“ผมตั้งใจมาศึกษาหาความรู้ มาอยู่กับอาจารย์พุทธทาส ผมมาอยู่รับใช้ท่านจนวินาทีสุดของชีวิต วันที่ท่านจะมรณภาพท่านบอกว่า สิงห์ทองเอ๋ย เราจะไปแล้ว เราสู้ร่างกายไม่ไหวแล้ว ไปเรียกอาจารย์โพธิ์มาหน่อย เราไม่อยากตายไปพร้อมกับพวงกุญแจ

“ผมก็ออกไปเรียกอาจารย์โพธิ์ (พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จนฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี)  ซึ่งอยู่ในอาคารข้างๆ ‘อาจารย์โพธิ์ๆ อาจารย์พุทธทาสจะตายแล้วๆ’ ทั้งอาจารย์โพธิ์ ทั้งหมอที่รักษาตัวท่านก็มาหา หลังจากนั้นทุกคนก็ออกไป อาจารย์พุทธทาสท่านก็บอกว่า สิงห์ทองอยู่เป็นเพื่อนก่อนนะ ผมก็อยู่ประมาณสองโมงกว่าท่านก็พูดไม่ได้ ลิ้นแข็งไป แต่ท่านก็มีสติรู้สึกตัว ท่านรู้ความเป็นไปของร่างกายทั้งหมด ท่านมีสติจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต “

ระอาจารย์สิงห์ทอง เขมิโย

พระอุปัฏฐากหลวงพ่อพุทธทาส มากว่า ๒๐ ปี เล่าให้สามเณรปลูกปัญญาธรรม ปีที่ ๘ ต่อมาว่า …

ชีวิตของอาจารย์พุทธทาส หลังจากที่ท่านได้เรียนอานาปานสติ มีความมั่นคงในชีวิตพรหมจรรย์ ท่านได้ประกาศตัวจาก พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ ใช้ชื่อว่า “พุทธทาสภิกขุ” (พุทธทาส คือทาสของพระพุทธเจ้า) ในพ.ศ. ๒๔๗๕
จากนั้น ชีวิตของท่านมุ่งศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และเผยแผ่ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นทาสของพระพุทธเจ้า

โปสเตอร์งานสืบสานปณิธาน ท่านพุทธทาสภิกขุ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ สวนโมกขพลาราม

หลังจากที่ประกาศเป็นทาสของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็ดำเนินชีวิตที่แสนธรรมดา อยู่กับธรรมชาติ ท่านจะพูดเสมอว่า กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง กินอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ขอขอบคุณภาพจาก เวบไซด์ พุทธทาสศึกษา
http://www.buddhadasa.org/

ที่ทำงานของท่านก็โล่งๆใต้ถุนกุฏิ ไม่ได้มีอะไรมากั้น ทั้งสัตว์ ทั้งตะขาบ ทั้งงูก็ผ่านไปผ่านมาเป็นเพื่อนกันหมด ท่านก็ไม่ได้เบียดเบียน บรรยายธรรมก็ตรงลานหินโค้ง ใต้ร่มไม้ อาศัยธรรมชาติเป็นที่ทำงาน

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ Photo by Mon
ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ Photo by Mon

คนเดินผ่านไปผ่านมาเจอท่านทำงานอยู่ก็เข้าไปกราบ เพราะไม่มีกำแพงอะไรกั้น ทุกคนก็สามารถที่จะเข้าหาได้ ท่านวางปากกาลง หรือกำลังพิมพ์ดีดอยู่ ก็หยุดมาคุยด้วย ท่านก็จะถามอยู่ ๒ คำถาม คือ ๑. มาจากไหน ๒.ธุระอะไร ‘มาจากกรุงเทพฯเจ้าคะ มาเที่ยวเจ้าค่ะ’ ท่านก็บอกว่า เชิญๆ เที่ยว

เสร็จท่านก็ทำงานต่อ ไม่ได้หงุดหงิด ไม่ได้ว่าใคร คณะใหม่มาเห็นท่านก็เข้ามากราบ ท่านก็ถามคำถามเดิม ‘มาจากไหน ธุระอะไร’ มาจากกรุงเทพฯ มาสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเจ้าค้า ท่านก็จะบอก เชิญนั่งๆ จะคุยนานเท่าไหร่ท่านก็ไม่ว่า ชั่วโมง สองสามชั่งโมง จนแก้ปัญหาชีวิตเขาได้ ก็ลากลับ

บางคณะก็คิดว่า เรามาทำไมไม่ได้สนทนากับท่าน ท่านไม่ต้อนรับ คือท่านปฏิบัติตามความต้องการของคนที่มา ท่านเป็นคนตรงๆ ไม่ได้กลัวใครจะว่า ใครบอกว่ามาเที่ยว ท่านก็บอกว่า เชิญเที่ยวๆ ใครบอกมาสนทนาธรรม ท่านก็เชิญนั่งๆ

ท่านเป็นคนตรงไม่ได้เกรงใจใคร

คนมาทำบุญหอบเงินมาท่านก็ไม่ได้ต้อนรับด้วยน้ำเย็นๆ ข้าวปลาอาหารไม่มี

เป็นเรื่องของเขาท่านว่า เรื่องของท่านก็คือให้ธรรมะ

ท่านพูดตรง คนที่เอาเงินมาถวายท่านก็จะพูดว่า

อย่าบ้าบุญกันมากเลย เอาธรรมะไปปฏิบัติบ้าง ถ้าเป็นท่านๆจะกล้าพูดไหม

มีผู้หญิงคนหนึ่งทราบว่า ท่านจะสร้างโบสถ์ ก็ปวารณาว่า จะสร้างเท่าไหร่ จะใช้งบเท่าไหร่ จะออกให้ทั้งหมด แต่จะขอออกคนเดียว ไม่ให้ใครร่วมบริจาค ท่านก็ตอบว่า เปลืองเศรษฐกิจ ทุกอย่างจบเลย ทำบุญที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาท่านก็ไม่รับ การสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆท่านไม่ได้มุ่งเน้นวัตถุ มีเท่าไหร่ท่านก็สร้างไป

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ Photo by Mon

ชีวิตท่านก็อยู่อย่างนี้ กิจวัตรของท่าน ๒๐ ปีสุดท้ายที่ผมมาอยู่ดูแลท่าน งานหลักของท่านคือ ปฏิบัติธรรม เน้นเขียนหนังสือ บรรยายธรรม ในแต่ละวันท่านจะค้นพระไตรปิฎกศึกษาเรื่องนั้นๆค้นข้าวจนแจ่มชัด จากตำราที่มี เมื่อเข้าใจชัด ท่านก็จะไปบรรยายที่ล้านหินโค้ง บางเรื่องเป็นเรื่องยากๆธรรมะระดับอริยสัจ ไม่ใช่ระดับศีลธรรม ท่านก็บรรยาย ไม่มีใครฟังท่านก็ไม่ว่า ใครฟังได้ก็ฟัง เป้าหมายคือบรรยายทำเป็นหนังสือ

ส่วนการบันทึกเสียงต่างๆก็เหมือนกัน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์เขานิมนต์ไปให้ไปบันทึกที่อื่นท่านก็ไม่ไป ท่านจะให้เขามาบันทึกที่วัดท่านก็พูดให้ที่ล้านหินโค้ง

ตลอดชีวิตของท่าน ท่านชัดเจนในเป้าหมาย ปฏิบัติธรรม เขียนหนังสือ บรรยายธรรมประกาศคำสอนของพระพุทธเจ้า ลมหายใจไม่ว่างเปล่า คำว่าเหนื่อยไม่มี สมกับที่เป็นทาสของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง”

เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของหลวงพ่อพุทธทาส จากมุมของพระอาจารย์สิงห์ทอง พระอุปัฏฐากหลวงพ่อมากว่า ๒๐ ปี ที่สวนโมกขพลาราม อารามแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง หรือ วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ข้างหลังภาพเรียลลิตี้ ปีที่ ๘ “สามเณรปลูกปัญญาธรรม” ที่สวนโมกข์ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here