เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๗ พรรษา

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์

สถิตเป็นมิ่งขวัญของปวงพสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลนาน

และในช่วงเวลาเดือนแห่งวันแม่…จึงขออัญเชิญอรถรสแห่งธรรม จากหนังสือ ” ธรรมราชินี” จัดพิมพ์โดย กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาแบ่งปันท่านผู้อ่าน เพื่อเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตในประจำวันโดยมีธรรมะเป็นกัลยาณมิตร

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งได้ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีแห่งประเทศไทย ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน ก็ยิ่งทรงมุ่งมั่น ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญถาวรยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา

“นอกเหนือจากการโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทางพระพุทธศาสนา หรือไปทรงนมัสการพระภิกษุผู้มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดตามวัดต่างๆแ แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังใฝ่พระราชหฤทัยทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนานาประการเป็นส่วนพระองค์ อาทิ ทรงอุปถัมภ์บำรุงวัดวาทั่วราชอาณาจักร

“ทรงสร้างพระพุทธรูป และถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา ทรงพระกรุณาโปรดให้พระเถรานุเถระแสดงธรรมเทศนาถวายเป็นพิเศษในวันธรรมะสวนะ ณ พระอารามหลวงและอารามราษฎร์หลายแห่ง โดยโปรดให้ชักชวนประชาชนเข้าร่วมฟังธรรมด้วย โปรดที่จะทรงสนทนาธรรมกับพระเถราจารย์ผู้มีความรู้ซึ้งทางพระพุทธศาสนา

“ทรงพระกรุณาดูแลพระภิกษุอาพาธหลายรูปให้ได้รับการรักษา หรือพระราชทานภัตตาหารพิเศษไปถวาย ทรงพระกรุณาอ่านหนังสือธรรมะหลายเล่มด้วยพระสุรเสียงที่ชัดเจน แล้วทรงส่งบันทึกพระสุรเสียงนี้ไปพระราชทานเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่ทรงคุ้นเคยซึ่งเจ็บไข่้ได้ป่วย โปรดที่จะทรงบาตรและทรงสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ แม้แต่การจัดดอกไม้บูชาพระ ก็โปรดที่จะจัดด้วยพระองค์เอง

“หนังสือ ธรรมราชินี นี้ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้รวบรวมธรรมเทศนาที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดให้พระเถรานุเถระแสดงถวายระหว่างวันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๐ ถึงวันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ รวม ๓๑ ครั้ง มาจัดพิมพ์เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เฉลิมโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๕ ฉลองพระราชศรัทธาอันมั่นคงในบวรพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นหนังสือสำหรับพระราชทานเป็นธรรมทานตามพระราชอัธยาศัย

“ธรรมเทศนาในหนังสือนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเลือกหัวข้อธรรมะด้วยพระองค์เอง ซึ่งทุกเรื่องล้วนเข้าใจง่าย เหมาะสมแก่การเป็นคติสอนใจในชีวิตประจำวันของประชาชน นอกจากเนื้อหาธรรมะแล้ว หนังสือนี้ ยังได้เพิ่มเติมภาพและประวัติของพระเถราจารย์ผู้แสดงธรรม รวมทั้งวัดที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสดับธรรมเทศนาไว้ด้วย เพื่อพุทธศาสนิกชนและผู้สนใจใฝ่รู้จะได้มีข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพระพุทธศาสนากับสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชนไทยสืบไป”

จากบทนำ โดย กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

หนังสือ "ธรรมราชินี" โดย กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
หนังสือ “ธรรมราชินี”
โดย กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

จึงขออัญเชิญพระธรรมเทศนา

“พาลปัณฑิตกถา”

โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (เที่ยง อคฺคธมฺโม ป.ธ.๙)

เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล

และทรงสดับพระธรรมเทศนา ตอนหนึ่งมาแบ่งปัน …

“โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ ปณฺฑิโต

วาปิ เตน โส พาโล จ ปณฺฑิตมานี ส เว พาโลติ วุจฺจติ”

แปลว่า บุคคลใดโง่ ย่อมรู้ตัวว่าเป็นคนโง่ เขาย่อมฉลาดได้เพราะการรู้นั้น แต่บุคคลโง่ ทะนงตนว่าตัวฉลาด บุคคลนั้นแล เรา (ตถาคต) เรียกว่า “คนโง่”

คนโง่กับคนฉลาด เป็นของคู่กัน คนฉลาดรวยได้ คนโง่ก็รวยได้ คนฉลาดศึกษาเล่าเรียนได้ คนโง่ก็ศึกษาเล่าเรียนได้ คนฉลาดมีโอกาสได้ปริญญา คนโง่ก็มีโอกาสได้ปริญญา คนฉลาดเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นพ่อค้าประชาชน เป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นพระภิกษุสามเณร เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ เป็นสมเด็จได้ ฉันใด คนโง่ก็เป็นได้เช่นคนฉลาดทุกอย่าง ฉันนั้น

แต่ก็มีความต่างกันตรงที่ว่า…

คนฉลาดทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนทำให้ตนเองและคนอื่นฉลาดยิ่งขึ้น ดำรงตำแหน่งการงานใหญ่โต ปกครองลูกน้องบริวารมากเท่าใด ก็พาคนอื่นให้ฉลาดมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนคนโง่ยิ่งมียศมีตำแหน่งสูงขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนอื่นโง่ตามมากขึ้นเท่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งเพื่อการเข้าใจง่าย ก็คือว่า อะไรที่คนฉลาดทำได้ คนโง่ก็ทำได้ แต่มันต่างกันตรงที่ว่า คนโง่พูดคิดแบบคนโง่ คนฉลาด พูดคิดแบบคนฉลาดเท่านั้นเอง

การแสดงออก ซึ่งความคิดเห็นของตนโดยสุจริตบริสุทธิ์ใจ การแสดงออกซึ่งความสามารถของตนโดยสุจริตบริสุทธิ์ใจ มิใช่เป็นการหลงลืมตน มิใช่เป็นกาารอวดเก่ง มิใช่เป็นการหยิ่งผยอง แต่เป็นการประกาศศักดาของมนุษยชาติว่า “มนุษย์ฉลาดย่อมอยู่เหนือโลกในทุกกรณี” แต่คนโง่กลับมีความเห็นทวนกระแสธรรมชาติว่า “คนพวกนี้มันอวดเก่ง”

ขอถวายข้อคิดเห็นว่า “คนโง่อวดเก่งนั้นมีมาก คนฉลาดอวดเก่งนั้นมีน้อย ” คนฉลาด ยิ่งพูด ยิ่งทำ ยิ่งคิด ปัญญาก็ยิ่งแหลมคม เหมือนหนามยิ่งแก่ก็ยิ่งแหลมคมและแข็ง ส่วนคนโง่ ยิ่งพูด ยิ่งทำ ยิ่งคิดก็ยิ่งโง่ เหมือนหางลูกอึ่ง ลูกกบ ยิ่งโตหางก็ยิ่งหมดไป โง่กับฉลาดถึงจะเป็นของคู่กัน และอยู่ใกล้กัน แต่เรื่องสติปัญญาและการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมแยกกันเป็นคนละส่วน เหมือนน้ำกับน้ำมันฉะนั้น

บนเวทีของการทำมาหากินประกอบอาชีพการงานที่ต้องต่อสู้แข่งขันกัน คนโง่มักใช้อำนาจและกำลังเข้าห้ำหั่นแข่งขันและต่อสู้ เพื่อให้รู้แพ้รู้ชนะกันในเร็ววัน แต่การใช้อำนาจและกำลังเพื่อให้ได้ชัยชนะต่อคู่ต่อสู้อย่างเดียวกัน คนฉลาดไม่นิยมทำ แต่นิยมใช้ปัญญาต่อสู้กับอุปสรรคอันตรายและศัตรูเพื่อยับยั้งการใช้อำนาจ และกำลังในบางโอกาส แต่จะใช้อำนาจและกำลังควบคู่กับปัญญาเสมอ

