“ทศพิธราชธรรม คุณธรรมของนักปกครอง” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม / สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
"ทศพิธราชธรรม คุณธรรมของนักปกครอง"  เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป  จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ (หน้าพระไตรสรณคมน์  นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม  พ.ศ.๒๕๖๐)
“ทศพิธราชธรรม คุณธรรมของนักปกครอง” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐)

เมื่อเอ่ยถึง “ทศพิธราชธรรม” 

มีบ้างคนเข้าใจผิดคิดว่า

เป็นธรรมะสำหรับพระราชาเท่านั้น

  ซึ่งจริงๆ แล้วธรรมะของพระพุทธเจ้า

สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกคน 

ใครทำได้คนนั้นก็ได้รับประโยชน์

จากการประพฤติธรรมของตนเอง 

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

           ทศพิธราชธรรม  เป็นหลักที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรู้  ยึดเป็นหลักในการประยุกต์ใช้ในการทรงงาน  จากนั้นพระองค์ก็ทรงพัฒนาให้เป็นหลักแก่เราชาวไทยอีกด้วย  สิ่งต่างๆ พระองค์ได้ทรงย่อยให้ง่ายแก่เราในการที่จะประพฤติตนตามพระองค์ท่าน 

ถ้าเราสังเกตจะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงทำสิ่งที่ยากให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจง่าย  และนำไปใช้ได้จริง  พร้อมทั้งมีชื่อเรียกที่กระตุ้นความน่าสนใจ และสะกิดให้เกิดสะดุดเกิดความสนใจ  เช่น  โครงการชั่งหัวมัน  แก้มลิง  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ สะท้อนถึงความเป็นอัจฉริยภาพที่มหัศจรรย์ 

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

           “ทศพิธราชธรรม” ประกอบด้วย หลักธรรมสำคัญ ๑๐ ประการ  ดังนี้

           ๑. ทาน          หมายถึง การให้  การเอื้อเฟื้อแบ่งปัน  ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเดินทางไปช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยในทุกภาคส่วน ด้วยการเสียสละพระราชทรัพย์ สิ่งของ โดยไม่เลือก เชื้อชาติ ศาสนา มุ่งสร้างสรรค์สันติสุขสู่ปวงชนเป็นสำคัญ เป็นการให้อามิสทาน และทุกๆ ปีพระองค์ทรงให้หลักธรรมในการดำเนินชีวิตและการทำงานในการมีพระบรมราโชวาทต่อประชาชนในโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ถือว่าเป็นการให้ธรรมทาน 

การดำเนินรอยตามพระองค์ เราสามารถฝึกตนเองให้เป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน สิ่งของ หรือช่วยเหลือคนอื่นตามกำลังความสามารถ ดังปรากฏในยามที่เพื่อนไทยลำบากเราต่างก็ออกมาช่วยเหลือแบ่งเบาความเดือนร้อนร่วมกัน  ภาพเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนการได้ซึมซับมาจากพระองค์เหมือนลูกได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยที่ดีมาจากพ่อผู้เป็นตัวอย่าง

         ๒. ศีล หมายถึง ความประพฤติที่ดีงาม สำรวมในกายวาจาอันสงบ เว้นจากการทำสิ่งที่ไม่ดี เป็นต้นว่า เว้นจากการเบียดเบียนคนอื่น เว้นจากการทุจริตคนโกง เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการโป้ปดกล่าวเท็จ หรือใช้คำหยาบคายประทุษร้ายกันทางวาจา และเว้นจากการเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้โทษรวมถึงอบายมุขการพนัน ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะช่วยให้สังคมประสบสุข ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ของเราทรงเป็นพุทธมามกะต้นแบบซึ่งเราควรมีท่านเป็นแนวทางในการประพฤติตนอย่างยิ่ง

           ๓. ปริจจาคะ หมายถึง เสียสละ  ข้อนี้เราเห็นเป็นประจำในข่าว ที่ได้ฉายภาพของพระองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ แม้เส้นทางจะลำบากและอันตรายมากแค่ไหน  ก็มิอาจจะขวางการเสด็จของพระองค์ได้ ทั้งๆ ที่พระองค์สามารถที่จะอยู่สุขเกษมสำราญภายในวังได้ แต่ท่านกลับเสียสละความสบายส่วนตัวสร้างประโยชน์สุขเพื่อส่วนรวม แม้แต่พื้นที่วังของพระองค์ ยังนำมาทำเป็นแปลงเกษตรทดลอง เพื่อศึกษาหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนของพระองค์ เป็นบารมีที่ยิ่งใหญ่ยากจะหาใครเทียมได้ 

         ๔. อาชชวะ    หมายถึง เป็นผู้ที่มีความสุจริต ซื่อตรง  จริงใจ ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์  ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าพระองค์เป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์  งดงาม  เราจึงควรดูประเด็นนี้เป็นตัวอย่างหรือเป็นตนแบบแห่งการดำเนินชีวิตของตนเองให้ดีที่สุด

           ๕. มัททวะ     หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน  เราจะเห็นภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช   นั่งพื้นสนทนากับชาวบ้าน  และแสดงถึงความเคารพต่อคนแก่คนเฒ่าที่เป็นเพียงประชาชนธรรมดา  ทำให้ภาพของพระองค์เป็นที่ประทับใจและจารึกอยู่ในส่วนลึกของหัวใจอย่างแท้จริง ไม่รู้ว่าพระองค์จะเคยโกรธหรือเปล่า แต่ที่แน่นอนเลยเราไม่เคยเห็นพระองค์ทรงกริ้ว หรือใช้ถ้อยคำที่ไม่ดี ให้เราได้ยินเลยแม้สักครั้ง  ทรงมีแต่ความเมตตาที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนโยนภายในจิตใจอันอบอุ่น

๖.ตปะ หรือ ที่เราคุ้นเคยกับคำว่า ตบะ  หมายถึง ความเพียรอย่างต่อเนื่อง     เป็นคุณสมบัติภายในจิตใจที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและเข้มแข็ง  เพราะตบะจะเป็นเครื่องเผาหรือเป็นแรงผลักจิตใจให้ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค์ทั้งหลาย  สิ่งที่สะท้อนให้เห็นตบะอันแรงกล้าของพระองค์ก็คือ การทรงงานมาตลอดเวลาหลายสิบปีนับตั้งแต่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์นั่นเอง  เราจึงต้องฝึกตนตามพระองค์ท่านคือต้องมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องและพัฒนาให้มีความเจริญงอกงามต่อไป    

๗. อักโกธะ   หมายถึง  ความไม่โกรธ ไม่แสดงท่าทีก้าวร้าวต่อคนอื่น  ในส่วนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงสงบเย็น มีความสุขุม ด้วยความที่มีเมตตาธรรมสูง  ผู้ปกครองระดับสูงควรให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพในการแสดงออกต่อหน้าสาธารณะชน  ไม่แสดงท่าทีโกรธ เกลียด หรือก้าวร้าว

           ๘. อวิหิงสา   คือ การไม่เบียนเบียนทั้งทางร่างกายและจิตใจ  มีแต่ความรักความเมตตาที่มีต่อกัน  ดุจดั่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงจัดระบบไว้  การพัฒนาประชาชนที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น เป็นกระบวนการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  พระองค์ทรงขจรขจายด้วยความดีที่ทรงสร้าง 

           ๙. ขันติ  หมายถึง ความอดทน อดกลั้น  อดทนต่อความยากลำบากทางกายและทางใจ  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงทำให้เป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่ง เช่น การไม่ย่อท้อ หมดกำลังใจ แต่พระองค์ทรงมีขันติธรรม  จึงได้ทุ่มเทและก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน เหนื่อยแค่ไหนก็จะทน 

           ๑๐. อวิโรธนะ           หมายถึง ความยุติธรรม ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากขาดความเที่ยงธรรมแล้วก็จะนำมาซึ่งความขัดแย้ง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของเรานั้นเป็นนักประสาน เป็นผู้ที่นำมาซึ่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่กระบวนการจัดการต่าง ๆ พระองค์ทรงรับฟังปัญหาของประชาชนด้วยพระองค์เอง  ทำให้พระองค์ได้เข้าถึงความจริง ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรให้เหมาะสมกับท้องถิ่นตรงนั้นนั่นเอง

           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงใน “ทศพิธราชธรรม”  ทำให้เราเหล่าพสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าบัดนี้พระองค์จะไม่อยู่แล้ว การน้อมหลักปฏิบัติของพระองค์มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาตนเอง ก็เป็นสิ่งสมควรและเป็นหนึ่งในการระลึกถึงพระองค์ทีดีมีประโยชน์ 

เจริญพร

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน

“ทศพิธราชธรรม คุณธรรมของนักปกครอง” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม / สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here