บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๕ “สนง.เสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เป็นหน่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกตามกฎหมาย เพียงแห่งเดียวของคณะสงฆ์ไทย” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

0
3289

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๕

สนง.เสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ

เป็นหน่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกตามกฎหมาย เพียงแห่งเดียวของคณะสงฆ์ไทย

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

         เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้มีคำสั่งจัดตั้งโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยมีคณะกรรมการดำเนินงาน ประกาศคำสั่ง เมื่อวันที่ ๑ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ลงนามโดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

           การให้มีคำสั่งจัดตั้งโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ จึงเป็นการ “ออกคำสั่ง” เพื่อตั้งคณะกรรมการดำเนินงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามความในมาตรา ๑๕ ตรี (๓) และวรรคสอง เพราะผู้ลงนามคือ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจลงนามในพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชได้ พร้อมทั้งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ตามมาตรา ๘ และมาตรา ๑๒

           ในเวลาต่อมามหาเถรสมาคมได้ออกมติเพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก มติมหาเถรสมาคม ที่ ๔๑๒/๒๕๕๖ ในคราวประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๐/๒๕๕๖ “เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุนในการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก”

           และเมื่อมหาเถรสมาคมได้มีมติให้สำนักงานส่งเสริมเป็นหน่วยงานเผยแผ่เชิงรุกของคณะสงฆ์แล้ว ต่อมาจึงได้มีมติมหาเถรสมาคม ที่ ๔๘๗/๒๕๕๘ ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒๐/๒๕๕๘ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเข้ามาบริหารงานสำนักงานแห่งนี้ ให้เป็นคณะกรรมการดำเนินงานตามมติมหาเถรสมาคม โดยมีพระสงฆ์จากวัดต่างๆ รวม ๒๑ รูป ซี่งมีพระพรหมสิทธิ วัดสระเกศ เป็นประธานดำเนินงาน มีพระพรหมเสนาบดี วัดปทุมคงคา พระธรรมวิสุทธมจารย์ วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น เป็นรองประธาน พระเมธีสุทธิกร(สังคม สังฆพัฒน์) วัดสระเกศ เป็นกรรมการ  และมีพระวิจิตรธรรมาภรณ์(เทอด วงศ์ชะอุ่ม) เป็นกรรมการและเลขานุการ พระศรีคุณาภรณ์(บุญทวี คำมา) พระครูสิริวิหารการ(สมจิตร จันทร์ศรี)วัดสระเกศ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

         จะเห็นว่าสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เป็นการออกคำสั่งโดยอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ตามความในมาตรา ๑๕ ตรี (๓) และวรรคสอง ประกอบกับมาตรา ๘ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

โครงการพระนักเขีนยภาคเหนือ
โครงการพระนักเขีนยภาคเหนือ

         และการทำงานเผยแผ่เชิงรุกของคณะสงฆ์ไทย มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นคือสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ซึ่งมีหน่วยงานกลางตั้งอยู่ที่วัดสระเกศ และมีศูนย์สาขาและเครือข่ายทุกภูมิภาค ตามคำสั่งและมติของมหาเถรสมาคม เพื่อขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกโดยตรง

๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๕.๓๐ น. พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี, ป.ธ. ๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร พร้อมด้วยคณะกรรมการ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร เข้าร่วมประชุมประธรรมทูต ๔ ทวีป ณ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อนำเสนอ ๑. ร่างแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน กำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ๒. ร่างหลักสูตรอบรมพระธรรมทูต สายต่างประเทศ เชิงปฏิบัติการ ……………………………………………………. โดยการได้รับมอบหมายจาก…. ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชอุปเสณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร, เลขานุการ ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประะเทศ, ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรวิหาร, หัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๕.๓๐ น. พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี, ป.ธ. ๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร พร้อมด้วยคณะกรรมการ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร เข้าร่วมประชุมประธรรมทูต ๔ ทวีป ณ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อนำเสนอ ๑. ร่างแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน กำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ๒. ร่างหลักสูตรอบรมพระธรรมทูต สายต่างประเทศ เชิงปฏิบัติการ โดยการได้รับมอบหมายจาก…. ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชอุปเสณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร, เลขานุการ ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประะเทศ, ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรวิหาร, หัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

         สำหรับภารกิจของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ จุดที่น่าสังเกตคือคำว่า “เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุนในการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก” จึงทำให้คนในสังคมตั้งคำถามว่าการทำงานเผยแผ่แบบปกติ กับการทำงานเผยแผ่เชิงรุกตามมติมหาเถรสมาคม ต่างกันอย่างไร ?