การได้ร่วมทำงานกับคนฉลาด ความพลั้งพลาดจึงมีน้อย ร่วมทำงานกับคนโง่อวดฉลาดมีโอกาสพลั้งพลาดมากที่สุด

การพัฒนาภาควิชาการความรู้และการงานอย่างต่อเนื่อง เป็นการสืบต่อฝึกฝนความแหลมคมแห่งสติปัญญาของคนฉลาด ดังนั้น คนฉลาดอยู่ที่ไหนกับใคร หรือจะอยู่ตามลำพัง ก็ดำรงตนคงความเป็นคนมีสติปัญญาได้ตลอด การทำพูดคิดผิดพลาดประมาทพลั้งเผลออย่างต่อเนื่อง เป็นความสืบต่อความโง่ของคนโง่

ดังนั้น คนโง่อยู่กับใครที่ไหน หรือจะอยู่ตามลำพังก็คงความเป็นคนโง่ของตนไว้ตลอด

ขอถวายพระพรว่า…

ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความฉลาด มักลงเอยด้วยความร่มเย็น เป็นสุขและความพอใจของทุกฝ่าย ในทางตรงกันข้าม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะความโง่ ย่อมจบลงด้วยความผิดหวังเสียใจและความลำบากใจเดือดร้อนเสมอ

ลักษณะของคนโง่ นั้นพอมีข้อสังเกตได้ดังนี้

๑. หลงตนเองจนคิดว่าตนเหนือใครทั้งหมด ตนสำคัญกว่าใครทั้งหมด

๒.งมงายมั่วสุมในสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนลืมหน้าที่การงานที่ตนต้องรับผิดชอบ

๓.เย่อหยิ่งจองหองบ้ายศบ้าศักดิ์จนเข้ากับใครไม่ได้ทุกระดับ

๔.ถือเอาอารมณ์ของตนเป็นใหญ่จนลืมเหตุผลและความถูกต้อง

๕.ทะเยอทะยานมัวเมาในเรื่องการเลื่อนยศตำแหน่งขึ้นเงินเดือน จนเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชา ลูกน้อง บริวาร เดือดร้อนวุ่นวาย เบื่อหน่ายรำคาญ

๖.ติดในอามิสสินจ้าง สร้างความเห็นแก่ตัวจนคนทั่วๆ ไปเอือมระอา

๗.พกแต่อคติความลำเอียงไว้ในหัวใจ คือ เลือกที่รักมักที่ชัง จนผู้อื่นประสานงานกันไม่ได้ แตกเป็นก๊กเป็นเหล่า

ลักษณะของคนฉลาด นั้นพอมีข้อสังเกตได้ดังนี้

๑.ไม่มักมากเห็นแก่ตัวจนคนอื่นขาดความเคารพนับถือ

๒.แม้ดำรงอยู่ในตำแหน่งใหญ่โต ก็ไม่นิยมใช้พระเดชจนเป็นเหตุให้คนอื่นเห็นว่า “คนคนนี้มันบ้าอำนาจ”

๓.ไม่ใช้แต่พระคุณอย่างเดียวจนดูคล้ายกับคนอ่อนแอ ไม่เอาไหน

๔.ไม่สร้างปมปัญหายุ่งยากซับซ้อนขึ้นมาผูกมัดตนจนทำให้ล่าช้าเสียการเสียงาน

๕.ไม่ละเมิดศีลธรรมประเพณีกฎหมายของบ้านเมืองจนผู้อื่นสิ้นศรัทธา

๖.เสียสละมากรับน้อย แม้ตนจะต้องอดอยากลำบากเดือดร้อน แต่ญาติมิตร บริวาร มีกิน มีใช้ ก็สบายใจ

