วันนี้วันพระ วันศุกร์ที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑
บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๐)
“อวิชชา คือ ความไม่รู้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ”
เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)
อวิชชา คือ ความไม่รู้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด
อวิชชา คือ ความไม่รู้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ไม่รู้ในอะไรจึงเกิดทุกข์ จะดูอวิชชาให้เห็นง่ายๆ ก็ให้ดูที่นิวรณ์ ๕ ความไม่รู้ว่า ความอยากในกาม ความพอใจในกาม ความที่จิตแส่ออกไปหาสิ่งที่ใคร่ที่พอใจเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เมื่อไม่รู้ก็ทำตามอำนาจของกามฉันทะ เมื่อทำตามก็ก่อความทุกข์ เมื่อมารู้ว่า ความพอใจในกามทำให้จิตวิ่งออกไปหยิบฉวยเอาสิ่งก่อทุกข์จากข้างนอกมาใส่ไว้ในใจ สติก็ห้ามเสีย กามฉันทะ ความพอใจใจกามก็ดี อภิชฌา ความเพ่งเล็งยินดีก็ดี ราคะก็ดี ก็คือโลภะอันเดียวกัน พอรู้ว่า จิตจะเตร่ออกไปหาสิ่งที่พอใจ แล้วจะนำทุกข์กลับมาด้วย สติก็ห้ามเสีย ไม่ให้จิตออกไป จิตมีความอยาก เมื่อถูกห้ามก็ทุรนทุราย ขุ่นมัว ไม่แจ่มใส
พอเพ่งดูจนรู้นิวรณ์ข้อกามฉันทะ ว่า ออ! ตัณหาความอยากในกามนี่เอง เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ดวงตาก็เกิดขึ้น ปัญญาก็เกิดขึ้น ญาณก็เกิดขึ้น วิชชาก็เกิดขึ้น แล้วเกิดความโปร่งโล่งแจ้ง สว่างไสวอยู่ภายใน เป็นความเอิบอิ่มใจว่า
“ช่างประเสริฐเหลือกิน
เราได้รู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว
ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาแล้ว”
พระอาจารย์ญาณวชิระ
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
อวิชชาไม่รู้ว่า ความพยาบาทเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ ความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาต รวมความว่า ความพยาบาทเกิดจากความไม่ชอบใจ คือโทมนัส ก็แก้ที่เหตุ คือ ไม่ปล่อยให้ทำตามอารมณ์ที่ใจชอบ คือ อภิชฌา และอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ คือโทมนัส
อะไรก็ตามที่ทำตามความชอบ ความชัง ความพอใจ ไม่พอใจ ก็ล้วนเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งสิ้น ก็รักษาจิตไว้เป็นกลางๆ ไม่ชอบ ไม่ชัง จิตที่ชอบก็จะมีแต่ความมัวเมาชุ่มด้วยความอยาก คือ กามฉันทะ
จิตที่มีพยาบาท ก็จะมีแต่ความขัดแย้ง ขัดเคือง ไม่พอใจ มองคนอื่นด้วยสายตาแห่งการดูหมิ่นดูแคลน ปรามาส สบประมาท เย้ยหยัน จะคอยแส่ออกไปหาเรื่องทุกข์ เรื่องเดือดร้อน พอจิตมีความไม่พอใจก็มีความไม่เที่ยงตรงเป็นอคติ จิตมีความไม่พอใจพยาบาทขัดเคืองก็เป็นจิตขุ่นมัว ไม่แจ่มใส
เพ่งดูให้รู้นิวรณ์ข้อพยาบาทว่า จิตที่มีความพยาบาท ก็จะมีแต่ความหงุดงิด ขัดแย้ง ขัดเคือง ไม่พอใจ เดือดดาลใจ ชอบมองคนอื่นด้วยสายตาแห่งการดูหมิ่นดูแคลน เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด เมื่อรู้เช่นนี้ก็ปิดอารมณ์ความรู้สึกพยาบาทลงเสีย แล้วเปิดอารมณ์ความรู้สึกกรุณาขึ้นมาในจิตใจ ดวงตาก็เกิดขึ้น ปัญญาก็เกิดขึ้น ญาณก็เกิดขึ้น วิชชาก็เกิดขึ้น เกิดความโปร่งโล่งแจ้ง มีความสว่างไสวอยู่ภายใน ก็จะมีแต่ความเอิบอิ่มใจ
อีกอย่างหนึ่ง คือ ถีนมิททะ ความง่วงเหงาหาวนอน ทำให้จิตใจไม่เบิกบานแจ่มใส สะลึมสะลือ ทึบทื่อ เฉื่อยชา ไม่ว่องไว ไม่มีกำลังพอที่จะต้านทานอกุศลในใจได้ เมื่อมีความง่วงสติก็ไม่ทำงาน ปัญญาก็ไม่ทำงาน จิตที่มีความง่วงก็จะทื่อๆ เหมือนจอบเหมือนเสียมเหมือนมีดพร้าที่ทื่อ จะขุด จะสับ จะตัด ก็ไม่ถนัดถนี่ จิตที่ง่วงจะเฉื่อยชา ไม่รู้ กำลังจิตจะตก แม้พยายามยกจิตขึ้น จิตก็จะตกลงไปอีก ไม่มีกำลังพอที่จะขบคิด พิจารณาไตร่ตรองอะไรได้ จะขุ่นมัว ไม่แจ่มใส
