“อาตมา มีแม่ที่มีหัวใจที่อบอุ่นมากที่สุด
ท่านไม่มีการศึกษา เป็นเพียงชาวนา
แต่ท่านมีหัวใจที่อบอุ่นมาก
อาตมาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นอย่างมาก
เพราะแม่ไม่ได้มีความรัก ความเมตตาต่อลูกเพียงเท่านั้น
แต่ท่านยังมีความเมตตาต่อคนอื่นๆ ด้วย
เมื่อใครได้รับความทุกข์ยาก
แม่ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ
เพราะฉะนั้น
เมล็ดพันธุ์ความกรุณาที่อาตมามีอยู่มาจากแม่
ไม่ได้มาจากความศรัทธา”
องค์ทะไลลามะ
ผู้เขียนเปิดบันทึกความทรงจำเมื่อครั้งทำงานเป็นนักข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว นิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” มากว่า ๒๔ ปี ในช่วงหนึ่ง เมื่อปลายปีพ.ศ. ๒๕๕๔ – ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งเป็นปีพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ผู้เขียนกับคุณแม่เดินทางไปร่วมสวดมนต์ที่พุทธคยาเป็นเวลา ๔๐ วัน เพื่อรอฟังธรรมจากองค์ทะไลลามะต่อในช่วงต้นปี พ.ศ.๒๕๕๕ และเขียนงานกลับมาให้นิตยสารที่ทำงานอยู่ทุกวัน
ด้วยความเสียสละของคุณแม่ที่เกื้อกูลให้ผู้เขียนไปอินเดีย ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานกาลจักรอย่างใกล้ชิดองค์ทะไลลามะ เพื่อฟังธรรมและบันทึกธรรมอันลุ่มลึกมาฝากผู้อ่านโดยการแปลของพี่นวรัตน์ ธาระวานิช อดีตนักข่าวเนชั่น และผู้แปลหนังสือเรื่อง “รูปเงา ขุนเขา ทะเลสาบ นักบวชสตรีกับการปฏิบัติธรรม” เขียนโดย ภิกษุณีเท็นซิน พัลโม ซึ่งเป็นลูกศิษย์ขององค์ทะไลลามะท่านหนึ่ง
ไม่น่าเชื่อว่า ผู้คนจากทุกมุมโลกเป็นแสนๆ คน เดินทางมาปฏิบัติธรรมกับองค์ทะไลลามะโดยเฉพาะเป็นเวลา ๑๐ วันในงานกาลจักร ครั้งที่ ๓๒ เพื่อสันติภาพของโลก ” (His Holiness the 14th Dalai Lama of Tibet ) ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ สองปีที่พุทธคยา และในปีพุทธชยันตี พระองค์สอนเรื่องปฏิจจสมุปปบาท ซึ่งเป็นหัวใจแห่งสัจธรรมที่เจ้าชายสิทธัตถะค้นพบในค่ำคืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ อย่างละเอียด
หลังจากนั้นก็ได้เริ่มเขียนเป็นตอนๆ ลงในนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ทั้งหมด ๒๐ ตอนต่อเนื่อง …ผ่านไป ๙ ปีแล้ว หลังจากนิตยสารปิดตัวลงเมื่อสามปีก่อน เมื่อเปิดบันทึกอีกครั้ง ผู้เขียนรู้สึกว่า ช่วงเวลานั้น กว่าจะเขียนออกมาได้ช่างทรหดอดทนจริงๆ ตั้งแต่ตีสี่ถึงสี่ทุ่มทุกวัน เราต้องไหลไปตามฝูงชนในพุทธยาทุกพื้นที่ แทบไม่ต้องเดินเลย เพราะทุกทางเดินเต็มไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลมาฟังธรรมเป็นแสนๆ คน เครื่องขยายเสียงลำโพงถูกติดตั้งไปทั่วเพื่อให้ฟังธรรมจากองค์ทะไลลามะได้อย่างทั่วถึง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังรอคิวที่จะเข้าไปฟังพระองค์อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะลำบากเพียงใดก็ตาม ทำให้นึกไปถึงสมัยพุทธกาล ที่ผู้คนทุกสารทิศเดินทางมารอฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า อาจจะคล้ายๆ บรรยากาศอย่างนี้กระมัง …
จากหัวใจ ‘ทะไลลามะ’ (Dalai Lama : from the Heart ) ตอนที่ ๑ ” ใครๆ ก็ต้องการหัวใจที่อบอุ่น ” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เรื่องและภาพ นวรัตน์ ธาระวานิช แปลธรรมบรรยาย
อาจจะเป็นการปฏิบัติธรรมพร้อมกันที่มากที่สุดในโลกก็ได้ ที่มีประชาชนหลายแสนคน จาก ๖๓ ประเทศมารวมตัวกันอยู่ในงาน “กาลจักร ครั้งที่ ๓๒ เพื่อสันติภาพของโลก ” (His Holiness the 14th Dalai Lama of Tibet ) ณ ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมืองพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เพื่อฟังธรรมจากท่านทะไลลามะ องค์ที่ ๑๔ ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ที่ลี้ภัยออกจากแผ่นดินแม่มา ๕๑ ปี (พ.ศ.๒๕๕๕) หลังจากรัฐบาลจีนได้ยึดประเทศทิเบตซึ่งเป็นต้นน้ำของเอเชียและของโลกไว้ในครอบครอง แล้วพยายามลบร่องรอยรากวัฒนธรรมพุทธของชาวทิเบตให้หมดไป โดยการนำสังคมนิยมบวกกับวัตถุนิยมแบบจีนๆ เข้าไปแทนที่
