หนังสือ "ลูกผู้ชายต้องบวช" โดย ญาณวชิระ /จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ภาพถ่าย โดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส / ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ โดย บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ /จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ภาพถ่าย โดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส / ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ โดย บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๖)

เพราะคุณมารดาบิดามีค่ายิ่ง

โดย ญาณวชิระ

ในชีวิตของลูกทุกคน พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณสูงสุด จึงควรทำท่านให้ได้รับความสบายใจ  อย่าให้ทุกข์ระทมขมขื่นใจ ผู้เป็นลูกควรเลี้ยงพ่อแม่ด้วยอาหารกาย คือตอบแทนด้วยวัตถุสิ่งของ ตลอดจนการแบ่งเบาภาระหน้าที่ช่วยกิจการงาน และเลี้ยงอาหารใจ คือ ตอบแทนด้วยการตั้งอยู่ในโอวาทเชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของท่าน ประพฤติตัวให้ท่านเกิดความรู้สึกปลาบปลื้มใจ

พฤติกรรมที่ลูกๆ แสดงออกทั้งการกระทำและคำพูดนั้น ล้วนเป็นอาหารหล่อเลี้ยงใจและเป็นยาพิษทำลายความรู้สึกของพ่อแม่ ถ้าลูกๆ ประพฤติดีงดงามด้วยกิริยามารยาท สังคมยกย่องสรรเสริญ  ก็นำความปลาบปลื้มมาสู่จิตใจท่าน เป็นการหล่อเลี้ยงท่านด้วยอาหารใจ ถ้าประพฤติเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม  ก็นำความเจ็บปวดมาสู่ใจพ่อแม่  เรียกว่าหล่อเลี้ยงพ่อแม่ด้วยความเจ็บปวด ไม่ต่างจากเลี้ยงด้วยยาพิษ

ผู้ที่เป็นลูกควรตระหนักว่า จะเลี้ยงพ่อแม่ด้วยอาหารใจ คือความปลาบปลื้ม หรืออาหารใจคือความเจ็บปวด

พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณสูงสุดยิ่ง  ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นคำบาลีว่า “พรหมาติ มาตา ปิตโร”  พ่อแม่นั้นมีน้ำใจอนุเคราะห์ลูกของท่าน  จึงเรียกกันว่าเป็นพรหมของลูกๆ  เป็นครูอาจารย์คนแรกของลูก ๆ  และเป็นพระอรหันต์ของลูก

ภาพประกอบโดย หมอนไม้
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

                     พ่อแม่ คือ พรหมของลูก 

                     พ่อแม่ได้ชื่อว่าเป็นพระพรหมของลูกเนื่องจากท่านมีพรหมวิหารธรรม  คือ ความรักความเอื้ออาทรต่อลูกอยู่ในใจไม่มีที่สิ้นสุดก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ศาสนาพราหมณ์สอนว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง เป็นผู้ให้ชีวิตและดลบันดาลให้เป็นต่างๆ  พรหมเป็นผู้สูงสุดในโลก  คนจึงเคารพบูชาพระพรหม

ภายหลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว  พระองค์ตรัสว่า  แท้จริงแล้วพ่อแม่นั่นแหละเป็นผู้สูงสุดในชีวิตของคนเรา  เพราะท่านประกอบด้วย พรหมวิหารธรรม ๔ ประการอย่างเปี่ยมล้น  คือ มีเมตตาธรรม มีกรุณาธรรม มีมุทิตาธรรม และมีอุเบกขาธรรม  จึงเรียกว่า พรหมของบุตรธิดา

 “เมตตาธรรม”   ความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกเป็นความรักที่บริสุทธิ์  มิได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ จะมีก็เพียงแต่อยากเห็นลูกเป็นคนดี  ปฏิบัติดีอยู่ในโอวาท ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคม ความรักของพ่อแม่นั้นไม่เปลี่ยนแปลงแปรผัน  ลูกเกิดมาแล้วรักอยู่อย่างไร  แม้จะเจริญเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว จนลูกแก่ชรา หากยังมีชีวิตอยู่ก็ยังคงรักอยู่อย่างนั้นเสมอ  จะเป็นลูกผู้หญิงลูกผู้ชายก็รัก รักเสมอต้นเสมอปลาย  แม้แต่จะพิกลพิการไม่สมประกอบประการใด  บุคคลอื่นอาจรังเกียจ  แต่พ่อแม่ก็รัก พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ลูกสมบูรณ์ จนต้องบนบานศาลกล่าว