๗.ไม่ถือสากับคำพูดจ้วงจาบหยาบคายจากคนอื่น

๘.ไม่ผูกขาดการสร้างสรรค์สาธารณประโยชน์สาธารณกุศลเพื่อทั้งฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น แต่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างสรรค์สาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่ทั้งฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่นโดยไม่รังเกียจ

๙. ไม่สอดรู้สอดเห็นในทุกรูปทุกเรื่องอย่างหยุมหยิมตลอดเวลา จนคนอื่นๆ ลงความเห็นว่า “คนคนนี้เป็นตัวมหาภัย หรือเป็นตัวอันตรายที่ไว้วางใจอะไรไม่ได้ ”

การดิ้นรนต่อสู้กับอุปสรรคอันตรายและอาชีพการงานเพื่อความอยู่รอด ข้อนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งคนฉลาดต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความวัฒนาถาวรความเจริญรุ่งเรืองของสังคม ส่วนคนโง่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อหายนะของสังคม คนโง่อิจฉาริษยาคนอื่นเพราะกลัวคนอื่นจะได้ดีมีความสุข คนฉลาดอยู่ในศีลสัตย์มีเมตตาต่อคนอื่นและสัตว์อื่น เพราะกลัวคนอื่นและสัตว์อื่นจะเดือดร้อน

ส่วนคนโง่เป็นทุกข์ใจเพราะกลัวความเหน็ดเหนื่อย ความลำบากอันเกิดจากการทำงาน

คนฉลาดเป็นทุกข์ใจเพราะ เพราะกลัวจะไม่มีงานทำ

คนโง่กับคนฉลาดถึงจะเสมอกันโดยยศตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่ก็ต่างกันโดยความเสื่อมและความเจริญในหน้าที่การงาน

ข้อคิดสำหรับสาธุชนในข้อนี้ก็คือ เมื่อพบคนโง่กับคนฉลาดที่้มียศมีตำแหน่งเสมอกัน ก็จงคบกับคนฉลาดนั้นเถิด แล้วชีวิตของท่านจะพ้นจากความหายนะแน่นอน

หนังสือ "ธรรมราชินี" โดย กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
หนังสือ “ธรรมราชินี”
โดย กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

คนโง่ถึงขั้นสุดยอดนั้น ท่านสาธุชนสามารถสังเกตได้ดังนี้

ลัทธิระดับสุดยอดของคนโง่ก็คือ ลัทธิเสี้ยมสอนให้คนเนรคุณ ความรู้ระดับสุดยอดของคนโง่ก็คือ ความรู้ที่สร้างพิษภัยต่อสังคม ระดับสุดยอดของคนโง่ก็คือการหลอกตัวเอง มายาระดับสุดยอดของตนโง่ก็คือ เก่งในทางพูดทับถมคนอื่น ยอดชั่วของคนโง่ก็คือ การเห็นตนเองเป็นคนดีเห็นคนอื่นชั่วทั้งหมด และเห็นพวกของตนเองเป็นคนดี เห็นพวกของคนอื่นชั่วทั้งหมด ยอดถ่อยของคนโง่ก็คือ การสอนญาติมิตรศิษย์บริวารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เกลียดชังคนอื่น แล้วโน้มน้าวจิตใจเขาเหล่านั้นให้มารักตน

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ คนโง่ที่รู้ว่าตัวเองโง่ย่อมไม่ใช่คนโง่ แต่คนโง่ที่ไม่รู้ตัวเองว่าโง่ เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคม

ดังนั้น การคบหาสมาคมกับคนโง่ที่รู้ตัวเองดีกว่าอยู่กับคนโง่ที่ไม่รู้ตัวเอง หรืออยู่คนเดียวดีกว่าอยู่กับคนโง่

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here