จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช
(ตอนที่ ๒๗)
บรรพ์ที่ ๔ ขั้นตอนการบรรพชา และ อุปสมบท
(๑๐) “อนุศาสน์ ๘ อย่าง
และ ความเข้าใจเรื่องอนุศาสน์ : คำสอนเบื้องต้นสำหรับพระภิกษุผู้บวชใหม่ ”
โดย ญาณวชิระ
อนุศาสน์ ๘ อย่าง
อนุศาสน์ทั้ง ๘ ข้อนี้ท่านจะสวดเป็นภาษาบาลี สวดจบแต่ละข้อให้พระภิกษุผู้บวชใหม่รับว่า “อามะ ภันเต”
คำบอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง
คำบอกอนุศาสน์
(มหานิกาย)
ตาวะเทวะ ฉายา เมตัพพา อุตุปะมาณัง อาจิกขิตัพพัง// ทิวะสะภาโค อาจิกขิตัพโพ// สังคีติ
อาจิกขิตัพพา// จัตตาโร นิสสะยา อาจิกขิตัพพา จัตตาริ จะ อะกะระณียานิ อาจิกขิตัพพานิฯ //
๑. ปิณฑิยาโลปะโภชะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา// ตัตถะ เต (ถ้าหลายรูปเปลี่ยน เต เป็น โว) ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย// อะติเรกะลาโภ/ สังฆะภัตตัง อุเทสะภัตตัง นิมันตะนัง สะลากะภัตตัง ปักขิกัง อุโปสะถิกัง ปาฏิปะทิกัง ฯ//
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต”
๒. ปังสุกูละจีวะรัง นิสสายะ ปัพพัชชา// ตัตถะ เต (ถ้าหลายรูป เปลี่ยน เต เป็น โว) ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย// อะติเรกะลาโภ/ โขมัง กัปปาสิกัง โกเสยยัง กัมพะลัง สาณัง ภังคัง //
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต”
๓. รุกขะมูละเสนาสะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา// ตัตถะ เต (ถ้าหลายรูปเปลี่ยน เต เป็น โว) ยาวะชีวัง
อุสสาโห กะระณีโย// อะติเรกะลาโภ/ วิหาโร อัฑฒะโยโค ปาสาโท หัมมิยัง คุหา ฯ//
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต”
๔. ปูติมุตตะเภสัชชัง นิสสายะ ปัพพัชชา// ตัตถะ เต (ถ้าหลายรูปเปลี่ยน เต เป็น โว) ยาวะชีวัง อุสสาโห กะระณีโย// อะติเรกะลาโก/ สัปปิ นะวะนีตัง เตลัง มะธุ ผาณิตัง ฯ//
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต”
๕. อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา เมถุนโน ธัมโม นะ ปะฏิเสวิตัพโพ/ อันตะมะโส ติรัจฉานะคะตายะปิ ฯ
โย ภิกขุ เมถุนัง ธัมมัง ปะฏิเสวะติ/ อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ๆ เสยยะถาปิ นามะ ปุริโส สีสัจฉินโน
อะภัพโพ เตนะ สะรีระพันธเนนะ ชีวิตุง// เอวะเมวะ ภิกขุ เมถุนัง ธัมมัง ปะฏิเสวิตวา/ อัสสะมะโณ โหติ
อะสักยะปุตติโย// ตันเต (ถ้าหลายรูปเปลี่ยน ตันเต เป็น ตัง โว) ยาวะชีวัง อะกะระณียัง ฯ//
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต”
๖. อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง นะ อาทาตัพพัง/ อันตะมะโส ติณะสะลากัง
อุปาทายะ ๆ โย ภิกขุ ปาทัง วา ปาทาระหัง วา อะติเรกะปาทัง วา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง อาทิยะติ ฯ
อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย// เสยยะถาปิ นามะ ปัณฑุปะลาโส พันธะนา ปะมุตโต อะภัพโพ หะริตัตตายะ//
เอวะเมวะ ภิกขุปาทัง วา ปาทาระหัง วา อะติเรกะปาทังวา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง อาทิยตวา/ อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ฯ ตันเต (ถ้าหลายรูปเปลี่ยน ตันเต เป็น ตัง โว) ยาวะชีวัง อะกะระณียัง ฯ//
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต”
๗. อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา สัญจิจจะ ปาโณ ชีวิตา นะ โวโรเปตัพโพ ฯ อันตะมะโส กุนถะกิปิลลิกัง
อุปาทายะ// โย ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสะวิคคะหัง ชีวิตา โวโรเปติ/ อันตะมะโส คัพภะปาตะนัง อุปาทายะ//
อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ฯ เสยยะถาปิ นามะ ปุถุสิลา ทวิธา ภินนา อัปปะฏิสันธิกา โหติ// เอวะเมวะ ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสสะวิคคะหัง ชีวิตา โวโรเปตวา/ อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ฯ ตันเต (ถ้าหลายรูปเปลี่ยน ตันเต เป็น ตัง โว) ยาวะชีวัง อะกะระณียัง ฯ//
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต”
๘. อุปะสัมปันเนนะ ภิกขุนา อุตตะริมะนุสสะธัมโม นะ อุลละปิตัพโพ/ อันตะมะโส สุญญาคาเร
อะภิระมามีติ// โย ภิกขุ ปาปิจโฉ อิจฉาปะกะโต อะสันตัง อะภูตัง อุตตะริมะนุสสะธัมมัง อุลละปะติ/ ฌานัง วา
วิโมกขัง วา สะมาธิง วา สะมาปัตติงวา มัคคัง วา ผะลัง วา//อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย// เสยยะถาปิ
นามะ ตาโล มัตถะกัจฉินโน อะภัพโพ ปุนะ วิรุฬหิยา// เอวะเมวะ ภิกขุ ปาปิจโฉ อิจฉาปะกะโต อะสันตั้ง อะภูตัง อุตตะริมะนุสสะธัมมัง อุลละปิตวา/ อัสสะมะโณ โหติ อะสักยะปุตติโย ๆ ตันเต (ถ้าหลายรูปเปลี่ยน ตันเต เป็น ตัง โว) ยาวะชีวัง อะกะระณียัง ฯ//
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต”
คำแปล
พึงบอกให้วัดกำหนดเงาอาทิตย์ พึงบอกฤดู พึงบอกส่วนแห่งวัน, พึงบอกรวบรวมกรรมนี้หมดด้วยกัน,
พึงบอกนิสัย ๔ และพึงบอกอกรณียกิจ ๔ ๆ
นิสสัย ๔
(ปัจจัยเครื่องอาศัยของพระภิกษุ กิจที่ต้องปฏิบัติ)
๑. บรรพชาอาศัยโภชนะ คือ คำข้าวที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง(บิณฑบาต) เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต ฯ ลาภเหลือเฟือ(ลาภมาก) ภัตรถวายสงฆ์ ภัตรเฉพาะสงฆ์ (ภัตร์ที่เจาะจงสงฆ์) การนิมนต์ ภัตรถวายตามสลาก ภัตรถวายในปักษ์ ภัตรถวายในวันอุโบสถ ภัตรถวายในวันขึ้น ๑ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ ฯ
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต” (แปลว่า ขอรับกระผม)
๒. บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต ๆ ลาภเหลือเฟือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม (แพร) ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าด้ายแกมไหม ๆ
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต” (แปลว่า ขอรับกระผม)
๓. บรรพชาอาศัยโคนต้นไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิตฯ ลาภเหลือเฟือ, วิหาร (กุฎีปกติ) เรือนมุงแถบเดียว(เพิ่ง) เรือนชั้น เรือนโล้น (หลังคาตัด) ถ้ำ ฯ
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต” (แปลว่า ขอรับกระผม)
๔. บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำความอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต ฯ ลาภเหลือเฟือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย(น้ำตาล) ฯ
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต” (แปลว่า ขอรับกระผม)
อกรณียกิจ ๔
(กิจที่พระภิกษุปฏิบัติไม่ได้โดยเด็ดขาด)
๕. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเสพเมถุนธรรม โดยที่สุด แม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม, ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ ภิกษุก็เหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้ว, ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้นเธอไม่พึงทำตลอดชีวิต ฯ
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต” (แปลว่า ขอรับกระผม)
๖. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย, โดยที่สุดหมายเอาถึงเส้นหญ้า, ภิกษุใดถือเอาของอันเขามิได้ให้ เป็นส่วนแห่งขโมย บาทหนึ่งก็ดี ควรแก่บาทหนึ่งก็ดี เกินกว่าบาทหนึ่งก็ดี, ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดได้ ภิกษุก็เหมือนกัน ถือเอาของอันเขามิได้ให้เป็นส่วนขโมยบาทหนึ่งก็ดี ควรแก่บาทหนึ่งก็ดี เกินบาทหนึ่งก็ดี
