จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๗ )
คุณสมบัติประชุมสงฆ์ที่เข้าร่วมในพิธีบวช
และ คุณสมบัติของสีมาที่ใช้ประกอบพิธีบวช
โดย ญาณวชิระ
คุณสมบัติประชุมสงฆ์ที่เข้าร่วมในพิธีบวช
สงฆ์ที่เข้าร่วมในพิธีบวชให้ผู้ขอบวชนั้น จะต้องครบจำนวนสงฆ์ตามวินัย หากไม่ครบองค์สงฆ์ก็ไม่สามารถบวชได้ สงฆ์ที่จะเข้าร่วมในพิธีบวช ดังนี้
(๑) ปัจจันตชนบท ในต่างจังหวัดเป็นท้องถิ่นที่หาพระภิกษุได้ยากใช้สงฆ์จำนวน ๕ รูปขึ้นไป
(๒) มัธยมประเทศ ในภาคกลางเป็นท้องถิ่นที่หาพระภิกษุได้ง่ายใช้สงฆ์ จำนวน ๑๐ รูปขึ้นไป
สีมา และคุณสมบัติของสีมาที่ใช้ประกอบพิธีบวช
สถานที่สงฆ์กำหนดเขตแดนที่จะประกอบพิธีอุปสมบท เรียกว่า “สีมา” แปลว่า เขตแดนสำหรับทำกิจสงฆ์ตามพุทธบัญญัติ สีมา มี ๒ ประเภท คือ
(๑) พัทธสีมา สีมาที่พระภิกษุกำหนดเขตโดยการยินยอมจากทางบ้านเมืองแล้วสวดผูกเป็นสีมา และมีนิมิตเป็นสัญลักษณ์ มี ๓ ชนิด ได้แก่ สีมาที่สวดผูกเฉพาะโรงอุโบสถ เรียกว่า ขันธสีมา สีมาที่ผูกทั้งวัด เรียกว่า มหาสีมา และสีมาที่สวดผูกสองชั้น
(๒) อพัทธสีมา สีมาที่กำหนดเอาอาณาเขตตามหมู่บ้าน ที่พระภิกษุอยู่อาศัยเป็นเขตสีมา เรียกว่า คามสีมา
การอุปสมบทต้องประกอบพิธีในเขตสีมาเท่านั้น หากทำนอกเขต ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ
สงฆ์ที่จะเข้าร่วมในพิธีอุปสมบท จะต้องประชุมพร้อมกันในสีมาอันเดียวกันเท่านั้น ถ้ามีพระภิกษุมาไม่ได้ต้องมอบฉันทะ (๑)ให้พระภิกษุรูปอื่นมาบอกสงฆ์
สีมาที่ใช้ในการทำสังฆกรรมนั้น สงฆ์เป็นผู้กำหนดเขตขึ้นมาแล้วสวดผูกตามวินัย จะกำหนดบนบกก็ได้ ในน้ำก็ได้ ถ้ากำหนดในน้ำต้องต่อเรือหรือแพตรึงให้มั่นคงอยู่กับที่
ขนาดของสีมาต้องพอเหมาะพอดี ไม่เล็กเกินไปไม่ใหญ่เกินไป สีมาขนาดเล็กต้องให้พระภิกษุนั่งได้ ๒๑ รูปเป็นอย่างต่ำ เพราะสังกรรมบางอย่างต้องอาศัยพระภิกษุ ๒๑ รูปร่วมสังฆกรรม เช่น การออกจากอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอาศัยสงฆ์ ๒๑ รูป หากเล็กเกินไปก็ไม่พอที่พระภิกษุจะนั่งทำสังฆกรรมได้ สีมาขนาดใหญ่ไม่ให้เกิน ๓ โยชน์ (๒) เพราะใหญ่เกินไปทำให้ยุ่งยากในการทำสังฆกรรม สีมาที่เล็กเกินไปและใหญ่เกินกว่าที่กำหนด เป็นสีมาวิบัติ คือ เป็นสีมาที่ทำสังกรรมไม่ได้
สีมานั้นต้องมีนิมิต คือ เครื่องหมายกำหนดเขตสีมาที่เรียกว่า นิมิต ในสมัยพุทธกาลนั้นภิกษุกำหนดเอาภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำเป็นนิมิตกำหนดเขตสีมา เนื่องจากพระภิกษุอยู่กับธรรมชาติ
เครื่องหมายกำหนดเขตสีมา ที่เรียกว่า นิมิตนั้น จะกำหนดเป็น ๔ ทิศ หรือ ๘ ทิศก็ได้ ส่วนมากสีมาขนาดเล็กมีนิมิต ๔ ทิศ สีมาขนาดใหญ่มีนิมิต ๘ ทิศ แต่ในประเทศไทยนิยมกำหนดสีมาเป็น ๘ ทิศ ในปัจจุบัน สีมาตามประเพณีนิยมในประเทศไทย กำหนดนิมิตเพิ่มเข้ามาอีกเป็น ๙ เรียกว่า นิมิตเอก อยู่กลางสีมา
เครื่องหมายกำหนดเขตสีมา
ตามประเพณีในประเทศไทยนั้น
นิยมทำจากศิลามีลักษณะกลมเหมือนผลส้ม
หรือศิลาเป็นรูปใบเสมา
และเขตสีมานั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากทางบ้านเมืองก่อน จึงจะกำหนดสวดผูกเขตสีมาได้ ข้อที่ควรทราบอีกอย่าง คือ
ก่อนจะสวดผูกสีมาสถานที่แห่งใด ต้องสวดถอนสถานที่แห่งนั้นก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าสถานที่แห่งนั้นอาจเคยถูกสวดผูกเป็นสีมามาแล้ว หากสวดผูกลงไปอีก ก็จะเป็นการผูกสีมาซ้ำ
ทำให้เป็นสีมาเสียหรือสีมาวิบัติ และทำสังฆกรรมไม่ได้
หมายเหตุ * (๑) มอบฉันทะ คือ ยอมรับและเห็นชอบตามมติสงฆ์ทุกประการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลับมารื้อฟื้นอธิกรณ์ใหม่อีกครั้ง (๒) มาตราวัดสมัยพุทธกาล โยชน์ ๑ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร
กิจที่จะต้องตระเตรียมให้เสร็จก่อนบวช
(๑) ต้องนิมนต์พระอุปัชฌาย์เป็นประธานสงฆ์บวชให้
(๒) ต้องเตรียมอัฐบริขารทั้ง ๘ อย่างให้พร้อม (จีวร สังฆาฏิ สบง บาตร มีดโกน เครื่องกรองน้ำ ด้ายเย็บผ้า และเข็ม)
(๓) ต้องปลงผมและหนวดให้เรียบร้อย ธรรมเนียมพระภิกษุในประเทศไทยนิยมโกนคิ้วด้วย
(๔) ต้องกล่าวคำขอบวชด้วยตนเอง พระพุทธองค์ห้ามไม่ให้บวชแก่ผู้ไม่ขอบวช เพื่อป้องกันมิให้ผู้บวชที่เกิดความไม่พอใจในภายหลังแล้วอ้างได้ว่า “ผมไม่ได้ขอบวชเองอย่ามาสอนผม” จึงต้องให้ผู้บวชเปล่งวาจาขอบวชด้วยตนเอง ในปัจจุบันจึงต้องมีการซ้อมขานนาค
การสวดประกาศกรรมวาจาท่ามกลางสงฆ์
การสวดประกาศกรรมวาจาท่ามกลางสงฆ์คือ การสวดบอกสงฆ์ให้ทราบเพื่อขอมติสงฆ์ว่า จะรับผู้ที่มาขอบวชนี้เข้าเป็นสงฆ์หรือไม่ การสวดประกาศกรรมวาจา ก็เพื่อให้สงฆ์ที่ประชุมกันในสีมานั้นได้รับทราบ และร่วมกันทำการอุปสมบท โดยการตั้งญัตติ หรือสวดปรึกษาสงฆ์ ๑ ครั้ง และสวดขอมติสงฆ์ ๓ ครั้ง (อนุสาวนา) รวมเป็น ๔ ครั้ง เรียกว่า “ญัตติจตุตถกรรมวาจา”
ในขณะสวดขอมติทั้ง ๓ ครั้ง หากมีภิกษุที่นั่งเป็นพระอันดับรูปใดรูปหนึ่งคัดค้านขึ้นมาท่ามกลางสงฆ์ ญัตตินั้นเป็นอันตกไป และการบวชนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้
อนึ่ง ในขณะสวดญัตติ (๑)ห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สงฆ์เข้ามาใกล้หัตถบาส เพราะจะทำให้สังฆกรรมวิบัติ ชาวบ้านเรียกว่าบวชไม่ขึ้น โดยให้ห่างจากประชุมสงฆ์ประมาณ ๑ วา บางวัดไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่ใช่พระภิกษุเข้าโบสถ์ ขณะประกอบพิธีอุปสมบท
นอกจากนั้น พระภิกษุที่ไม่ได้เข้าร่วมสังฆกรรมจะเข้ามาในเขตสีมาไม่ได้ หากเข้ามาในเขตสีมาจะต้องเข้ารวมหัตถบาส
การบวชที่ทำให้ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ
การบวชที่ทำให้ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ เรียกว่า สังฆกรรม-วิบัติ แม้จะผ่านพิธีบวชแล้วก็ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุ มี ๕ ประการ
(๑) ผู้บวชมิใช่มนุษย์เพศชาย มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เป็นคนมีเพศบกพร่อง คือ ถูกตอน หรือผ่าตัดแปลงเพศ เคยฆ่ามารดาหรือบิดาของตน เคยทำผิดร้ายแรงต่อพระศาสนา เช่น ฆ่าพระอรหันต์ เคยต้องอาบัติปาราชิกมาแล้วตั้งแต่บวชครั้งก่อน และขณะที่ยังบวชเป็นพระภิกษุได้ไปบวชในลัทธิศาสนาอื่น ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลาสิกขา
(๒) สงฆ์ที่เข้าร่วมประชุมไม่ครบจำนวนตามวินัยระบุไว้ คือ ในชนบทห่างไกล หาพระสงฆ์ได้ยาก ใช้สงฆ์จำนวน ๕ รูป ในเมืองที่หาพระสงฆ์ได้ง่าย ใช้สงฆ์จำนวน ๑๐ รูป ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนด ประกอบพิธีบวชไม่ได้
(๓)การประกอบพิธีบวชไม่ได้ทำในเขตสีมา ญัตติที่ประกาศในที่ประชุมสงฆ์นั้น ถือว่าเป็นโมฆะ
(๔) ไม่มีพระอุปัชฌาย์ ไม่มีอัฐบริขารทั้ง ๘ อย่าง