 การที่พ่อแม่มีลูกเกิดมาสมประกอบ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  เติบโตขึ้นมาอยู่ในโอวาทของพ่อแม่  ปฏิบัติตัวดีไม่เกเรเป็นอันธพาล มีความรักใคร่กลมเกลียว พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้องร่วมท้อง  ไม่ดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น  ถือได้ว่าเป็นผลบุญที่ได้กระทำมาของตัวพ่อแม่ หรือแม้ว่าลูกจะประพฤติตัวไม่ดีอย่างไร  พ่อแม่ก็ตัดลูกไม่ขาด เพราะท่านมีเมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่  คือ ความรักอันบริสุทธิ์ เป็นเยื่อใยฝังอยู่ในจิตใจตลอดเวลา  เป็นความรักความเมตตาที่ไร้ขอบเขตไร้พรมแดนขีดขั้น

ขอขอบคุณ ภาพโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

“กรุณาธรรม”   คือ ความห่วงใย เอื้ออาทรในลูกๆ เป็นความห่วงใยที่มีมากกว่าความห่วงใยในตัวเอง  นอกจากความรักความเมตตาที่มีต่อบุตรแล้ว ยังมีความกรุณาดูแลเอาใจใส่ลูกอยู่ตลอดเวลา   จนบางครั้งดูเหมือนว่าพ่อแม่เป็นคนแก่ขี้บ่นจู้จี้จุกจิก ไม่เห็นลูกโตสักที   เวลาที่ลูกป่วยไข้  ถ้าลูกยังนอนไม่หลับพ่อแม่ก็นอนไม่หลับ  ในคราวที่ลูกกินไม่ได้  พ่อแม่ก็รับประทานอาหารไม่ลง เพราะความเป็นห่วงเป็นใยเอื้ออาทรด้วยอำนาจกรุณาธรรม

คนที่รู้ว่าจะมีลูกก็เริ่มเกิดความห่วงใยขึ้นมาทันที  แม่ก็ต้องรักษาร่างกายตนเองให้ดี ส่วนพ่อก็จัดหาอาหารสิ่งของมาบำรุงรักษาแม่ของลูกให้ดี  เพื่อลูกจะได้เกิดมาอย่างปลอดภัย   เมื่อคลอดลูกออกมาแล้วคนที่ต้องไปทำงาน   แม้ตัวไปทำงาน แต่ใจก็อยู่กับลูกเป็นห่วงสารพัด อยากจะอยู่ใกล้ๆ คอยดูแลเอาใจใส่ลูกเองตลอดเวลา 

เมื่อลูกโตไปอยู่ห่างไกลจากพ่อแม่ๆ ก็เป็นห่วงว่าลูกจะไปอยู่อย่างไร  ความเป็นอยู่สะดวกดีหรือเปล่า   ขาดเหลือสิ่งใดไหม  ช่วงนี้เวลานี้ ลูกเคยทำสิ่งนี้เคยพูดสิ่งนี้ ตอนนี้ลูกจะทำอะไรอยู่  เมื่อก่อนพ่อแม่เคยทำสิ่งนี้ๆ ให้ ตอนนี้ใครจะทำให้ สารพัดที่จะเป็นกังวล นี่ก็เป็นความห่วงของท่านอีก  เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ท่านเป็นห่วงเป็นใยลูกด้วยอำนาจ กรุณาธรรม

 “มุทิตาธรรม” คือ ความพลอยยินดีกับความดีของลูก  พ่อแม่จะอิ่มอกอิ่มใจในความดีและความเจริญรุ่งเรืองของลูก เวลาเป็นเด็ก ลูกเล่นอะไรก็เพลินตามที่ลูกเล่น แม้ในเวลาที่ตัวเองเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จใดๆ ก็ไม่ปลื้มอกปลื้มใจดีใจเป็นที่สุด  เหมือนกับเห็นความเจริญก้าวหน้าของลูกๆ แม้แต่ความเจริญกาย เจริญวัยของลูกก็ทำให้ดีใจอิ่มใจ  พ่อแม่มักจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่า  ลูกเดินได้แล้ว ลูกพูดได้แล้ว  ลูกพูดอย่างนั้น ลูกพูดอย่างนี้  ลูกเรียนจบแล้ว  ลูกมีงานทำแล้ว ลูกทำอย่างนี้ได้ ลูกทำอย่างนั้นได้ ถึงแม้รู้ว่าเด็กๆ ทุกคนก็สามารถทำได้โดยสัญชาตญาณอยู่แล้ว  แต่ด้วยความปีติยินดีก็ไม่สามารถอดนำไปพูดกับคนรอบข้างได้  

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยืนยันได้ถึงความยินดีปรีดา ปลื้มเปรมใจของพ่อแม่ ที่เห็นลูกมีความเจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี  

“อุเบกขาธรรม” คือ การวางใจให้เป็นกลาง  ไม่โกรธเกลียด  แม้บางครั้งลูกทำผิดต่อพ่อแม่มากก็ตาม แม้จะมีความรักความสงสารลูกอย่างไร ก็จำต้องกล้ำกลืนฝืนใจดุด่าว่ากล่าว หรือแม้กระทั่งลงโทษโดยประการต่างๆ เพื่อให้ลูกได้ดี ถึงลูกจะทำให้ท่านไม่สบายอกไม่สบายใจอย่างไร ท่านก็วางอยู่ในอุเบกขาฝืนใจรักดุด่าว่ากล่าวตักเตือนตามความผิด โดยไม่ได้มีใจโกรธ เกลียดหรืออาฆาตพยาบาท

สิ่งสำคัญที่ควรสังเกตเกี่ยวกับอุเบกขาธรรมของพ่อแม่ คือพ่อแม่พยายามไม่แสดงอาการใดๆ ให้ลูกต้องพลอยเดือดเนื้อร้อนใจ  แม้จะมีปัญหาในการหาเงินหาอาหารมาเลี้ยงดูลูกๆ เราสังเกตเห็นว่าท่านไม่สบายใจ  แต่เมื่อเราเข้าไปถามท่านก็มักจะตอบว่า  ไม่มีปัญหา ไม่ต้องเป็นห่วงอะไร ปล่อยเป็นหน้าที่ของพ่อกับแม่

บางครั้งเมื่อพ่อแม่แก่ชรา หากลูกถามว่าพ่อแม่ต้องการอะไร  ก็มักจะได้ยินคำปฏิเสธอยู่เสมอว่าไม่ต้องการ  จะถามว่าอยากรับประทานอะไรก็ตอบว่าไม่อยาก  คราวเจ็บไข้ได้ป่วย  ถามว่าเจ็บมากหรือไม่ ท่านก็จะบอกว่าไม่เป็นไร เจ็บเพียงเล็กน้อย  การที่พ่อแม่ตอบหรือกระทำอย่างนี้  ก็เพราะท่านไม่ต้องการให้ลูกๆ เป็นห่วง 

เพราะพรหมวิหารธรรม ๔ ประการที่พ่อแม่มีต่อลูกอย่างเปี่ยมล้นไม่ลดน้อย พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกพ่อแม่ว่า “พระพรหมของลูก” 

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

"ญาณวชิระ" คือนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กำลังเตรียมบวชเณรเอิร์ต
“ญาณวชิระ” คือนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กำลังเตรียมบวชเณรเอิร์ต

“ความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก

เป็นความรักที่บริสุทธิ์ 

มิได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ”

ญาณวชิระ

หนังสือ "ลูกผู้ชายต้องบวช" โดย ญาณวชิระ /จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ภาพถ่าย โดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส / ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ โดย บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ /จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ภาพถ่าย โดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส / ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ โดย บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด

สัมผัสวิถีแห่งสมณะกับการเกิดครั้งสุดท้ายของชีวิต ในหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน โดยสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ติดต่อรับได้เป็นธรรมบรรณาการ (ฟรี) จนกว่าหนังสือจะหมด ที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here