๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แถลงข่าวครั้งแรก
ย้อนรำลึกเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น.
รองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิษณุ เครืองาม เป็นประธานการแถลงข่าว เรื่อง การจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับญาณวชิระ ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเฉลิมฉลองในปีมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ที่มาและความสำคัญของหนังสือทศชาติ ฉบับ ญาณวชิระ
เนื่องจากปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ เป็นปีมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย ตามที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นปีที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕
คนไทยถือกันว่า ผู้ที่จะมาเกิดเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ก็ล้วนแต่เสด็จมาเพื่อบำเพ็ญพระบารมีธรรมให้สั่งสมเพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานับประการของสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ต่างก็เป็นไปเพื่อพสกนิการชาวไทยของพระองค์ท่านนั่นเอง ซึ่งนับได้ว่านั่นเป็นวิถีแห่งพระโพธิสัตว์
การจัดพิมพ์หนังสือทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องการบำเพ็ญพระบารมีของพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระชาติ ก่อนจะตรัสรู้ในพระชาติที่ ๑๑ จึงเหมาะสมกับโอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทยเช่นนี้ ซึ่งวาระโอกาสที่เป็นมหามงคลยิ่งนี้ มีไม่บ่อยนัก
เมื่อก่อน การเขียนหนังสือยังไม่แพร่หลาย จึงมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องทศชาติ เอาไว้ตามวัดวาอารามต่าง ๆ เพื่อสั่งสอนประชาชนให้เห็นถึงการบำเพ็ญ พระบารมีของพระพุทธเจ้า
ดังนั้น พระเถระวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทั้ง ๕ รูป จึงได้ร่วมกันเรียบเรียงหนังสือทศชาติขึ้นมา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลนี้
คณะผู้เรียบเรียงหนังสือ ประกอบด้วย
หลวงพ่อธงชัย สุขญาโณ (อดีตพระพรหมสิทธิ)
พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์)
พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส (อดีตพระศรีคุณาภรณ์)
พระมหาสมจิตร จิตฺตธมฺโม (พระครูสิริวิหารการ)
ซึ่ง บริษัท เมืองโบราณ จำกัด จัดพิมพ์แจกเป็นธรรมทานให้กับประชาชน ๑๐,๐๐๐ เล่ม และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการพิมพ์ รวมทั้งจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และหนังสือ เสียง (Audiobook) เป็นที่เรียบร้อยพร้อมเผยแผ่เป็นธรรมทาน ในเว็บไซต์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี https://www.opm.go.th สามารถคลิกอ่านและสแกนดาวน์โหลดได้ตลอดเวลา
ไทยคู่ฟ้า ทําเนียบรัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรี (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธานการแถลงข่าว เรื่อง การจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับญาณวชิระ ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล วันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
Jariyatam Channel : หนังสือทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับญาณวชิระ : เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. รองนายกรัฐมนตรี (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิษณุ เครืองาม) เป็นประธานการแถลงข่าว เรื่อง การจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับญาณวชิระ ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
ก่อนการแถลงข่าว ได้มีการเปิดคลิปวิดีโอธรรมกถา เล่าถึงที่มาของการจัดทำหนังสือ”ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ โดย พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ นับเป็นโอกาสมหามงคลยิ่ง ที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า จักได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี ที่มีต่อพระองค์ท่าน
เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ บรรดาอาตภาพทั้งห้ารูป จากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พร้อมด้วยท่านสาธุชน คนมีใจเป็นกุศล ประกอบด้วยบริษัท เมืองโบราณ จำกัด พร้อมบริษัทในเครือ และบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยความเห็นชอบของรัฐบาล ผ่านการประสานงานอย่างดียิ่งจาก สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อท่านสาธุชนทั้งหลาย ได้ศึกษา อ่านหนังสือจบแล้ว จะได้ประมวลเอาหลักธรรมที่มีอยู่ในหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ นี้ แล้วประมวลเอาคุณงามความดีทั้งหมด ถวายพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็จะนับว่าเป็นการได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ ขอเจริญพร
และพระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กล่าวต่อมาว่า หนังสือ “ทศชาติ” ฉบับนี้ เรียบเรียงมาจากอรรถกถา และพระไตรปิฎก ให้มีสำนวนที่เรียบง่าย ภาษาเป็นปัจจุบัน ได้มีการจัดเรียงหัวข้อใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ยังได้มีการเขียนแผนที่ขึ้นมา โดยจำลองเอาเมืองที่ปรากฏอยู่ในชาดก ซึ่งมีความสอดคล้องกับเมืองในสมัยพระพุทธกาล เพื่อให้ผู้อ่านสามารถคิด จินตนาการตามเนื้อหาของหนังสือได้
ในชาดกแต่ละชาดก ยังได้มีการค้นคว้าเรียบเรียง เหตุการณ์ก่อนและหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสชาดกนั้น ๆ สิ่งสำคัญที่ปรากฏ คือหลักธรรม อย่างกรณีของวิธูรบัณฑิต ก็มีหลักธรรมที่ทำให้คนเป็นคนดี เรียกว่าสาธุนรธรรม และหลักธรรมที่จะทำให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่ดี เรียกว่า ฆราวาสธรรม แต่ที่สำคัญก็คือ หลักธรรมที่จะทำให้บุคคลเป็นข้าราชบริพารที่ดี หรือเป็นข้าราชการที่ดี ก็ปรากฏอยู่ในวิธูรบัณฑิตนี้ ขอเจริญพร
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน แถลงข่าวการจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ตอนหนึ่ง ความว่า
“เรียนท่านสื่อมวลชน และ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน…
“ในโอกาสมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ต้องถือว่า เป็นโอกาสสำคัญพิเศษ ซึ่งการที่สมเด็จพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในพระราชวงศ์จะทรงเจริญพระชนมายุ หรือพระชนมพรรษายาวนานขนาดนี้นั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่หาง่ายโดยทั่วไป บัดนี้ สมเด็จพระองค์นี้ ได้ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๙๐ พรรษา ไปเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เป็นธรรมเนียมตามโบราณ พระราชประเพณีที่จะต้องมีการเฉลิมฉลองกัน ทั้งในส่วนของการทำบุญหรือศาสนพิธี ในส่วน ของการทำทาน คือ การเผยแพร่ จำหน่ายจ่ายแจกอะไรก็ตาม ที่สามารถทำได้ ซึ่งอาจจะเป็นการจำหน่ายจ่ายแจกสิ่งที่เรียกว่า อามิสทาน เป็นเงินเป็นทอง เป็นข้าวเป็นของ แต่ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ การจำหน่ายจ่ายแจกวิทยาทาน คือ ความรู้ หรือธรรมทาน คือธรรมะ ให้แก่ประชาชนทั้งหลาย ถือว่า เป็นการบำเพ็ญกุศล เพื่อที่จะขอประทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระพันปีหลวง
“ในการนี้ รัฐบาลก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการ อำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แล้วก็มีคณะกรรมการย่อย ๆ ลงมา ผมเองก็เป็นประธานกรรมการย่อยในส่วนของ พิธีการ เราก็มาคิดกันถึงกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งหลายกิจกรรมก็ได้ผ่านไปแล้วเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา มีการตักบาตรที่ท้องสนามหลวง มีการสวดมนต์ 5 ศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ แล้วก็มี การจัดมหรสพสมโภช กิจกรรมที่ทำนั้น มีทั้งในกรุงเทพมหานครแล้วก็ในต่างจังหวัด บางอย่างก็ทำ ในต่างประเทศด้วย
“ทีนี้ ก็มาถึงเรื่องหนึ่ง คือ คณะกรรมการอำนวยการ ต้องการให้การจัดงานเฉลิมฉลองครั้งนี้นั้น ทุกคนมีโอกาสและมีส่วนร่วม จึงได้เชิญชวนทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และ ภาคส่วนอื่น ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม ตามที่คิดว่าจะสามารถทำได้ ก็มีส่วนร่วมสำคัญเกิดขึ้นจากภาคเอกชนโดยที่เราไม่ได้คาดหมายมาก่อน นั่นก็คือว่า มีพระเถระจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ๕ รูป ซึ่งท่านรวมกันแล้ว ก็ใช้นามปากกาแทนทั้ง ๕ รูป ว่า “ญาณวชิระ” แต่ละท่านเป็นนักเทศน์ เป็นนักเขียน เป็นนักพูด มีบทบาทสำคัญมาในอดีต ท่านก็ไปช่วยกันรังสรรค์ คือ เขียนหนังสือขึ้นมา เล่มหนึ่ง ตั้งชื่อว่า “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”
“ผมขออธิบาย คำว่า “ปณิธาน” ปณิธาน คือ ความมุ่งมั่น ตั้งใจแน่วแน่
คำว่า “มหาบุรุษ”ในที่นี้ ก็คือ หมายถึง พระพุทธเจ้า
หรือ พระโพธิสัตว์ที่กำลังจะไปตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
คำว่า “ไม่เปลี่ยนแปลง” ก็คือว่า เป็นการตั้งมั่นปณิธานนี้เอาไว้นานแสนนานแล้ว จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็ยังยึดมั่น ในความตั้งใจนั้น คือ การตั้งใจที่จะไปตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าให้ได้”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ถ้าหากว่า เราพูดกันตามความเชื่อหรือคตินิยมของพุทธศาสนา ท่านก็อาจจะได้ยินมาแล้วว่า คนเรากว่าจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น จะต้องไปเกิดหรือเสวยพระชาติ เป็นสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ กันมากมาย หลายกัปหลายกัลป์ อสงไขย มีทั้ง ไปเกิดเป็นมนุษย์ มีทั้งไปเกิดเป็นสัตว์ มีทั้งที่ไปเกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์ มีทั้งที่ต้องเวียนว่าย ตายเกิดไปเป็นยาจกเข็ญใจ ไปเป็นพราหมณ์ จนกระทั่งแม้แต่เป็นสัตว์ เช่น เป็นนกยูง เป็นช้าง เมื่อเสียชีวิตก็จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกหลายภพหลายชาติ เพื่อสะสมบารมีเอาไว้ จนกระทั่งบารมี แข็งแกร่ง มั่นคง ก็จะมาถึงสิบชาติสุดท้าย ก่อนที่จะไปถึงชาติที่สิบเอ็ด ชาติที่สิบเอ็ดก็คือชาติที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่คนเรากว่าจะไปถึงชาติที่สิบเอ็ด คือ สามารถตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ จะต้องผ่านภพผ่านชาติมามากเหลือเกิน โดยเฉพาะชาติที่สำคัญที่สุด ก็คือ สิบชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาถึงชาติที่สิบ
“พระพุทธเจ้าของเรานั้น ได้เสวยพระชาติสิบชาติสุดท้าย ก่อนที่จะมาถึงชาติที่สิบเอ็ด ต่อเนื่องกันด้วยการบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ กัน คำว่า บำเพ็ญบารมี ก็คือ สะสมประสบการณ์หรือทำคุณงามความดีเก็บเอาไว้ เพื่อส่งต่อไปยังภพหรือชาติต่อไป แต่ละชาตินั้น เราเคยเรียกกันว่า ชาดก
” ชาดกก็คือชาติ ชาติก็คือการเกิดสิบชาตินี้ เขาเรียกว่า ทศชาติ
และเป็นชาติที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าชาติใด ๆ ทั้งหมด ที่มีมาก่อนหน้านี้ “
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
“ชาติที่หนึ่งในสิบชาติสุดท้ายนั้น พระโพธิสัตว์ได้เสด็จมาบังเกิดเป็นพระเตมีย์ แล้วบำเพ็ญบารมีที่สำคัญยิ่ง คือ เนกขัมมบารมี คือ ความที่ตั้งใจเหมือนกับนักบวช ความอดกลั้น ความไม่พูดไม่จา ไม่วอกแวกใด ๆ จนเราเคยได้ยินใช่ไหมครับ ที่เราไปอุปมาเปรียบเทียบ ใครสักคนที่ไม่พูดอะไรเลย เอาแต่ทำงานอยู่อย่างเดียวว่า เหมือนกับพระเตมีย์ใบ้ พระเตมีย์ นี่คือชาติ ที่หนึ่ง ในจำนวนสิบชาตินั้น ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้บังเกิดในชาติที่สอง เป็นพระมหาชนก ที่เรารู้จักดี พระมหาชนกที่เรือแตกแล้วก็ว่ายน้ำอยู่ในมหาสาคร ด้วยความพากเพียร จนกระทั่งนางเมขลาอุ้มไปส่งที่ฝั่ง นั่นแหละครับ คือ พระมหาชนกองค์เดียวกันนี่ นี่เป็นชาติที่สอง ในจำนวนทศชาติหรือสิบชาติ แล้วทรงบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ คือ วิริยบารมี ความเพียร
ต่อจากนั้น ก็ไปถึงชาติที่สาม คือ พระสุวรรณสาม ชาติที่สี่ก็คือ เป็นพระเนมิราช ชาติที่ห้า คือเป็นพระมโหสถ ชาติที่หกคือเป็นพระภูริทัต ชาติที่เจ็ดคือเป็นพระจันทกุมาร ชาติที่แปดคือเป็นพระนารทะ ชาติที่เก้า คือเป็นพระวิธูรบัณฑิต แล้วก็ชาติที่สิบ ชาติสุดท้าย เป็นพระเวสสันดร ซึ่งในชาติที่สิบนี้ ทรงบำเพ็ญ บารมีอันยิ่งใหญ่เหนือบารมีทั้งหมด ที่เคยมีมาในอดีตกาล ก็คือ ทานบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน เงินทองต่าง ๆ ทรงบริจาคแม้กระทั่งลูกและเมีย แล้วจากการบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ในสิบพระชาตินี้เอง เมื่อสิ้นพระชนม์หรือหมดชีวิตไป ก็ได้บังเกิดเป็นชาติที่สิบเอ็ด คือเป็นเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร จนกระทั่งเสด็จออกบวช ที่เรียกว่า เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ แล้วก็ได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
