แรงขึ้นมาอีกเป็นเวทนารู้สึกสุขทุกข์ แม้จะแปลว่าเสวยอารมณ์ แต่แปลตรงตัวก็แปลว่ารู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกชอบรู้สึกชัง รู้สึกโกรธ รู้สึกเกลียด

รู้ถัดมาก็รู้แบบสัญญาจำได้หมายรู้ก็เป็นความรู้อีก คือรู้จำได้ว่ากระทบอารมณ์แบบนี้เป็นสุขชอบใจ กระทบอารมณ์แบบนี้เป็นทุกข์ ขัดเคืองใจ

รู้ถัดมาก็เป็นสังขาร คือรู้ปรุงแต่งก็เป็นความรู้อีกเป็นกระบวนการของวิญญาณ แต่เป็นการขึ้นสู่วิถีตามอำนาจอาสวะกิเลสที่หมักดองอยู่ในสันดานจนเกิดความเคยชิน

กระบวนการรู้ของจิตทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นเร็วมาก ซับซ้อนไขว้กันไปมาระหว่างตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยิ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง หลายวันเดือนปี หลายภพชาติก็ยิ่งสลับซับซ้อนผูกปมซ้อมปมไขว้กันไปมาจนยากจะแก้ออก

“ด้วยความที่จิตรับอารมณ์

ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล

สลับซับซ้อนผูกปมซ้อนปม

ไขว้กันไปมาเช่นนี้

เวลากรรมเผด็จผล

จึงวิจิตรพิดารเกินที่คนจะเข้าใจ

จนดูเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

การอธิบายกระบวนการทำงานของจิตตามแบบพระอภิธรรมจะเป็นแบบนี้ เป็นการทำหน้าที่ของจิตตามธรรมชาติ กิเลสก็ดองหมักหมมอยู่ในการทำงานของจิตนี่แหละ จนกลายเป็นความเคยชิน แล้วเราก็หลงไปกับความเคยชินนั้นตลอดสาย

“พระพุทธเจ้าให้ฝึกหัดเปลี่ยนความเคยชิน

จากวิถีหลงไปขึ้นสู่วิถีรู้

ตามทางกรรมฐาน

จิตก็ดิ้นรนไม่อยากไป

ฝึกอย่างไร หัดอย่างไร

ก็ไม่อยากไป

เพราะไม่เคยไปทางนั้น

ให้ไปทางใหม่ก็ไม่อยากไป

ก็ต้องค่อยๆ สอนทางใหม่ให้จิตรู้ทางขึ้นมา

พระอาจารย์ญาณวชิระ

จากเคยชินกับวิถีหลง ก็มาฝึกมาหัดให้ไปทางวิถีรู้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๙ จบ) “รู้ความหมายภวังคจิตเข้าใจเรื่องจิตตกภวังค์ “เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here