ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนมีอยู่แม้กับความสงบ
เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
เราหนีความไม่แน่นอนไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเรื่อย บางทีเราคิดว่า วุ่นวายเหลือเกินชีวิต ไม่สงบ จึงไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ เพื่อหนีความวุ่นวาย คิดว่าสมาธิจะทำให้สงบ แต่กลับต้องพบกับความวุ่นวายอีกอย่างหนึ่งผุดขึ้นมาในหัว แม้จะออกจากความวุ่นวายของครอบครัว หน้าที่การงาน และสังคม คิดว่าจะได้พบความสงบ กลับมาพบกับความวุ่นวายใจ เราจะวุ่นวายอยู่กับคำถามในหัวว่า ทำไมไม่สงบ ทำไมฟุ้งซ่าน คนอื่นจะรู้ว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมไหม แล้วคำถามเหล่านี้ก็จะวนกลับมาในหัวซ้ำๆ
เราอาจจะระงับความคิดฟุ้งซ่านได้ในบางขณะ แต่แล้วคำถามเหล่านี้ก็จะวนกลับมาผุดขึ้นในหัวซ้ำๆ เราอาจจะระงับความคิดฟุ้งซ่านได้เพียงชั่วคราว แต่ความฟุ้งซ่านก็จะวนกลับมาเกิดอีก เมื่อมีเหตุปัจจัยแห่งโลภะ โทสะ โมหะ เร่งเร้าให้เกิด เพราะตั้งคำถามกับคนรอบข้างและสิ่งรอบข้างถึงความอยากแบบใหม่
บางที ความอยากทำให้เห็นไปว่า การปฏิบัติสมาธิ เป็นเรื่องอัศจรรย์ ปฏิบัติแล้วอยากเห็นอะไรที่อัศจรรย์ บางทีก็จินตนาไปตามการอ่านหนังสือบ้าง ตามการเขียนปรุงแต่งเรื่องราวของครูบาอาจารย์บ้าง ตามการฟังจากคนโน้น คนนี้บ้าง ว่าต้องเห็นอย่างนั้น ต้องเห็นอย่างนี้ ต้องเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ปฏิบัติสมาธิแล้วต้องเห็นอะไรๆ ที่ประหลาดอัศจรรย์วิเศษวิเสโสขึ้นมา ถ้าไม่เห็นถือว่าปฏิบัติสมาธิยังไม่ได้ ก็เสียใจ วุ่นวายใจ เพราะไปฟังมาว่า คนนั้นมีอาการอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นแสงบ้าง ตัวลอยตัวเบาบ้าง สงบนิ่งไม่คิดอะไรได้เป็นเวลานานๆ บ้าง พอไม่ได้ความสงบอย่างนั้น ก็นึกว่าเราปฏิบัติไม่ได้ ก็นึกเสียใจ พลุกพล่านวุ่นวายใจ
ที่จริง
พอนั่งสมาธิได้เห็นลมหายใจตัวเอง
ก็เป็นอันปฏิบัติสมาธิได้แล้ว
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ทีแรกก็อาจดูได้ครั้งสองครั้ง ก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าได้ปฏิบัติสมาธิแล้ว เพราะได้เห็นลมหายใจ แล้วก็พยายามต่อไปอีก อาจจะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง ก็ไม่เป็นไร เหมือนเด็กหัดเดินหัดพูด ก็เดินก็พูดอ้อแอ้ เตาะแตะๆ ล้มบ้าง ลุกบ้าง หัดเดินหัดพูดบ่อยๆ เข้าในที่สุดก็ไม่รู้เดินได้พูดได้คล่องตอนไหน
การฝึกหัดดูลมหายใจก็เช่นเดียวกัน แรกๆ อาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ให้พยายามไปเรื่อย พยายามอย่างต่อเนื่อง แรกๆ อาจดูได้ครั้งสองครั้ง ต่อไปอาจดูได้นานขึ้น เห็นได้หลายครั้งกว่าเดิม แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบไม่ต้องร้อน เร่งวันเร่งคืนจะปฏิบัติเอาให้ได้ในวันสองวัน ทำไปดูไปค่อยๆ ให้ศรัทธาในการปฏิบัติเติบโตขึ้น ค่อยๆ ให้ความเพียร ความระลึกรู้ ความตั้งใจมั่น และปัญญาเติบโตขึ้นแก่รอบพร้อมๆ กัน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่งโตก่อนกันก็โตไม่เสมอกัน
เหมือนปลูกต้นไม้ ค่อยรดน้ำ ค่อยพรวนดิน ค่อยใส่ปุ๋ย ค่อยตัดแต่งกิ่งก้าน กิ่งไหนตายก็ตัดออก กิ่งไหนแมลงเจาะก็รักษา ช่วงไหนควรเร่งปุ๋ย เร่งน้ำ ช่วงไหนควรพรวนดินกำจัดวัชพืช ช่วงไหนควรใส่ปุ๋ยเร่งลำต้น ช่วงควรใส่ปุ๋ยเร่งดอกเร่งผล ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนปลูก ส่วนการออกดอกออกผลก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธรรมชาติ
ผู้ปฏิบัติสมาธิ เมื่อเริ่มเห็นลมหายใจ เราก็ทำสมาธิได้ของเราแล้ว เพียงแต่เราไปฟังคนอื่น ทำให้ความอยากล้ำหน้าการลงมือปฏิบัติ บางแห่งมีการสอบอารมณ์ คนอื่นก็เล่าเป็นคุ้งเป็นแคว ได้ยินเขาเล่าเราก็เดือดร้อนใจว่า ปฏิบัติแล้วทำไมไม่ได้อย่างที่เขาเห็นกัน
ที่จริงเราปฏิบัติได้แล้ว คือ ได้เห็นลมหายใจ เหมือนเริ่มลงมือปลูกต้นไม้ เมื่อปัจจัยแห่งดิน น้ำ ปุ๋ย พร้อม ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตออกดอกออกผลตามธรรมชาติ การปลูกต้นไม้เป็นหน้าที่ของเรา แต่การออกดอกออกผลเป็นหน้าที่ของธรรมชาติ อย่าไปเร่งวันเร่งคืนธรรมชาติ อย่าไปเร่งผลของสมาธิ ให้ปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ
การปฏิบัติสมาธิก็เพื่อให้เห็นความจริงแห่งธรรมชาติของชีวิต คือ ความจริงแห่งธรรม ซึ่งที่จริงเราก็ประสบความจริงแห่งธรรมตลอดอยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงต้องปฏิบัติสมาธิ ให้จิตสงบ แล้วมองความจริงแห่งธรรมผ่านสายตาแห่งปัญญาซึ่งเกิดจากจิตที่มีความสงบ
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
เรายินดีเมื่อประสบสิ่งที่เราชอบใจ เรายินร้ายเมื่อประสบสิ่งที่ไม่ชอบใจ ทำให้เราขัดเคืองใจ ความรู้สึกนึกคิดเราวนเวียนอยู่กับความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ไม่พอใจ อยู่ตลอดมาตั้งแต่เกิด แต่เราก็ไม่เห็น จึงต้องปฏิบัติสมาธิ ต้องใช้ปัญญาขบคิด พิจารณา ไตร่ตรองเพื่อให้เห็น ให้รู้จักกายใจตัวเอง
การจะรู้จักตัวเองใจต้องมีความมั่งคงเป็นสมาธิ แล้วคอยพิจารณาใจเราเองว่า เวลาพูดเราพูดด้วยความรู้สึกอย่างไร พูดด้วยความรู้สึกขัดเคืองใจไหม พูดด้วยความรู้สึกแสดงออกมาจากโทสะไหม หรือพูดด้วยความรู้สึกแห่งราคะ
นี่คือความจริงแห่งธรรม
ที่จริง การจะพิจารณาให้รู้จักตัวเองเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิตามที่เราเข้าใจเสมอไป แต่จะใช้วิธีนั่งครุ่นคิดทบทวนพฤติกรรมที่ได้แสดงออกไปแล้ว ก็ใช้ได้เหมือนกัน ผู้ที่จิตมีกำลังอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิ เหมือนคนที่กำลังดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายมากเกินไป จะเดินจะเหินก็สะดวกคล่องแคล่ว แต่การออกกำลังกาย นอกจากเป็นการรักษาสุขภาพแล้ว ก็เป็นการรักษากำลังกายไว้ เพราะกำลังมีตกได้
การนั่งสมาธิเป็นประจำก็ทำให้จิตมีกำลังขึ้นมา
พอที่จะทำให้จิตคิดได้ (จิตมีปัญญา)
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
เช่น ได้ของชอบใจเกิดความยินดี ก็รู้ เสียของชอบใจเกิดความยินร้าย ก็รู้ ได้ตำแหน่งหน้าที่การงานตามที่ต้องการ ยินดี ก็รู้ เสียตำแหน่งหน้าที่การงานไป ยินร้าย ก็รู้ มีความคาดหวังว่า จะได้รับคำยกยอปอปั้นสรรเสริญ เมื่อได้รับคำยกยอตามที่คาดหวัง ดีใจ ก็รู้ เมื่อไม่ได้ตามที่คาดหวัง ทั้งยังถูกนินทา ถูกตำหนิ เสียใจ ก็รู้ มีความสุข ก็รู้ มีความทุกข์ ก็รู้ จิตฟูขึ้นก็ข่มจิตไว้ จิตตกก็ยกจิตขึ้น เอามาไว้กลางๆ ยินดีก็อย่ายินดีจนเกินไป ยินร้ายก็อย่ายินร้ายจนเกินไป สุดท้าย ก็ไม่มีอะไร ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้อาการของใจ เมื่อมาได้รู้อย่างนี้แล้ว ก็มีแต่ความสว่างไสวอยู่ในใจ
ใจผู้รู้ที่มีแต่ความสว่างไสวอย่างนี้ เรียกว่าเป็น “จิตปภัสสร” หรือจะเรียกว่า “จิตเดิมแท้” ก็ได้ พอใจใสอย่างนี้แล้วมีความคิดอะไรเกิดขึ้นก็รู้หมด เรียกว่ามีอุปกิเลส หรือ มีอารมณ์อะไรจรมาสู่ใจก็รู้หมด เพราะใจใสแล้วก็มองเห็นได้
เห็นอย่างนี้ชื่อว่า “เห็นธรรม” เข้าใจอย่างนี้ชื่อว่า “เข้าใจธรรม” รู้อย่างนี้ชื่อว่า “รู้ธรรม”
การนั่งสมาธิก็เพื่อไปตั้งหลักที่ความสงบก่อน พอสงบแล้ว ก็คิดพิจารณาให้เห็นธรรมดังกล่าว
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดสีฝุ่นโดย หมอนไม้