(๕) มีพระภิกษุคัดค้านขึ้นมาท่ามกลางสงฆ์
หมายหตุ * (๑) ค่านิยมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นสำหรับชาวไทยเกี่ยวกับการสวดญัตติ คือ ชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา นิยมนำพระเครื่อง หรือวัตถุมงคลอื่นๆ เข้าพิธีอุปสมบท โดยนิยมใส่ลงไปในบาตร เพราะเชื่อว่าจะได้ขลังและศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากพิธีสวด “ญัตติ” เป็นพิธีสวดยกคนธรรมดาขึ้นเป็นพระภิกษุ ซึ่งตรงกับคำว่า “ยัด” หมายถึง ยัดความขลังและศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในวัตถุมงคล ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่มีข้อยืนยันตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
(โปรดติดตามตอนต่อไป…)
อธิบายภาพถ่าย : พิธีบรรพชาอุปสมบท พระนวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ จำนวน ๖๕ รูป ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สาธารณรัฐอินเดีย โดยเริ่มพิธีขลิบผมที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพ โดย สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ร่วมกับ คณะพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย- เนปาล วัดไทยพุทธคยา สาธารณะรัฐอินเดีย ได้จัดโครงการอุปสมบทหมู่ ด้วยเห็นความสำคัญของการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งหลายพึงกระทำร่วมกัน เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่มหาชน จึงได้จัดการอุปสมบทหมู่ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ในโอกาสสำคัญต่างๆ ที่เนื่องด้วยสถาบันหลักของชาติ
วัตถุประสงค์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช , เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศล ถวายพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวราลกูร, เพื่อเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพอย่างสูงสุด ของประชาชนชาวไทย, เพื่อส่งเสริมให้กุลบุตร ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา ดินแดนถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนา และได้ทดแทนพระคุณบิดา มารดา ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งหลาย
โครงการอุปสมบทหมู่นวกะโพธิ รุ่น ๗ “รวมใจภักดิ์รักแผ่นดิน” มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน ๖๕ ท่าน ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม – ๒ เมษายน ๒๕๖๐ โดยวันที่ ๒๕ มีนาคม เวลา ๑๕.๐๐ น. ได้จัดพิธีขลิบผมนาค และมอบผ้าไตร ณ ลานโพธิ์ลังกา วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร และ วันอาทิตย์ ที่ ๒๗ มีนาคม ประกอบพิธีบรรพชาสามเณร ณ มณฑลพิธีใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา และพิธีอุปสมบท ณ วัดไทยพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย
โดยมีคณะพระธรรมทูตสายประเทศ อินเดีย- เนปาล และพระวิทยากรกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นพระวิทยากรดูแลรับผิดชอบ ให้การฝึกอบรม นำพระภิกษุนวกะ ปฏิบัติธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา ณ สังเวชนียสถาน ทั้ง ๔ แห่งจนจบโครงการ
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด