วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑
บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๘)
“จิตตกภวังค์คืออะไร”
เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)
จิตตกภวังค์คืออะไร
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องจิตตกภวังค์ ผู้ปฏิบัติสมาธิมักจะได้ยินคำนี้อยู่บ่อยๆ ซึ่งครูบาอาจารย์ท่านใช้อธิบายสภาวะจิตขณะดำเนินไปสู่ความสงบ แต่เกิดเผลอสติทำให้วูบดิ่งลงไปอย่างเร็วชั่วขณะ เหมือนลิฟต์ดิ่งลงแบบไม่ชะลอลง บางขณะเหมือนจิตตกวูบลงมาจากที่สูง ชั่วขณะจิตหนึ่งก็สะดุ้งขึ้นมามีอาการเหมือนคนโงกง่วงวูบไปชั่วขณะก็สะดุ้งขึ้นมา
“แต่อย่างไรก็ตาม
ก็อย่าไปใส่ใจว่าจะเป็นอะไร
เพราะแม้จะอธิบายเป็นจิตตกภวังค์
หรือโงกง่วง
ก็เป็นเพียงอาการหนึ่งของจิตที่ต้องรู้เท่านั้น”
พระอาจารย์ญาณวชิระ
พอจิตตกลงไป ก็คือไม่รู้ นั่นแหละอวิชชาปรากฏ จะอธิบายให้ดูเป็นคำแปลกขึ้นมาในทางสมาธิ ก็เป็นเพียงอาการของจิตที่เผลอสติจึงปล่อยให้วูบไป ที่นำมาอธิบายไว้ก็เพื่อจะให้รู้ไว้เท่านั้น เมื่อมีการพูดถึงคำนี้ก็จะได้เข้าใจความหมายของภาษาที่ใช้สื่อสารกันในหมู่ผู้ปฏิบัติสมาธิ ไม่ใช่คำที่วิเศษออกไปแต่อย่างไร
“จิตตกภวังค์หรือจิตตก
เพราะโงกง่วง
ก็คือจิตเผลอสติ”
พระอาจารย์ญาณวชิระ
จิตไม่อยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นจิตมีโมหะ มีถีนมิททะ มีอุทธัจจะกุกกุจจะ จึงเผลอสติ รวมความก็คือเป็นจิตมีลักษณะแห่งอวิชชาไม่รู้ปัจจุบันขณะ เพราะไม่ตั้งมั่นในอารมณ์พระกรรมฐาน
อาการของจิตตกภวังค์กับอาการของจิตสัปหงกโงกง่วง จะมีอาการคล้ายๆ กัน คืออาการเผลอเลอลืมสติ แต่ก็มีความต่างกัน คือ เมื่อมีความง่วงเราก็จะรู้สึกว่าง่วงนอนมาก พยายามฝืนความง่วง พอเผลอสติก็สัปหงกโงกง่วงไป ก็สะดุ้งสุดตัว ส่วนจิตตกภวังค์ เมื่อกำหนดภาวนาไปพอเกิดเบาสบาย เพราะจิตกำลังรวมดวงดำเนินไปสู่ความสงบ เกิดเผลอสติเพราะอารมณ์เบาสบาย ขาดสติกำหนดองค์พระกรรมฐาน ขาดความรู้ตัวทั่วพร้อม ก็วูบลงสู่ภวังค์ชั่วขณะ คือ จิตตกลงสู่ภวังค์แบบขาดสติ จึงไม่มีสติเป็นเครื่องชะลอลง ก็สะดุ้งกลับขึ้นมา เหมือนเวลาจับเชือกหย่อนของหนักๆ ลง เราก็ค่อยๆ ชะลอลง ถ้าไม่ชะลอลง ปล่อยเชือกเสียก็ร่วงลงที่เดียว
“สติก็หมือนเชือก
ที่คอยชะลอจิตขณะรวมดวงสู่ภวังค์”
พระอาจารย์ญาณวชิระ
จิตตกภวังค์จึงเป็นคำเรียกสภาวะจิตนี้ในหมู่ผู้ปฏิบัติสมาธิ โดยนำคำว่า “ภวังคจิต” ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระอภิธรรม ที่อธิบายกระบวนการทำงานตามธรรมชาติของจิต มาอธิบายสภาวะจิตขณะปฏิบัติสมาธิแล้ววูบไปชั่วขณะ บางทีก็อธิบายว่า จิตตกภวังค์ คือจิตตกลงสู่ภพเดิมของตนเอง หรือจิตดั้งเดิม ภพเดิมของจิตมีธรรมชาติเป็นปภัสสร แต่การที่จิตตกภวังค์เข้าสู่ภพเดิมแบบกระทันหันจะเป็นเพียงชั่ววูบเดียว เพราะเผลอสติจิตจึงร่วงลงสู่ภพเดิม แล้วสะดุ้งขึ้นมา ไม่ใช่การเข้าสู่ภพเดิมแบบมีสติสมบูรณ์ อยู่กับสภาวะปัจจุบันขณะดำเนินไปสู่ความสงบ จิตตกภวังค์จะคล้ายๆ อาการสะดุ้งตื่นจากอาการสัปหงกโงกง่วง วูบหลับไปแล้วสะดุ้งตื่น บางทีก็เหมือนได้นอนตื่นหนึ่ง จิตก็จะมีกำลังขึ้นมา มีความตื่นตัวเหมือนนอนอิ่ม
เพียงแต่จิตตกภวังค์ใช้อธิบายอาการสภาวะจิตขณะปฏิบัติสมาธิแล้วจิตวูบไปเพราะเผลอสติชั่วขณะหนึ่งก็ยกจิตขึ้นมาแล้วกำหนดองค์ภาวนาต่อไป ความต่างกันระหว่างความโงกง่วงกับจิตตกภวังค์ คือ เมื่อภาวนาไปเกิดความง่วงซึ่งเกิดจากความอ่อนเพลียของร่างกาย ก็จะรู้สึกว่าง่วงเราก็ฝืนใจที่จะปฏิบัติสมาธิต่อ จึงสัปหงกโงกง่วงไป แล้วสะดุ้งทั้งตัว
ส่วนจิตตกภวังค์ ผู้ปฏิบัติอยู่ในอาการเบาสบาย เพราะจิตกำลังรวมดวงดำเนินเข้าสู่ความสงบ ความเบาสบายทำให้เผลอเลอลืมสติขาดการกำหนดรู้สภาวะที่เป็นปัจจุบัน ความรู้สึกเบา เบากายเบาใจ เพราะความสงบทำให้สติอ่อนกำลัง จึงเป็นจิตที่มีลักษณะถูกโมหะเข้าครอบ ถูกถีนมิททะ ถูกอุททัจจะกุกกุจจะเข้าครอบ ทำให้เป็นจิตฟุ้งๆเบลอๆ เลื่อนลอยอ่อนกำลัง มีความไม่ชัดเจน สติก็ไม่แจ่มชัด สมาธิก็ไม่ชัดเจน มีความคิดปนอยู่ด้วย แต่ไม่ชัดว่าคิดอะไร จิตอ่อนกำลังจึงตก เหมือนคนป่วยหนักอ่อนกำลังกำลังจึงตก พยายามที่จะฝืนกำลังกลับขึ้นมา พอฝืนขึ้นมากำลังก็ตกลงไปอีก ถ้าฝืนใจยกกำลังกลับขึ้นมาอยู่เรื่อย กำลังใจก็จะกล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนกำลังคงที่ เหมือนคนออกกำลังกายบ่อยกล้ามเนื้อก็แข็งแรง
เมื่อจิตจะเข้าสู่ภพเดิมก็สามารถเข้าแบบชะลอตัวค่อยๆ เข้าไป เป็นการเข้าไปแบบประคองตัว โดยมีสติคอยกำกับ
อาการที่จิตตกวูบเรียกว่า
“จิตตกภวังค์”
พระอาจารย์ญาณวชิระ
แต่ถ้าตกไปแล้ว สามารถชะลอจิตให้เบาผ่านไปได้จนจิตมีกำลัง ก็จะสามารถประคองจิตเข้าสู่ความเป็นเอกภาพ มีความว่างภายในได้ คือจิตกำลังดิ่งอยู่ แต่เผลอสติปล่อยให้ตกวูบลงไปทีเดียว ก็เรียกว่า ขาดสติประคองจิต อาการนี้เป็นอาการของจิตที่เจือด้วยถีนมิททะ อุททัจจะกุกกุจจะ มีความโงกง่วง ฟุ้งๆ เบลอๆ เพราะสติไม่บริบูรณ์
พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาาณวชิโร) ในขณะนั้น (ภาพในอดีต)