หากแต่วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ๕๑ ปีของการไร้แผ่นดินและอิสรภาพในการนับถือศาสนา แต่กลับเป็น ๕๑ ปีแห่งอิสรภาพทางใจที่มีรากฐานของพุทธศาสนาอยู่ในสายเลือดที่ทำให้จิตวิญญาณของชาวทิเบตไม่สั่นคลอน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับแผ่นดินทิเบต ความเมตตา กรุณาต่อผู้รุกรานและยึดครองแผ่นดินยังคงอยู่เต็มเปี่ยมในดวงใจ เช่นเดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงเมตตากับผู้คนอย่างเสมอกันไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม
เมื่อเราได้ไปสัมผัสกับการสอนวิถีพุทธแห่งตันตระ ที่ท่านทะไลลามะได้นำมาสอนชาวทิเบตที่ลี้ภัยรวมทั้งประชาชนทั่วโลก และชาวจีนอีกประมาณเกือบสองพันคนอย่างละเอียด ในงานกาลจักร ตั้งแต่วันที่ ๑-๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ ณ ลานกาลจักร ที่บรรจุคนได้ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน รวมไปถึงประชาชนที่นั่งฟังอยู่ภายนอก เต็มทุกพื้นที่ประมาณกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คนรอบเมืองพุทธยา ที่มานั่งรอกันตั้งแต่ตี ๔ ของทุกวัน ทำให้เราเห็นว่า สิ่งเดียวที่ชาวทิเบตดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และความหวังอย่างเต็มเปี่ยมหัวใจว่าวันหนึ่งจะได้กลับบ้านเกิด และ “ธรรมะ ” นี่เองที่หล่อเลี้ยงหัวใจของชาวทิเบตทุกคน มากไปกว่านั้น ธรรมะที่แปรเปลี่ยนเป็นรูปธรรมคือความเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณขององค์ทะไลลามะและชาวทิเบตยังประพรมมายังหัวใจของคนทั้งโลกอีกด้วย
ในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ คือวันสุดท้ายของงานภาวนา “กาลจักร ” ลามะจากทุกสายหลายหมื่นรูป รวมทั้งฆราวาสทุกคนต่างอวยพรสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ อำนวยพรขอให้องค์ทะไลลามะมีอายุยืนนานและคงอยู่ต่อไปเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ตราบจนสิ้นสังสารวัฏ …
วันนั้น ท่านทะไลลามะได้กล่าวถึงหนังสือเล่มใหม่ของท่านว่าด้วยเรื่อง “เหนือศาสนา : จริยธรรมสำหรับโลก “( Beyond Religion: Ethics for a Whole World) ตอนหนึ่งว่า ศาสนาทั้งหลายทั้งมวลจะต้องขึ้นอยู่กับจริยธรรมทางโลก ศาสนาหลักๆ สำคัญของโลกล้วนสอนในเรื่อง ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือคุณค่าของมนุษย์
“แต่เมื่อเราพูดถึงเรื่อง ความเมตตาและกรุณา คนทั่วไปก็จะบอกว่า นี่คือหลักของศาสนา คนที่ไม่ได้สนใจการปฏิบัติทางศาสนาก็จะไม่สนใจ นี่คือความผิดพลาด จริงๆ จริยธรรมเป็นเรื่องของทุกคน ตราบใดที่คุณเป็นมนุษย์และมีชีวิตอยู่ คุณต้องการความรู้สึกที่เป็นความอบอุ่น เพราะนี่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้องการของเรา
” เพราะฉะนั้น
จริยธรรมเป็นเรื่องของประสบการณ์ร่วม
เนื่องจากทั้งมนุษย์และสัตว์ ทุกชีวิตมาจากแม่”
องค์ทะไลลามะ
“ในด้านจิตวิทยา เมื่อมีชีวิตเกิดขึ้นมา ก็จะเกิดความเชื่อและความศรัทธาอย่างมหาศาลต่อแม่ ซึ่งเวลานั้นเรายังไม่รู้เลยว่าคนนั้นคือใคร แต่เรารู้ว่า เราสามารถพึ่งได้อย่างถึงที่สุด ตราบใดที่แม่ได้สัมผัสและอุ้มลูก ก็จะมีความเชื่อมั่นอันนั้นอยู่ นี่เป็นเรื่องคนเหล่านั้นรวมทั้งตัวอาตมาด้วย
“อย่างเช่นอาตมา มีแม่ที่มีหัวใจที่อบอุ่นมากที่สุด ท่านไม่มีการศึกษา เป็นเพียงชาวนา แต่ท่านมีหัวใจที่อบอุ่นมาก เพราะฉะนั้นอาตมาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นอย่างมาก เพราะแม่ไม่ได้มีความรัก ความเมตตาต่อลูกเพียงเท่านั้น แต่ท่านยังมีความเมตตาต่อคนอื่นๆ ด้วย เมื่อใครได้รับความทุกข์ยาก แม่ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น เมล็ดพันธุ์ความกรุณาที่อาตมามีอยู่ มาจากแม่ ไม่ได้มาจากความศรัทธา”
หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เพราะความรักอย่างไม่มีประมาณของแม่เท่านั้น ที่จะนำโลกไปสู่สันติได้
(โปรดติดตามตอนต่อไป )
บันทึกความทรงจำ …จากหัวใจ ‘ทะไลลามะ’ (Dalai Lama : from the Heart ) ตอนที่ ๑ ” ใครๆ ก็ต้องการหัวใจที่อบอุ่น ” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เรื่องและภาพ