บวชตามประเพณี : ของดีที่กำลังถูกมองข้าม

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

           สมัยก่อนชายไทยถือว่าการได้บวชเป็นบุญและแสดงออกถึงความเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อบุพพการี  จนนำไปสู่การบวชตามประเพณี  ซึ่งกว่าการบวชจะกลายมาเป็นประเพณีวิถีวัฒนธรรมของคนไทยและชาวพุทธนั้นได้เดินทางมาไกลจากแดนพุทธภูมิและผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า ๒ พันปี  หยั่งรากฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมากว่า ๗ ร้อยปีนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา 

           สังคมไทย  ใช้การบวชเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและกล่อมเกลากุลบุตรให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์  คือเป็นคนดีมีหลักธรรมประจำใจเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต  ได้ฝึกปฏิบัติพัฒนาจิตให้เป็นคนคิดดีมีทักษะด้านการจัดการอารมณ์  สามารถที่จะข่มใจและมีความสุขุมเยือกเย็น  เพื่อที่จะมาเป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม 

           ผู้เฒ่าหลายท่านเล่าให้ฟังในทำนองเดียวกันว่า สมัยก่อนนั้น  วัดเป็นสถานศึกษาสำคัญที่สุดของชุมชน  บางครั้งพ่อแม่ส่งไปอยู่กับหลวงลุงในเมืองเพื่อจะได้ศึกษาเปรียญธรรม  บางรูปมีความสามารถกลับมาเป็นเจ้าคณะปกครองในท้องถิ่นตัวเอง   และได้มีโอกาสในการส่งเสริมการศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี  บางคนลาสิกขาไปแล้ว  ก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ดีให้กับครอบครัวและชุมชนได้  นั่นคือยุคที่ยังยกย่องคนดีที่มีวัตรปฏิบัติงดงาม   ตรงข้ามกับปัจจุบันที่แค่ดีแต่ไม่มีเงิน จะเดินอย่างสง่าผ่าเผยไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน  จะต้องมีทรัพย์หรือยศสูง ถึงจะได้รับเกียรติอย่างสมศักดิ์ศรี  มีคนนับหน้าถือตา

           การบวช ยังเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยการเรียนรู้  เรียกได้ว่า เป็น “transformative learning”  คือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง  หรือจะเรียกว่า เป็นการพัฒนาให้เกิดการเติบโตทางจิตใจ (Mental growth)  มีหลายกรณีให้ศึกษา 

พระอาจารย์บางรูปเปิดเผยถึงอดีตที่เคยสร้างวีรกรรมทำเรื่องเดือนร้อนทั้งต่อตนเองและครอบครัวมากมาย  เมื่อได้มาบวชตามประเพณีโดยที่ยังไม่รู้อะไรมากนัก แต่พอได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติเพียงแค่พรรษาเดียวเปลี่ยนนักเลงให้กลายเป็นนักธรรม และดำรงตนเป็นสงฆ์ที่สอนวิปัสสนาจนปัจจุบัน  ก็ถามท่านอยู่ว่า “จะมีกรณีแบบพระอาจารย์สักกี่คนกัน?” 

ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับการ่อนทอง หรือขุดหาเพชร  กรวดดินเราก็ทิ้งไป ตราบใดที่ทองยังอยู่ใต้ดิน  ขุดยังไงก็ต้องเจอดินก่อน  พระก็เหมือนกัน  ตราบใดที่พระยังต้องมาจากคน เราก็ต้องเจอกับคนที่มีกิเลสที่ยังต้องฝึกเป็นธรรมดา เจอไม่ดีก็สอนเขาให้เป็นคนดี นี่คือหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์  

ร่อนทอง ก็คือ การร่อนดินหินทรายออกจากทองก็ต้องมองหาทองจากดินนั่นแหละ แล้วก็ค่อยๆ ร่อนไป  ถ้าร่อนแล้วไม่เจอ  ก็แค่ตักมาร่อนใหม่  เจอก้อนเล็กๆ ก็สะสมไว้จนกระทั่งเป็นทองก่อนใหญ่ขึ้นมา

           จากที่ได้รับข้อมูลทำให้นึกถึง พระองคุลีมาล  ที่แม้จะร้ายกาจในอดีตแต่เมื่อได้บวชแล้วกับกลายเป็นดี  การบวชจึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน ส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหน  ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของแต่ละวัดและแต่ละคน  ซึ่งปัจจุบันนี้หลายคนก็มุ่งแต่จะกลั่นกรองผู้ที่จะเข้ามาบวช  ทำให้บางครั้งก็มีขั้นตอนเยอะแยะและใช้เวลาหลายวันกว่าจะรู้ว่าตนเองจะบวชได้หรือเปล่า