           ทั้งนี้ การทำงานเผยแผ่แบบปกติ กับการทำงานเผยแผ่เชิงรุก จะมีจุดต่างกันโดยสรุปมี ๕ ประการ

           ประการที่หนึ่ง วิธีการทำงานเผยแผ่แบบปกติกับวิธีการทำงานเผยแผ่เชิงรุก

           การทำงานเผยแผ่แบบปกติ ก็คือการทำงานคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้าน ซึ่งได้อธิบายอย่างละเอียดแล้วในบทความก่อนหน้านี้  และวิธีการทำงานเผยแผ่แบบปกติที่คนทั่วไปเข้าใจ เช่น แสดงธรรมบนธรรมาสน์ หรือรอให้โยมเข้ามาหาที่วัดแล้วจึงจะได้มีโอกาสสอนธรรมะเท่านั้น

โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากรด้านจิตวิทยา ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
โครงการพัฒนาศักยภาพพระวิทยากรด้านจิตวิทยา ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

           แต่วิธีการทำงานเผยแผ่เชิงรุก จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเผยแผ่หรือสอนธรรมะโดยสื่อสารธรรมะผ่านวิทยุ โทรทัศน์ และเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตลอดถึงการนำเสนอธรรมะจะไม่พูดแต่เพียงเนื้อหาหลักธรรมอย่างเดียว จะใช้สื่อสมัยใหม่เข้ามาช่วย สร้างสื่อธรรมะขึ้นมา เป็นภาพตัดต่อ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ตัดต่อวีดีโอ ฉายผ่านโปรเจคเตอร์ หรือจอภาพ พร้อม ๆ กับบรรยายธรรมไปด้วย เพื่อให้ผู้ฟังธรรมเข้าใจ และเห็นภาพมากยิ่งขึ้น

           และวิธีการเผยแผ่แบบปกติกับเชิงรุกที่ต่างกันเห็นได้ชัดเจนคือ การเผยแผ่แบบปกติก็จะเพียงสอนธรรมในวัดรอให้คนเข้ามาหาเท่านั้น แต่การเผยแผ่เชิงรุกคือการเดินเข้าไปหาชุมชน โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยใช้วิธีการเดินเข้าไปหา เพื่อให้ได้หัวใจ และนั่งจับเข่าคุยคือสอนธรรม เพื่อให้หัวคิด ซึ่งวิธีการนี้ไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้น แต่มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลครั้งที่พระพุทธเจ้าจาริกธรรมเดินไปสอนปัญจวัคคีย์แล้ว

         ประการที่สอง กระบวนการทำงานเผยแผ่แบบปกติกับกระบวนการทำงานเผยแผ่เชิงรุก

           กระบวนการเผยแผ่แบบปกติก็คือการนำเนื้อหาธรรมไปสอนเท่านั้นคือไม่มีการบูรณาการเข้ากับศาสตร์อื่น ๆ แต่การเผยแผ่เชิงรุกคือนำองค์ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ของโลกสมัยใหม่มาบูรณาการเข้ากับกระบวนการสอนธรรม เช่น

           กระบวนการจิตวิทยา (psychology) คือ ศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ กระบวนทางความคิด, การรับรู้, บุคลิกภาพ, อารมณ์ และพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

           กระบวนการโค้ชชิ่ง (Coaching) คือ เป็นกระบวนการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ พัฒนา แก้ไขปัญหา และที่สำคัญคือค้นหาตนเองให้เจอ มองตนเองให้ออก บอกตนเองให้ได้ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จและความสุขของชีวิต

            โดยจะมีแผนยุทธศาสตร์การทำงานเผยแผ่ การเขียนหลักสูตร การฝึกพระสงฆ์ให้เขียนบทความและหนังสือเล่ม มีการทำงานวิจัยผลสัมฤทธิ์ของการทำงานของพระสงฆ์ และมีการนำกระบวนการของศาสตร์ต่าง ๆ มาบูรณาการเข้ากับหลักธรรม เพื่อให้ธรรมหยั่งถึงรากลึกของจิตใจมนุษย์ และสามารถน้อมนำหลักธรรมไปเป็นหลักของการดำเนินชีวิตให้ได้มากที่สุดโดยอาศัยกระบวนการของศาสตร์เหล่านี้ มาเป็นเครื่องมือ หรือกลไกในการสื่อสารธรรมในโลกสมัยใหม่ยุคปัจจุบัน

