บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๘) รู้ทุกข์จริงแท้ที่กายใจ เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
รู้ทุกข์จริงแท้ที่กายใจ
ความทุกข์เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็น เมื่อเห็นทุกข์แล้วอย่าได้หนีทุกข์ ยิ่งทุกข์เกี่ยวกับการปฏิบัติ ก็ยิ่งต้องเฝ้าสังเกตดู เห็นคนอื่นนั่งได้นาน ก็ไปเที่ยวถาม ทำอย่างไรจึงจะนั่งได้นาน ทำอย่างไรจึงจะไม่ปวดขา ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นเหน็บ ทำอย่างไรจึงจะไม่เมื่อย ไม่ปวดหลัง บางทีก็ปวดก้นกบเหมือนกระดูกจะแตก
“ที่จริง ไม่ต้องหนีเพราะความจริงนี่แหละที่พระพุทธเจ้าอยากให้เห็น อยากให้รู้ เมื่อความจริงเกิดขึ้นต่อหน้าแล้ว เราจะหนีไปไหน พระพุทธเจ้าให้ดูความจริงนี้แล้วให้เห็นความจริงตามนี้ เราแสวงหาความจริงอันประเสริฐก็ได้เห็นแล้ว”
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
การนั่งนานก็ต้องปวดเป็นธรรมดา พอเปลี่ยนท่านั่งอาการเจ็บปวดก็หายไป พอสู้อดทนนั่งดูไปอีกหน่อย จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิดีก็หายปวด ที่จริงก็ไม่หายปวด ร่างกายมันก็เจ็บมันก็ปวดของมันอยู่อย่างนั้น เพียงจิตไปใส่ใจอยู่กับความสงบ ก็ละวางความเจ็บปวดไป แต่พอลองเปลี่ยนจิตกลับมาดูที่ความเจ็บปวด อาการเจ็บปวดก็จะเด่นชัดขึ้นมาให้เห็น ส่วนความสงบก็จะจางหายไป พอกลับไปใส่ใจความสงบ ความสงบก็จะเด่นชัดขึ้นมาแทนที่ ความเจ็บปวดก็จางหายไป
แต่ถ้าปวดจนรู้สึกว่าทนไม่ไหว ก็เปลี่ยนท่านั่ง จะเปลี่ยนอิริยาบถลุกไปเดิน ยืดแข้งยืดขาให้ผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้เกร็งเคร่งเครียดก็ได้
เพียงแต่พอจะเปลี่ยนท่านั่ง หรือเปลี่ยนอิริยาบถก็ให้มีสติระลึกรู้ขาที่เหยียดออกคู้เข้า แขนที่เหยียดออกคู้เข้า จะเดินจะเหินก็ต้องรู้
ไม่ต้องไปวางท่าทางให้เห็นเป็นนักสมาธิต้องมีท่าทางอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ใช้ชีวิตตามปกติ ก็เดิน ก็นั่ง ยิ้ม หัวเราะพูดคุย ไปตามปกติเหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ในใจรู้ว่ายิ้มว่า หัวเราะ
บางทีปฏิบัติไปแล้วสติระลึกรู้ไม่ทันอารมณ์ ก็ลองนึกย้อนหลังไปดูว่า เมื่อสักครู่ที่ผ่านมาเราทำ พูด คิดอะไร ก็เป็นการฝึกสติระลึกรู้เช่นกัน ปฏิบัติสมาธิไป ถ้าง่วงนอนก็ลุกไปล้างหน้าล้างตา เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นหรือไปเดินจงกรม เดินจงกรมแบบเร็วเพื่อคลายความง่วง อย่าปฏิบัติให้ดูมีลักษณะเกร็งแข็งขืน ฝืดฝืน แสดงท่าทางประหลาดๆ ไม่ขยับเพื่อให้ดูว่าเราเป็นนักสมาธิ อย่าไปรังเกียจการเปลี่ยนอิริยาบถ อย่าไปทำความรู้สึกรังเกียจการนอน
ปรับอิริยาบถให้เกิดความพอดีมีความสมดุล กายก็มีความสมดุล ใจก็มีความสมดุล จะเปลี่ยนท่านั่งก็เพียงแต่ให้รู้ จะขยับเขยื้อนแขนขา หรือร่างกายส่วนใดก็เพียงแต่ให้รู้ ดูกายดูใจไป ง่วงก็ดูใจ ให้รู้ว่าง่วง เหนื่อยก็ดูใจให้รู้ว่าเหนื่อย อ่อนล้าก็ดูกายใจให้รู้ว่าอ่อนล้า เจ็บปวดก็ดูกายดูใจให้รู้ว่าเจ็บปวด เมื่อยอยากเปลี่ยนท่านั่ง ก็ดูความอยาก ก็เห็นความอยากทุรนทุรายอยู่ในใจ ดูว่าความอยากเป็นอย่างไร ดูความขัดเคืองหงุดหงิดเดือดดาลเป็นอย่างไร
สุดท้าย เราก็กลับมาดูอริยสัจที่กายที่ใจของเรา เราก็จะเห็นอริยสัจอยู่ภายในตัวเรานี่เอง ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เราก็จะเห็นกายมันเป็นทุกข์ ใจมันเป็นทุกข์
เมื่อเห็นใจมันทุกข์ ทุรนทุราย ก็คือเห็นอริยสัจที่ใจ เป็นการเห็นอริยสัจเข้ามาที่กายที่ใจของเราเอง เห็นว่า ตอนนี้กายเป็นทุกข์ ตอนนี้ใจเป็นทุกข์ ก็เห็นสิ่งประเสริฐแล้ว…
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)