“ในทางคติพุทธศาสนา ถือว่า สิบชาติ หรือทศชาติ
คือ สิบบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญในแต่ละชาตินี้
เป็นความยิ่งใหญ่มหาศาล
และนี่คือ ปณิธานของมหาบุรุษที่ไม่เปลี่ยนแปลง”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
พิธีมอบหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ให้แก่คณะรัฐมนตรี
พิธีมอบหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ให้แก่คณะรัฐมนตรี ในวันอังคาร ที่ ๖ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๐ น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดย คณะผู้เรียบเรียงหนังสือ ประกอบด้วย พระธงชัย สุขญาโณ (อดีตพระพรหมสิทธิ) พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์) พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส (อดีตพระศรีคุณาภรณ์) และพระมหาสมจิตร จิตฺตธมฺโม (พระครูสิริวิหารการ)
ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกำลังอยู่ในระหว่างการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาทเพื่อนำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม ตามวัน เวลา ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไปนั้น เนื่องจากหนังสือทศชาติจัดพิมพ์แล้วเสร็จมาตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม โดยบริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทในเครือ เป็นผู้จัดพิมพ์ อันเป็นการสนองเจตนารมณ์ของพระเถระ ๕ รูป ของวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการพิมพ์ รวมทั้งจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และหนังสือ เสียง (Audiobook) และได้มีการกระจายเสียงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยไปแล้วเป็นลำดับ
สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้การสนับสนุนการจัดทำหนังสือด้วยดี มาตั้งแต่ต้น จึงเห็นสมควรจัดแสดงความเป็นมาของหนังสือทศชาติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล แด่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระองค์นั้น อย่างสูงสุด ด้วยระลึกถึงการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการของพระองค์ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่บรรดาอาณาประชาราษฎร์ผู้อาศัยภายใต้ร่มพระบารมีอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย ประดุจดังการบำเพ็ญ พระบารมีของพระมหาโพธิสัตว์หลายพระชาติสุดที่จะคณานับด้วยปณิธานอันแน่วแน่เพื่อจะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกตราบจนปัจจุบัน
เพื่อมอบให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบว่า หนังสือทศชาตินี้ ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้ให้ความสนใจและลงทะเบียน ขอรับหนังสือโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งได้ลงทะเบียนขอรับหนังสือเต็มจำนวนที่กำหนดอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา ๑ วัน จนขณะนี้ได้ปิดรับการลงทะเบียนไปแล้ว
ด้วยเหตุที่หนังสือทศชาติฉบับนี้ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสมหามงคลยิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ซึ่งเป็นโอกาสมหามงคลที่หาได้ยากยิ่ง อีกทั้ง หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระนี้ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่านับเป็นวรรณคดีที่สำคัญของชาติที่ทุกคนควรจะได้อ่าน ควรมีไว้ประจำบ้าน
อีกทั้ง ยังประกอบด้วยหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงด้วยภาษาหนังสือ ที่เรียบง่าย นอกจากนี้ ทราบว่า ได้มีวัดภายในประเทศทั่วทุกภูมิภาคได้นำหลักธรรมจากหนังสือทศชาติไปร่วมจัด กิจกรรมเทิดพระเกียรติ ฯ รวมทั้ง วัดไทยในต่างประเทศทั่วโลก เช่น วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดพุทธารามลีดส์ ประเทศอังกฤษ วัดธรรมปทีป ประเทศสกอตแลนด์ และวัดพุทธาราม ประเทศเกาหลี เป็นต้น
หากเราจะน้อมนำหลักธรรมจากหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ให้ได้บรรลุเป้าหมายในชีวิต เราอาจเริ่มต้นด้วยการฝึกปฏิบัติตามทศบารมีข้อใดข้อหนึ่งก่อน ดังหลักทศบารมีที่ปรากฏในหนังสือ หรืออาจเริ่มต้นด้วยการอธิษฐานจิตตามรอยพระโพธิสัตว์ แล้วใช้ชีวิตเป็นการเดินทางอย่างมีเป้าหมายและมุ่งมั่น มีความเพียรอย่างไม่ท้อถอย ดังในความนำ จากทศชาติสู่ทศบารมี ตอนหนึ่งว่า
พระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมี ละเอียดขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่ ขั้นธรรมดา เรียกว่า “บารมี” ขั้นกลาง เรียกว่า “อุปบารมี” และขั้นสูงสุด เรียกว่า “ปรมัตถบารมี”
ขั้นธรรมดา พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมี โดยไม่คำนึงถึงทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ และคนที่พระองค์รัก เพื่อบรรลุพระโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงสละได้ แม้กระทั่งทรัพย์สมบัติทั้งปวง ยศถาบรรดาศักดิ์ และคนที่พระองค์รัก
ขั้นกลาง พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมี โดยไม่คำนึงถึงอวัยวะ ร่างกาย ทรงหวงแหนพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าหวงแหนอวัยวะ ร่างกาย เพื่อบรรลุพระโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงสละได้ แม้กระทั่งอวัยวะ และร่างกายของตน
ขั้นสูงสุด พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมี โดยไม่คำนึงถึงชีวิต ทรงหวงแหนพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต เพื่อบรรลุพระโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงสละได้ แม้กระทั่งชีวิตของตน
และในการบำเพ็ญอธิษฐานบารมี ต้องมีความมุ่งมั่นและทำจริง เพื่อไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ ดังนี้
อธิษฐานบารมี คือการบำเพ็ญบารมีด้วยความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมาย แห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน แล้วดำเนินไปตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ การอธิษฐานที่จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลที่พึงประสงค์นั้น ต้องมีวิริยะ คือ ความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป ไม่ท้อถอย มีขันติ คือ ความอดทน มีสัจจะ คือ ความจริงใจ และรักษาความตั้งใจ ไว้อย่างมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหว
“ลักษณะอธิษฐานธรรม ต้องประกอบด้วยปัญญาสิ่งนั้น ต้องเป็นจริง และมีความจริงใจ ซื่อตรง ต่อสิ่งที่อธิษฐาน สิ่งที่ต้องอธิษฐานไว้ เป็นเป้าหมายสูงสุด คือ อธิษฐานให้สามารถพ้นทุกข์ได้”
เมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีอย่างแรงกล้า ตามลำดับ ดังนี้
(๑) อธิษฐานบารมี อธิษฐานใจ ตั้งมั่นไว้ เพื่อให้ได้พระโพธิญาณ รักษาคำอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่ารักษาทรัพย์สมบัติ เมื่อต้องบำเพ็ญอธิษฐานบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้จะต้องเสียสละทรัพย์สมบัติไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธานที่ตั้งมั่นอธิษฐานไว้
(๒) อธิษฐานอุปบารมี อธิษฐานใจ ตั้งมั่นไว้ เพื่อให้ได้พระโพธิญาณ รักษาคำอธิษฐาน เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่ารักษาอวัยวะ ร่างกาย เมื่อต้องบำเพ็ญอธิษฐานอุปบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้จะต้องเสียสละอวัยวะ ร่างกายไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธานที่ตั้งมั่นอธิษฐานไว้
(๓) อธิษฐานปรมัตถบารมี การอธิษฐานใจ ตั้งมั่นไว้ เพื่อให้ได้พระโพธิญาณ รักษาคำอธิษฐาน เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่ารักษาชีวิต เมื่อต้องบำเพ็ญอธิษฐานปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้จะต้องสละชีวิตไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธานที่ตั้งมั่นอธิษฐานไว้
ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถตั้งจิตอธิษฐานตามรอยพระโพธิสัตว์เพื่อมุ่งโพธิญาณ การหลุดพ้นจากความทุกข์ในวัฏสงสารได้เช่นกัน จนกระทั่งเราเห็นด้วยปัญญาของเราเองว่า ทุกข์อันยาวไกลนี้เกินกว่าที่เราจะหาต้นสายปลายทางได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้และทรงใช้เวลาถึงนานแสนนานหลายภพชาติกว่าจะถึงชาติสุดท้ายที่ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ด้วยพระปัญญาธิคุณอันบริสุทธิ์ และความเมตตาอันหาประมาณมิได้ของพระองค์ หลังการตรัสรู้ธรรม พระองค์ก็ทรงมอบแผนที่แห่งการพ้นทุกข์ให้เราดำเนิน ซึ่งปรากฎอยู่ในพระไตรปิฏก และมีพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ปฏิบัติตามมรรคาตามพระธรรมวินัยที่พระองค์พาดำเนิน ให้เราเห็นเป็นแบบอย่างของผู้สงบเย็น ผู้พ้นแล้วจากวัฏฏะ เราก็ดำเนินจิต ใช้ชีวิตด้วยทศบารมี ตามรอยพระธรรม ตามรอยพระสงฆ์ ตามหลักธรรมจากพระโพธิสัตว์ในสิบพระชาติสุดท้าย ที่จะนำใจเราไปสู่ความพ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าในที่สุด
E-book หนังสือ ทศชาติ ฉบับ ญาณวชิระ : เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ คลิกเปิดอ่าน https://www.opm.go.th/…/multimedia/2022/project/index.html
๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ในการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา รัฐบาลแจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำหนังสือทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ ถวายกรรมการมหาเถรสมาคม ทุกรูป
๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๒๓ น
วันแห่งมหาปีติ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำ พระสงฆ์ และคณะบุคคล เฝ้าและเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวาย และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษ ไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับญาณวชิระ พระพุทธรูป และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน เพื่อทรงใช้สอยตามพระราช อัธยาศัย
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย มีพระบรมเดชานุภาพยิ่งใหญ่ ทรงพระปรีชาในศาสตร์หลายด้าน มีพระมนัสมั่นในพระกตัญญุตาธรรม มีพระราชศรัทธาเคารพหนักแน่นในพระรัตนตรัย มีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรู้เท่าทันในเหตุการณ์เหตุผลโดยตลอด พระองค์ทรงบำเพ็ญสรรพราชกรณียกิจ ล้วนเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่สมณพราหมณาจารย์ ทั้งแก่พสกนิกรถ้วนทั่ว ด้วยการพระราชทานสังคหธรรมนำจิตอาสาให้เพิ่มพูนขึ้นเนือง ๆ ด้วยทรงรักษาปกป้องคุ้มครองโดยชอบธรรม ทรงเพียบพร้อมด้วยพระคุณสมบัติแห่งพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นอเนกประการ มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานที่เป็นเหตุนำความเจริญรุ่งเรืองแห่งขอบขัณฑสีมาสยามประเทศ อันจะหาผู้ใดมาปรัปวาทมิได้
” บัดนี้ พระจอมชน ทรงสมบูรณ์ด้วยพระบุญญาธิการบารมี เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ปรากฏด้วยพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่แล้วนั้น…
“สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าของชาวไทยทุกพระองค์ ล้วนทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมเพื่อปกครองดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อาณาประชาราษฎร์ได้เกิดความร่มเย็นภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เฉกเช่นการบำเพ็ญพระบารมีธรรมแห่งพระโพธิสัตว์ซึ่งได้บำเพ็ญพระบารมีมานับด้วยอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป กล่าวเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต่างทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมแห่งพระโพธิสัตว์ เหมือนเช่น สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าของชาวไทยทุกพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วนั้น
“ในศุภสมัยอันเป็นมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ บรรดาอาตมภาพและพสกนิกรทั้งปวง ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ขอถวายพระพรชัยมงคลแด่พระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และเดชานุภาพแห่งพระกุศลผลบุญที่ทรงบำเพ็ญมา ขอพระองค์ฯ ผู้มีบุญญาธิการอันถึงพร้อมแล้ว จงทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ดำรงอยู่เป็นมิ่งขวัญอันยิ่งใหญ่ ของพสกนิกรชาวไทย ตลอดกาล…”
(จากส่วนหนึ่งใน อารัมภกถา หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ)
คณะผู้เรียบเรียง ตรวจทานแก้ไขปรับปรุงการใช้ถ้อยคำ และสำนวนภาษาไทย
หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ
พระธงชัย สุขญาโณ (อดีตพระพรหมสิทธิ)
พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์)
พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส (อดีตพระศรีคุณาภรณ์)
พระมหาสมจิตร จิตฺตธมฺโม (พระครูสิริวิหารการ)
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร