จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๕)
การจัดเตรียมเครื่องสักการบูชา
และไทยธรรมสำหรับพระสงฆ์
การขอขมาบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่
และบุคคลที่เคารพนับถือ
ญาณวชิระ
การจัดเครื่องสักการบูชาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และไทยธรรมสำหรับพระสงฆ์ อีกทั้งปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอันดับ ควรสอบถามจากพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส หรือพระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมาย เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นก็มีข้อปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป
แม้จะไม่มีเครื่องสักการบูชา ก็สามารถบวชสำเร็จเป็นพระภิกษุได้สมบูรณ์ เพราะการบวชสำเร็จโดยสงฆ์
แต่ประเพณีไทย นิยมถือปฏิบัติกันมาว่า พ่อแม่ญาติพี่น้อง พวกพ้องบริวาร แม้ไม่ได้บวชด้วยตนเอง ก็ได้ถือโอกาสร่วมทำบุญกับผู้บวช
ในที่นี้ จะแสดงธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติโดยทั่วไปในสังคมไทยไว้พอเป็นหลัก ผู้จะบวชสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
๑. เครื่องสักการบูชาสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์
- กรวย ธูปเทียนแพ หรือ ดอกไม้ธูปเทียน ที่ใช้เป็นเครื่องบูชา (ให้จัดตามท้องถิ่นนิยม และเน้นความประหยัด)
- ปัจจัยไทยธรรม
- ดอกไม้ขอนิสัย ๓ ชุด (ดอกบัว ๓ ดอก ธูป ๓ ดอก เทียน ๒ เล่ม ) มีรายละเอียดการใช้ ดังนี้
ชุดที่ ๑ สำหรับนาคใช้ประณมมือทำประทักษิณเวียนรอบสีมา แล้ววันทาสีมา
ชุดที่ ๒ ใช้วันทาพระประธานเมื่อนาคเข้าไปภายในอุโบสถ
ชุดที่ ๓ ใช้เป็นดอกไม้ธูปเทียนขอนิสัย โดยนิยมถวายพร้อมบาตร เมื่อจะขอนิสัย เพื่อบวชเป็นพระภิกษุ
๒. เครื่องสักการบูชาสำหรับถวายพระคู่สวด ๒ รูป คือ
(๑)พระกรรมวาจาจารย์ (รูปที่นั่งด้านขวามือพระอุปัชฌาย์ เรียกว่า พระกรรมวาจาจารย์ แปลว่า พระอาจารย์ผู้สวดกรรมวาจาประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในพิธีอุปสมบท )
กรวย ธูปเทียนแพ
ปัจจัยไทยธรรม
(๒)พระอนุสาวนาจารย์ (รูปที่นั่งด้านซ้ายมือพระอุปัชฌาย์ เรียกว่า พระอนุสาวนาจารย์ แปลว่า พระอาจารย์ผู้สวดประกาศคำขอปรึกษาและตกลงมติสงฆ์ให้การอุปสมบท) ทั้ง ๒ รูปเป็นพระอาจารย์ของผู้บวช
กรวย ธูปเทียนแพ
ปัจจัยไทยธรรม
๓. ของถวายพระอันดับ ปัจจัยไทยธรรม จัดตามจำนวนพระอันดับที่นิมนต์
สำหรับพระอันดับที่นิมนต์นั้น ท่านมีกำหนดตามพระวินัย ในต่างจังหวัดซึ่งเป็นถิ่นที่หาพระสงฆ์ได้ยาก ประชุมสงฆ์ ๕ รูปก็ใช้ได้ ในถิ่นที่หาพระสงฆ์ได้ง่าย ประชุมสงฆ์ ๑๐ รูปขึ้นไป บางแห่งนิยม ๒๐ รูป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของแต่ละวัด
การขอขมาบิดามารดา
ญาติผู้ใหญ่ และบุคคลที่เคารพนับถือ
การขอขมาเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ที่เราจะได้บวชในพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายความว่า เรามีความผิดต่อทุกท่าน จึงต้องขอขมา แต่เป็นการบอกลาตามขนบธรรมเนียมไทย เพื่อให้ท่านได้รับทราบและอนุโมทนา หรือหากมีความประมาทพลาดพลั้ง ท่านจะได้อโหสิกรรม
การขอขมาเป็นกิจส่วนตัวของผู้บวช ที่จะปฏิบัติต่อญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ความมุ่งหมาย ก็เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ หากจะมีความประมาทพลาดพลั้งต่อกัน
ในอีกด้านหนึ่ง เป็นการบอกกล่าวญาติผู้ใหญ่ให้รับรู้ว่าเราจะบวชในบวรพุทธศาสนา ตามธรรมเนียมไทยที่เรียกว่า “ไปลามาไหว้” เป็นการแบ่งส่วนบุญกุศลที่จะเกิดจากการบวชให้ผู้อื่น
ข้อปฏิบัติในการขอขมา เมื่อกำหนดวันบวชแล้ว ให้ผู้บวชไปพบญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ จะมีธูปเทียนแพก็ได้ ไม่มีก็ได้ ไม่ใช่ข้อที่สำคัญ พร้อมกับกล่าวคำขอขมา
คำขอขมาโทษ
กรรมทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้ง ต่อบิดามารดา (ต่อท่านทั้งหลาย) ด้วยกายก็ตาม ด้วยวาจาก็ตาม ด้วยใจก็ตาม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีเจตนาก็ตาม มิได้มีเจตนาก็ตาม ขอท่านทั้งหลายจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า เพื่อความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับแต่นี้เป็นต้นไป
อนึ่ง บุญกุศลอันใดอันหนึ่งที่จะเกิดจากการบวช ขอท่านได้อนุโมทนา และมีส่วนแห่งบุญกุศลนั้นทุกประการ
บรรยายภาพ : “พิธีขลิบผมและมอบผ้าไตรแก่กุลบุตร ผู้ขอบรรพชาอุปสมบท ตามโครงการอุปสมบทหมู่นวกะโพธิ รวมใจภักดิ์รักแผ่นดิน รุ่นที่ ๑๐” โดยเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๑ พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ในขณะนั้น ร่วมกับ พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล วัดไทยพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย ได้จัดโครงการอุปสมบทหมู่นวกะโพธิ ด้วยเห็นความสำคัญของการ สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนชาวไทย จะพึงกระทำร่วมกัน เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่มหาชน และรักษาไว้เป็นมรดกล้ำค่าแก่อนุชนในกาลข้างหน้า จึงเห็นสมควรจัดให้มีกิจกรรม พิธีอุปสมบทหมู่ ณ ดินแดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ที่เนื่องด้วยสถาบันหลักของประเทศชาติ
โครงการอุปสมบทหมู่นวกะโพธิ รวมใจภักดิ์รักแผ่นดิน รุ่นที่ ๑๐ จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
๒. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓. เพื่อส่งเสริมให้กุลบุตร ได้มีโอกาสบรรพชาอุปสมบท ตอบแทนพระคุณบิดามารดา ปฏิบัติธรรมถวายพุทธบูชา ตามรอยพระบาทพระศาสดา ณ สังเวชนียสถาน ทั้ง ๔ ในดินแดนพุทธภูมิ
(โปรดติดตามตอนต่อไป )
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด