วันนี้วันพระ วันมหาปวารณาออกพรรษา

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๙)

“เพ่งความสนใจลงไปถึงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

เพ่งความสนใจลงไปถึงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความทุกข์

เพ่งความสนใจลงไปถึงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ ก็รู้ว่าตัณหา คือความอยากนั่นเองที่เป็นสาเหตุให้ทุกข์เกิด เห็นการดิ้นรนของใจที่ทะยานอยากอยู่ตลอดเหมือนพายุความอยากโหมพัดอยู่ในใจมีวันหยุดพัก  ครุ่นคิดให้ลึกๆ ลงไปจนกลัวการเกิดขึ้นมาอย่างจับใจ เพราะกลัวว่าเกิดแล้วจะต้องทุกข์อย่างนี้อยู่ร่ำไป

ที่ตัณหาคือ ความอยาก เป็นสาเหตุของความทุกข์ ก็เพราะอุปาทานคือความยึดมั่นในขันธ์ ๕ นั่นเอง เมื่อยึดมั่นในขันธ์ ๕  ก็อยากให้ขันธ์เป็นไปตามที่ใจอยาก ในเมื่อธรรมชาติของขันธ์มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา แต่เราไปยึดมั่นในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดานั้นแล้วคิดปรุงแต่งสร้างความคาดหวังว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อขันธ์เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นทุกข์

ในที่สุดก็ทุกข์เพราะกายใจตนเอง

ทุกข์เพราะกายใจคนอื่น

ญาณวชิระ

            ไม่อยากเจ็บป่วย แต่ก็ต้องเจ็บป่วย ก็เป็นทุกข์ เจ็บป่วยแล้ว อยากหาย เมื่อไม่หายก็เป็นทุกข์ ไม่อยากเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็ต้องประสบเหตุให้เศร้าโศกเสียใจ ก็เป็นทุกข์ ชี้หน้าลงไปตรงๆ ว่า ตัณหาคือความอยากให้เป็นอย่างนั้นๆ ความอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นๆ นั่นแหละเป็นสาเหตุของความทุกข์ คือ สมุทัย

เมื่อพิจารณารู้เข้าไปถึงตัณหา

ว่าเป็นสาเหตุของความทุกข์

ก็เป็นวิปัสสนา

ญาณวชิระ

            อีกอย่างหนึ่ง ความโลภ (โลภะ) เมื่อคิดอยากได้บ่อยๆ สมองก็จะจดจำแต่ความอยาก จนกลายเป็นทะยานอยาก(ตัณหา) เมื่อทะยานอยากมากเข้า ก็กลายเป็นอุปาทาน ความยึดมั่นในตัวเราของเรา ตัวตนของเรา ความคิดเห็นของเรา  ก็เหนียวแน่นเข้า ภพชาติก็เกิดที่นี่ ค่อยๆ ขยายขอบข่ายการมองด้วยปัญญาให้ละเอียดลงไป จนเป็น

จักขุง อุทปาทิ ปัญญา อุทปาทิ ญาณัง อุทปาทิ วิชชา อุทปาทิ อาโลโก …เมื่อดวงตาแห่งอวิชชาปิดลง ดวงตาแห่งปัญญาก็ถูกเปิดขึ้น ญาณก็เกิดขึ้น วิชชาก็เกิดขึ้น ก็สว่างโล่ เกิดความเข้าใจว่า “อ้อ เป็นอย่างนี้นี่เอง

ญาณวชิระ

            ปฏิฆะ ความขัดเคืองใจ เมื่อขัดเคืองใจเพราะไม่ได้ดั่งใจก็ผูกโกรธ (โทสะ) เมื่อผูกโกรธมากเข้า ก็กลายเป็นทะยานอยาก คือ ตัณหา อยากทำร้าย อยากทำลาย อยากทำให้พินาศย่อยยับ  เมื่อทำร้ายคนอื่นไม่ได้ ก็ทำร้ายตนเอง เมื่ออยากมากเข้าก็กลายเป็นอุปาทาน ความยึดมั่น ภพชาติก็เกิดที่นี่

นี่เรียกว่าตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์

            อีกอย่างหนึ่งก็ว่า อวิชชาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ที่จริงก็อันเดียวกันเพราะไม่รู้จริงจึงอยาก เพราะรู้ไม่ทันจึงอยาก อยากเห็นรูป อยากได้ยินเสียง อยากสัมผัส จากคิดนึกจินตนาการด้วยใจ เมื่อไม่รู้ทันความอยาก จิตก็หลงวิ่งออกไปหาอารมณ์ตามที่อยาก เมื่อได้มาตามที่อยากก็ยึดไว้ เมื่อไม่สามารถยึดสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาไว้ได้ตามใจอยาก ก็เสวยทุกข์ เมื่อวิ่งออกไปหาอารมณ์บ่อยๆ ยึดไว้บ่อยๆ ไม่ได้ตามที่ใจอยากบ่อยๆ ก็เสวยทุกข์อยู่บ่อยๆ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๙) “เพ่งความสนใจลงไปถึงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ ” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here