           ประการที่สาม การทำงานเผยแผ่เชิงรุกในประเทศเชื่อมโยงกับพระธรรมทูตทั่วโลก

ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

         การทำงานเผยแผ่แบบปกติก็จะต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีเครือข่ายอะไร แต่ละวัด หรือพระภิกษุรูปใด จะทำตามแนวทางของตนเองเท่านั้น แต่สำหรับสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ จะเป็นหน่วยงานกลางที่เป็นตัวเชื่อมให้พระวิทยากรทำงานร่วมกัน เป็นทีม เป็นกระบวนการ และแบ่งหน้าที่ในการขับเคลื่อนงานโดยมีเครือข่ายทั่วประเทศ

         เหตุผลประการหนึ่งที่คณะสงฆ์โดยมติมหาเถรสมาคม ขอให้หน่วยงานกลางมาตั้งที่วัดสระเกศ เพราะวัดสระเกศเป็นที่ตั้งของสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เพื่อต้องการเชื่อมโยงหน่วยงานการเผยแผ่ของคณะสงฆ์ไทยทั้งสองหน่วยงานให้ขับเคลื่อนเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศไปพร้อมกัน ให้การทำงานเผยแผ่ของคณะสงฆ์ไทยมีความเป็นเอกภาพ

           จะเห็นได้จาก มติมหาเถรสมาคมที่ ๒๒๐/๒๕๕๘ เรื่อง ขอความเห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ” ซึ่งในปี ๒๕๕๖ มหาเถรสมาคมมีมติ ให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เป็นหน่วยงานเผยแผ่เชิงรุกของคณะสงฆ์ และต่อมาในปี ๒๕๕๘ มหาเถรสมาคมก็ได้มีมติให้สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงาน เพื่อให้หน่วยงานสอดคล้องและรองรับกับการทำงานเผยแผ่เชิงรุกของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ

           ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ นอกจากจะดำเนินภารกิจเผยแผ่เชิงรุกตามมติมหาเถรสมาคมตามที่กล่าวมาแล้ว  ยังเป็นหน่วยงานเผยแผ่ของคณะสงฆ์ไทยที่ต้องขับเคลื่อนงานเผยแผ่เชิงรุกเชื่อมโยงกับหน่วยงานเผยแผ่ในต่างประเทศกับเครือข่ายพระธรรมทูตทั่วโลก

           ประการที่สี่ ทำงานเผยแผ่เชิงรุกในทุกพื้นที่ของประเทศ

         การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบปกติ ก็อย่างที่เราเห็นทั่วไปเช่นพระเทศน์ สอนตามวัดของตนทุกเช้าวันพระ หรือในโอกาสต่าง ๆ และในพื้นที่ ที่อยู่ในภาวะปกติเท่านั้น

           แต่การทำงานเผยแผ่เชิงรุกตามมติมหาเถรสมาคมที่สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ต้องรับผิดชอบ ไปทุกพื้นที่ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะปกติ หรือเป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบที่ต้องไปขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกให้เป็นระบบ และรูปธรรม

           ตามมติที่ ๕๑๒/๒๕๕๘ เรื่อง ขอความเห็นชอบตั้งศูนย์ขับเคลื่อนการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้ ดังความในมติมหาเถรสมาคม มติที่ ๕๑๒/๒๕๔๘ สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคมทีว่า

โครงการฝึกอบรมพระวิทยากร-จ.อุบลราชธานี
โครงการฝึกอบรมพระวิทยากร-จ.อุบลราชธานี
โครงการพระนักเขียนภาคใต้
โครงการพระนักเขียนภาคใต้

           “…เพื่อขับเคลื่อนงานส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างเข็มแข็ง เป็นระบบ และเป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเห็นควรจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนงานส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้ ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร

           เนื่องจากที่ผ่านมาวัดสระเกศ โดยกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้ส่งพระธรรมทูตอาสา และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความมั่นคง และเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง…”

           และมติมหาเถรสมาคมดังกล่าวนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานก่อตั้งพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ออกประกาศ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นการออกคำสั่งที่มีผลตามกฎหมาย

           ประการที่ห้า นำเสนอการทำงานเผยแผ่เชิงรุกทั้งในและต่างประเทศให้สาธารณชน

           การทำงานเผยแผ่แบบปกติคือทำแล้วไม่ได้มีการนำมาเผยแผ่ให้สังคมได้เห็น หรือไม่ได้มีการนำเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการนำเสนอในการทำงานเผยแผ่ของคณะสงฆ์ เช่น แสดงธรรมบนธรรมาสน์ เมื่อแสดงพระธรรมเทศนาจบ ทุกอย่างก็จบ  หรือไม่ได้มีการทำเป็นวีดีโอเพื่อนำเสนองานเผยแผ่ในด้านต่าง ๆ ให้สังคมได้เห็น เพื่อให้เกิดความศรัทธา อันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนได้มีความปรารถนาอยากเดินเข้าหาธรรม

