จิตปัจจุบันเห็นจิตอดีต

           จิต มโน วิญญาณ มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน คือ ความรู้สึกนึกคิดเป็นกระแสชีวิตที่ไหลไปเป็น ๒ อย่าง คือ อวิชชา ความไม่รู้ และวิชชา ความรู้ เมื่อไรไม่มีสติเผลอเรอปล่อยให้ความคิดไหลไปตามอำนาจการนำพาของกิเลส ก็เป็นอวิชชา ความไม่รู้ เมื่อไรที่มีสติ ความคิดไหลไปตามทิศทางที่สติระลึกรู้ ก็เป็นวิชชา ความรู้

แท้จริง

จะเป็นวิชชาหรืออวิชชาก็จิตนั่นเอง

ที่เป็นผู้รู้หรือผู้ไม่รู้

แต่เป็นคนละขณะความคิด

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

จิตดวงปัจจุบันเห็นจิตดวงอดีตที่ดับไป คือ จิตดวงปัจจุบันมีสติรู้จิตดวงอดีตที่ดับไปว่า ที่คิดไปเมื่อสักครู่เป็นความคิดที่มีความรู้สึกโกรธขัดเคืองไม่พอใจ หรือไม่ เรียกตามการปฏิบัติว่า “รู้ปัจจุบันขณะ” ฝึกให้จิตรู้จิตดวงที่ดับไปอยู่อย่างนี้เนืองๆ

เมื่อรู้แล้วก็พิจารณาต่อไปอีก ถึงความไม่เที่ยงของจิตดวงที่ชอบ เกิดขึ้นแล้วดับไป  ไม่เที่ยง จิตดวงที่ชัง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง เกิดความคิดมาอย่างไร รู้อย่างนั้น พอมีสติรู้ตัวขึ้นมานั่นแหละรู้ปัจจุบันขณะ เช่น นึกขึ้นได้ว่าทำสิ่งนั้นๆ ลงไป นึกขึ้นได้ว่า พูดสิ่งๆ นั้นลงไป และนึกขึ้นได้ว่า คิดสิ่งนั้นๆ ไป นึกขึ้นมาได้ว่า ลืมสิ่งของทิ้งไว้ตรงไหน

           ฝึกให้จิตดวงปัจจุบัน

เห็นจิตดวงอดีตที่ดับไป

อย่างตามติดเช่นนี้

เหมือนเจ้าของควาย

ตามแกะรอยเท้าควายที่ถูกโจรขโมยไป

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

           ความชอบความชัง ความโกรธ ความขัดเคือง ความไม่พอใจ คือ จิตดวงอดีต จิตที่มีสติระลึกรู้ความชอบ ความชังนั่นคือ จิตดวงปัจจุบัน

ที่จริง จิตปัจจุบันเห็นจิตอดีต ก็เรียกว่า อยู่กับปัจจุบันขณะ

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ขณะคิดปรุงแต่ง จินตนาการไปจนสุดความคิดก็เรียกว่า ดับไป เพราะเกิดจิตมีสติระลึกรู้ขึ้นมาตัดให้ขาดตอน จะเปรียบก็เหมือนมีเก้าอี้ตัวเดียว เวลานั่งจะนั่งได้ที่ละคน แม้จะมีคนอยู่กี่คนก็ตาม ก็ขึ้นนั่งได้ที่ละคน  คนหนึ่งขึ้นนั่ง อีกคนหนึ่งก็ต้องลง จิตก็คิดทีละขณะ แม้จะมีความคิดมากมายแค่ไหนก็คิดทีละขณะ พอความระลึกรู้เกิด ก็หมายความว่า ความไม่รู้ดับ พอความไม่รู้ดับ ก็หมายความว่า ความระลึกรู้เกิด

เมื่ออวิชชาเกิด วิชชาก็ดับ

เมื่อเกิดความเผลอเรอลืมสติ

ความมีสติระลึกรู้ก็ดับ

เมื่อความมีสติระลึกรู้เกิด

ความเผลอเรอลืมสติก็ดับ

สลับกันเกิดดับอยู่อย่างนี้

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ขณะจิตออกจากความระลึกรู้ไปรับอารมณ์ภายนอกผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อรับอารมณ์แล้ว ไม่มีสติตามระลึกรู้ทัน ก็หน่วงอารมณ์นั้นเข้ามาคิดปรุงแต่งจินตนาการเป็นชอบชัง พอใจ ไม่พอใจ ขณะจิตนั้น ก็เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด แต่ถ้ารับอารมณ์แล้ว มีสติตามระลึกรู้ทัน ไม่คิดปรุงแต่งจินตนาการต่อไปเป็นชอบชัง พอใจ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ ขณะจิตนั้น ก็ไม่ก่อปัจจัยให้ทุกข์เกิด คือ ไม่ก่อภพ ก็เป็นแต่เพียงรู้ตามหน้าที่ของจิตเท่านั้น รู้แล้วก็จบหน้าที่ลง เพราะจิตมีหน้าที่รับรู้

เดินวิถีแห่งสติ ภาพวาดสีฝุ่น โดย หมอนไม้

คือ จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์ แต่เมื่อรู้อารมณ์แล้วไปทำเกินหน้าที่เพราะอำนาจกิเลสชักนำ ก็ปรุงแต่งจินตนาการต่อเป็นชอบ ชัง พอใจ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ จึงเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ภพชาติก็เกิดตรงนี้ ตรงที่เกิดความชอบชัง พอใจ ไม่พอใจนี่แหละ แล้วก็จะเกิดตัณหา เกิดอุปาทานยึดมั่นต่อไป ชอบก็ยึดแบบชอบ ชังก็ยึดแบบชัง พอใจก็ยึดแบบพอใจ ไม่พอใจก็ยึดแบบไม่พอใจ กลายเป็นภพชาติใหญ่พัวพันกันในสังสารวัฏวนเวียนซ้อนทับชุลมุนชุลเกกันอยู่อย่างนี้  เหมือนเซตและสับเซตทางคณิตศาสตร์ที่ซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น คนไม่รู้วิธีก็วุ่นวายหาทางแก้โจทย์ไม่เจอ

           ที่รับอารมณ์แล้วเกิดความพอใจ ก็เพราะว่าจิตมีกามราคะแฝงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ หรือรับอารมณ์แล้วเกิดความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ เดือดดานใจ ก็เพราะว่าจิตมีปฏิฆะแฝงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ 

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

อารมณ์บางอย่างมีกำลังอ่อน จิตกระทบแล้วก็แค่ไหวกระเพื่อม เพียงแค่เล็กน้อยแล้วจางหายไปเหมือนระลอกคลื่น แค่รับรู้ตามลักษณะของจิต โดยไม่มีการปรุงแต่งต่อไป 

แต่อารมณ์บางอย่างมีกำลังกล้า จิตกระทบแล้วเกิดการสั่นสะเทือนแรง จะเรียกว่ามีผลกระเทือนต่อจิตใจมากก็ได้ ก็จะคิดปรุงแต่งสืบเนื่องเป็นพอใจ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ  เดือดดาลใจอย่างรุนแรง แล้วก็ผูกใจเจ็บกลายเป็นอาฆาตพยาบาท แล้วก็รบรันพันตูต่อสู้กัน เนื่องจากอารมณ์เหล่านี้มีความละเอียดเหมือนฝุ่นละเอียดแฝงอยู่ในส่วนลึกของจิต เมื่อเกิดการกระทบขึ้นมา ก็จะมีกำลังกล้า เราก็เรียกว่า คนนั้นมีอารมณ์รุนแรง 

บางครั้ง เมื่อต้องเจอเหตุการณ์ที่กระทบต่อความรู้สึกรุนแรง เราจะเห็นความรู้สึกรุนแรงฟุ้งขึ้นมา จนจับอารมณ์ไม่ทัน ก็ปล่อยให้ฟุ้งขึ้นมา อย่ากดทับไว้ ฟุ้งขึ้นมาก็ให้ใช้สติจับจ้องไว้ อย่าให้คลาดจากสติไปได้  เราก็จะได้เรียนรู้อารมณ์ทุกอย่างที่แอบแฝงอยู่ในจิต

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เมื่อมีคำพูด มีบุคคล หรือมีเหตุการณ์ที่กระทบความรู้สึกเราแรงๆ แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ให้เพ่งกลับเข้ามาที่จิตแล้ว  ดูความรู้สึก อย่าเพ่งไปที่คำพูด บุคคล หรือเหตุการณ์ เพราะจะทำให้ไม่ได้รู้ว่า  มีความคิดอะไรฟุ้งขึ้นมาบ้าง ไม่ว่าจะกระทบอารมณ์อะไรก็ตาม ก็ต้องปล่อยให้จิตได้รับรู้อารมณ์เหล่านี้บ้าง เพื่อให้จิตได้เรียนรู้ เมื่อเกิดขึ้นจะได้จัดการได้ถูก อย่ากดทับไว้ โดยไม่ยอมปล่อยให้ฟุ้งขึ้นมา เดี๋ยวจะคุ้นชินกับอารมณ์เก็บกดจนติดนิสัยเก็บกด ต้องปล่อยให้ฟุ้งขึ้นมา และปล่อยให้จิตได้กระทบกับอารมณ์แรงกล้าเช่นนี้บ้าง เมื่อกระทบแล้วให้ดูกลับเข้ามาที่จิต อย่าส่งใจเพ่งไปที่อารมณ์ที่รับมา แต่ให้ดูกลับเข้ามาที่จิตว่า มีความคิดอะไรฟุ้งติดพ่วงขึ้นมาบ้าง แล้วก็เรียนรู้จะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็อย่าตำหนิตัวเอง อย่าบ่น อย่าว่า ให้มองเป็นธรรมดา บางครั้งก็ทัน บางครั้งก็ไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร ให้ทำเรื่อยไป เมื่อของหนักมีการกระทบแรง แรงสั่นสะเทือนก็มาก แผ่นดินไหวแรงมากเท่าไหร่ แรงสั่นสะเทือนก็มากเท่านั้น อารมณ์ก็ไม่ต่างจากวัตถุ หากเกิดการกระทบแรง แรงสั่นสะเทือนทางความคิดก็มาก ทำให้คิดวกวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เราจะระงับ โลภะ โทสะ โมหะได้

ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

           ถ้าทำบ่อยๆ ก็จะรู้บ่อยๆ จนกลายเป็นอุปนิสัย เมื่อเกิดความคิดเป็นอวิชชาคือความไม่รู้ วิชชาคือความระลึกรู้ก็จะผุดขึ้นมาตัดให้อวิชชาขาดออกเป็นท่อน ก่อนแต่ที่จะเจริญงอกงามไปไกลจนก่อความเสียหายใหญ่หลวง ต้องฝึกหัดอบรมตัวเองให้คิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๔) จิตปัจจุบันเห็นจิตอดีต เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here