จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช
(ตอนที่ ๒๘)
บรรพ์ที่ ๔ (จบ) การอธิษฐานจิตกรวดน้ำแผ่กุศล
โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
การอธิษฐานจิตกรวดน้ำแผ่กุศล
การกรวดน้ำรับพร เมื่อประธานสงฆ์สวด ยะถาฯลฯ ให้เริ่มรินน้ำ พร้อมกับนึกแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล พอพระสวดขึ้นพร้อมกันหมดทุกรูปให้รินน้ำลงให้หมด เสร็จแล้วประณมมือฟังพระสวดไปจนจบ
ในการกรวดน้ำ ควรประคองที่กรวดน้ำด้วยมือทั้งสอง ไม่ควรใช้นิ้วรองน้ำ ควรปล่อยให้น้ำไหลลงตามธรรมชาติ ให้ตั้งใจแผ่ส่วนบุญกุศล โดยนึกถึงบรรพบุรุษทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายบิดามารดา ปู่ย่าตายายตลอดจนหมู่ญาติเรื่อยมาโดยลำดับจนถึงมารดาบิดา แม้ยังมีชีวิตอยู่ก็ให้ท่านได้รับอานิสงส์แห่งการบวช และขอให้ท่านได้มีความสุข มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง นึกถึงครูบาอาจารย์ทั้งในชาตินี้และในอดีตชาติ
นึกถึงเทวาอารักษ์ พระภูมิเจ้าที่ทั้งหลาย แม้มองไม่เห็นตัวก็ขอให้ได้รับบุญกุศลด้วย
นึกถึงผู้มีเวรทั้งหลาย ทั้งที่เราเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับเขาไว้ และที่เขาเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับเราไว้ แผ่กว้างออกไปตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้มีส่วนในอานิสงส์แห่งการบรรพชาอุปสมบทของเราเสมอกันถ้วนทุกคน
บางแห่งอาจไม่มีน้ำให้กรวด ให้ผู้บวชตั้งจิตอธิษฐานแผ่บุญกุศลกว้างออกไปดังกล่าว
จบพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
คำขอบวชแบบเอสาหัง
(แบบใหม่ที่ใช้ในคณะสงฆ์ธรรมยุติ)
ขั้นตอนและบทที่ต้องท่องจำใช้ในพิธีบวชแบบธรรมยุติ ผู้มุ่งอุปสมบท รับผ้าไตรอุ้ม ประณมมือแล้วเดินเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ (สังฆสันนิบาต) วางผ้าไตรไว้ข้างตัวด้านซ้าย รับเครื่องสักการะถวายพระอุปัชฌาย์ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง นั่งคุกเข่า อุ้มผ้าไตรประณมมือเปล่งวาจาขอบรรพชา ดังนี้
คำขอสรณะและบรรพชา
เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ ละเภยยาหัง ภันเต ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง (๑)
ทุติยัมปาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ ละเภยยาหัง ภันเต ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง
ตะติยัมปาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ ละเภยยาหัง ภันเต ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง
อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ อิมานิ กาสายานิ วัตถานิ คะเหตะวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต อะนุกัมปัง อุปาทายะ
ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ อิมานิ กาสายานิ วัตถานิ คะเหตะวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต อะนุกัมปัง อุปาทายะ
ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต ปัพพัชชัง ยาจามิ อิมานิ กาสายานิ วัตถานิ คะเหตะวา ปัพพาเชถะ มัง ภันเต อะนุกัมปัง อุปาทายะ
พระอุปัชฌาย์รับเอาผ้าไตรจากผู้บวชวางไว้ตรงหน้าตัก ให้โอวาท และบอก ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน ให้ว่าตามไปทีละบท โดยอนุโลม (ไปข้างหน้า) และปฏิโลม (ทวนกลับ) ดังนี้
เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ (อนุโลม)
ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา (ปฏิโลม)
พระอุปัชฌาย์สวมอังสะให้ผู้บวช พระอาจารย์นำออกไปครองผ้า เสร็จแล้วเข้าไปหาพระอาจารย์ ถวายเครื่องสักการะแล้วกราบ ๓ ครั้ง นั่งคุกเข่าเปล่งวาจาขอสรณะและศีล ดังนี้
คำขอศีล
อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ
จากนี้ให้ผู้บวชว่าตามพระอาจารย์ไปตามลำดับ เริ่มจากคำนมัสการ เป็นต้นไป ดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)
พระอาจารย์กล่าวว่า เอวัง วะเทหิ หรือ ยะมะหัง วะทามิ ตังวะเทหิ ให้รับว่า อามะ ภันเต
พระอาจารย์นำเปล่งวาจาถึงสรณคมน์ ให้ว่าตามไปตามลำดับ ดังนี้
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉาม
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
พอจบแล้วทางพระอาจารย์ว่า ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง ให้รับว่า อามะ ภันเต
การบรรพชาเป็นสามเณรสำเร็จด้วยสรณคมน์เพียงเท่านี้ ต่อจากนั้น สามเณรต้องรักษาศีล หรือสิกขาบท ๑๐ ประการ โดยสมาทานจากพระอาจารย์ ดังนี้
ปาณาติปาตา เวรมณี
อะทินนาทานา เวรมณี
อะพรัหมจริยา เวรมณี
มุสาวาทา เวรมณี
สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี
วิกาละโภชนา เวรมณี
นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสนา เวรมณี
มาลาคันธะวิเลปะนะธารณะมัณฑนะวิภูสะนัฏฐานา เวรมณี
อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวรมณี
ชาตะรูปะ ระชะตะ ปฏิคคหณา เวรมณี
อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สมาทิยามิ กล่าว ๓ ครั้ง
จากนั้นสามเณรรับบาตร อุ้มเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ในท่ามกลางสังฆสันนิบาต วางไว้ข้างตัวด้านซ้าย ถวายเครื่องสักการะแล้วกราบ ๓ ครั้ง นั่งคุกเข่าประนมมือกล่าวขอนิสัยดังนี้
คำขอนิสัย
อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ
ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ
ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต นิสสะยัง ยาจามิ
อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ (ว่า ๓ ครั้ง)
พระอุปัชฌาย์กล่าวว่า โอปายิกัง ปะฏิรูปัง ปาสาทิเกนะ สัมปาเทหิ ให้รับว่า สาธุ ภันเต ทุกครั้งไป
อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร ( ว่า ๓ ครั้ง) เสร็จแล้วกราบลง ๓ ครั้ง
พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์คล้องบาตรให้ผู้บวช บอกบาตรและจีวร ผู้บวชรับว่า อามะ ภันเต ๔ ครั้งดังนี้
อะยันเต ปัตโต (รับว่า) อามะ ภันเต
อะยัง สังฆาฏิ (รับว่า) อามะ ภันเต
อะยัง อุตตะราสังโค (รับว่า) อามะ ภันเต
อะยัง อันตะระวาสะโก (รับว่า) อามะ ภันเต
จากนั้นพระอุปัชฌาย์จะบอกให้ออกไปยืน ณ ที่ซึ่งกำหนดไว้ ด้วยคำว่า คัจฉะ อะมุมหิ โอกาเส ติฏฐาหิ ผู้บวชถอยออกไปยืนอยู่ในที่ที่กำหนดไว้
ต่อจากนี้พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์สวดถามอันตรายิกธรรม ให้รับ นัตถิ ภันเต ๕ ครั้ง และต่อด้วย อามะ ภันเต อีก ๘ ครั้ง ดังนี้
ถามว่า | ตอบว่า |
กุฏฐัง | นัตถิ ภันเต |
คัณโฑ | นัตถิ ภันเต |
กิลาโส | นัตถิ ภันเต |
โสโส | นัตถิ ภันเต |
อะปะมาโร | นัตถิ ภันเต |
มะนุสสะโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
ภุชิสโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
อะนะโณสิ๊ | อามะ ภันเต |
นะสิ๊ ราชะภะโฏ | อามะ ภันเต |
อนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ | อามะ ภันเต |
ปริปุณณะวีสติวัสโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
ปริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง | อามะ ภันเต |
กินนาโมสิ | อะหัง ภันเต….นามะ (๒) |
โก นามะ เต อุปัชฌาโย | อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสะมา…… นามะ (๓) |
จากนั้น กลับเข้ามาท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ กราบพระอุปัชฌาย์ ๓ ครั้ง นั่งคุกเข่าประณมมือเปล่งวาจาขออุปสมบท
คำขออุปสมบท
สังฆัมภันเต อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ
ทุติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ
ตะติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง (๔) ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ ฯ
พระอุปัชฌาย์เผดียงสงฆ์ จบแล้วพระสงฆ์สาธุพร้อมกัน ต่อจากนั้น พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์สวดสมมติตนเพื่อสอบถามอันตรายิกธรรม ผู้บวชรับว่า นัตถิ ภันเต ๕ ครั้ง และ อามะ ภันเต ๘ ครั้ง บอกฉายาของตัวเอง และฉายาพระอุปัชฌาย์ ท่ามกลางสังฆสันนิบาตอีกครั้ง ดังนี้
ถามว่า | ตอบว่า |
กุฏฐัง | นัตถิ ภันเต |
คัณโฑ | นัตถิ ภันเต |
กิลาโส | นัตถิ ภันเต |
โสโส | นัตถิ ภันเต |
อะปะมาโร | นัตถิ ภันเต |
มะนุสสะโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
ภุชิสโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
อะนะโณสิ๊ | อามะ ภันเต |
นะสิ๊ ราชะภะโฏ | อามะ ภันเต |
อนุญญาโตสิ๊ มาตาปิตูหิ | อามะ ภันเต |
ปริปุณณะวีสติวัสโสสิ๊ | อามะ ภันเต |
ปริปุณณันเต ปัตตะจีวะรัง | อามะ ภันเต |
กินนาโมสิ | อะหัง ภันเต….นามะ |
โก นามะ เต อุปัชฌาโย | อุปัชฌาโย เม ภันเต อายัสะมา…… นามะ |
เสร็จแล้วให้นั่งฟังพระสวดกรรมวาจาอุปสมบทไปจนจบ จากนั้น พระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์นำเอาบาตรออกจากตัว กราบลง ๓ ครั้ง นั่งพับเพียบฟังพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์ไปจนจบ เมื่อจบแล้วให้กล่าวรับว่า อามะ ภันเต เสร็จพิธีกราบ ๓ ครั้ง ถ้ามีเครื่องไทยทานก็ให้รับไทยทานถวายพระอันดับ พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
(๑) ถ้าบวชเป็นสามเณรให้ตัดคำว่า ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง ออก (๒) นามฉายาผู้ขอบวช (๓) นามฉายาพระอุปัชฌาย์ (๔) ถ้ากล่าวพร้อมกันให้เปลี่ยนคำว่า ยาจามิ เป็น ยาจามะ และเปลี่ยน มัง เป็น โน
ขอขอบคุณ ภาพการบรรพชาอุปสมบท โครงการ พระนวกะโพธิ รุ่นที่ ๖ จัดโดย สำนักงานกำกับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ในขณะนั้น ร่วมกับ พระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ระหว่างวันที่ ๑๘ -๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
(โปรดติดตามตอนต่อไป )
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด