บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

(บทที่ ๔)
“ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ”
เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดโดย หมอนไม้
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดโดย หมอนไม้

ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ

เมื่อจะออกจากสมาธิ ก็ต้องเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ ต้องกำหนดรู้สภาวะในขณะนั้นเป็นอย่างไร แล้วหมายใจกำหนดรู้สภาวะนั้นไว้ จากนั้น ก็ถอนจิตออกไปเพ่งกำหนดรู้ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็จะเด่นชัดขึ้นมาจากละเอียด ปรากฏเป็นหยาบ แล้วความรู้ตัวทั่วพร้อมทางกายก็จะปรากฏชัดตามมา ความรู้สึกปวด เจ็บ เมื่อย เหน็บชา ก็จะปรากฏให้รับรู้

การออกจากสมาธิไม่ถูกวิธีจะเปรียบก็เหมือนกระโดดลงจากตึก และสมาธิในบัลลังก์ต่อไปจะต่อกันไม่ติด การนั่งสมาธิจึงเหมือนไม่มีความก้าวหน้า จะเหมือนเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง เพราะไม่สามารถกำหนดอารมณ์ให้ต่อเนื่องไม่ขาดสาย ไม่ให้มีระหว่างขั้น

เมื่อจะออกจากสมาธิต้องจดจำหมายรู้สภาวะจิตขณะก่อนจะออกจากสมาธิแต่ละบัลลังก์นั้นว่าเป็นอย่างไร

อยู่ในสภาวะที่ดีหรือไม่ดี แนบแน่นหรือไม่แนบแน่น กระสับกระส่ายทุรนทุราย ร้องขออยากจะออกจากสมาธิ หรือนั่งสงบดีแล้วถอนออกมาตามเวลาอย่างมีสติกำหนดรู้หรือออกจากสมาธิ เพราะสะดุ้งจากเสียงอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัว เช่น มีคนเรียกเสียงดัง มีสิ่งของหล่นลงข้างๆ มีสัญญาณเตือนบอกกำหนดระยะเวลา เป็นต้น ถ้าออกจากสมาธิด้วยอาการสะดุ้ง จะเหนื่อย หัวใจจะเต้นแรงถี่ มีอาการเหมือนคนสะดุ้งตกใจ ให้มีสติระลึกรู้ขณะจิตทุกระยะ

            อาการดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นในระยะแรกของการปฏิบัติสมาธิ

พอปฏิบัติไปสักระยะหนึ่ง เมื่อเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม สติบริบูรณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดเสียงอะไรขึ้น ก็จะมีสติกำหนดรู้ แล้วเสียงนั้นก็จะเงียบหายไปในที่เกิด เสียงเกิดที่ไหนก็จะเงียบหายไปในที่นั้น คือเสียงเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น กลายเป็นสิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นก็ดับไป สติก็จะนำจิตตัดเข้าสู่ความว่างภายใน

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

            การออกจากสมาธิต้องออกทีละขั้นตามลำดับ เหมือนลงจากบ้านตามขั้นบันได ต้องลงทีละขั้นตามลำดับ ไม่ใช่กระโดดลงมาจากชั้นบนเลย หรือเหมือนออกจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต้องออกทีละโปรแกรมไปตามลำดับ จนกว่าจะไปถึงปิดเครื่อง  ถ้าออกจากคอมพิวเตอร์แบบปิดเครื่องเลย หรือแบบถอดปลั๊กไฟเลย โดยไม่ออกตามลำดับโปรแกรม เครื่องอาจจะพังได้  การออกจากสมาธิตามลำดับสภาวะอารมณ์  ก็เพื่อให้สภาวะอารมณ์ต่อกันติดในการนั่งสมาธิในบัลลังก์ต่อๆ ไป คือ ให้การนั่งสมาธิในแต่ละบัลลังก์เป็นปัจจัยหนุนซึ่งกันและกันนั่นเอง

การไม่กำหนดสติออกจากสมาธิก็เหมือนหลับแล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมาก็ลุกไปเลย

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

สมาธิ ภาพประกอบ สีถ่านกับสีฝุ่น โดย หมอนไม้
สมาธิ ภาพประกอบ สีถ่านกับสีฝุ่น โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๔) “ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here