แล้วไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร, การนั้นเธอไม่พึงทำตลอดชีวิต ฯ
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต” (แปลว่า ขอรับกระผม)
๗. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงแกล้งพรากสัตว์จากชีวิต, โดยที่สุดหมายเอาถึงมดดำ มดแดง, ภิกษุใดแกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึงยังครรภ์ให้ตก, ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร, เป็นเหมือนศิลาหนาแตก ๒ เสี่ยงแล้วเป็นของกลับต่อกันไม่ได้, ภิกษุก็เหมือนกัน แกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร, การนั้นเธอไม่พึงทำตลอดชีวิต ฯ
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต” (แปลว่า ขอรับกระผม)
๘. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึ่งพูดอวดอุตตริมนุสธรรม โดยที่สุดว่าเรายินดีในป่าชัฏ, ภิกษุมีความอยากอันลามก อันความอยาก อันลามกครอบงำแล้วพูดอวดอุตริมนุษยธรรมอันไม่มีอยู่อันไม่จริง คือ ฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี สมาบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยะบุตร, เปรียบเหมือนต้นตาลมียอดด้วนแล้ว ไม่อาจจะงอกอีก, ภิกษุก็เหมือนกัน มีความอยากอันลามก อันความอยากอันลามกครอบงำแล้วพูดอวดอุตริมนุษยธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง, ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร การนั้นเธอ ไม่พึงทำตลอดชีวิต ฯ
พระภิกษุนวกะ รับว่า “อามะ ภันเต” (แปลว่า ขอรับกระผม)
(บทว่า “เต” ในคำว่า “ตัตถะ เต ยาวะชีวัง” และในคำว่า “ตันเต ยาวะชีวัง” ในเวลาบอกพร้อมกันตั้งแต่ ๒ รูปขึ้นไป จึงเปลี่ยนใช้บทว่า “โว” แทน ดังนี้ “ตัตถะ โว ยาวะชีวัง ตัง โว ยาวะชีวัง อะกะระณียัง”)
จากนั้นพระภิกษุผู้บวชใหม่เดินตามพระคู่สวดเข้าท่ามกลางสงฆ์ ถวายเครื่องสักการะ และกรวดน้ำรับพรสืบต่อไป
ความเข้าใจเรื่องอนุศาสน์
คำสอนเบื้องต้นสำหรับพระภิกษุผู้บวชใหม่
อนุศาสน์ คือ คำสอนเบื้องต้นที่พระอุปัชฌาย์สอนพระภิกษุผู้บวชใหม่มี ๘ ข้อ แบ่งเป็นกิจวัตรที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตแบบพระภิกษุ เรียกว่า นิสัย ๔ และกิจที่พระภิกษุทำไม่ได้ เรียกว่า อกรณียกิจ ๔ ซึ่งมีข้อควรทำความเข้าใจ ดังนี้
บิณฑบาต เมื่อบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้วต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพ เนื่องจากพระภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่มีอาชีพอื่น เช่น ไม่มีอาชีพทำนา ทำไร่ ค้าขาย เป็นต้น แต่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการขออาหารจากชาวบ้าน
ความหมายของคำว่า ภิกษุ นัยหนึ่งแปลว่าผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร อีกนัยหนึ่งแปลว่า ผู้ขอ โดยกิริยามิใช่โดยการออกปาก การบิณฑบาตเป็นการขอโดยอาการที่รู้กันของชาวบ้านเท่านั้นไม่ใช่การเอ่ยปากขอ หรือทำเลศให้รู้เป็นนัย ก้าวย่างบิณฑบาตยามรุ่งอรุณเป็นสิ่งที่งดงาม เป็นการเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์สำหรับพระภิกษุ ตามวิถีทางแห่งนักบวชในทางพระพุทธศาสนา
ผ้าบังสุกุล คือ ผ้าที่พระภิกษุเก็บเศษผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยซึ่งตกอยู่ตามพื้นดิน เปื้อนฝุ่นไม่สะอาด ไม่สวยไม่งาม โดยที่สุดแม้ผ้าที่เขาใช้ห่อศพ ตกอยู่ตามป่าช้า พระภิกษุเก็บมาเย็บปะต่อกันเป็นผืน ซัก เย็บ ย้อมใช้เป็นจีวรสำหรับนุ่งห่ม ปัจจุบันแม้พระภิกษุจะใช้ผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านถวาย แต่ก็รวมเข้าในผ้าบังสุกุล เพราะเป็นผ้าที่ถูกตัดให้เป็นท่อนเล็กท่อนน้อย มีข้อกำหนดและวิธีการใช้ที่ระบุไว้ในพระวินัย
การอยู่โคนต้นไม้ ชีวิตพระภิกษุในพระพุทธศาสนาต้องสละบ้านเรือน ออกบวชเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน จึงต้องอาศัยอยู่ตามร่มไม้ ป่าเขา เงื้อมผา เถื่อนถ้ำ ภายหลังมีผู้เลื่อมใสสร้างวัดถวาย ปัจจุบันจึงมีวัดวาอารามเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุ
ยารักษาโรค เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอย่างพระภิกษุ ธรรมดาสังขารร่างกายเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การจะไม่มีโรคนั้นเป็นไม่มี พระพุทธองค์จึงอนุญาตให้พระภิกษุฉันสมอและมะขามป้อมดองด้วยน้ำปัสสาวะเป็นยาได้ตลอดเวลา เรียกว่ายาดองด้วยน้ำมูตร เพื่อจะได้เป็นผู้มีโรคน้อย และมีกำลังในการบำเพ็ญกิจสงฆ์ ในปัจจุบัน นอกจากยาสมุนไพรแล้ว ยาแผนปัจจุบันก็เข้ามาแทนที่
นิสัย ๔ ข้างต้นเป็นกิจวัตรที่ต้องปฏิบัติเพราะเป็นวิธีการดำรงชีวิตแบบพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ส่วนกิจที่พระภิกษุทำไม่ได้ เรียกว่า อกรณียกิจ มี ๔ ข้อ ดังนี้
พระภิกษุมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ ทั้งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เปรียบเหมือนคนถูกตัดศรีษะแม้จะนำศีรษะมาต่อเข้ากับร่างก็ไม่อาจมีชีวิตฟื้นขึ้นมาได้
พระภิกษุลักทรัพย์มีราคาตั้งแต่ ๕ มาสก[๑]ขึ้นไป มีค่าเท่ากับ ๑ บาท ปัจจุบันตีค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก ต้องอาบัติปาราชิก มีจิตคิดจะลักเอื้อมมือไปแตะเป็นอาบัติทุกกฎ หากของนั้นไหวแต่ยังไม่เคลื่อนออกจากที่ตั้ง เป็นอาบัติถุลลัจจัย หากเคลื่อนออกจากที่เป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ เปรียบเหมือนใบไม้แก่เหลืองหลุดจากขั้วไม่อาจมีความเขียวสดได้อีก
พระภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า หรือทำอาวุธให้เขาด้วยเจตนาจะให้เขาฆ่าตัวตาย หรือบังคับให้เขากินยาพิษ หรือกล่าวพรรณนาคุณของความตายเพื่อให้เขาฆ่าตัวตาย ทำคาถาอาคมฆ่าด้วยคุณไสย โดยที่สุดแม้การทำแท้งและแนะนำวิธีการฆ่าด้วยอุบายต่าง ๆ ขาดจากความเป็นพระภิกษุ
การพูดอวดคุณวิเศษ หมายถึง คุณวิเศษที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิวิปัสสนาจนได้บรรลุคุณวิเศษทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฌาน ๔ คือ (๑)ปฐมฌาน (๒)ทุติยฌาน (๓) ตติยฌาน (๔)จตุตถฌาน, วิชชา ๓ คือ (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ (๒) จุตูปปาตญาณ ญาณกำหนดการเกิดการตายของสรรพสัตว์ (๓) อาสวักขยญาณ ญาณที่รู้การทำลายกิเลส เป็นต้น ที่ตนเองไม่มี ไม่ได้บรรลุ เพื่อต้องการให้ผู้อื่นนับถือศรัทธา ยกย่องเชิดชู โดยหวังลาภสักการะชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออื่นใดก็ตาม พระภิกษุอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนขาดจากความเป็นพระภิกษุ
พระพุทธองค์ทรงห้ามภิกษุอวดคุณวิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุใช้คุณธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งอวดอ้าง อันจะเป็นเหตุให้ภิกษุหลอกลวงชาวบ้านเลี้ยงชีพ
การบอกอนุศาสน์ พระอุปัชฌาย์จะบอกพระภิกษุใหม่ทันทีภายหลังจากบวชเสร็จสิ้นลงแล้ว เพื่อสอนให้รู้ถึงการดำเนินชีวิตอย่างพระภิกษุ และการป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการทรงภาวะความเป็นสมณะศากยบุตร
[๑] ๕ มาสก เป็น ๑ บาท ตามมาตราวัดสมัยพุทธกาล ปัจจุบันตีค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก
(โปรดติดตามตอนต่อไป )
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด