บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนั้น ก็ทรงเริ่มประกาศพระพุทธศาสนา โดยทรงใช้เวลาตลอดฤดูฝนแรก ณ ป่าอิสิปตนฤคทายวัน รวบรวมพุทธสาวกได้ ๖๐ รูป แล้วทรงอบรมคุณธรรมแก่พระสาวกเหล่านั้นอย่างเพียงพอที่จะแยกย้ายกันออกไปประกาศพระพุทธศาสนา ครั้นพอหมดฤดูฝน ก็ทรงเรียกพระสาวกเหล่านั้นมาประชุมแล้วรับสั่งให้แยกย้ายไปประกาศพระพุทธศาสนาในภูมิภาคต่าง ๆ
การประชุมในครั้งนั้น นับเป็นการประชุมปฐมนิเทศสำหรับพระธรรมทูตรุ่นแรกในพระพุทธศาสนา โดยที่พระพุทธองค์ทรงรับสั่งกับพระภิกษุทั้งหลาย ( ๖๐ รูป ) นั้นว่า
มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ มา เอ เกน เทฺว อคมิตฺถ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลยาณํ สาตฺถํ สพฺยญชนํ เกวล ปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นกันจากบ่วงทั้งปวง ที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ (เช่นกัน) ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธออย่าได้ไปรวมโดยทางเดียวกันสองรูป, จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด, จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์, สัตว์ทั้งหลาย จำพวกที่มีธุลี คือ มีกิเลสน้อย มีอยู่ , แต่เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อม , ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม” (วิ.ม.(ไทย), ๔/๓๒/๔๐)
เหล่าพระสาวกทั้ง ๖๐ รูป ที่ทรงส่งไปประกาศพระศาสนานั้น ถือว่าเป็นคณะพระธรรมทูตชุดแรก ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา โดยที่พระองค์ก็ทรงเสด็จไปเผยแผ่พระศาสนาเหมือนกัน คือเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิที่ผู้คนนับถือมาก
เมื่อเจ้าลัทธินับถือและเลื่อมใสแล้ว เหล่าบริวารทั้งหลายก็จะได้เลื่อมใสตามไปด้วย ทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปได้อย่างรวดเร็ว และพระพุทธศาสนาก็ได้แพร่หลายนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จสู่พระปรินิพพานได้ ๒๓๖ ปีก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในพระพุทธศาสนา
ครั้งเมื่อเดียรถีย์ปลอมบวชและได้แสดงหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้คลาดเคลื่อน หลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงอาราธนาพระภิกษุในชมพูทวีปทั้งสิ้นให้มาประชุมกัน และทรงถามให้ภิกษุเหล่านั้นอธิบายหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ทรงรับสั่งให้สึก เหล่าภิกษุที่ตอบคลาดเคลื่อนจากหลักพระพุทธศาสนาจำนวน ๖๐,๐๐๐ รูป แล้วก็ได้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยใหม่ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ ๓ ในการสังคายนา
ครั้งนี้มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานสงฆ์และเป็นผู้ถาม พระมัชฌันติกะและพระมหาเทวะเป็นผู้วิสัชนา และได้รับพระสงฆ์เป็นพระอรหันต์จำนวน ๑,๐๐๐ รูป พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์ ทำให้การสังคายนาที่อโศกการาม เมืองปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ทำอยู่ ๙ เดือน จึงสำเร็จ หลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ พระนครปาฏลีบุตร
หลังจากเสร็จสิ้นการสังคายนาแล้ว ได้ทรงส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ รวม ๙ สาย ในบรรดา ๙ สายนั้น พระโสณะเถระและพระอุตตระเถระ เป็นสายหนึ่ง ( คัมภีร์สมันตปาทาสาทิกา อรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก นับเป็นสายที่ ๘ แต่คัมภีร์ศาสนวงศ์นับย้อนไปเป็นสายที่ ๒) ได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในอาณาจักรสุวรรณภูมิ ซึ่งสันนิษฐานกันว่า ได้แก่จังหวัดนครปฐม โดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น เป็นประจักษ์พยานอยู่จนบัดนี้ (พม่าว่า สุวรรณภูมิได้แก่เมือง สะเทิมในพม่าตอนใต้ : พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต ) ,พระพุทธศาสนาในเอเชีย กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา, ๒๕๔๐, หน้า ๑๔๓ )
