ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (๑)

ปฐมบท

เพราะคุณมารดาบิดามีค่ายิ่ง

“การบวช คือ การตอบแทนคุณบิดามารดา”

โดย ญาณวชิระ

ญาณวชิระ   ภาพวาดโดย หมอนไม้
ญาณวชิระ
ภาพวาดลายเส้น โดย หมอนไม้

เรามักได้ยินคนพูดกันจนคุ้นหูว่า “เกิดเป็นลูกผู้ชายชาวพุทธ ชาติหนึ่งต้องบวช” ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าทำไมเกิดเป็นลูกผู้ชายจึงต้องบวช คำพูดนี้เป็นคำพูดของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ผ่านความเปลี่ยนแปลงของชีวิตจนเกิดประสบการณ์  รู้เห็นความเป็นไปของสังคม  เข้าใจความเป็นจริงของชีวิต จึงต้องการทำสิ่งงดงามที่สุดให้แก่ชีวิต และให้แก่ผู้ที่ได้ชื่อว่า “พ่อกับแม่” แม้ลูกผู้ชายหลายคนจะให้เหตุผลของการบวชว่า ตั้งใจบวชให้พ่อแม่ก็ตาม 

แต่แท้ที่จริง การบวชในพระพุทธศาสนา ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ตัวผู้บวชนั่นเองเป็นเบื้องต้น 

ทำไม ...ลูกผู้ชายต้องบวช (๑) โดย ญาณวชิระ ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ทำไม …ลูกผู้ชายต้องบวช (๑) โดย ญาณวชิระ ภาพวาดประกอบ โดย หมอนไม้

หลายคนบอกว่า  หากการบวช  คือ การทำความดีเพื่อพ่อแม่ สำหรับลูกผู้ชายคนหนึ่ง ถ้าเราเป็นคนดีอยู่แล้ว เป็นคนมีระเบียบวินัย ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่เป็นอันธพาลสร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม  ไม่เที่ยวเตร่ดึกดื่นทำให้พ่อแม่เป็นห่วงเป็นกังวล จนกินไม่ได้นอนไม่หลับเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องบวช  เพราะอย่างไรก็เป็นคนดีอยู่แล้ว 

แต่ความดีของลูกตามที่กล่าวนั้น ไม่ใช่ความหวังสุดท้ายที่พ่อแม่ต้องการ พ่อแม่ทุกคนรักลูก  ไม่อยากเห็นลูกลำบาก และล้วนหวังที่จะเห็นลูกเป็นคนดี  มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต 

           การที่ลูกเจริญเติบโตโดยปราศจากแขนขาพิกลพิการ  ไม่เป็นอันธพาลสร้างความเดือดร้อนให้สังคม การเห็นลูกสำเร็จการศึกษา มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีหลักฐานมั่นคง พออุ่นใจได้ว่าลูกจะไม่ลำบากเดือดร้อน สิ่งเหล่านี้เป็นความหวังของผู้ที่ได้ชื่อว่า “พ่อแม่” แต่ความหวังสูงสุด อันเป็นความหวังสุดท้าย คือ การที่จะได้เห็นผ้าเหลืองห่มกายลูกชาย ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา 

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น  กำลังเตรียมบรรพชาให้สามเณรเอิร์ต
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
กำลังเตรียมบรรพชาให้สามเณรเอิร์ต

หากมีลูกชาย ชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา

จึงมักตั้งความหวังลึกๆ ไว้ในใจเสมอว่า

วันหนึ่งจะได้ยินจากปากลูกชายว่า

“ผมจะบวชให้พ่อกับแม่”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่า “แม่” มักมีความเชื่อว่า การบวชในพระพุทธศาสนานั้น เป็นการสร้างบุญครั้งยิ่งใหญ่  เป็นการสร้างบุญที่แม่ไม่สามารถสัมผัสได้   เมื่อรู้ว่าได้ลูกชาย จึงหวังที่จะให้ลูกได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  เพราะความรู้สึกที่ว่า  ลูกชายบวชก็เหมือนแม่ได้บวชด้วย

ความหวังนี้ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ  ภายใต้จิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาที่มีต่อหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และพลังแห่งความรักความเมตตาไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน ตั้งแต่วันแรกที่ลูกชายลืมตาดูโลก 

แม่บางคนอาจจะรอวันนี้จนแก่ชรา จึงได้เห็นผ้าเหลืองห่มตัวลูกชาย บางคนอาจรอมาทั้งชีวิตก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นชายผ้าเหลืองลูกชาย

           ลูกชายบางคนปล่อยให้แม่รอจนแก่ชราจึงบวชให้แม่บางคนบวชเมื่อแม่จากไปโดยที่แม่ไม่มีโอกาสได้เห็นผ้าเหลืองของลูกชาย เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

หากแม่ยังมีชีวิตอยู่วันนี้ ลองหาเวลาออกบวชสักหนึ่งครั้งในชีวิต แล้วจะรู้ว่า…ทำไม ลูกผู้ชายต้องบวช   

ล้อมกรอบ

ท่านใดสนใจหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ พิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณาการ โดยสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ผู้อุปถัมภ์จัดพิมพ์โดย บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด ติดต่อรับได้ (ฟรี) ที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ทุกวัน

ลูกผู้ชายต้องบวช โดย ญาณวชิระ  ภาพปก : ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร  ภาพถ่าย : พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส  ภาพวาดประกอบ: หมอนไม้  สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ จัดพิมพ์   อุปถัมภ์จัดพิมพ์โดย บริษัท โตโยต้าบัสส์  พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน
ลูกผู้ชายต้องบวช โดย ญาณวชิระ
ภาพปก : ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร ภาพถ่าย : พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส
ภาพวาดประกอบ: หมอนไม้ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ จัดพิมพ์ อุปถัมภ์จัดพิมพ์โดย บริษัท โตโยต้าบัสส์ พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (๑) ปฐมบท เพราะคุณมารดาบิดามีค่ายิ่ง “การบวช คือ การตอบแทนคุณบิดามารดา” โดย ญาณวชิระ จาก หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here