ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ขอน้อมถวาย

ผลงานนี้ไว้ในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นพุทธบูชา

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา
พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง พุทโธ ปะกิคัณหาตุ อัจจะยันตัง กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ

หากจะมีกรรมอันน่าติเตียนใด
ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไว้ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ
ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงยกโทษล่วงเกินนั้น
เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสำรวมระวัง
ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อไปฯ

ญาณวชิระ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

การบำเพ็ญบารมีสิบชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

โดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

คำนำผู้เขียน

ทศชาติ เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ และเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ชาวโลก ไม่เฉพาะแต่คนไทยรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง บรรพบุรุษไทยในอดีต ได้นำทศชาติมาเขียนเป็นจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถตามวัดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ศึกษาเส้นทางชีวิตมหาบุรุษ ผู้ที่จะเกิดมาเป็นพระศาสดาเอกของโลกหลายปีมาแล้ว ผู้เขียนชอบเข้าไปนั่งในพระอุโบสถ ดูภาพจิตกรรมฝาผนัง วันแล้ววันเล่าไม่รู้จักอิ่ม ความงดงามของภาพจิตรกรรม ดึงผู้เขียนให้จมลึกลงไปสู่เหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตตามภาพจิตรกรรม ทั้งงดงามและอิ่มเอิบ ค่ำคืนวันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้ปรารภถึงเรื่องอยากให้มีหนังสือทศชาติที่อ่านง่าย และเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน พร้อมกับส่งหนังสือให้เล่มหนึ่ง วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงจนถึงต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ผู้เขียนเริ่มเปิดพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกอ่าน แล้วผู้เขียนก็จมหายไปกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า

บางเรื่องราวดูเจ็บปวดหนักหน่วงในชีวิตมนุษย์ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตเช่นนี้อยู่จริงบนโลก 

บางเรื่องราวดูงดงาม บางเรื่องราวดูเหงาเศร้า แต่ทั้งหมดก็เต็มไปด้วยพลังแห่งความเพียรพยายามของมหาบุรุษเอกของโลก

 พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์โดยเลือดเนื้อและชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป แต่ทรงสูงส่งยิ่งด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ เหนือมนุษย์และเทวดาทุกผู้ทุกนาม

 ผู้เขียนพยายามเก็บความจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วนำมาจัดเรียงหัวข้อใหม่ เพื่อให้น่าสนใจและชวนติดตามมากขึ้น โดยได้เชื่อมโยมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลไว้ด้วย

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

นอกจากนั้น ยังได้นำแผนที่แสดงที่ตั้งเมืองต่างๆ ในชมพูทวีปและสุวรรณภูมิสมัยโบราณมาประกอบไว้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น บางเมืองในชาดกยังมีชื่อปรากฏอยู่ในสมัยพุทธกาล บางเมืองได้เปลี่ยนชื่อไปหลายชื่อ แต่บางเมืองก็ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา บางเรื่องบางเหตุการณ์ในทศชาติ อาจดูเป็นเรื่องเกินจริงสำหรับชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง แต่หากพิจารณาให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าว มีโอกาสเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ได้เสมอ.

ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙

“เกิดเป็นคนควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป

จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

นรชนผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง”

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

(ชาติที่ ๒)

พระมหาชนก : วิริยบารมี

สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง

โดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

พระพุทธเจ้า

ตรัสเล่าถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นพระมหาชนก มีปณิธานอย่างแน่วแน่ที่จะบำเพ็ญ “วิริยบารมี” ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะมีความเพียรพยายาม เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ แม้จะได้รับความทุกข์ยากลำบากขนาดไหน หากยังไม่ประสบผลสำเร็จจะเพียรพยายามต่อไปไม่ท้อถอย

มหาชนกชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก และอรรถกถา มหานิบาต

ขณะตรัสเล่าเรื่องมหาชนกนั้น พระพุทะองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้ออุทยานของพระกุมารพระนามว่า “เชต” สร้างถวายพระพุทธองค์ ขณะนั้น เป็นเวลาบ่ายแล้ว อาทิตย์ย้ายดวงคล้อยลงต่ำ หมู่ภิกษุออกจากสถานที่สำหรับทำสมาธิ มานั่งประชุมกันอยู่ในอาคารสำหรับแสดงธรรม สนทนาถึงการออกบวชของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์เสด็จออกจากพระคันธกุฎีมายังอาคารสำหรับแสดงธรรม ตรัสถามหมู่ภิกษุถึงเรื่องราวที่กำลังสนทนากัน

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าเรื่องพระมหาชนกผู้ตั้งปณิธานที่จะใช้ความเพียรพยายาม จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ ดังต่อไปนี้

ศึกชิงราชบัลลังก์มิถิลานคร

ในอดีตชาติ ได้มีพระราชาพระนามว่า “พระมหาชนกราช” ครองราชสมบัติในกรุงมิถิลานคร แคว้นวิเทหะ พระองค์มีพระโอรส ๒ องค์ คือ “พระอริฏฐชนก” และ “พระโปลชนก” พระราชาทรงแต่งตั้งอริกฐชนกผู้พี่เป็นอุปราช และแต่งตั้งโปลชนก ผู้น้องเป็นเสนาบดี

ครั้นต่อมา พระมหาชนกราชสวรรคต พระอริฏฐชนกขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบิดา ทรงตั้งพระโปลชนกให้เป็นอุปราช

อำมาตย์ผู้ใกล้ชิดคอยกราบทูลยุยงพระอริฏฐชนกราชอยู่เสมอว่า “พระอุปราชวางแผนจะปลงพระชนม์พระองค์ขึ้นครองราชย์”

พระอริฏฐชนกราชทรงสดับบ่อยๆ ก็หลงเชื่อ จึงสั่งควบคุมพระอนุชาไปจองจำไว้ในคฤหาสน์หลังหนึ่งใกล้พระราชนิเวศน์ ตั้งกองทหารควบคุมรักษาการอย่างเข้มแข็ง

พระโปลชนกทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ถ้าเราก่อเวรต่อพระเชษฐา เครื่องจองจำอย่าหลุดจากมือและเท้า แม้ประตูเหล็กก็อย่าเปิดออก ถ้าเราไม่ได้ก่อเวรต่อพระเชษฐา ขอเครื่องจองจำจงหลุดจากมือและเท้า แม้ประตูก็จงเปิดออก”

สิ้นคำสัตยาธิษฐาน ทันใดนั้น โซ่ตรวนก็พลันหักสะบั้น แม้ประตูก็เปิดออก พระโปลชนกเสด็จหลบหนีออกไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง ชาวบ้านจำพระองค์ได้จึงช่วยกันบำรุงดูแล พระอริฏฐชนกราชส่งจารชนออกติดตาม แต่ก็ไม่สามารถจับพระองค์ได้

พระโปลชนกนั้น ได้ยึดเอาหมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่งสั่งสมกำลังพลจนกลายเป็นกองทัพใหญ่ขึ้นตามลำดับ ทรงคิดว่า “เมื่อก่อนเราไม่ได้ก่อเวรต่อพระเชษฐาของเรา แต่บัดนี้ถึงเวลาที่เราต้องก่อเวรแล้ว” จึงสั่งให้ประชุมพล ยกทัพออกจากชายแดนไปตั้งค่ายประชิดมิถิลานคร

การศึกครั้งนั้น เหล่ากองทหารฝ่ายมิถิลานครที่ยังจงรักภักดีต่อพระโปลชนก ทราบว่าพระองค์ยกทัพเสด็จมาก็เล็ดลอดขนยุทโธปกรณ์นำช้างม้าเข้ามาสมทบ แม้ชาวเมืองก็เข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก กองทัพพระโปลชนกจึงกลายเป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่ พระองค์ส่งสาส์นไปถวายพระเชษฐาว่า “เมื่อก่อนข้าพระองค์มิได้ก่อเวรต่อพระองค์ แต่บัดนี้ข้าพระองค์จะก่อเวร พระองค์จะให้เศวตฉัตร หรือจะรบ”

พระราชาอริฏฐชนกเลือกการรบป้องกันเศวตฉัตร จึงสั่งจัดพลเตรียมกำลังรบ และสั่งเสียพระอัครมเหสีว่า “ในสมรภูมิรบ แพ้ชนะไม่อาจหยั่งรู้ ถ้าเกิดอันตราย จงรักษาลูกในครรภ์ให้ดี”

ครั้นแล้วได้กรีฑาทัพหลวงออกจากพระนคร เป็นการเปิดศึกสายเลือดชิงบัลลังก์มิถิลานคร

ในการศึกครั้งนั้น ทหารฝ่ายพระโปลชนกได้ปลิดชีพพระอริฏฐชนกราชกลางสมรภูมิรบ กองทัพฝ่ายพระนครรู้ว่า พระราชาสวรรคตแล้ว ไม่มีผู้บังคับบัญชาการทัพก็เกิดขวัญเสียกลายเป็นโกลาหลไร้รูปขบวน จึงถูกกองทัพฝ่ายพระโปลชนกบดขยี้แตกพ่ายสิ้น

ฝ่ายพระอัครมเหสีเมื่อทราบว่าพระราชสวามีสิ้นพระชนม์ในสนามรบแล้วก็รีบเก็บสิ่งของมีค่าต่างๆ ที่สามารถนำติดตัวไปได้ เช่น ทองคำ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร เป็นต้น ห่อด้วยผ้าเก่าใส่กระเช้า ปูปิดทับไว้ด้วยข้าวสารอีกชั้น ทรงปลอมแปลงพระองค์นุ่งเสื้อผ้าเก่าคร่ำเศร้าหมอง วางกระเช้าบนบนพระเศียร เสด็จออกจากพระนครไปทางประตูเมืองด้วนทิศเหนือ ในเวลากลางวันเพียงลำพัง เพราะพระองค์ไม่เคยเสด็จไปที่ไหนจึงไม่มีใครรู้จักพระองค์ แม้พระองค์เองก็ไม่รู้จักเส้นทาง ทั้งไม่สามารถกำหนดทิศได้ พระองค์ตั้งใจเสด็จไปยังเมืองกาลจัมปากะ แคว้นอังคะ ซึ่งเคยได้ยินแต่ชื่อเท่านั้น จึงประทับที่ศาลาริมทางแห่งหนึ่ง คอยสอบถามคนที่จะเดินทางไปนครกาลจัมปากะ

ด้วยเดชานุภาพ ลูกในครรภ์พระเทวี ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ช่วยบันดาลให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ของท้าวสักกเทวราชเกิดรุ่มร้อน เมื่อพระองค์ตรวจดูสาเหตุก็ทราบว่า ผู้ที่บังเกิดในครรภ์พระเทวีมีบุญมาก แต่แม่กำลังได้รับความลำบาก ต้องการความช่วยเหลือ จึงเนรมิตรเกวียนมีประทุนปกปิดมิดชิดดี มีเตียงสำหรับนั่งนอนอยู่ภายในประทุนนั้น เนรมิตรตนเป็นชายชราขับเกวียนไปหยุดที่ศาลา ซึ่งพระเทวีประทับอยู่ แกล้งร้องถามไปว่า “มีใครจะไปนาครกาลจัมปากะบ้างไหม” พระเทวีได้สดับกดังนั้นก็ดีใจ รีบตอบว่า “ตา ฉันเองจะไป”

ท้าวสักกะแปลงจึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น แม่หนูขึ้นมานั่งบนเกวียนเถิด” พระเทวีรีบกุลีกุจอออกจากศาลา พลางกล่าวว่า “ตา ครรภ์ฉันแก่แล้ว ขึ้นเกวียนไปไม่ได้ จะขอเดินตามหลังเกวียนไป แต่ขอฝากกระเช้านี้บรรทุกเกวียนไปด้วย” ท้าวสักกะในคราบชายชราผู้อารีตรัสว่า “แม่หนูพูดอะไรอย่างนั้น ไม่มีใครชำนาญการขับเกวียนอย่างตาอีกแล้ว แม่หนูอย่ากลัวเลย ขึ้นมานั่งบนเกวียนเถิด”

ด้วยบุญญานุภาพลูกในครรภ์ เมื่อพระเทวีจะก้าวขึ้นเกวียน ได้เกิดลมพัดฟุ้งฝุ่นละอองกระจายไปทั่ว ขณะนั้น แผ่นดินได้นูนขึ้นจรดท้ายเกวียน

พระเทวีก้าวขึ้นเกวียนได้อย่างง่ายดาย วูบหนึ่งของความคิด พระเทวีทรงสงสัยว่า “นี่หรือจะเป็นเทวดา” แต่เพราะความเหนื่อยล้าจึงทำให้พระเทวีหลับไปอย่างง่ายดาย บนที่นอนภายในประทุนเกวียนพร้อมกับความสงสัยนั้น

ท้าวสักกะในคราบชายชราผู้ชำนาญทาง ได้ขับเกวียนมาไกลราว ๓๐ โยชน์ จึงหยุดพักที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง จัดเตรียมเสื้อผ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนและอาหารไว้ให้ จึงปลุกพระเทวีให้ลุกขึ้นอาบน้ำในแม่น้ำ

พระเทวีทำตามอย่างว่าง่าย ลุกขึ้นอาบน้ำ ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ทานอาหาร แล้วหลับต่อ ท้าวสักกะในคราบชายชราผู้อาทร ขับเกวียนนำทางต่อไปจนลุเข้าเขตนครกาลจัมปากะ เมื่อเวลาเย็นแล้ว

พระเทวีรู้สึกตัวลุกขึ้นทอดพระเนตรเห็นประตู คูค่าย หอรบ และกำแพงพระนครตระหง่านงามอยู่รายรอบ จึงถามชายชราผู้นำทางว่า “ตา เมืองนี้ชื่ออะไร” ท้าวสักกะแปลงตอบว่า “แม่หนู นี่แหละ นครกาลจัมปากะ” พระเทวีนึกฉงนจึงค้านว่า “ตาพูดอะไร นครจัมปากะอยู่ห่างจากเมืองของพวกเราตั้ง ๖๐ โยชน์มิใช่หรือ”

ชายชราตอบว่า “ถูกแล้ว แม่หนู แต่ตาขึ้นล่องระหว่างมิถิลานครกับกาลจัมปากะนครบ่อย จึงชำนาญทาง รู้จักทางลัดดี จึงมาถึงที่นี่เร็ว” ชายชราผู้อาทรให้พระเทวีลงจากเกวียนใกล้ประตูด้านทิศใต้แล้วกล่าวด้วยแววตาเอ็นดูและน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “บ้านของตาเลยไปข้างหน้าโน้นอีก แต่แม่หนูลงตรงนี้แล้วเข้าไปในเมืองเถิด ” แล้วขับเกวียนหายไป พระเทวีเข้าไปนั่งพักอยู่ที่ศาลาแห่งหนึ่งตามลำพัง ท่ามกลางบ้านเมืองป้อมปราการที่แปลกตา ตะวันเริ่มอ่อนแสงลง ยิ่งทำให้พระองค์รู้สึกโดดเดี่ยว

ขณะนั้น พราหมณ์ทิศาปราโมกข์ ชาวนครกาลจัมปากะ มีลูกศิษย์ ๕๐๐ คน เดินตามไปอาบน้ำ ได้ผ่านมาทางศาลานั้น ด้วยอานุภาพพระโพธิสัตว์ผู้บังเกิดในพระครรภ์ของพระเทวี ทำให้มหาพราหมณ์มองเห็นรูปร่างพระเทวีงดงามสมบูรณ์ด้วยสิริลักษณ์มาแต่ไกล พอเห็นเท่านั้น ก็เกิดความเมตตาอย่างล้นพ้น เหมือนได้เห็นน้องสาวของตน จึงให้เหล่าศิษย์หยุดอยู่นอกศาลา เข้าไปในศาลาเพียงลำพัง ถามว่า “แม่หนูเป็นชาวเมืองไหน” พระเทวีตอบว่า “ดิฉันเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนก กรุงมิถิลานคร”

พราหมณ์ถามว่า “แม่หนูมาที่นี่ทำไม” พระเทวีตรัสตอบว่า “พระเจ้าอริฏฐชนกถูกพระโปลชนก พระอนุชาปลงพระชนม์ชิงเอาราชสมบัติ ดิฉันกลัวอันตรายจึงหนีมา ตั้งใจรักษาลูกในครรภ์ไว้”

พราหมณ์ถามว่า “พระองค์มีญาติในพระนครนี้บ้างหรือไม่” พระเทวีตอบว่า “ไม่มี” พราหมณ์กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น พระองค์อย่าเสียใจไปเลย เราคือ อุทิจจพราหมณ์มหาศาล เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ต่อไปนี้ท่านมีฐานะเป็นน้องสาวเรา ให้เรียกดเราว่าพี่ชาย จงจับเท้าเราแหล้งทำเป็นร้องไห้คร่ำครวญเถิด” พระเทวีทำตามที่พราหมณ์แนะนำ ส่งเสียงร้องไห้จับเท้าทั้งสองข้างของพราหมณ์

ทั้งสองคนต่างร้องไห้คร่ำครวญรำพันกันอยู่ เหล่าลูกศิษย์ได้ยินเสียงร้องไห้รำพันกันอยู่ เหล่าลูกศิษย์ได้ยินเสียงร้องไห้รำพัน จึงตกใจพากันวิ่งกรูเข้าไปในศาลาถามถึงสาเหตุ พราหมณ์กล่าวว่า “หญิงนี้เป็นน้องสาวของอาจารย์ พลัดพรากจากกันไปเมื่อคราวโน้น เพิ่งได้มาพบกัน” ลูกศิษย์กล่าวว่า “บัดนี้พวกท่านก็ได้เจอกันแล้ว ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอพวกท่านอย่าได้วิตกกังวลเลย” พราหมณ์ให้ลูกศิษย์นำยานที่มีประทุนปกปิดมารับพระเทวีกลับเรือน กำชับพวกลูกศิษย์ให้บอกนางพราหมณีว่า หญิงนี้เป็นน้องสาว

ฝ่ายนางพราหมณี ภรรยามหาพราหมณ์เข้าใจว่าพระเทวีเป็นน้องสาวสามี จึงให้พระเทวีสรงสนานด้วยน้ำอุ่นแล้วจัดเตรียมที่นอนให้ดูแลพระเทวีในเรือนของตนด้วยดีตลอดมา

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

โปรดติดตามตอนต่อไป “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๒) กำเนิดพระมหาชนก

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)/ ที่ปรึกษา : พระพรหมสุธี ,พระธรรมสิทธินายก, พระราชปัญญาโสภณ, พระสิทธิธรรมธาดา , พระครูอรรถเมธี, พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ / ภาพประกอบ-แบบก : ทวิช สังข์อยู่ /จิตกรรมฝาผนัง : พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ /จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ คณะ ๗ /ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ฉบับธรรมทาน

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here