อีกทั้งบางแห่งยังต้องกำหนดทั้งวันบวชและวันสึกไว้ด้วย  ถ้าเกิดบวชแล้วพบสัจจะหวังละทางโลกขอบวชศึกษาต่ออีกสักหน่อย  ก็จะเป็นเรื่องยากแล้ว  แต่ก็อยากจะเปิดกว้างๆ ให้มองกันไกลๆ สักหน่อยว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะผ่อนปรนเงื่อนไขให้กระชับมากขึ้น แล้วมาปรับกระบวนการอบรม หรือกล่อมเกลาเขาหลังจากบวชแล้วให้มากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นระยะยาว  เพื่อให้การบวชเป็นประโยชน์สูงสุด และยังสามารถทำหน้าที่สร้างบุคลากรที่ดีให้กับสังคมต่อไป

           ผู้เขียนได้มีโอกาสจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมให้กับพระสงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่บวชตามประเพณี เพื่อรับฟังและร่วมแบ่งปันเรียนรู้ความรู้สึกและมิติความคิดเกี่ยวกับการบวชและการดำรงตนเป็นสงฆ์  พบว่า แต่ละรูปนั้น มีที่มาหลากหลายจากชุมชนรอบๆ วัด บางรูปเคยบวชเณรภาคฤดูร้อนเมื่อตอนเป็นเด็กแล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากกลับมาบวชอีกครั้ง 

บวชตามประเพณี : ของดีที่กำลังถูกมองข้าม โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

มีอยู่รูปหนึ่งลายสักตามตัวและแขนบ่งบอกอะไรได้เยอะสำหรับที่มา  แต่พยายามจะไม่ตัดสินเพียงเพราะสิ่งที่ตาเห็น เมื่อให้โอกาสท่านได้สะท้อน น้ำตาหลั่งรินบอกว่า คำที่ทำให้ให้ผมได้บวชก็คือ ความดี  ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยทำดีกับเขาเลยสักครั้ง ชีวิตมีแต่เรื่องเลวๆ หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็เห็นผมแล้วบอกว่า ต้องทำความดีนะ แล้วเมตตาให้ผมได้บวชตอนอายุปานนี้แล้ว

“ แรกๆ ขี้เมาในซอยก็แซวผมทุกวันตอนบิณฑบาต แต่ตอนนี้เขายกมือไหว้และใส่บาตร ผมภูมิใจมาก ผมบวชตอนแก่เรียนธรรมะก็ไม่ค่อยรู้เรื่องได้พระอาจารย์ผู้สอนเมตตาอธิบาย แม้จะไม่รู้มากแต่ท่านให้จำไปสักข้อเพื่อใช้ก็พอ ผมก็พยายามทำอยู่”

           ส่วนใหญ่ของพระที่บวชตามประเพณี  มีเป้าหมายเพื่อพ่อแม่หรือผู้มีพระคุณ  เป็นการแสดงออกถึงความเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรม  มีรูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่า บวชให้แม่  ตั้งใจว่าจะบวช ๑ พรรษา แต่พอได้เรียนและปฏิบัติรู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่เป็นพระ  ได้ทำประโยชน์หลายๆ อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน  จึงอยู่ต่อเรื่อยมา  ซึ่งก็คล้ายๆ กับหลายรูปที่ตั้งใจบวชระยะสั้น  แต่ว่าค้นพบบางอย่างจึงอยากเดินบนเส้นทางนี้ต่อ  มีบางรูปที่อยากอยู่ต่อแต่ว่า ติดบ่วงพันธะผูกพันทำให้ไม่สามารถจะอยู่ได้นานเกินกว่าที่กำหนดไว้ได้ 

           การบวช มีเป้าหมายเพื่อการละเว้นจากความเป็นฆราวาส และใช้ช่วงชีวิตขณะนั้นปฏิบัติพัฒนาใจตนเอง  เรียนรู้หลักธรรมอันจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงามตามวิถีพุทธ ลดทุกข์เพิ่มสุขให้กับชีวิตและเติมเต็มบารมี เพราะถือเป็นการบำเพ็ญเนกขัมบารมีอีกอย่างหนึ่ง  แม้จะเป็นการบวชระยะสั้น แต่ถ้าตั้งใจปฏิบัติฝึกหัดดัดตนอานิสงส์ผลที่ดีย่อมเกิดขึ้นแน่นอน  ทั้งต่อตนเอง  บิดามารดาผู้มีพระคุณ  และพระพุทธศาสนา

บวชตามประเพณี : ของดีที่กำลังถูกมองข้าม โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
บวชตามประเพณี : ของดีที่กำลังถูกมองข้าม โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

           น่าจะมีการศึกษาว่า จะทำอย่างไรให้การบวชระยะสั้นเกิดประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป 

และที่สำคัญนโยบายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามนี้ของสังคมไทยเราต่อไปอย่างไร  แม้การพัฒนาด้านวัตถุจะจำเป็นและเห็นผลของการลงทุนชัดเจนกว่า แต่การพัฒนาด้านจิตใจก็เป็นสิ่งจำเป็นและคงจะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปคู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน เรื่องและภาพ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here