จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ญาณวชิระ

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช

(ตอนที่ ๒๕)

บรรพ์ที่  ๔ ขั้นตอนการบรรพชา  และ อุปสมบท

(๘) “ สามเณรราหุล สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา””

โดย ญาณวชิระ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และสามเณรเอิร์ต ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และสามเณรเอิร์ต ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

สามเณรราหุล : สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

            สามเณรราหุลเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา ท่านเกิดในวรรณะกษัตริย์ ตระกูลศากยราช เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธรา หรือพิมพา เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์   ประสูติวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช 

วันนั้น เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้สดับข่าวพระโอรสประสูติ จึงออกพระโอษฐ์ว่า

“ราหุลัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง” แปลว่า “บ่วงเกิดขึ้นแล้ว บ่วงเกิดขึ้นแล้ว เครื่องพันธนาการเกิดขึ้นแล้วแก่เรา”

ตั้งแต่นั้นมาพระราชกุมารจึงได้พระนามว่า “ราหุล” ท่านออกบรรพชาขณะมีอายุได้ ๗ ขวบ ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ และเป็นผู้ที่ทำให้เกิดข้อกำหนดในการบวชว่า ผู้ที่จะบวชต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน                                                      

ราหุลกุมารได้รับคำชี้แนะจากพระมารดา ให้ไปขอราชสมบัติจากพระพุทธเจ้า ขณะนั้นพระพุทธองค์พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์จำนวนมากกำลังเสด็จออกบิณฑบาตอยู่ในพระนคร ราหุลกุมารได้ติดตามพระพุทธองค์ไปจนถึงนิโครธาราม วัดที่พระญาติสร้างถวายในโอกาสที่พระองค์เสด็จกลับพระนคร

พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าราหุลกุมารขอทรัพย์สมบัติที่เป็นโลกิยะอันเป็นของชาวโลก จะต้องประสบกับความยากลำบากไม่มีสิ้นสุด พระองค์ประสงค์ที่จะให้พระราหุลได้ทรัพย์สมบัติที่เป็นโลกุตตระ ที่เที่ยงแท้ยั่งยืน จึงมอบให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์บรรพชาให้พระราหุลกุมาร

พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ บรรพชาให้สามเณรเอิร์ต
พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ บรรพชาให้สามเณรเอิร์ต

พระสารีบุตรบรรพชาให้พระราหุลกุมารด้วยวิธีติสรณคมนูปสัมปทา คือ ให้เปล่งวาจาขอถึงไตรสรณคมน์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก  และได้ใช้เป็นรูปแบบการบรรพชาสามเณรมาจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่วันที่บวช สามเณรราหุลเป็นผู้สนใจในการศึกษา เป็นผู้ว่าง่ายอยู่ง่าย ไม่ถือตนเองเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระสงฆ์เป็นอย่างมาก สามเณรราหุลลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ลงมากอบทรายเต็มกำมือ แล้วตั้งจิตอธิฐานว่า “วันนี้ขอให้เราได้ฟังคำแนะนำสั่งสอนจากพระพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์มากเท่าเม็ดทรายในกำมือของเรานี้”  

ความเป็นผู้ไม่ถือตัวว่าง่ายอยู่ง่าย ปรากฏตามประวัติของท่านว่า ครั้งหนึ่งพระสงฆ์จากชนบทจำนวนหนึ่งมาพักที่วัดเชตวัน เพื่อเข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระวินัยห้ามพระภิกษุนอนในที่เดียวกันกับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุ สามเณรราหุลไม่มีที่นอน จึงต้องหลบไปนอนในห้องส้วมของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ไปพบเข้ากลางดึกจึงนำท่านกลับมาพักที่พระคันธกุฎีของพระองค์ และทรงลดหย่อนผ่อนปรนสิกขาบทข้อที่ว่า ห้ามพระภิกษุนอนในที่มุงบังเดียวกันกับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุเกินหนึ่งคืน โดยทรงขยายเวลาออกไปเป็น ๓ คืน และพระพุทธเจ้าได้ให้โอวาทแก่สามเณรราหุล ให้เห็นโทษของการพูดเท็จ โดยพระองค์ทรงนำน้ำมาเป็นตัวอย่าง

พระองค์ทรงยกภาชนะสำหรับใส่น้ำล้างพระบาทขึ้น เทน้ำลงนิดหนึ่งแล้วตรัสถามว่า  “เห็นน้ำที่เราเทลงนิดหนึ่งนี้ไหม  ราหุล”  สามเณรราหุลกราบทูลว่า  “เห็นพระเจ้าข้า”  

“ราหุล คนที่พูดเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ ก็คือคนที่เทคุณความดีออกจากตนทีละนิด เหมือนเทน้ำออกจากภาชนะนี้” 

ครั้นแล้วพระองค์ก็เทน้ำจนหมด  แล้วตรัสถามอีกว่า “เห็นน้ำที่เราเทออกหมดนี้ไหม ราหุล”

สามเณรราหุลกราบทูลว่า “เห็นพระเจ้าข้า”

“ราหุล คนที่พูดเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ ย่อมเทคุณความดีออกหมด เหมือนน้ำที่เราเทออกหมดนี้”

เสร็จแล้วทรงคว่ำภาชนะลง ตรัสว่า “ราหุล เห็นไหมภาชนะที่เราคว่ำลงนี้”  

“เห็นพระเจ้าข้า”  ราหุลกราบทูลพระพุทธเจ้า

“ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ ย่อมคว่ำคุณธรรมของตนออกหมด เหมือนภาชนะคว่ำนี้”

เสร็จแล้วทรงหงายภาชนะเปล่าขึ้น แล้วตรัสถามว่า  “ราหุล เห็นไหม ภาชนะเปล่าที่เราหงายขึ้นนี้ ไม่มีน้ำเหลือเลย” 

“เห็นพระเจ้าข้า” 

“ราหุล คนที่พูดเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ ย่อมไม่มีคุณความดีเหลืออยู่เลย ดุจภาชนะเปล่านี้”

สามเณรราหุลเป็นผู้กตัญญูรู้คุณยิ่ง ครั้งหนึ่งสามเณรทราบว่า พระมารดาที่ออกบวชเป็นนางภิกษุณีประชวรโรคลม จะสงบระงับได้ด้วยการเสวยน้ำมะม่วงผสมน้ำตาลกรวด จึงรับอาสาหามาถวาย เข้าไปแจ้งพระสารีบุตร รุ่งเช้าพระสารีบุตรเข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล โดยให้สามเณรรอที่โรงฉันแห่งหนึ่ง ก็ได้ตามความประสงค์โดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากขอ

สามเณรราหุลมีความเคารพและความกตัญญูต่อพระสารีบุตร ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์มาก  นอกจากท่านจะถือมารดาพระสารีบุตรเหมือนญาติผู้ใหญ่ โดยเรียกขานโยมมารดาของพระสารีบุตรว่า โยมย่า แล้ว เมื่อทราบว่า พระสารีบุตร องค์อุปัชฌาย์อยู่ทางทิศไหน ท่านก็จะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้นด้วย

ในพรรษาที่ ๕ หลังการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ วันหนึ่งพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ประชวรหนัก ทรงปวดตลอดพระวรกาย จึงทรงระลึกถึงพระราชโอรส และพระราชนัดดา

ขณะพระบรมศาสดา นำพระนันทะ พระอานนท์ ตลอดจน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์  สามเณรราหุลก็ได้ตามเสด็จด้วย  พระพุทธเจ้าทรงลูบพระศิระเกล้า พระนันทะลูบพระสรีระกายข้างขวา พระอานนท์ลูบพระสรีระกายข้างซ้าย  ส่วนสามเณรราหุลลูบพระปฤษฎางค์  เมื่อพระโรคาพาธทั้งปวงระงับสิ้น พระพุทธองค์จึงตรัสอนิจจาทิสังยุตต์ตลอดคืนโปรดพระพุทธบิดา จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

เมื่อสามเณรราหุลมีอายุได้ ๒๐ ปี ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพลางพิจารณาตามพลาง เมื่อจบพระธรรมเทศนาท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

จบพิธีบรรพชาเป็นสามเณร

(โปรดติดตามตอนต่อไป… )

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และสามเณรเอิร์ต ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และสามเณรเอิร์ต ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กำลังขลิบผมให้น้องเอิร์ฺตเตรียมบรรพชาเป็นสามเณร ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กำลังขลิบผมให้น้องเอิร์ฺตเตรียมบรรพชาเป็นสามเณร ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here