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ที่ทำให้คนต่างศาสนามองเห็นคือ มิชชันนารีชาวโปรตุเกส ชื่อกาสปาร์ ดาครูซ ได้บันทึกไว้ในปีคริสต์ศักราช ๑๕๕๖ (พุทธศักราช ๒๐๐๙) ว่า “มีความภูมิใจและเย่อหยิ่งอย่างเหลือเกิน พวกเขาได้รับการบูชาสักการะราวกับเทพเจ้าเป็น ๆ ผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่าในหมู่ภิกษุด้วยกันก็บูชาผู้อาวุโสกว่าดุจเทพเจ้า ทั้งสวดมนต์ ภาวนา และกราบกราน ฉะนี้ สามัญชนทั้งหลาย จึงเชื่อมั่นในพระภิกษุอย่างสูง ให้ความเคารพและกราบไหว้บูชา ไม่มีใครกล้าคัดค้านพระในเรื่องใดๆ บางครั้ง ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเทศน์อยู่ ผู้คนรอบข้างซึ่งได้ยินข้าพเจ้าพูดอย่างชัดเจน และพอใจในสิ่งที่ข้าพเจ้าสอน ทันทีที่พระเหล่านี้เดินผ่านมา และพูดเปรยว่า “นั่นก็ดีอยู่หรอก แต่ของเราดีกว่า พวกเขาก็จะเดินหนีไปหมดทิ้งข้าพเจ้าไว้แต่ลำพัง” (พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์ , วงเดือน นาราสัจจ์ แปล, ประวัติศาสตร์กัมพูชา โดย เดวิด แซนด์เลอร์ , (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๕), หน้า ๑๒๓ )
พระธรรมทูตจึงมีบทบาทในการประกาศพรหมจรรย์ตามรอยพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะหยุดการเกิดในวัฏสงสารแห่งความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง แล้วออกเผยแผ่ธรรม แสดงธรรม สอนการรักษาศีล แนวทางการเจริญสติ สมาธิ เพื่อให้ผู้คนเกิดปัญญาในการเห็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ในสรรพสิ่ง จนกระทั่งคลายความทุกข์จากความคิดยึดติดในกายและใจ จนเห็นสัจธรรมความจริงว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราจะยึดไว้ได้
การเห็นสัจธรรมความจริงอันประเสริฐ หรือ ความจริงอันอริยะนี้ เพื่อให้ผู้คนมีหนทางในการปฏิบัติขัดเกลาตนเอง จนสามารถพึ่งธรรมที่ปรากฏในใจจนสามารถออกจากทุกข์ในสังสารวัฏได้ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก จากการประกาศวิถีชีวิตแห่งพรหมจรรย์ บนเส้นทางสายกลาง อันมีอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางดำเนิน ในยุคนั้น จึงเป็นนวัตกรรมทางจิตที่ล้ำยุค เหนือกาลเวลา
การค้นพบความจริงของพระพุทธเจ้า เป็นการค้นพบความลับในธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป กฏอิทัปปัจจยตา ดำเนินไปในธรรมชาติตลอดเวลา แต่มนุษย์ส่วนใหญ่มองไม่เห็น และหลังจากคืนวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ค้นพบความจริงในธรรมชาติอันสลับซับซ้อนที่พามนุษย์เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์ของความโลภ โกรธ หลง ไม่สิ้นสุด
การเห็นความจริง ทำให้หัวใจของพระองค์ตื่นขึ้นมา เมื่อดับอวิชชา ในวงล้อแห่งปฏิจจสมุปบาท อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงได้หมดสิ้น ไม่มีพระองค์ที่เป็นตัวตนเหลืออยู่ เมื่ออวิชชาดับ วิชชาก็ปรากฏ พระองค์ทรงดับตัณหานำพาให้เกิดได้แล้ว จากนั้นไม่นาน หลังเสวยวิมุติสุข ๔๙ วัน พระองค์ทรงเริ่มยุทธศาสตร์ในการเผยแผ่หนทางแห่งการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ซึ่งในสมัยพุทธกาล เรียกว่า พระธรรมวินัย
การเผยแผ่พระธรรมวินัย ซึ่งต่อมาเรียกว่า พระพุทธศาสนา ก็คือการเผยแผ่ความจริงอันประเสริฐ พระธรรมทูตจึงมีบทบาทสำคัญในการแสดงธรรม เพื่อวัตถุประสงค์คือการเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็เพื่อให้ธำรงอยู่ซึ่งพระธรรมวินัย ที่จะช่วยผู้คนให้มีหนทางในการดับทุกข์ทั้งกายและใจให้ตนเองจนกว่าจะหยุดการเวียนว่ายตาายเกิดอันแสนเจ็บปวดและทรมานในสังสารวัฏ และขยายผลการเผยแผ่ต่อไปในทวีป และประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ซึ่งในประเทศไทย การปฎิบัติงานของพระธรรมทูตได้เริ่มครั้งแรก คือ กรมการศาสนา ได้ฟื้นฟูจัดให้มีงานพระธรรมทูตขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ถึงปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ โดยมีความมุ่งหมายให้ประชาชนยึดมั่นในพระพุทธศาสนาให้มีศีลธรรมประจำใจ มีความเคารพรักต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ ได้ทดลองดำเนินงาน โดย อาราธนาพระเถระผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าคณะอำนวยการ จัดส่งพระสงฆ์ออกจาริกประกาศพระศาสนาในสิ่งต่างๆ มหาเถรสมาคมมีมติให้รับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบพระธรรมทูตนี้เป็นกิจกรรมถาวร โดยตั้งเป็นกองงานพระธรรมทูตขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน