จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ญาณวชิระ

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๒๓)

บรรพ์ที่  ๔ ขั้นตอนการบรรพชา  และ อุปสมบท

(๗) “ ความเข้าใจเรื่อง ไตรสรณคมน์”

โดย ญาณวชิระ

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับน้องเอิร์ตเตรียมบรรพชา ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับน้องเอิร์ตเตรียมบรรพชา ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ความเข้าใจ  เรื่อง ไตรสรณคมน์

พระพุทธศาสนามีที่พึ่งอันสูงสุดเรียกว่า “ไตรสรณะ”  แปลว่า “ที่พึ่ง ๓ ประการ” หมายเอาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ  พระธรรม พระสงฆ์ ไตรสรณะเป็นที่พึ่งอันสูงสุด เพราะที่พึ่งอื่นไม่สามารถช่วยดับความกระวนกระวายเร่าร้อนด้วยอำนาจกิเลสได้  แต่ไตรสรณะสามารถดับความกระวนกระวายเร่าร้อน ทำให้พ้นทุกข์ทั้งมวลได้

ความเป็นสามเณรสำเร็จได้ด้วยการเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะจบวาระที่ ๓ ก็สำเร็จเป็นสามเณรได้   การให้ไตรสรณะสมัยก่อนนั้นท่านให้ ๒ แบบ  คือ  ทั้งแบบสันสกฤต  และแบบบาลี   

เนื่องจากผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรได้ต้องสามารถเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยได้อย่างถูกต้อง  จึงจะสำเร็จเป็นสามเณรได้อย่างสมบูรณ์    หากไม่สามารถเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยได้  ก็เป็นสามเณรไม่ได้ ผู้ที่จะสามารถเปล่งภาษาได้ถูกต้องและเข้าใจความหมายก็ต้องโตพอที่จะรู้ภาษาแล้ว 

การกำหนดอายุของผู้บวชสามเณรจึงกำหนดเอาเด็กสามารถพูดและเข้าใจความหมายของคำพูดได้ ท่านกล่าวว่าสามารถไล่กาและไก่ได้  คือ ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรต้องรู้และเข้าใจภาษาจนสามารถแยกแยะออกว่าอะไรเป็นกาอะไรเป็นไก่

เนื่องจากสมัยก่อนคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาทั้ง ๒ แบบ  คือทั้งแบบมหายาน และเถรวาท มหายานใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกและเผยแผ่คำสอน ส่วนเถรวาทใช้ภาษาบาลีบันทึกคำสอน ทั้งสันสกฤตและบาลีมีวิธีออกเสียงที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการป้องกันการเปล่งวาจาเพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยคลาดเคลื่อน  อันจะเป็นเหตุให้การบวชสามเณรไม่สมบูรณ์ บุรพาจารย์จึงให้สวดไตรสรณคมน์ทั้งสองแบบ  คือ ทั้งแบบสันสกฤตและแบบบาลีควบคู่กันไป

ในกรณีการเปล่งเสียงไม่ถูกตามหลักภาษาเพราะสำเนียงของชนชาติตน  ไม่ได้หมายความว่าผู้บวชจะไม่เป็นพระเป็นเณร

ความเป็นจริงแล้ว  แม้จะเปล่งวาจาไม่ตรงตามหลักภาษา การบวชก็เป็นอันสมบูรณ์เพราะเจตนาต้องการกล่าวอย่างนั้น และหมู่สงฆ์ก็เข้าใจความมุ่งหมาย แต่สำเนียงผิดเพี้ยนไปบ้างตามสำเนียงของชนชาตินั้นๆ การที่สำเนียงผิดเพี้ยนไปไม่ได้หมายความว่าผู้บวชจะไม่ได้เป็นพระเป็นสามเณร

เนื่องจากสำเนียงของชนชาติใดก็เป็นที่เข้าใจของชนชาตินั้น  การเปล่งคำขอบวชก็เปล่งตามสำเนียงชนชาติของตนๆ

ถ้าความคิดที่ว่าผู้ขอบวชเปล่งสำเนียงไตรสรณคมน์หรือคำขานนาคไม่ถูกต้องตามหลักภาษา จะทำให้ผู้บวชไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุสามเณร ชาวฝรั่ง เขมร พม่า ลาว หรือแม้กระทั่งคนไทยเองบวชเป็นพระภิกษุก็ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ เพราะทุกชนชาติที่กล่าวมานี้อ่านภาษาบาลีผิดเพี้ยนไม่เหมือนกัน ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ เสียงภาษาบาลีเป็นอย่างไร ต่างก็ออกสำเนียงตามภาษาของชนชาติตน ถึงอย่างนั้น ก็เป็นที่เข้าใจความหมายของคำนั้นๆ ได้ เหมือนฝรั่งพูดภาษาไทย ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนคนไทย หรือคนไทยพูดภาษาอังกฤษ ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนฝรั่ง หรือแม้แต่คนไทยตาม ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ พูดไทยอย่างภาคกลาง ก็ไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ แต่ก็เป็นที่เข้าใจในความหมายของคำนั้นๆ     

ในปัจจุบันได้ตัดการให้สรณคมน์แบบสันสกฤตออก  เพราะเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  นอกจากนั้น การให้สรณคมน์ทั้ง ๒ แบบยาวเกินความจำเป็น   จึงยังคงไว้แต่การให้สรณคมน์แบบบาลีอย่างเดียว    เราจะพบเห็นในการบำเพ็ญบุญในโอกาสต่างๆ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม  ยังมีวัดบางแห่งที่ยังคงใช้วิธีบรรพชาอุปสมบทแบบโบราณอยู่ตราบปัจจุบัน การให้ไตรสรณคมน์ก็ยังให้ทั้งแบบสันสกฤตและบาลี   มิใช่เพราะกลัวว่าผู้บวชจะไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุสามเณร แต่เพื่อเป็นการรักษาตันติประเพณีแบบแผนการอุปสมบทแบบเดิมเอาไว้   

เนื่องจากหากต่างคนต่างคิดที่จะตัดออกตามมติของตน  ในอนาคตอาจไม่หลงเหลือร่องรอยการอุปสมบทแบบดั้งเดิมให้เห็นเลย

ประวัติข้อกำหนดอายุผู้บรรพชาเป็นสามเณร

         ในสมัยพุทธกาลมีครอบครัวหนึ่งที่ภรรยาเสียชีวิตแล้ว เหลือเพียงพ่อกับลูกชายที่อายุยังน้อยอยู่ตามลำพังสองพ่อลูก  พ่อหมดอาลัยในชีวิตจึงได้บวชเป็นพระภิกษุและให้ลูกชายเป็นสามเณร

เพราะความที่สามเณรอายุยังน้อย จึงได้วิ่งไปหาผู้คนและพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ร้องขออาหาร

ชาวบ้านที่พบเห็นต่างตำหนิติเตียนกิริยาของสามเณร บ้างพูดเยาะเย้ย  บ้างก็พูดเย้าว่า   เณรน้อยรูปนี้เห็นจะเป็นลูกภิกษุณี   พระภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วเกิดความไม่สบายใจจึงได้นำความกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายไม่พึงบวชให้เด็กชายที่มีอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปี รูปใดบวชให้ต้องอาบัติทุกกฎ

ครั้นอยู่ต่อมา ตระกูลอุปัฏฐากพระอานนท์เถระ  เป็นตระกูลที่มีศรัทธามาก  คราวหนึ่งพ่อแม่เสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรค  เหลือไว้เพียงบุตรสองคน เพราะเด็กขาดที่พึ่งด้วยไม่มีพ่อแม่ เมื่อเห็นพระภิกษุก็วิ่งเข้าไปหาด้วยความคุ้นเคย  เมื่อถูกพระภิกษุตวาดไล่ก็ร้องไห้เพราะความเสียใจ  พระอานนท์เถระคิดว่า  เด็กทั้งสองคนนี้มีอายุไม่ถึง ๑๕ ปี จะทำอย่างไรดีจึงจะไม่เสียโอกาสในการบวช   พระเถระจึงได้เข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทราบความคิดนั้น

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า อานนท์ เด็กทั้งสองนั้นสามารถไล่กาได้ไหม  พระเถระกราบทูลว่า ได้พระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธองค์จึงตรัสประชุมสงฆ์ แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุบวชให้เด็กชายที่มีอายุหย่อนกว่า ๑๕ ปี ซึ่งสามารถไล่กาได้

สามเณรสมาทานศีล  ๑๐  ข้อ

ต่อจากการให้ไตรสรณคมน์แล้ว พระกรรมวาจาจารย์กล่าวนำให้สามเณรสมาทานสิกขาบท  คือ ข้อปฏิบัติสำหรับสามเณร ๑๐ ประการ ว่าตามทีละข้อ  ดังนี้

ข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวระมณี// สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิฯ  คำแปลข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ข้อที่ ๒ อะทินนาทานา เวระมณี// สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯ  คำแปลข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการลักทรัพย์

ข้อที่ ๓ อะพรัหมะจะริยา เวระมณี//สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิคำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์

ข้อที่ ๔  มุสาวาทา เวระมณี//  สิกขาปะทัง สะมาทิยามิฯคำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการพูดเท็จ

ข้อที่ ๕  สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฎฐานา เวระมณี//  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิคำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย

ข้อที่ ๖ วิกาละโภชะนา เวระมณี//  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิคำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้วจนถึงรุ่งอรุณขึ้นมาใหม่

ข้อที่ ๗ นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมณี//  สิกขาปะทัง สะมาทิยามิคำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการร้องรำขับร้องประโคมดนตรีและดูและละเล่น

ข้อที่ ๘ มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฎฐานา  เวระมณี//  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ คำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการลูบไล้ทาด้วยของหอม  ประดับประดาเครื่องแต่งกาย

ข้อที่ ๙  อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมณี// สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิคำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่

ข้อที่ ๑๐ ชาตะรูปะระชะตะปะฎิคคะหะณา  เวระมณี// สิกขาปะทัง   สะมาทิยามิคำแปล ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  ว่าด้วยการเว้นจากการรับเงินและทอง

พระอาจารย์นำสามเณรกล่าวคำยืนยันความตั้งใจที่จะปฏิบัติตามสิกขาบทตามที่สมาทานว่า

“อิมานิ ทะสะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ”

สามเณรกล่าวคำยืนยันที่จะปฏิบัติตาม ดังนี้

อิมานิ   ทะสะ   สิกขาปะทานิ   สะมาทิยามิ

อิมานิ   ทะสะ   สิกขาปะทานิ   สะมาทิยามิ

อิมานิ   ทะสะ   สิกขาปะทานิ   สะมาทิยามิ ฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ๑๐ ประการนี้ฯลฯ

เมื่อกล่าวคำยืนยันความตั้งใจ   เป็นการปฏิญาณที่จะรักษาศีล ๑๐ ประการอันจะทรงภาวะความเป็นสามเณรไว้จบ ๓ วาระแล้ว กราบ ๑ หนยืนขึ้นว่า

วันทามิ  ภันเต  // สัพพัง  อะปะราธัง ขะมะถะ  เม  ภันเต  //  มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา อนุโมทิตัพพัง//สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง //สาธุ/สาธุ / อนุโมทามิ ฯ

คำแปล

กระผมขอกราบไหว้   ท่านขอรับ  ขอท่าน  จงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย   ขอท่านพึงอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ  และขอท่านพึงให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย   สาธุ  สาธุ สาธุ   กระผมขออนุโมทนาฯ 

สามเณรนั่งคุกเข่า กราบ ๓ หน จบพิธีการบรรพชาเป็นสามเณรแต่เพียงเท่านี้  สำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ก็เริ่มขั้นตอนการอุปสมบทต่อไป

(โปรดติดตามตอนต่อไป…)

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับน้องเอิร์ตเตรียมบรรพชา ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น กับน้องเอิร์ตเตรียมบรรพชา ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here