อีกอย่างหนึ่ง คือ อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านทำให้จิตไร้หลัก เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็ไม่ชัดเจน ฟุ้งๆ เบลอๆ เพราะมีฝุ่นละอองกิเลสต่างๆ ลอยฟุ้งขึ้นมาปกปิดใจอยู่ตลอด ทำให้คิดแบบไม่มีหลัก เพื่อป้องกันความฟุ้งซ่าน จึงให้ตั้งหลักความคิดไว้ที่ลมหายใจ ให้ใจนิ่งใจใสก่อน เมื่อใจมีหลัก ใจก็นิ่งไม่ไหว ความฟุ้งซ่านก็ลดลง ละอองกิเลสก็ค่อยๆ สงบลง สติก็แจ่มชัดขึ้นมา ปัญญาก็แจ่มชัดขึ้นมา ความรู้ก็แจ่มชัดขึ้นมา เมื่อไม่มีความฟุ้งซ่าน ความขุ่นมัวก็ลดลง เป็นใจใส ใจสะอาด เหมือนขวดน้ำที่ตั้งไว้นิ่งๆ น้ำในขวดก็เริ่มนิ่ง ฝุ่นละอองในขวดน้ำก็เริ่มนอนก้น ในที่สุดน้ำในขวดก็ใส
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
ละอองกิเลสที่นอนก้นอยู่ในใจ พอใจไหวก็คอยลอยขึ้นมาปกปิดใจอยู่เรื่อย เรียกว่า อนุสัย คือ กิเลสละเอียด ได้แก่ ทิฐิ หลงในความคิดความเห็น ปฏิฆะ ความขุ่นข้องหมองใจ ความขัดเคืองใจ ราคะ ความยินดีติดใจในกาม ภวะ ความยึดติดในความมีความเป็น เป็นอะไรก็ยึดในสิ่งนั้น มีอะไรก็ยึดในสิ่งนั้น มานะ ความถือตัวถือตน ความอวดดื้อถือดี และอวิชชา ความหลงไม่รู้จริง
อีกอย่างหนึ่ง คือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เพราะไม่รู้จริงจึงลังเล แต่ถ้ารู้จริงแล้วก็ไม่ลังเลสงสัย ที่ไม่รู้จริงก็เพราะขาดการได้ยินได้ฟัง ขาดการศึกษาเล่าเรียน ขาดครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน ก็คิดเองเออเองไป ไม่รู้ถูกรู้ผิด ขาดการขบคิด ใคร่ครวญ พิจารณา ไตร่ตรอง สอบสวนหาความจริง จนสิ้นสงสัย
การฟังครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน ก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้หมดความลังเลสงสัย การศึกษาหาความรู้ การสอบถาม การอ่านหนังสือ อ่านตำรับตำรา และการขบคิด ใคร่ครวญ ก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้หมดความลังเลสงสัย
บางแห่ง เวลาปฏิบัติธรรมจึงมีการสอบอารมณ์ คือ ครูบาอาจารย์เปิดโอกาสให้พูดคุยสนทนาสอบถามเพื่อแก้ข้อสงสัยในการปฏิบัติ บางคนพอครูบาอาจารย์เปิดโอกาส แทนที่จะสอบถามเรื่องการปฏิบัติก็เอาปัญหาเรื่องโลกแตกมาสอบมาถาม คอยดึงออกนอกทางปฏิบัติก็ไม่ได้ประโยชน์ต่อการก้าวในการภาวนา
การสอบอารมณ์
นอกจากช่วยแก้ข้อสงสัยในการปฏิบัติแล้ว
ครูบาอาจาย์ท่านยังถือเป็นโอกาส
ให้ข้อธรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ด้วย
พระอาจารย์ญาณวชิระ
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส
จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
เมื่อบอกว่า อวิชชา เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด จะเริ่มต้นแก้เหตุแห่งทุกข์ตรงไหนก่อน ก็เริ่มต้นแก้ที่นิวรณ์นี่แหละก่อน เมื่อทำลายเครื่องกีดขวาง คือ นิวรณ์ลงได้ แสงแห่งความรู้ก็เริ่มฉายส่องพาดผ่าน อวิชชา คือ ความมืดในจิตแสงแห่งความรู้พาดผ่านไปถึงไหน ความไม่รู้ก็หมดไปที่นั่น
อวิชชาความไม่รู้เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพื่อจะไม่ให้ทุกข์ ก็สร้างเหตุแห่งปัญญาขึ้นมา เมื่อสร้างเหตุแห่งปัญญาขึ้นมาได้ มีความรู้แล้ว มีสติแล้ว ไม่หลง ไม่ลืม ไม่เผอเรอลืมสติแล้ว มันก็ดับอวิชชาไปในตัว ไม่ต้องไปดับทุกข์ที่ไหน
ความรู้เกิดที่ไหน
ความไม่รู้ก็ดับที่นั่น
แสงสว่างเกิดที่ไหน
ความมืดก็ดับที่นั่น
พระอาจารย์ญาณวชิระ
เพ่งความสนใจลงไปที่ความดับทุกข์ จิตรวมดวงลงที่ความดับทุกข์ ถ้าดับความอยากคือตัณหาได้ ทุกข์ก็ดับ ถ้าไม่อยากเสียอย่างเดียวก็ไม่ทุกข์ เป็นนิโรธ เมื่ออยากก็จะเกิดความยึดมั่น เมื่อยึดสิ่งใดภพชาติก็เกิดที่สิ่งนั้น เมื่อภพชาติเกิดทุกข์ก็เกิด เมื่อดับความอยากในสิ่งใด การยึดในสิ่งนั้นก็ไม่มี เมื่อไม่มีการยึด ภพชาติในสิ่งนั้นก็ไม่เกิด เมื่อไม่มีภพชาติแล้ว ทุกข์จะมีแต่ที่ไหน เมื่อมารู้ว่าดับตัณหาได้ ทุกข์ก็ดับ เป็นวิปัสสนา