           แต่ในบริบทหรือตามเจตนารมณ์ของการทำงานเผยแผ่เชิงรุกของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ตามมติมหาเถรสมาคม จะมีการนำเสนอโดยสรุปดังนี้

           ๑) เมื่อคณะพระวิทยากรได้ลงพื้นที่ทำงานเผยแผ่ ก็จะได้นำงานหรือโครงการต่าง ๆ นำเสนอสู่สาธารณชน ให้ได้เห็นการทำงานของคณะพระวิทยากรผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ

โครงการธรรมะคืนถิ่น คืนกำไรชีวิต คืนความดีให้ชุมชน
โครงการธรรมะคืนถิ่น คืนกำไรชีวิต คืนความดีให้ชุมชน

           ๒) คณะสงฆ์ได้ทำงานในกรอบทั้ง ๖ ด้าน ซึ่งถือว่าเป็นงานเผยแผ่ โดยเฉพาะงานด้านสังคมสงเคราะห์ที่เห็นได้ชัด ณ ปัจจุบันคือการช่วยเหลือสังคม หรือล่าสุดช่วยเหลือน้ำท่วม อย่างเช่นน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ มหาเถรสมาคมก็ได้มีมติให้ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ เป็นศูนย์ช่วยเหลือ ซึ่งจะได้นำงานเหล่านี้มาเผยแผ่ให้สาธารณชนได้เห็นการทำงานของคณะสงฆ์

           และเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศเนปาลปี ๒๕๕๘ มหาเถรสมาคมก็ได้มีมติให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ ร่วมกับ สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นศูนย์ช่วยเหลือ

           ๓) สร้างสื่อวีดีทัศน์ สื่อออนไลน์ แอพพลิเคชั่นธรรมะผ่านมือถือ แอนนิเมชั่น และหนังสั้นส่งเสริมการเผยแผ่ธรรมะ หรือจัดทำรายการเกี่ยวกับวัดและพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบของการจัดรายการธรรมะ หรือสารคดี ซึ่งก็เป็นงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกอีกประการเช่นกัน เพราะเป็นการสร้างกลไกลให้มนุษย์เข้าถึงธรรม โดยอาศัยกระบวนการและรูปแบบสื่อสารสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพื่อให้มนุษย์และทุกกลุ่มเป้าหมายในสังคมได้เข้าถึงธรรมโดยง่ายและเข้าใจมากยิ่งขึ้น

         ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ จึงเป็นหน่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกเพียงแห่งเดียวของคณะสงฆ์ไทยตามกฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งการทำงานเผยแผ่เชิงรุกจึงเป็นการนำหลักธรรมเดินเข้าไปหามนุษย์ เดินเข้าไปหาสังคมในทุก ๆ มิติ คณะพระวิทยากรทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่กันทำ ทำเป็นกระบวนการ และมีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึง วิธีการและกระบวนการของศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาบูรณาการเพื่อให้หลักธรรมขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าไปถึงรากลึกของจิตใจมนุษย์ และให้ธรรมนั้นเป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิตสืบต่อไป

           อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสังเกตอีกประการของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ คือ ชื่อสำนักงานแม้จะไม่มีคำว่า “เผยแผ่” ปรากฏในชื่อแต่มันก็คือหน่วยงานเผยแผ่ของคณะสงฆ์นั่นเอง กล่าวคือ

           เจตนารมณ์ ในการก่อตั้งดำริขึ้นโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งในคณะสงฆ์เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าเพื่อให้การขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์เป็นรูปธรรม

           ในทางพฤตินัย องคาพยพการทำงานของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ มีความมุ่งหมายเพื่อการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรมเห็นได้เป็นที่ประจักษ์จากการสรุปการดำเนินงานในแต่ละปี

           ในทางนิตินัย เห็นได้ชัดเจนจากมติมหาเถรสมาคม “เห็นชอบให้เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุนในการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก” มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่านี้คือหน่วยงานเผยแผ่ของคณะสงฆ์ที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

           ป.ล. หากมีคนตีความว่าหน่วยงานดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นหน่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะเพียงไม่ได้มีคำว่า “การเผยแผ่” ในชื่อสำนักงาน บุคคลนั้นไม่ได้ชื่อว่าเป็นนักกฎหมาย แต่เป็นนักเทคนิคที่ดูแต่ตัวบท ตัวอักษร แต่ไม่ได้ดูที่เจตนารมณ์หรือบริบทอันแท้จริงของเรื่องนี้

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๕

สนง.เสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ

เป็นหน่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกตามกฎหมาย เพียงแห่งเดียวของคณะสงฆ์ไทย

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here