ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

(ชาติที่ ๒)

พระมหาชนก : วิริยะบารมี

(ตอนที่ ๓)

“๗ วันกลางมหาสมุทร สมาทานอุโบสถศีล”

เขียนโดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

“เกิดเป็นคนควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป

จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ

นรชนผู้มีปัญญา

แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง”

๗ วันกลางมหาสมุทร สมาทานอุโบสถศีล

พระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรสีมรกตอันกว้างใหญ่ไพศาลไปตามทิศทางที่กำหนด ผืนน้ำจรดขอบฟ้าเบื้องหน้าไม่เห็นฝั่ง แต่ก็ยังแหวกว่ายอยู่เช่นนั้น ครั้งถึงวันที่ ๗ พระมหาชนกสังเกตว่าเป็นวันเพ็ญอุโบสถ จึงบ้วนปากด้วยน้ำเค็ม แล้วสมาทานอุโบสถศีลกลางมหาสมุทร

กาลนั้น ท้าวจตุโลกบาลมอบให้นางมณีเมขลาเทพธิดาเป็นผู้คอยช่วยเหลือคนดีที่ทำกรรมดี เช่น บำรุงเลี้ยงมารดาบิดาเป็นต้น ที่เรือไม่อับปางไม่สมควรตายในมหาสมุทร

นางมณีเมขลาไม่ได้ตรวจตราดูมหาสมุทรมาเป็นเวลา ๗ วัน เพราะไปเทวสมาคม หลงเพลิดเพลินทิพยสมบัติในเทวสมาคมนั้นจึงลืมตรวจตราดูมหาสมุทร เมื่อนึกขึ้นได้ก็ล่วงไป ๗ วันแล้ว นางตรวจดูก็เห็นพระมหาชนกกำลังแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล จึงคิดว่า ถ้าปล่อยให้พระมหาชนกตายในมหาสมุทร ตนก็จะไม่สามารถมองหน้าเทพตนใดในเทวสมาคมได้อีก จึงปรากฏกายในอากาศไม่ไกลจากพระมหาชนกนัก พร้อมกับกล่าวว่า

“นั่นใครกัน ขนาดมองไม่เห็นฝั่ง

ก็ยังอุตส่าห์แหวกว่ายอยู่

ท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่

จะมีประโยชน์อะไร

ที่ต้องพยายามว่ายน้ำอยู่เช่นนี้”

พระมหาชนก : ภาพจิตกรรมฝาผนัง วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในธรรมนิพนธ์เรื่อง ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
พระมหาชนก : ภาพจิตกรรมฝาผนัง วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในธรรมนิพนธ์เรื่อง ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

พระมหาชนกคิดว่า

“เราว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรมาได้ ๗ วัน

เข้าวันนี้แล้ว ไม่เห็นมีใครนอกจากเราคนเดียว

นี่ใครมาพูดกับเรา”

จึงแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า ก็เห็นมีสตรีนางหนึ่งปรากฏกายอยู่จึงตอบว่า

” เราได้ไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งชาวโลก

และอานิสงส์แห่งความเพียรพยายาม

แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง ก็จะพยายามว่ายน้ำ

อยู่ท่ามกลางมหาสมุทรต่อไป”

นางมณีเมขลาต้องการฟังธรรมจากพระมหาชนก จึงกล่าวอีกว่า

“ฝั่งมหาสมุทรห่างไกลสุดสายตา

พยายามไปก็ไร้ประโยชน์

ยังไม่ทันถึงฝั่งก็จะตายเสียก่อน”

พระมหาชนกตอบนางมณีเมขลาว่า

“เธอพูดอะไรนั่น

เราผู้มีความเพียรพยายาม

แม้จะตายก็ไร้คำครหา

ผู้ที่มีความเพียรพยายามแม้จะตายก็ไม่เป็นหนี้

เพราะไม่ถูกตำหนิจากหมู่ญาติ

จากเทวดา และบิดามารดา

บุคคลเมื่อได้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชาย

อย่างเต็มความสามารถแล้ว

แม้จะตายก็ไม่เสียใจภายหลัง”

เทพธิดาแย้งมหาชนกว่า

“หน้าที่บางอย่าง เพียรพยายามไปก็ไร้ผล

มีแต่ก่อให้เกิดความลำบากเพียงอย่างเดียว

การทำความพยายามกับสิ่งที่ไร้เหตุผล

สุดท้ายก็ตายเปล่า

แล้วจะทำความเพียรพยายามไปทำไมกัน”

พระมหาชนกต้องการให้นางมณีเมขลายอมจำนน ต่อความเพียรพยายามของพระองค์ จึงกล่าวว่า

“แม่เทพธิดา ใครก็ตามที่รู้ว่า

สิ่งที่ตนทำจะไม่ประสบความสำเร็จ

แล้วทอดอาลัยในชีวิต

ล้มเลิกความเพียรพยายาม

ไม่ทำสิ่งนั้นต่อไป

ก็ย่อมจะได้ผลแห่งความเกียจคร้าน

คนบางคนในโลกนี้ยังมีความหวัง

จึงทำหน้าที่ของตน

ด้วยความเพียรพยายาม

แม้หน้าที่นั้น

จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม”

เธอก็เห็นผลแห่งความเพียรประจักษ์แจ้งแก่ตนเองแล้วมิใช่หรือ ดูสิ คนอื่นๆ จมลงในมหาสมุทรหมดเพราะพวกเขาไร้ความเพียร เราเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่มีความเพียรพยายามว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร จึงมีโอกาสได้มาพบเธอ ผู้เป็นเทพธิดาสถิตอยู่ที่นี่ ซึ่งตั้งแต่เกิดมา เราก็ยังไม่เคยเห็น เราจะพยายามตามสติกำลัง จะทำความเพียรที่ลูกผู้ชายควรทำ ว่ายต่อไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร”

เทพธิดา ได้ฟังวาจาอันแสดงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเช่นนั้น จึงสรรเสริญพระมหาชนกว่า

“ในห้วงน้ำอันกว้างใหญ่ไพศาล

ประมาณมิได้เช่นนี้

ท่านยังมีความเพียรพยายามโดยชอบธรรม

จึงไม่จมลงในห้วงมหรรณพ

เพราะความเพียรแห่งมหาบุรุษ

ท่านจงไปในสถานที่ที่ใจของท่านปรารถนาเถิด”

ครั้นแล้ว นางมณีเมขลาจึงช้อนอุ้มพพระมหาชนกขึ้น เหมือนคนยกช่อดอกไม้ ใช้แขนทั้งสองประคองให้นอนแนบทรวง พาเหาะไปในอากาศเหมือนมารดาอุ้มบุตร เพราะพระมหาชนกเหนื่อยล้าจากการว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทรตลอด ๗ วัน จึงหลับไปในอ้อมกอดของนางเทพธิดาทันที

นางมณีเมขลานำพระมหาชนกไปถึงมิถิลานคร ให้บรรทมเบื้องขวาบนแผ่นหินเรียบสนิทดีในสวนมะม่วงแห่งหนึ่ง มอบให้รุกขเทวดาคอยเฝ้าระวังรักษาแล้วกลับวิมานของตน

พระเจ้าโปลชนกนั้นไม่มีพระโอรส แต่มีพระธิดาเพียงพระองค์เดียวนามว่า “สีวลี” เป็นหญิงฉลาดหลักแหลม อำมาตย์ทั้งหลายได้ทูลถามก่อนที่พระเจ้าโปลชนกจะสวรรคตว่าจะมอบราชสมบัติให้ใคร พระองค์สั่งเสียว่า “พวกท่านจงยินยอมพร้อมใจกันมอบราชสมบัติแก่ผู้ที่สามารถทำให้พระธิดายอมรับได้ หรือผู้ที่รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม หรือผู้ที่สามารถยกธนูหนักราวพันแรงคนยกขึ้นได้ หรือผู้ที่สามารถนำขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ แห่งออกมาแสดงได้

อำมาตย์ทั้งหลาย กราบทูลถามถึงปริศนาแห่งปัญหาว่าเป็นอย่างไร พระราชาจึงตรัสบอกถึงขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ แห่ง ไว้ดังนี้

๑. ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น

๒. ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก

๓. ขุมทรัพย์ภายใน

๔. ขุมทรัพย์ภายนอก

๕. ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายใน ไม่ใช่ภายนอก

๖. ขุมทรัพย์ขาขึ้น

๗. ขุมทรัพย์ขาลง

๘, ๙, ๑๐. และ ๑๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้รังใหญ่ทั้ง ๔

๑๒. ขุมทรัพย์ในที่ ๑ โยชน์โดยรอบ

๑๓. ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้ง ๒

๑๔. ขุมทรัพย์ปลายทาง

๑๕. ขุมทรัพย์น้ำ

๑๖. ขุมทรัยพ์ที่ยอดไม้

ธนูหนักพันแรงคนยก ด้านหัวนอนของบัลลังก์ ๔ เหลี่ยมอยู่ด้านไหน และการทำให้พระธิดาสีวลียอมรับ

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง  เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ในวันที่ ๗ จากวันที่พระเจ้าโปลชนกสวรรคต และถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้วนั้น เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่า ใครเหมาะสมที่จะครองราชสมบัติตามที่พระราชารับสั่งไว้ เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ต่างมีความเห็นว่า เสนาบดี มีความสนิทใกล้ชิดกับพระราชา เป็นผู้ที่เหมาะสม จึงแจ้งให้เสนาบดีทราบ

เสนาบดียินดียิ่งนัก จึงตรงไปปราสาทพระธิดา เมื่อพระธิดาทราบว่า ผู้ที่ทำให้พระองค์ยินดี ก็จะได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบิดา ต้องการทดลองเสนาบดีว่าจะมีสติปัญญาคู่ควรเศวตฉัตรหรือไม่ จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า เสนาบดีประสงค์จะทำให้พระธิดาโปรดปราน จึงรีบเดินเข้าไปเฝ้าอย่างเร่งรีบตามรับสั่ง

พระธิดารับสั่งให้วิ่งกลับไป เสนาบดีคิดว่า จะทำให้พระธิดาโปรดปรานจึงวิ่งกลับไป พระธิดาจึงรับสั่งให้วิ่งมาอีก เสนาบดีก็วิ่งกลับมาตามรับสั่ง พระธิดาทราบว่า เสนาบดีคนนี้เบาปัญญา เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ จึงรับสั่งให้นวดเท้า เสนาบดีก็นั่งลงเริ่มนวดเท้าพระธิดา พระธิดาก็ถีบอกเสนาบดีล้มหงายลงไป แล้วไล่ออกไป

เสนาบดีได้รับความอับอาย เมื่อถูกใครถามก็ตอบว่า พระธิดาไม่ใช่คน แต่เป็นนางยักษิณี จากนั้น อำมาตย์ผู้เป็นขุนคลัง เศรษฐีทั้งหมด เจ้าพนักงานเชิญเครื่องสูง เจ้าพนักงานเชิญพระแสงที่เข้าทดสอบ ล้วนแต่ได้รับความอับอายขายหน้าจากพระธิดาทั้งสิ้น

เมื่อไม่มีผู้ใดสามารถทำให้พระธิดายอมรับได้ เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ จึงปรึกษากันป่าวประกาศข้อที่ ๒ ออกไปว่า จะมอบราชสมบัติให้ผู้ที่สามารถยกธนูน้ำหนักราวพันแรงคนยกขึ้นได้ ก็ไม่มีใครสามารถยกธนูขึ้นได้ เหล่าเสนาพฤฒามาตย์จึงปรึกษากันป่าวประกาศข้อที่ ๓ ออกไปว่า จะมอบราชสมบัติให้แก่ผู้รู้จักหัวนอนแห่งบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม ก็ไม่มีใครบอกได้ จึงปรึกษากันป่าวประกาศข้อที่ ๔ ออกไปว่า จะมอบราชสมบัติให้แก่ผู้ที่สามารถนำขุมทรัพย์ ๑๖ แห่งออกมาได้ ก็ไม่มีใครสามารถนำออกมาได้ เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ทั้งหลายต่างปรึกษากันว่า แว่นแคว้นที่ขาดพระราชาไม่สามารถดำรงอยู่ได้

โปรดติดตามตอนต่อไป “สู่ราชบัลลังก์มิถิลานคร”

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๓) “ว่ายไปแม้ไม่เห็นฝั่ง ๗ วันกลางมหาสมุทร สมาทานอุโบสถศีล ” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ที่ปรึกษา : พระพรหมสุธี ,พระธรรมสิทธินายก, พระราชปัญญาโสภณ, พระสิทธิธรรมธาดา , พระครูอรรถเมธี, พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ / ภาพประกอบ-แบบปก : ทวิช สังข์อยู่ /จิตกรรมฝาผนัง : พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ /จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ คณะ ๗ /ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ฉบับธรรมทาน

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ผู้เขียนและเรียบเรียง “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here