ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช

(ตอนที่ ๓๗) บรรพ์ที่ ๗

สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน กายบริหาร การดูแลสุขภาพร่างกาย

อภิสมาจาร คือ ข้อที่พระภิกษุจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมารยาทที่ดีงาม อันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่พระภิกษุจะต้องปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ความเป็นสมณะ เพื่อให้มีอาจาระน่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น วินัยส่วนที่เป็นอภิสมาจารนี้จัดเป็น ข้อห้าม และข้ออนุญาต ไม่ได้ระบุจำนวนข้อ และไม่ได้ปรับโทษไว้โดยตรง แต่ถ้าไม่เอื้อเฟื้อปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมนี้ ปรับอาบัติถุลลัจจัย และ อาบัติทุกกฎ

เกี่ยวกับวินัยของพระภิกษุนั้น โดยทั่วไปเข้าใจกันว่าพระ ภิกษุ มีศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ความเป็นจริงศีลภิกษุมีมากกว่านั้น  เพราะอยู่ในส่วนของอภิสมาจาร  ซึ่งหมายถึงอาจาระที่จะต้องประพฤติให้ยิ่งขึ้นไปกว่า ๒๒๗ นั้นอีก

วินัยส่วนที่เป็นอภิสมาจาร มีมากเกินจะนำมาสวดสาธยาย  จึงจัดไว้เป็นส่วนหนึ่งสำหรับให้พระภิกษุศึกษาเพิ่ม ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะข้อที่สำคัญ และควรรู้ไว้เป็นเบื้องต้น

กายบริหาร

กายบริหาร  คือ การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สะอาดเรียบร้อย เหมาะสมแก่ความเป็นสมณะ และไม่เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยไข้เจ็บ โดยมีพุทธประสงค์เพื่อให้ภิกษุรู้จักรักษาสุขภาพให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น  ธรรมเนียมการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายมี ๑๔ ประการ ดังนี้

๑.  อย่าไว้ผมยาว จะไว้ได้เพียง ๒  เดือนหรือ  ๒  นิ้ว โดยมีข้อห้ามเกี่ยวกับการแต่งผม  ดังนี้

ไม่ให้หวีผมด้วยหวีหรือด้วยแปรง

ไม่ให้เสยผมด้วยนิ้วมือโดยอาการว่ากำลังหวีผม

ไม่ให้แต่งผมด้วยน้ำมันเจือขี้ผึ้งหรือน้ำมันเจือน้ำ

ไม่ให้ตัดผมด้วยกรรไกร เว้นไว้แต่อาพาธ 

ไม่ให้ถอนผมหงอก

สำหรับธรรมเนียมการโกนผมของพระสงฆ์ในประเทศไทย กำหนดเดือนละครั้ง คือ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำของทุกเดือน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นแบบปฏิบัติร่วมกันทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกต ก่อนวันที่พระจันทร์เต็มดวง เป็นวันที่ พระสงฆ์โกนผม นอกจากวันขึ้น ๑๔ ค่ำ จะเป็นวันโกนแล้ว  ยังเป็นวันที่พระสงฆ์มีกิจส่วนตัว เช่น  การระบมบาตร การย้อมจีวร  เป็นต้น

๒.  อย่าไว้หนวดไว้เครา  ให้โกนเสีย เช่นเดียวกับผม โดยมีข้อห้ามเกี่ยวกับการแต่งหนวด  ดังนี้

            · ไม่ให้แต่งหนวด

   · ไม่ให้ตัดหนวดด้วยกรรไกร  

๓.  อย่าไว้เล็บยาว  ให้ตัดออกด้วยมีดเล็กพอเสมอเนื้อ  และอย่าขัดเล็บให้เกลี้ยงเกลา

๔. อย่าไว้ขนจมูกยาวออกนอกรูจมูก ให้ถอนออกด้วยแหนบ ปัจจุบันนิยมตัดด้วยกรรไกร

๕. อย่าโกนขนในที่แคบ คือ ในร่มผ้าและที่รักแร้  เว้นไว้แต่อาพาธ

๖.  อย่าผัดหน้า  ไล้หน้า  ทาหน้า  ย้อมหน้า  เจิมหน้า  ย้อมตัว  เว้นไว้แต่อาพาธ
๗.  อย่าแต่งเครื่องประดับต่างๆ  เป็นต้นว่า ตุ้มหู  สายสร้อยสร้อยคอ  สร้อยเอว  เข็มขัด  บานพับสำหรับรัดแขน  กำไลมือและแหวน

๘.  อย่าส่องกระจกดูหน้า  หรือในวัตถุอื่น  เว้นไว้แต่อาพาธเป็นแผลที่หน้า   ส่องเพื่อทำกิจ  เช่น ทายารักษา  เป็นต้น

๙. อย่าเปลือยกายในที่ไม่สมควรและในเวลาไม่สมควร  ทรงอนุญาตให้เปลือยกายในเรือนไฟและในน้ำได้ โดยมีข้อห้ามภิกษุเกี่ยวกับการอาบน้ำ ดังนี้

ไม่ให้สีกายในที่ไม่บังควร เช่น ต้นไม้ เสา ฝาเรือน หรือ แผ่นกระดาน

ไม่ให้สีกายด้วยของไม่บังควร เช่น ทำไม้เป็นรูปมือ  หรือ เป็นฟันมังกร  และ เกลียวเชือกที่คม

ไม่ให้เอาหลังต่อหลังสีกัน

๑๐.  อย่านุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์   โดยมีข้อห้ามเกี่ยวกับการนุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์  ดังนี้

   ห้ามใช้เครื่องนุ่มห่มของคฤหัสถ์  เช่น กางเกง  เสื้อ  ผ้าโพก  หมวด  ผ้านุ่งผ้าห่มสีต่างๆ ชนิดต่างๆ เว้นไว้แต่ในคราวที่จีวรสูญหาย ให้ใส่ปกปิดกายจนกว่าจะหาจีวรได้

ห้ามอาการนุ่งห่มต่าง ๆ  ที่มิใช่ของภิกษุ

๑๑.  ถ่ายอุจจาระแล้ว  เมื่อมีน้ำอยู่  จะไม่ชำระไม่ได้  เว้นไว้แต่หาน้ำไม่ได้  หรือน้ำมี  แต่ไม่มีภาชนะจะตัก  ก็สามารถที่จะเช็ดเสียด้วยไม้หรือด้วยของอื่นก็ได้

๑๒.  อย่าให้ทำสัตถกรรม  คือ ผ่าตัดทวารหนักด้วยศัสตรา  หรือในที่ใกล้ที่แคบเพียง  ๒  นิ้ว  และอย่าให้ทำวัตถิกรรม คือ ผูกรัดที่ทวารหนัก  

๑๓.  เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุต้องใช้ไม้ชำระฟัน  ประโยชน์ของการเคี้ยวไม้ชำระฟันมี  ๕  ประการ คือ 

ฟันดูไม่สกปรก

ปากไม่เหม็น

เส้นประสาทรับรสหมดจดดี

เสมหะไม่หุ้มอาหาร

ฉันอาหารมีรส

ปัจจุบันอนุวัติตามโลกคือใช้แปรงสีฟันแทนไม้ชำระฟันได้ เพราะไม้ชำระฟันหาได้ยาก นอกจากนั้น เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า สบู่ และ เครื่องอาบน้ำอื่นๆ พระภิกษุก็ใช้ได้เพราะมุ่งเพื่อการชำระร่างกายให้สะอาดไม่ได้มุ่ง  เพื่อการประเทืองผิวพรรณ 

  • ต่อมาได้มีพุทธบัญญัติสำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุต้องมีกระบอกกรองน้ำ

 ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๓๗) บรรพ์ที่ ๗ สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน กายบริหาร การดูแลสุขภาพร่างกาย เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here