บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๑)

“สติมีคุณทั้งสมถะและวิปัสสนา”

เขียนโดย ญาณวชิระ :พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

สติมีอุปการคุณต่อการฝึกสมาธิ จะให้จิตมีอารมณ์เดียว ก็ต้องใช้สติ จะให้จิตพิจารณาธรรมก็ต้องใช้สติ การฝึกสติให้เป็นผู้รู้ขึ้นมา จึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติสมาธิ

สติคือความระลึกได้

ไม่ให้ใจลอยเผลอสติ ลืมกาย ลืมใจ เพราะความใจลอยเผลอสติ วันหนึ่งๆ เราแทบจะไม่รู้ว่าเปลี่ยนอิริยาบถเวลาใด ยืนกี่ครั้ง  นั่งกี่ครั้ง เดินกี่ครั้ง นอนกี่ครั้ง เปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งเป็นท่ายืนเดิน นั่ง นอนกี่ท่า แต่ละครั้งเรามีความระลึกรู้ไหม ในการปฏิบัติให้สติระลึกรู้ เราจะเปลี่ยนอิริยาบถกี่ครั้งก็ไม่เป็นไร เป็นธรรมชาติของกายใจ ขอให้ทุกครั้งที่เปลี่ยนอิริยาบถให้สติระลึกรู้ให้รู้แบบรวมๆ ไม่ใช่รู้แบบจับจดที่จะตั้งหน้าตั้งตานับ ให้รู้เหมือนยามรักษาการคอยตรวจตราความเป็นไป

ให้ระลึกรู้อยู่เสมอว่า

กายมีอยู่ ใจมีอยู่

ลมหายใจมีอยู่

สติระลึกรู้อยู่ว่ากำลังยืน เห็นรูปยืน

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ขาทั้งสองข้างยืนอย่างไร เมื่อโยกหน้า โยกหลัง โยกซ้าย โยกขวา รู้พร้อมทุกส่วน ตั้งแต่หัวถึงเท้า มือแขนอยู่อย่างไร ขณะกำลังเดิน เห็นรูปเดิน เท้าก้าวไปอย่างไร มือแขนไกวไปมาหน้าหลังอย่างไร กำลังนั่ง เห็นรูปนั่ง นั่งอย่างไร มือวางอย่างไร นั่งในท่าไหน นั่งบนเก้าอี้ บนรถ บนเครื่องบิน นั่งตรง นั่งเอียง นั่งพิง

กำลังนอน สติระลึกรู้อยู่ว่า กำลังนอน เห็นรูปนอน นอนอย่างไร นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา นอนหงาย นอนคว่ำ มือวางราบตามตัว วางทับหน้าอก หรือวางก่ายหน้าผาก ขยับพลิกซ้ายพลิกขวา ก็รู้หมดทุกอิริยาบถ ทุกการเคลื่อนไหว ยกมือลูบแขน ลูบหน้า ลูบตามเนื้อตามตัว พลิกมือคว่ำฝ่ามือ หงายฝ่ามือ ขยับนิ้วมือ ขยับนิ้วเท้า กระพริบตา เหลียวซ้ายแลขวา  ก้มหน้าลง เงยหน้าขึ้น ยิ้ม หัวเราะกัดฟัน น้ำลายสอ

สติระลึกรู้ละเอียดลงไปอีกว่า อิริยาบถยืน ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง ให้ทดลองว่า เราอยากรู้อิริยาบถยืนจะประกอบด้วยการเคลื่อนไหวส่วนไหนของร่างกายบ้างก็ลองยืนขึ้น เราก็จะเห็นทุกองคาพยบของร่างกาย เป็นปัจจัยหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน ทั้งมือไม้แขนขา ลำตัว ทุกเส้นเอ็นเกี่ยวเนื่องกันไปหมด

ดูว่าเวลานั่งนานๆ

ยืนนานๆ เจ็บตรงไหน

ปวดตรงไหน เมื่อยตรงไหนไหม

เจ็บปวดเมื่อยแล้วรู้สึกอย่างไร

ชอบใจหรือไม่ชอบใจ

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทุรนทุราย ทนไม่ได้ หรือทนได้ อยากจะเปลี่ยนท่าไหม ให้ดูเข้าไปที่ความอยาก เราจะเห็นตัณหาคือความอยากยืนคอยสั่งการจิตให้ยืน แล้วองคาพยบทุกส่วนของร่างกาย ก็เคลื่อนไหวตามความอยากให้เป็นไปเช่นนั้น

สติระลึกรู้ให้ระเอียดลงไปในอิริยาบถนั่ง ว่าเมื่อนั่งจะประกอบด้วยการเคลื่อนไหวส่วนไหนของร่างกายบ้าง ทดลองยืนขึ้นแล้วนั่งลง แล้วสังเกตดู จากนั้นลองยืนขึ้นนั่งลงอีกครั้งแล้วสังเกตดู

ทำซ้ำๆหลายๆ รอบ แล้วสังเกตดูจนเห็นอาการนั่งชัดเจน

ลองขยับนิ้วมือแล้วสังเกตดูอาการที่นิ้วมือขยับ ลองขยับกระดิกนิ้วเท้า แล้วสังเกตอาการที่นิ้วเท้าขยับ เวลาใส่เสื้อผ้าสรวมรองเท้า ถอดรองเท้า ดูอาการทั้งหมดให้ชัดเจนในความรู้สึกเวลาจะถอนเสื้อ เราก็คิดและตั้งใจระลึกรู้ว่า จะดูอาการถอดเสื้อ จะดูอาการสวมใส่ ตั้งใจมีสติระลึกรู้ให้ชัด

เวลากินข้าว มีสติระลึกรู้เข้ามาดูอาการขยับมือเคลื่อนไปหยิบอาหาร ตักอาหาร อ้าปากรับคำข้าว ขยับปากเคี้ยว ดูอาการลิ้นที่ตวัดไปซ้ายมาขวา ละเลงอาหารให้เข้ากัน ดูอาการที่ฟันบดเคี้ยวอาหารให้แหลกละเอียด ดูอาการที่กลืนอาหารผ่านลำคอ ดูอาการลูกกระเดือกขยับ แล้วมีสติระลึกรู้เข้ามาที่ใจ สังเกตดูว่าใจรู้สึกอย่างไร

ในทางปฏิบัติสมาธิท่านก็ว่า ให้ดูเวทนา คือดูเข้ามาที่ความรู้สึกนึกคิดว่าใจเป็นอย่างไร

ให้มีสติระลึกรู้ไว้ว่า ที่กล่าวมาเป็นวิธีการภาวนา การอบรม การฝึกหัด ขัดเกลา คือ การทดลองลงมือทำ เมื่อรู้วิธีฝึกหัดแล้วก็ลองผิดลองถูกของตนไปเรื่อย เพื่อเรียนรู้การฝึกสติด้วยตัวเอง ใครก็ฝึกหัดให้ไม่ได้

สติเป็นของตัวเองก็ต้องฝึกหัดเอง

คนอื่นฝึกหัดให้ไม่ได้

ครูบาอาจารย์ก็ได้แต่แนะนำสั่งสอน

การอ่านหนังสือก็ได้แต่ความจดจำ

การลงมือปฏิบัติเป็นของเรา

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทุกครั้งที่ลืมตัว ไม่มีสติระลึกรู้ เมื่อเผลอตัวลืมสติไปก็มีสติระลึกรู้เข้ามาใหม่ เผลอตัวลืมสติไปก็มีสติระลึกรู้เข้ามาใหม่อีกครั้ง แล้วเราก็จะเกิดความรู้สึกอัศจรรย์ต่อการเห็นแบบใหม่ว่า “เมื่อก่อนทำไมไม่เคยเห็นอย่างนี้

ฝึกสติระลึกรู้เข้ามาที่กายที่ใจบ่อยๆ

สติก็จะเติบโตขึ้นตามลำดับ

แต่เดิมนั้น เรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดไม่มีสติระลึกรู้ เราก็มาฝึกมาหัดยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดแบบมีสติ เดินเร็วก็รู้ว่าเดินเร็ว เดินช้าก็รู้ว่าเดินช้า วิ่งก็รู้ว่าวิ่ง หยุดก็รู้ว่าหยุด ทำกิจวัตรประจำวัน หลงลืมสติ พลั้งเผลอไป ก็มีสติกำหนดรู้เข้ามาใหม่เป็น

เดินก็มีสติรู้ตัวว่าเดิน

นั่งก็มีสติรู้ตัวว่านั่ง

กินก็มีสติรู้ตัวว่ากิน

ดื่มก็มีสติรู้ตัวว่าดื่ม

และทำ พูด คิด

ก็มีสติรู้ตัวว่าทำ พูด คิด

พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๑) “สติมีคุณทั้งสมถะและวิปัสสนา” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) : พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here