ขอขอบคุณที่มาของภาพประกอบ http://morning-news.bectero.com/social-crime/2018-05-25/123773

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๒

เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ กับ เจ้าพนักงานที่เป็นเจ้าอาวาส บริบทของความรับผิดชอบและหน้าที่ต่างกัน

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

          ตามหลักประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗  “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

          และมาตรา ๑ (๑๖) “เจ้าพนักงาน หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่”

          ในส่วนนี้อาตมาจะไม่อธิบายรายละเอียดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๑(๑๖) แต่จะอธิบายเฉพาะในประเด็นการนำมาตรา ๑๕๗ ประกอบกับมาตรา ๑(๑๖) มาบังคับใช้กับเจ้าอาวาสในฐานะเป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น

          ตามมาตรา ๑๕๗ เป็นกรณีที่ใช้บังคับกับเจ้าพนักงานฝ่ายอาณาจักรที่มีรูปแบบการทำงานเป็นการบริหารงานแบบราชการ ที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐ  อย่างกรณีเจ้าอาวาสแม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์จะบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงาน แต่รูปแบบและลักษณะงานจะแตกต่างไปจากบริบทของหน่วยงานรัฐ กล่าวคือ ระบบการทำงานระหว่างเจ้าพนักงานในบริบทของอาณาจักรกับศาสนจักรมันมีความต่างกันอยู่

          เมื่อบริบทการทำงานหรือความเป็นเจ้าพนักงานมีความแตกต่างกัน จึงไม่อาจจะนำมาตรา ๑๕๗ มาบังคับใช้ในหลักการเดียวกันได้ เพราะหากนำนิติวิธีที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงแห่งคดีมาเป็นเครื่องมือในการวินิจฉัย ก็ไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมกับอีกฝ่ายได้ แต่จะเป็นการยัดเยียดความอยุติธรรมให้โดยกฎหมายปิดปาก คือ ต้องรับโทษนั้นตามกฎหมาย โดยที่ไม่สามารถอธิบายอะไรได้ เหมือนคณะสงฆ์ที่กำลังเผชิญชะตากรรมอยู่ตอนนี้

          หลักการที่เห็นได้ชัดเจนคือ นิติวิธีทางกฎหมายเอกชน กับนิติวิธีทางกฎหมายมหาชน ยังต้องมีการแยกกันชัดเจน นี้คือเหตุผลว่าทำไมต้องมีศาลปกครองแยกออกไปจากศาลยุติธรรม เพราะบริบทของข้อเท็จจริงแห่งคดีที่เกิดขึ้นมันต่างกัน เช่นเดียวกับประเด็นของคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้มีการนำเอานิติวิธีของระบบราชการ มาเป็นเกณฑ์ให้กับคณะสงฆ์ กรณีวัดสามพระยา และวัดสระเกศ ที่เป็นคดีความ โดยการนำเอานิติวิธีของระบบราชการ มาเป็นหลักในการใช้ดุลพินิจกับองค์กรสงฆ์ซึ่งเป็นบริบทที่แตกต่างกัน

          หรือการที่มี ศาลทหาร, ศาลภาษี, ศาลแรงงาน, ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ, ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ หรือมีกฎหมายบัญญัติขึ้นมาใช้เฉพาะเรื่อง ใช้กับบางหน่วยงาน หรือใช้กับบางหน่วยงานที่มีนิติสัมพันธ์กันขึ้นเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เหมือนหมอรักษาคนป่วย ให้ยารักษาตรงกับโรคของคนป่วย เช่นเดียวกับการที่มีศาล หรือกฎหมายแต่ละประเภท เพราะลักษณะข้อเท็จจริงแห่งคดีมีความแตกต่างกันออกไป จึงต้องมีศาลหรือกฎหมายเป็นเฉพาะในแต่ละด้านเพื่ออำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

          และตัวอย่างที่เห็นชัดเจนตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. ๒๔๘๙ “ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์จำเลยหรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก ทั้งนี้ ไม่ว่ามูลคดีเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้”

          เป็นกรณีของการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล เพราะบริบทของคนในพื้นที่มีความต่างจากพื้นที่อื่น กล่าวคือแม้จะเป็นเรื่องครอบคครัว และมรดกเหมือนกัน แต่มีเรื่องของวัฒนธรรม จารีต หรือแนวทางปฎิบัติของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องจึงทำให้มีความแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ต้องมีกฎหมายเฉพาะเรื่องขึ้นมา ก็เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนในเฉพาะพื้นที่เท่านั้น

          ถ้าพูดแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็เหมือนมีดมีหลายประเภท เป็นมีดเหมือนกัน แต่ใช้งานแตกต่างกันออกไป เช่นมีดบางสำหรับใช้ทำอาหารในครัวคือ หั่นผัก หั่นเนื้อ ฯ แต่ถ้านำมีดบาง มาตัดฟืน ตัดต้นไม้ เป็นการนำมีดมาใช้งานผิดประเภทก็จะทำให้เกิดโทษได้  เฉกเช่นการนำมาตรา ๑๕๗ ที่บังคับใช้กับเจ้าพนักงานฝ่ายอาณาจักร แต่ได้เอาหลักการเดียวกันนี้มาใช้บังคับกับเจ้าพนักงานที่เป็นเจ้าอาวาสซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน จึงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรสงฆ์อย่างใหญ่หลวง

