“ความสำเร็จที่งดงามและมีคุณค่าที่สุดของชีวิตมนุษย์
คือความสำเร็จของความสามารถในการ
ให้โอกาสแก่ผู้อื่นได้มีความสำเร็จอย่างตนบ้าง”
รัญจวน อินทรกำแหง
นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒๕๐ (วันที่ ๑๓ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙)
ย้อนกลับไปในวันที่ครูคืนสู่ธรรมชาติ…
เมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว ฉันกับเพื่อนเดินทางไปวัดป่าหนองไผ่ จังหวัดสกลนคร หมายว่าจะได้ไปกราบครูบาอาจารย์ ภายหลังที่ได้ไปเข้าคอร์สอบรมอานาปานสติภาวนาที่สวนโมกข์นานาชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแล้ว ซึ่งหลังจากคอร์สดังกล่าว คุณเมตตา พานิช ได้พาผู้ปฏิบัติเดินไปชมธรรมาศรมธรรมมาตา อาศรมสำหรับลูกผู้หญิงที่สร้างขึ้นจากดำริท่านอาจารย์พุทธทาส โดยมีอุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหงเป็นหนึ่งในผู้นำดำริของท่านอาจารย์พุทธทาสมาสู่โครงการนำร่องภาคปฏิบัติปีละประมาณ ๔ เดือน สำหรับลูกผู้หญิงในการที่จะเข้ามาหาแนวทางในการฝึกตนบนหนทางพรหมจรรย์อย่างเข้มข้นเพื่อไปสู่ความพ้นทุกข์
ก่อนที่จะไปเข้าคอร์สสี่เดือน ฉันจึงตั้งใจว่าจะไปกราบครูบาอาจารย์ของคำชี้แนะสักหน่อย เมื่อได้ทราบว่าท่านพำนักอยู่ที่วัดป่าหนองไผ่ จึงชวนเพื่อนเดินทางกัน เมื่อไปถึงก็ได้พบกับอาจารย์รัญจวนสมดังใจนึก
ประมาณ ๗ วันที่อยู่ที่นั่น จำได้ว่า หลังอาหารเช้า อาจารย์ให้เราสองคนไปพบ แล้วท่านก็แนะหลักการฝึกอานาปานสติเบื้องต้นให้ โดยการให้มีสติอยู่กับลมหายใจไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม แล้วท่านจะซักว่า เราได้ปฏิบัติไปอย่างไรบ้านในวันที่ผ่านมา
จำได้คร่าวๆ ว่า ท่านถามอะไร ฉันก็ตอบไม่ถูกเลยสักข้อเดียว ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย แถมในช่วงเวลานั้นก็ไม่สบายอีก อาจารย์รัญจวนอุตส่าห์เดินมาหาถึงที่พักของอุบาสิกา และนำยาสมุนไพร พร้อมกับผักสด และผลไม้มาให้กินมากมายก่อนเที่ยงของทุกวัน
ไปคราวนั้น เรายังมีความตั้งใจอยากสัมภาษณ์ท่านอาจารย์มาลงในนิตยสารรายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ที่ฉันและเพื่อนทำงานอยู่ด้วยในขณะนั้น แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ให้เราสัมภาษณ์ มุ่งให้เราปฏิบัติตั้งใจดูกาย ดูใจของเราเองตลอดช่วงที่อยู่ในวัด
ท่านบอกว่า เวลาในชีวิตไม่มาก จนกระทั่งลากลับ ท่านยังชี้แนะให้เรามาเข้าคอร์สสี่เดือนที่ธรรมาศรมธรรมมาตาด้วย หลังจากนั้นไม่นานนัก ฉันก็ลางานโดยไม่รับเงินเดือนไปเข้าคอร์สดังกล่าวพร้อมกับแม่
เป็นสี่เดือนที่เปลี่ยนชีวิตของฉันเลยก็ว่าได้
เพราะกิจวัตรประจำวันที่เคยทำแบบสมัยโลกๆ ถูกเปลี่ยนไปหมด มาตื่นตีสี่ ไปทำวัตรสวดมนต์ ทำสมาธิ เดินจงกรม ฟังธรรม รับประทานอาหารวันละสองมื้อ วันพระเหลือมื้อเดียว มีผ้าถุงดำกับเสื้อขาวเพียงสามชุด แล้วก็ห้ามพูด หรือที่เรียกว่า ปิดวาจา งดส่งจิตออกนอก แต่ให้ดูความพลุ่งพล่านภายในใจที่มันเกิดขึ้นทุกขณะจิต งดอ่านหนังสือทุกชนิด ยกเว้นหนังสือทำวัตรสวดมนต์ และหนังสือธรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาส ที่ท่านอาจารย์นำมาสอนเพื่อนำหลักปฏิบัติมาใช้ในชีวิตจริง
การที่เคยต้องอ่าน ต้องเขียน ต้องพูดทุกวัน แล้วมาหักดิบแบบห้ามทุกอย่างที่เคยทำนั้นมันช่างทรมานกิเลสอย่างเห็นได้ชัด กว่ากิเลสในใจฉันจะสงบลงล้าง หรือกิเลสมันยอมอยู่แบบสงบๆ ได้บ้างก็ปาเข้าไปเดือนที่ ๔ คือใกล้ปิดคอร์สแล้ว ทำให้ฉันเข้าใจหลักการภาวนาเบื้องต้นว่า อ๋อ เป็นอย่างนี้นี่เอง
หลังจากจบคอร์ส ฉันกับแม่เมื่อมีโอกาสก็กลับไปที่ธรรมาศรมธรรมมาตาเป็นครั้งคราว ทุกปี ในช่วงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันล้ออายุท่านอาจารย์พุทธทาส
จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๒๐ น. ท่านอาจารย์รัญจวนในวัย ๙๔ ปี ๑๑ เดือน ก็คืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบงาม ทำให้ฉันตระหนักในคำกล่าวของอาจารย์ที่ย้ำเตือนเสมอว่า เวลาในชีวิตไม่มากนัก
หลักการมีอยู่ หนทางมีแล้ว เหลือแต่การเดินของเราเพียงลำพังเท่านั้นเอง
จากคอลัมน์ ปักกลดกลางป่ากระดาษ โดย หมอนไม้ นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒๕๐ (วันที่ ๑๓ – ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙)