จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม… ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๓)
เล่าเรื่อง ประวัติพญามาร
โดย ญาณวชิระ
เมื่อครั้งเกิดเป็นมนุษย์ พญาวสวัตตีมาร มีชื่อว่า โพธิอำมาตย์ เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง โพธิอำมาตย์พร้อมทั้งชาวเมืองถูกพระเจ้าแผ่นดินห้ามไม่ให้ทำบุญกับพระกัสสปะพุทธเจ้า ถ้าใครขืนทำจะมีโทษถึงถูกประหารชีวิต
โพธิอำมาตย์นั้นมีศรัทธาอย่างแรงกล้า แม้จะถูกประหารชีวิตก็ยอม ขอเพียงได้ถวายทานแก่พระกัสสปะพุทธเจ้า ด้วยมาคิดว่า การที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกนั้นเป็นเรื่องยาก การที่จะได้พบเห็นพระพุทธเจ้านั้นก็เป็นเรื่องยากยิ่ง และบัดนี้พระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงเมืองที่ตนอยู่แล้ว โพธิอำมาตย์จึงยอมสละชีวิตเพื่อให้ได้ถวายทานด้วยการสละชีวิตถวายทานแก่พระกัสสปะพุทธเจ้า โพธิอำมาตย์ได้ปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
ในการทำบุญครั้งนั้น โพธิอำมาตย์มีโทษถึงถูกตัดสินประหารชีวิต หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นปรนิมมิตว-สวัตตี ปกครองเทพฝ่ายมาร มีชื่อว่าปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช แต่เพราะธรรมดาที่ยังเป็นปุถุชน เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าของเราออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าก่อน พญาวสวัตตีมารจึงเกิดอิจฉาริษยาตามขัดขวางการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาโดยตลอด แต่ไม่เคยทำอันตรายใดๆ ต่อชีวิต มุ่งหวังแต่จะให้พระพุทธเจ้าของเราเปลี่ยนความตั้งใจ
ในพุทธประวัติได้กล่าวถึงตอนที่พระพุทธองค์ผจญพญาวสวัตตีมาราธิราชนี้ไว้ว่า พญามาราธิราชคิดว่า จักให้พระโพธิสัตว์ลุกจากบัลลังก์หนีไปด้วยลม จึงบันดาลมหาวาตะให้ตั้งขึ้น ลมนั้นถึงแม้ว่าสามารถจะทำลายยอดภูเขาใหญ่น้อยทั้งหลาย สามารถถอนต้นไม้ กอไม้ และพัดกระหน่ำหมู่บ้านให้ละเอียดลงรอบด้าน แต่เมื่อมาถึงพระโพธิสัตว์ ก็ไม่อาจกระทำแม้สักว่าชายจีวรให้ไหวได้ ด้วยอานุภาพแห่งพระบารมีของพระโพธิสัตว์
พญาวสวัตตีมาราธิราชจึงบันดาลให้ห่าฝนใหญ่ตั้งขึ้น บันดาลห่าฝนเครื่องประหาร บันดาลห่าฝนหิน บันดาลห่าฝนถ่านเพลิง บันดาลห่าฝนเถ้ารึง (หมายถึง เถ้าไฟที่ไหม้จนหมดถ่านแล้ว แต่ยังมีเถ้าร้อนระอุอยู่) บันดาลห่าฝนทราย บันดาลห่าฝนเปือกตม และบันดาลความมืด รวมเป็นเครื่องประหาร ๙ ชนิด ให้ตั้งขึ้นรอบด้าน โดยมุ่งหวังจะให้พระโพธิสัตว์หนีไป แต่อันตรายจากเครื่องประหารเหล่านั้น ก็ไม่สามารถทำให้พระองค์สะดุ้งสะเทือนได้
สุดท้ายพญามารได้ส่งลูกสาวทั้ง ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา และ นางอรดี มาฟ้อนรำเบื้องพระพักตร์หวังจะให้พระองค์เลิกล้มความตั้งใจ แต่ก็ไร้ผล ทำให้พญามาราธิราชกลับไปด้วยความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก รอคอยโอกาสอยู่ในวิมานบนสวรรค์ของตน
หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๓๐๐ ปี เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ถวายเป็นพุทธบูชา วสวัตตีมาราธิราชได้มาขัดขวางการเฉลิมฉลอง แต่พระอุปคุตมหาเถระ ผู้เกิดหลังพุทธปรินิพพานทรงอภิญญาแก่กล้าได้ช่วยไว้
ในคราวครั้งนั้น พญามารคร่ำครวญว่า แม้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพระมหาเถระยังมีชีวิตอยู่ตนได้ประทุษร้ายต่อพระพุทธองค์เป็นอันมาก แต่พระองค์ก็ยังเปี่ยมด้วยเมตตามิเคยทำให้ตนได้รับความอับอายเลย แต่ไฉนท่านอุปคุตเถระเป็นแต่เพียงพระสาวกของพระพุทธองค์มิได้มีความเมตตาเช่นนั้นต่อตนเลย แล้วได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าผู้เปี่ยมด้วยเมตตาต่อหน้าพระอุปคุตมหาเถระเจ้าอีกครั้ง
ความเชื่อเรื่องมารผจญตามคติโบราณจะจริงหรือไม่
ไม่ใช่ข้อที่สำคัญ แต่ข้อที่สำคัญ ผู้จะบวชไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ควรตั้งใจท่องคำขอบวชให้ขึ้นใจเพื่อจะได้ทำหน้าที่ของผู้บวชให้สมบูรณ์
ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นและข้อปฏิบัติในชีวิตความเป็นพระภิกษุให้เข้าใจ
เพื่อจะได้ปฏิบัติกิจสงฆ์ได้อย่างถูกต้องมีคุณค่าตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตในความเป็นพระภิกษุ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๓ ) เล่าเรื่องประวัติพญามาร โดย ญาณวชิระ
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ , ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด