ขอน้อมถวาย
ผลงานนี้ไว้ในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นพุทธบูชา
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา
พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง พุทโธ ปะกิคัณหาตุ อัจจะยันตัง กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ
หากจะมีกรรมอันน่าติเตียนใด ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไว้ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงยกโทษล่วงเกินนั้น เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสำรวมระวัง ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อไปฯ
ญาณวชิระ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
การบำเพ็ญบารมีสิบชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง
แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”
โดย ญาณวชิระ
: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
คำนำผู้เขียน
ทศชาติ เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ และเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ชาวโลก ไม่เฉพาะแต่คนไทยรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง บรรพบุรุษไทยในอดีต ได้นำทศชาติมาเขียนเป็นจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถตามวัดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ศึกษาเส้นทางชีวิตมหาบุรุษ ผู้ที่จะเกิดมาเป็นพระศาสดาเอกของโลกหลายปีมาแล้ว ผู้เขียนชอบเข้าไปนั่งในพระอุโบสถ ดูภาพจิตกรรมฝาผนัง วันแล้ววันเล่าไม่รู้จักอิ่ม ความงดงามของภาพจิตรกรรม ดึงผู้เขียนให้จมลึกลงไปสู่เหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตตามภาพจิตรกรรม ทั้งงดงามและอิ่มเอิบ ค่ำคืนวันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้ปรารภถึงเรื่องอยากให้มีหนังสือทศชาติที่อ่านง่าย และเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน พร้อมกับส่งหนังสือให้เล่มหนึ่ง วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงจนถึงต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ผู้เขียนเริ่มเปิดพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกอ่าน แล้วผู้เขียนก็จมหายไปกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าบางเรื่องราวดูเจ็บปวดหนักหน่วงในชีวิตมนุษย์ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตเช่นนี้อยู่จริงบนโลก บางเรื่องราวดูงดงาม บางเรื่องราวดูเหงาเศร้า แต่ทั้งหมดก็เต็มไปด้วยพลังแห่งความเพียรพยายามของมหาบุรุษเอกของโลก พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์โดยเลือดเนื้อและชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป แต่ทรงสูงส่งยิ่งด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ เหนือมนุษย์และเทวดาทุกผู้ทุกนาม ผู้เขียนพยายามเก็บความจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วนำมาจัดเรียงหัวข้อใหม่ เพื่อให้น่าสนใจและชวนติดตามมากขึ้น โดยได้เชื่อมโยมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลไว้ด้วย
นอกจากนั้น ยังได้นำแผนที่แสดงที่ตั้งเมืองต่างๆ ในชมพูทวีปและสุวรรณภูมิสมัยโบราณมาประกอบไว้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น บางเมืองในชาดกยังมีชื่อปรากฏอยู่ในสมัยพุทธกาล บางเมืองได้เปลี่ยนชื่อไปหลายชื่อ แต่บางเมืองก็ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา บางเรื่องบางเหตุการณ์ในทศชาติ อาจดูเป็นเรื่องเกินจริงสำหรับชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง แต่หากพิจารณาให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าว มีโอกาสเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ได้เสมอ.
ญาณวชิระ
: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
(ชาติที่ ๑)
พระเตมีย์ : เนกขัมมบารมี
(ตอนจบ) “สู่ทางโพธิญาณ”
โดย ญาณวชิระ
: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
สู่ทางโพธิญาณ
เมื่อพระเตมีย์กุมารส่งนายสารถีกลับไปแล้ว พระองค์มีความประสงค์จะผนวช พระอินทร์จึงรับสั่งวิสสุกรรมเทพบุตรให้ไปสร้างบรรณศาลา และเครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตแก่พระโพธิสัตว์ วิสสุกรรมเทพบุตรลงจากสวรรค์มาเนรมิตอาศรมขึ้นในราวป่า ๓ โยชน์ เนรมิตรที่อยู่ในเวลากลางคืนและกลางวัน สระน้ำสำหรับดื่มกินสรงสนาน ทำสถานที่นั้นให้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้มีผลทุกฤดูกาล เนรมิตที่เดินจงกรม เกลี่ยด้วยทรายเนื้อละเอียดใกล้บรรณศาลา เนรมิตรเครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตทุกอย่าง แล้วเขียนหนังสือประกาศไว้ว่า
“กุลบุตรผู้ใดผู้หนึ่งต้องการบวช จงใช้เครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตเหล่านี้บวชเถิด”
แล้วกลับสู่ทิพยวิมานของตน
พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นอาศรมนั้น ทรงอ่านข้อความประกาศก็ทรงทราบได้ทันทีว่าพระอินทร์ประทานให้่ จึงเสด็จเข้าบรรณศาลาเปลื้องเครื่องแต่งตัวออก ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง พาดหนังเสือเฉียงพระอังสา ม้วยเกล้าพระเกสาให้เป็นชฎา ถือไม้เท้าเสด็จออกจากบรรณศาลา เพื่อจะให้สิริแห่งภาวะความเป็นนักบวชสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงเสด็จจงกรมกลับไปกลับมาในที่จงกรม ทรงเปล่งอุทานว่า
“เราได้การบรรพชาแล้วจึงเป็นสุข การบรรพชาเป็นสุขจริงหนอ”
แล้วเสด็จเข้าบรรณศาลา ประทับนั่งบนที่ลาดด้วยใบไม้ เจริญสมาธิจนได้บรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘
ครั้นตกเย็น ตะวันอ่อนแสงลงทาบเหนือทิวไม้ฟากตะวันตก ฝูงนกต่างส่งเสียงร้องเรียกกันกลับรวงรังกึกก้องแนวไพร พระองค์จึงเสด็จออกจากบรรณศาลาเก็บใบหมากเม่าท้ายที่จงกรม นึ่งด้วยน้ำร้อนไร้รสเค็มรสเปรี้ยว จืดสนิท เสวยดุจกินอมฤตรส เจริญพรหมวิหาร ๔ แล้วพักอิริยาบถสำราญอยู่ในป่าแห่งนั้น
เมื่อพระเจ้ากาสิกราชทราบจากนายสารถีเช่นนั้น ทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง รับสั่งให้มหาเสนาจัดเตรียมการเสด็จอย่างเร่งด่วน ให้ตระเตรียมขบวนรถเทียมม้า ผูกเครื่องประดับช้างทรง ตระเตรียมสังข์และบัณเฑาะว์ กลองตีหน้าเดียว กลองตีสองหน้า และรำมะนาอันไพเราะ พระองค์จะเสด็จไปประทานโอวาทพระโอรส ขอให้ชาวนิคม นางสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์ทั้งหลายรีบเตรียมยาน กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลทหารราบ ให้เว้นม้าอ้วนอืดอาด ไม่ว่องไว และม้าผอมไร้เรี่ยวแรง ให้เลือกเฉพาะม้าที่สมบูรณ์ว่องไวปราดเปรียว
พระราชาเตรียมประชุมพลถึง ๓ วัน จึงเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยจาตุรังคเสนาในวันที่ ๔ ให้นำทรัพย์ที่พอจะเอาไปได้ไปด้วย เสด็จขึ้นประทับบนม้าสินธพที่เทียมแล้ว สั่งให้นางฝ่ายในตามเสด็จทุกคน ให้เตรียมเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับราชาภิเษกทั้ง ๕ คือ พัดวาลวิชนี พระอุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตร และฉลองพระบาททอง ไปด้วย ตรัสสั่งให้นายสารถีนำทางเสด็จเคลื่อนขบวนล่วงหน้าไปถึงป่าที่พระเตมีย์ฤาษีประทับอยู่อย่างเร่งด่วน
พระเตมีย์ฤาษีทอดพระเนตรเห็นพระบิดากำลังเสด็จมา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ พร้อมพรั่งด้วยหมู่อำมาตย์ขัติยราชวงศ์ จึงถวายพระพรทูลถามถึงสารทุกข์สุข ด้วยคำอันไพเราะอ่อนโยนว่า
“ขอถวายพระพรมหาบพิตรทรงปราศจากโรคาพาธหรือ ทรงเป็นสุขสำราญดีหรือ ราชกัญญาของพระองค์ และโยมมารดาของอาตมาไม่มีโรคาพาธหรือ”
พระราชาตรัสว่า
“พ่อไม่มีโรคาพาธอันใด สุขภาพร่างกายก็แข็งแรงดี ราชกัญญาทั้งปวงของพ่อ และโยมมารดาของลูกก็ไม่มีโรคภัย”
พระโพธิสัตว์ทูลถามว่า
“มหาบพิตรยังโปรดน้ำจัณฑ์อยู่หรือ ทรงยินดีในสัจจะ ในธรรม และในทานอยู่บ้างหรือ”
พระราชาตรัสตอบว่า
“พ่อไม่ดื่มน้ำจัณฑ์ ไม่โปรดน้ำจัณฑ์แล้ว ทุกวันนี้ใจพ่อยินดีในสัจจะ ในธรรม และการให้ทาน”
พระโพธิสัตว์ทูลถามถึงพาหนะ มีม้า และโค เป็นต้น ตลอดจนความเป็นไปของเหตุการณ์บ้านเมืองว่า “ชายแดนภาคใต้ของมหาบพิตรสงบดีแล้วหรือ เมืองหลวงในรัฐสีมามั่นคงดีหรือ ฉางหลวงและคลังหลวงยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ”
พระราชตรัสตอบถึงเหตุการณ์ชายแดนภาคใต้ว่า สงบสุขดี ไม่มีกองโจรแบ่งแยกดินแดน บ้านเมืองยังคงเป็นปึกแผ่น ไม่มีผู้มีบารมีและทหารนอกราชการสร้างสถานการณ์ให้ชายแดนเกิดความปั่นป่วน ฉางหลวงและคลังหลวงยังคงบริบูรณ์ดี พระโพธิสัตว์ให้ทหารทอดราชอาสน์ แล้วทูลเชิญให้พระราชา ประทับนั่ง พระราชาไม่ประทับนั่ง จึงให้ทหารลาดเครื่องใบไม้ถวาย
แม้เช่นนั้น พระราชาก็ไม่ประทับนั่งบนเครื่องปูลาดใบไม้นั้น เพราะความเคารพต่อพระโอรสซึ่งบวชเป็นฤาษี หากแต่ประทับนั่งที่พื้นดิน
พระโพธิสัตว์เสด็จเข้าบรรณศาลานำใบหมากเม่านึ่งออกมา เชิญพระราชาให้เสวยว่า
“มหาบพิตร ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้สุกแล้ว ไม่มีรสเค็ม ขอมหาบพิตรผู้เสด็จมาเป็นแขกของอาตมภาพจงเสวยเถิด”
พระราชาตรัสตอบว่า
“พ่อบริโภคใบหมากเม่าไม่ได้ และโภชนะก็ไม่ใช่อย่างนี้นี่ลูก พ่อบริโภคข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลี ปรุงด้วยเนื้อสะอาด”
เพราะความเคารพในพระโพธิสัตว์ พระราชาจึงหยิบใบหมากเม่ามาวางไว้ที่ฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสถามว่า
“ลูกฉันอาหารอย่างนี้ดอกหรือ”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “ถูกแล้วมหาบพิตร”
พระราชาประทับ นั่งรับสั่งกับพระโอรสอย่างสุขใจ
ขณะนั้น พระนางจันทาเทวีแวดล้อมไปด้วยหมู่นางสนมเสด็จมาถึง ตรงเข้าจับพระบาทพระโอรส ทรงกราบลงแล้วร้องไห้ พระเนตรทั้งสองนองไปด้วยน้ำตา
พระราชาตรัสกับพระมเหสีด้วยพระวาจาเปี่ยมสุขว่า
“จันทา เธอดูอาหารลูกเราเถิด”
แล้วหยิบใบหมากเม่าวางในพระหัตถ์พระมเหสี แล้วประทานแก่นางสนมอื่นๆ นางสนมทุกคนเอาใบหมากเม่านั้นมาวางไว้บนศีรษะของตนๆ กราบนมัสการนั่งอยู่
พระราชาตรัสถามว่า
“นี่เป็นเรื่องอัศจรรย์สำหรับพ่อเหลือเกิน เพราะพ่อได้มาเห็นลูกอยู่ในป่าคนเดียว ฉันอาหารไม่มีรสเค็ม ไม่มีรสเปรี้ยว ไม่ปรุงรส แต่เหตุไรผิวพรรณลูกยังผ่องใส”
พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า
“อาตมภาพนอนคนเดียวบนเครื่องลาดใบไม้ เพราะการนอนคนเดียว จึงทำให้ผิวพรรณของอาตมาผ่องใส ไม่ต้องมีราชองครักษ์ถืออาวุธรักษาการ
“อาตมาไม่เศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่ละห้อยหาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ เพราะเหตุนั้น ผิวพรรณอาตมภาพจึงผ่องใส”
“คนพาลทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะละห้อยหาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง เพราะเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว เหมือนต้นอ้อที่ยังเขียวสด แต่ถูกถอนทิ้งไว้กลางแดดย่อมเหี่ยวแห้งไป”
พระราชาทรงดำริว่า จะอภิเษกพระราชโอรสกลางป่านี่แหละ แล้วพากลับคืนพระนคร จึงตรัสว่า “พ่อขอมอบกองพลช้าง กองพลรถ กองพลม้า กองพลทหารราบ และกองพลเกราะ ตลอดถึงพระราชนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์ให้ลูก มอบนางสนมกำนัลที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพให้ลูก จงเป็นพระราชาของแผ่นดิน ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข สตรี ๔ คนนี้ชำนาญในการฟ้อนขับร้อง ฝึกหัดมาดีแล้ว จะทำให้ลูกรื่นรมย์ในกาม ลูกจะอยู่ในป่าทำไม พ่อจะนำราชธิดาของพระราชาพระองค์อื่นที่สวยงามมาอภิเษกกับลูก ลูกจงให้นางเหล่านั้นมีโอรสมากมาย ลูกยังเยาว์เป็นหนุ่มแน่น ยังมีเส้นผมดำสนิท จงครองราชสมบัติเถิด เมื่อชราแล้วจึงค่อยบวช”
พระโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า มหาบพิตร คนควรประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น การบวชเป็นเรื่องของคนหนุ่ม ท่านผู้แสวงหาคุณธรรมทั้งหลายสรรเสริญคนหนุ่มที่ประพฤติพรหมจรรย์ อาตมภาพปรารถนาที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ปรารถนาที่จะครองราชสมบัติ
“อาตมภาพเห็นลูกชายลูกหญิงของท่านทั้งหลายที่กว่าจะได้มาก็แสนยาก พวกเขาร้องเรียกพ่อแม่ฉอเลาะน่ารักน่าเอ็นดู ยังไม่ทันไรก็ตายจากไป “
“เห็นคนหนุ่มสาวถูกมฤตยูปล้นชีวิตไป เหมือนหน่อไม้ไผ่ยังอ่อนก็ถูกถอน แท้จริง นรชนไม่ว่าจะเป็นชายหนุ่มหรือหญิงสาวล้วนต้องตายทั้งนั้น ใครเล่าจะวางใจในชีวิตได้ว่า เรายังเด็ก ยังหนุ่ม อีกนานกว่าจะตาย”
“อายุของคนเราน้อยนัก วันคืนเล่าก็ล่วงไป เหมือนอายุของฝูงปลาในสระที่มีน้ำน้อย ความเป็นหนุ่มสาวจะต่างอะไรจากอายุของฝูงปลาในสระที่มีน้ำน้อย สัตว์โลกถูกความตายครอบงำและถูกรุมล้อมอยู่ตลอดเวลา เมื่อกาลเวลาไม่ล่วงไปเปล่าเช่นนี้ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพให้ครองราชสมบัติทำไม”
พระราชาตรัสถามว่า “จงบอกพ่อเถิดว่า สัตว์โลกถูกอะไรครอบงำและถูกอะไรรุมล้อมไว้ อะไรคือสิ่งที่ลูกบอกว่าไม่ล่วงไปเปล่า”
พระโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า สัตว์โลกถูกความตายครอบงำไว้ ถูกความแก่รุมล้อมไว้ตลอดเวลา ตั้งแต่เวลาที่เด็กถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา อายุก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะคืนวันล่วงไปๆ สิ่งที่ไม่ล่วงไปเปล่าคือ วันคืนซึ่งกำลังเป็นไปอยู่
“มหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ว่า เมื่อด้ายที่ช่างหูกกำลังทอผ้า ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น ข้อนี้เป็นฉันใด ชีวิตของสัตว์นับจากวันที่เกิดก็เหลือน้อยลงทุกวันเช่นกัน “
“ แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง เปรียบเหมือนอายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับไปสู่ความเป็นเด็กอีกครั้ง แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป เหมือนสัตว์ทั้งปวงถูกความแก่และความตายพัดไป”
พระราชาทรงสดับธรรมกถาของพระโพธิสัตว์แล้ว ไม่ทรงคิดผูกพันในการครองเรือนอีกเลย ทรงประสงค์จะออกผนวช เพื่อจะทรงทดลองพระโพธิสัตว์จึงตรัสย้ำอีกว่า “พ่อจะไม่กลับพระนครอีก จะบรรพชาในที่นี้แหละ ถ้าลูกกลับพระนคร พ่อจะมอบเศวตฉัตรให้ลูก พ่อขอมอบกองทัพ พระราชนิเวศอันน่ารื่นรมย์ ตลอดจนนางสนมกำนัลที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพแก่ลูก จงเป็นพระราชาของแผ่นดิน ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข สตรี ๔ คนชำนาญในการฟ้อนรำขับร้อง ฝึกหัดมาดีแล้ว จะทำให้ลูกรื่นรมย์ในกาม ลูกจะอยู่ในป่าทำไม พ่อจะนำราชธิดาของพระราชาพระองค์อื่นที่ตกแต่งแล้วมาอภิเษกกับลูก ลูกจงให้นางเหล่านั้นมีโอรสมากมาย ลูกยังเยาว์เป็นหนุ่มแน่น ยังมีเส้นผมดำสนิท”
พระโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า มหาบพิตร จะให้อาตมภาพเสื่อมเพราะทรัพย์ทำไม ทำไมหนอบุคคลจึงจะตายเพราะภรรยา จะมีประโยชน์อะไร ที่อาตมายังจะต้องแสวงหาทรัพย์ แสวงหาบุตรและภรรยา
อาตมภาพพ้นแล้วจากเครื่องผูก จึงไม่ประมาทในความตาย ผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลถูกความตายครอบงำแล้ว แล้วยังจะยินดีในการแสวงหาทรัยพ์ไปอีกทำไม ผลไม้ที่สุกแล้วย่อมพร้อมที่จะร่วงหล่นได้ตลอดเวลา เหมือนสัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วก็ย่อมที่จะตายได้ทุกเมื่อ
“ ผู้คนเป็นอันมาก เห็นกันอยู่ในเวลาเช้า พอตกเย็นก็ไม่เห็นกันแล้ว ครั้นเห็นกันอยู่ในเวลาเย็น พอรุ่งเช้าก็พลันห่างหาย สมรภูมิที่มีการวางแผนตั้งกองพลช้าง กองพลรถ กองพลราบไว้ดี สามารถเอาชนะสงครามอื่นใด แต่ไม่สามารถเอาชนะสงครามคือมรณะได้ ไม่มีกองพลใดอาจเอาชนะมรณะด้วยการต่อสู้ ด้วยเวทมนตร์ ด้วยยุทธวิธี หรือสินทรัพย์อื่นใดได้ ความตายมิได้เว้นแม้แต่กษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า ลูกจ้าง คนจัณฑาล และคนเทขยะ ย่อมย่ำยีบดขยี้ราบลงทั้งหมดทีเดียว”
“ควรรีบทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้ ใครเล่าจะรู้ได้ว่าจะตายวันพรุ่งนี้ การผัดผ่อนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์ อาตมภาพพ้นจากบ่วงแล้ว ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับไปเถิด อาตมภาพไม่ปรารถนาราชสมบัติ”
เมื่อพระราชาและพระนางจันทาเทวี นางสนม เสนาอำมาตย์ ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ฟังเทศนาของพระโพธิสัตว์จบลงแล้ว ต่างเกิดความเลื่อมใสมีความประสงค์จะบวชทุกคน
พระราชาโปรดให้ตีกลองประกาศไปทั่วพระนครว่า ผู้ใดปรารถนาจะบวชในสำนักของลูกเราจงบวชเถิด และโปรดให้เปิดประตูคลังหลวงทั้งหมด โปรดให้จารึกข้อความบนแผ่นทองคำผูกไว้ที่เสาในท้องพระโรงว่า
“มีขุมทรัพย์ใหญ่ในที่นั้นๆ ผู้ที่ต้องการก็จงเอาไป”
ชาวพระนครต่างทิ้งบ้านเรือนไปบวชกับพระราชา
พระราชาทรงผนวชในสำนักของพระโพธิสัตว์ พร้อมด้วยประชาชนเป็นจำนวนมาก อาศรมสถาน ๓ โยชน์ที่พระอินทร์สร้างถวายเต็มไปหมด พระโพธิสัตว์ให้เหล่าสตรีอยู่ในบรรศาลาตรงกลางเพราะเกรงจะเกิดอันตราย ส่วนบรรศาลารอบนอกให้เป็นที่อยู่ของเหล่าบุรุษ
นักบวชชายหญิงพากันเก็บผลไม้ซึ่งหล่นลงที่พื้นดินมาบริโภค ใครมีจิตหวนระลึกถึงกามราคะ พยาบาท หรืออวิหิงสา เมื่อพระโพธิสัตว์ทราบก็เสด็จประทับนั่งแสดงธรรมสั่งสอน นักบวชเหล่านั้นได้ฟังโอวาท ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘
ข่าวคราวการผนวชของพระเจ้ากรุงพาราณสีแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้กษัตริย์สามนตร์ ราชาในประเทศใกล้เคียงต้องการจะชิงราชสมบัติ จึงยกทัพมายังกรุงพาราณสี ครั้นเสด็จยาตราทัพเข้าสู่พระนคร เห็นพระนครวิจิตรงดงาม กลับเงียบสงบว่างไร้จากผู้คนพลุกพล่าน จึงเสด็จขึ้นสู่ปราสาทราชฐาน ทอดพระเนตรเห็นประตูคลังหลวงถูกเปิดทิ้งไว้ รัตนะอันประเสริฐ ๗ ประการ ถูกทอดทิ้งอย่างไร้ค่า ทรงคาดการณ์ว่าน่าจะเกิดอาเพทอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับราชวงศ์เพราะราชสมบัตินี้ จึงรับสั่งให้เรียกพวกนักเลงสุรามาตรัสถาม
พวกนักเลงสุรากราบทูลว่า
“พระโอรสของพระราชาแห่งนครนี้ไม่ปรารถนาที่จะครองราชสมบัติ พระองค์มิได้เป็นใบ้ก็แสร้งทำเป็นใบ้ มิได้หูหนวกก็แสร้งทำเป็นหูหนวก เสด็จออกจากพระนครนี้เข้าป่าบวชเป็นฤาษี แม้พระราชาพร้อมด้วยอาณาประชาราษฎร์ ก็เสด็จออกจากพระนครไปบวชในสำนักของพระเตมีย์เช่นกัน”
พระเจ้าสามนต์ตรัสถามว่า “พระราชาของพวกเจ้าเสด็จออกทางประตูไหน” เมื่อนักเลงสุรากราบทูลว่าเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก จึงนำกองทัพออกติดตามทางประตูนั้นลัดเลาะไปตามฝั่งแม่น้ำ จนเข้าสู่ราวป่าอันรกชัฏ พระองค์เกิดความกริ่งเกรงภัยว่าจะเป็นแผนการอย่างใดอย่างหนึ่งของกษัตริย์แห่งนครนี้
พระโพธิสัตว์ทราบการเสด็จมาของพระเจ้าสามนตร์ จึงเสด็จออกไปต้อนรับ ประทับนั่งในอากาศแสดงธรรมแก่พระเจ้าสามมนตร์นั้น พระราชาสามนตร์ พร้อมด้วยจาตุรังคเสนา ทรงสดับธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใสพากันผนวชในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น
แม้พระราชาจากนครอื่นๆ อีก ๓ พระองค์เสด็จมา ต่างละทิ้งราชสมบัติผนวชโดยทำนองเดียวกัน ผืนแผ่นดินที่ตั้งอาศรมของพระโพธิสัตว์ได้กลายเป็นมหาสมาคม ภายในพระนครกลายเป็นป่าช้า ช้างทั้งหลายกลายเป็นช้างป่า ม้าทั้งหลายกลายเป็นม้าป่า แม้รถทั้งหลายก็ชำรุดทรุดโทรมไปในป่า เครื่องใช้สอยและเงินทองทั้งหลายก็ตกเรี่ยรายเกลื่อนกลาดไม่ต่างอะไรจากกรวดทราย นักบวชทั้งหมดต่างเจริญสมณธรรมจนได้บรรลุสมาบัติ ๘ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก แม้ช้างและม้าทั้งหลายซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน มีจิตเลื่อมใสหมู่ฤาษีทั้งหลาย ได้เกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้น ได้แก่ ชั้นจาตุมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตาวสัตตี ตามบุญกุศลของตน
กลับชาติมาเกิดในสมัยพุทธกาล
ครั้นพระพุทธองค์ ตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติของพระองค์ให้ภิกษุทั้งหลายฟังแล้ว ได้ตรัสสรุปว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในชาตินี้เท่านั้นที่เราละทิ้งราชสมบัติออกบวช แม้ในอดีตชาติ เราก็ได้ละทิ้งราชสมบัติออกบวชเช่นกัน เทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เศวตฉัตรในอดีตชาตินั้น เป็นภิกษุณีชื่อ อุบลวรรณาในชาตินี้ นายสุนันทสารถี เป็นพระสารีบุตร ท้าวสักกะเป็นพระอนุรุทธะ พระชนกและพระชนนีเป็นมหาราชสกุล บริษัทนอกนี้เป็นพุทธบริษัท ส่วนบัณฑิตผู้ทำเป็นใบ้ ทำเป็นง่อยเปลี้ย คือ เรา ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
จบ
(โปรดติดตาม “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ๒ “พระมหาชนก” …เกิดเป็นคน ควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ นรชนผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง…)
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)/ ที่ปรึกษา : พระพรหมสุธี ,พระธรรมสิทธินายก, พระราชปัญญาโสภณ, พระสิทธิธรรมธาดา , พระครูอรรถเมธี, พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ / ภาพประกอบ-แบบก : ทวิช สังข์อยู่ /จิตกรรมฝาผนัง : พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ /จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ คณะ ๗ /ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ฉบับธรรมทาน
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น