          และหลักการที่ยืนยันว่าหน้าที่ ความรับผิดชอบ บริบทของเจ้าพนักงานฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายศาสนจักรมีความแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจนจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๔๐ /๒๕๕๔ ดังนี้

          “แม้จำเลยเป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ร่วมและได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำที่จะถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเจ้าอาวาสไม่อยู่ในความหมายดังกล่าว

          และในปัจจุบันวัดจัดตั้งขึ้นโดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งกำหนดให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน แต่ก็มีอำนาจอย่างจำกัดตามมาตรา ๓๗ เฉพาะในการบำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อันเป็นกิจการของสงฆ์โดยเฉพาะ

          ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการศาสนาและกระทรวง ศึกษาธิการ วัดจึงหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน

          ดังนั้น พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม จึงหาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ”

           (แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ จาก https://deka.in.th/view-509236.html)

          ฎีกาดังกล่าวนี้เป็นการยืนยันว่าเจ้าอาวาสไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นฎีกาที่ชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งเจ้าอาวาสแม้มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์บัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นเจ้าพนักงานในรูปแบบที่เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะองค์กรสงฆ์เท่านั้น เพราะมีหน้าที่ ความรับผิดชอบดูแลขอบเขตเพียงแต่ในวัดเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินเลย

          อนึ่ง อาตมาได้ไปค้นอ่านฎีกากรณีของมาตรา ๑๕๗ เห็นอยู่ ๒ หลักการที่ว่า “ทำให้รัฐเสียหาย” และ “รู้หรือควรจะรู้ ว่าเป็นเงินผิด แต่ก็รับมา” สองหลักการนี้เป็นการวินิจฉัยที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐฝ่ายอาณาจักรเท่านั้น 

        ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา ถ้าจะนำหลักการทั้งสองนี้มาใช้วินิจฉัยในบริบทขององค์กรสงฆ์ เช่น “ทำให้รัฐเสียหาย” เพราะเอื้อประโยชน์กับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทุจริตงบประมาณของแผ่นดินได้ และ “รู้หรือควรจะรู้ ว่าเป็นเงินผิด แต่ก็รับมา” เพราะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมย่อมรู้เรื่องงบอุดหนุนเป็นอย่างดี

          อาตมาเห็นว่าประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะเจ้าอาวาสมีหน้าที่ ความรับผิดชอบแต่เพียงขอบเขตในวัดเท่านั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ทำงานของเขาไป ท่านไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับสำงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเลย ท่านไม่ได้ไปนั่งประชุมเกี่ยวกับงบประมาณร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือไม่ได้ไปร่วมลงนามในการอนุมัติงบอุดหนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

          แม้ว่าบางรูปจะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปร่วมประชุมเกี่ยวกับงบอุดหนุน หรือร่วมอนุมัติงบอุดหนุนนั้นด้วย เพราะเป็นเรื่องของข้าราชการกระทำการ และดำเนินการเองในการอนุมัติ คณะสงฆ์ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย

          และอาตมาจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น ถ้านำมาตรา ๑๕๗ ที่บังคับใช้กับเจ้าพนักงานฝ่ายอาณาจักร มาบังคับใช้กับเจ้าอาวาสที่เป็นเจ้าพนักงานในเกณฑ์เดียวกันโดยไม่คำถึงถึง หน้าที่ ความรับผิดชอบ จารีต และวัฒนธรรม การทำงานขององค์กรสงฆ์จะเกิดความเสียหายต่อองค์กรสงฆ์อย่างมหาศาล

          กล่าวคือ หน้าที่ของเจ้าอาวาสนอกจากตามมาตรา ๓๗ ยังต้องมีงานรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๕ ตรี (๑) และ (๓) และข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ งาน ๖ ด้าน คือ ๑) การรักษาความเรียบร้อยดีงาม  ๒) การศาสนศึกษา ๓) การศึกษาสงเคราะห์ ๔) การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕) การสาธารณูปการ และ ๖) การสาธารณสงเคราะห์

          หากตีความดังเช่นว่านั้น เจ้าอาวาสวัดไหนไม่ดำเนินงานทั้ง ๖ ด้านให้ครบ จะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทันที เจ้าอาวาสทั่วประเทศตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชถึงพระอธิการ คงได้เข้าไปปฏิบัติธรรมในเรือนจำกันหมด

        หรือมีอีกตัวอย่างเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่โตวัดดังทางภาคเหนือ มีหมายเรียกให้เจ้าอาวาสเข้าพบพนักงานสอบสวนรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕ (๓) ประกอบมาตรา ๓, ๔ , ๑๑ วรรค ๒ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ข้อหา ไม่จัดให้มีเครื่องหมายปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนดที่ทางเข้าสถานที่สาธารณะ จากสาเหตุที่ไม่ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่หน้าประตูวัด

          ในประเด็นนี้หากนำมาตรา ๑๕๗ มาใช้บังคับในบริบทเสมือนเจ้าพนักงานทั่วไปของฝ่ายอาณาจักร เจ้าอาวาสจะต้องรับผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

          และอีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การห้ามดื่มสุราในวัด เป็นความผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตา ๒๗ (๑) ประกอบกับมาตรา ๓๑ (๑) เมื่อพบมีการดื่มสุราในวัด หากนำมาตรา ๑๕๗ มาใช้บังคับในบริบทเสมือนเจ้าพนักงานทั่วไปของฝ่ายอาณาจักร เจ้าอาวาสจะต้องรับผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน

          แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาโลกแตกจะตามมาคือเจ้าอาวาสกลืนไม่ได้คลายไม่ออก หากไปไล่ ห้ามบุคคลในชุมชนที่มาดื่มสุราในวัด เจ้าอาวาสจะอยู่ในวัดนั้นไม่ได้อีกเลย เพราะอาจจะถูกชุมชนขับไล่ออกจากวัดได้ หรือเวลามีงานวัด ก็จะไม่มีใครเข้ามาในวัด และช่วยงานวัดอีกต่อไป

          เพราะกลุ่มคนดื่มสุราก็คือคนที่คอยมาช่วยงานวัด ไม่ว่าจะเป็นการทำครัว จัดสถานที่ งานหน้าฉาก หลังฉาก ก็มาจากคนในชุมชนกลุ่มนี้ เพราะเรื่องดื่มเหล้าในงานหรือโอกาสต่าง ๆ มันได้กลายไปเป็นวิถีของชุมชน ไม่ควรที่จะใช้กฎหมายมาหักดิบ แต่ควรจะใช้วิธีที่ละมุนละม่อมกว่านี้ การจะเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ในสิ่งที่เขาเคยชินและทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นร้อย ๆ ปีมันต้องใช้เวลาพอสมควร

          ที่อาตมากล่าวเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนให้คนดื่มสุรา หรือสนับสนุนให้มีการดื่มสุราในวัด แต่ชี้ให้เห็นอีกมุมของกฎหมาย และวิถีของชุมชน วัฒนธรรม จารีตประเพณีของท้องถิ่น เพื่อที่จะได้หาทางออกร่วมกันว่าหากมีการตรากฎหมายลักษณะนี้จะทำอย่างไรให้กฎหมายสอดคล้องกับสภาพสังคมวิทยาได้

          ดังนั้น การจะนำมาตรา ๑๕๗ มาบังคับใช้กับเจ้าอาวาสในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมควรคำนึงถึงจารีต และวัฒนธรรมขององค์กรสงฆ์มาประกอบในการใช้ดุลพินิจด้วยถึงจะเป็นธรรมกับคณะสงฆ์ แม้จะมีการยกเหตุที่ว่า “หน้าที่กับความรับผิดชอบจะมาคู่กัน”  แต่บริบทของหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานฝ่ายอาณาจักร กับเจ้าอาวาสที่เป็นเจ้าพนักงานมันต่างกัน เพราะเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานรูปแบบลักษณะพิเศษเฉพาะองค์กรสงฆ์ตามที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น

          ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ให้พระภิกษุอยู่เหนือกฎหมาย เพียงแต่อาตมาพยายามอธิบายให้เห็นว่าถ้าจะนำมาตรา ๑๕๗ มาบังคับใช้ ควรคำนึงถึงบริบทของเจ้าพนักงานที่มีข้อเท็จจริงแต่กต่างกัน ควรจะมีกฎหมาย หรือนิติวิธี ที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงแห่งคดีที่เป็นการกระทำร่วมกันหรือคาบเกี่ยวระหว่างอาณาจักรและศาสนจักร หรือให้สอดคล้องกับบริบทของอาณาจักรและศาสนจักร เพื่อความเป็นธรรมสูงสุดกับทั้งสองฝ่าย และอำนวยความยุติธรรมให้กับคณะสงฆ์ได้อย่างแน่แท้

สำหรับเรื่องนี้อาตมาอยากจะชวนให้สังคมหรือพระสงฆ์รูปที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “เจ้าอาวาส” ตื่นตัวกับเรื่องนี้ เพราะหากรัฐวางบรรทัดฐานความเป็นเจ้าพนักงานของเจ้าอาวาสเหมือนเจ้าพนักงานของฝ่ายอาณาจักร และบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ในองค์ประกอบเดียวกัน นั้นหมายถึงเจ้าอาวาสอาจจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ก็ได้

          ท้ายที่สุดอาตมาขอสรุปด้วยพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ ๓๓ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๔

        “…กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยาตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย…”

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๒

“เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

กับเจ้าพนักงานที่เป็นเจ้าอาวาส บริบทของความรับผิดชอบและหน้าที่ต่างกัน

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๑ กฎหมายฝ่ายอาณาจักร ทำอย่างไรจึงจะสอดคล้องและสร้างความเป็นธรรม ให้กับฝ่ายศาสนจักร โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here