“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ

: คำอุทิศ และ ความนำ จากทศชาติสู่ทศบารมี

ขอน้อมถวาย

ผลงานนี้ไว้ในพระพุทธศาสนา

เพื่อเป็นพุทธบูชา

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา

พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง

พุทโธ ปะฏิคคัณหาตุ อัจจะยันตัง

กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ

หากจะมีกรรมอันน่าติเตียนใด

ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไว้ ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ

ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงยกโทษล่วงเกินนั้น

เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสำรวมระวัง

ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อไป ฯ

ความนำ

จากทศชาติ สู่ ทศบารมี

          พระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๑๐ ประการ เพื่อปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้ามาหลายภพหลายชาติ จนไม่อาจกำหนดได้ นับตั้งแต่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์สามัญ  เป็นมนุษย์ชั้นสูง จนถึงเป็นพระมหากษัตริย์ แต่ละพระชาติ ทรงบำเพ็ญแต่ละพระบารมีด้วยจิตใจที่มั่นคง แน่วแน่ จนถึง ๑๐ พระชาติสุดท้าย ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีอย่างยิ่งยวด ดังนี้

                   ๑. พระเตมีย์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยการออกบวช เป็นการปลีกตัวปลีกใจ ออกจากการครองเรือน      

                   ๒. พระมหาชนก ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยความเพียร  ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่น อุตสาหะ ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่

                   ๓. พระสุวรรณสาม ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยความรัก ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวง มีความสุข   ความเจริญ

                   ๔. พระเนมิราช ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่

                   ๕. พระมโหสถบัณฑิต ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยความรอบรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริง และรู้จักแก้ไข ปฏิบัติจัดการต่าง ๆ  

                   ๖. พระภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยการรักษากาย วาจา ให้อยู่ในหลักความประพฤติที่เป็นแบบแผนแห่งภาวะของตน ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย

                   ๗. พระจันทกุมาร ทรงบำเพ็ญขันติบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยความอดทน ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตน ให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติ หรือการปฏิบัติที่ตั้งไว้ เพื่อจุดหมายอันชอบ  

                   ๘. พระนารทมหาพรหม ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยความวางใจเป็นกลาง ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม และดำรงอยู่ในธรรม ไม่เอนเอียง หรือหวั่นไหวไป ด้วยความยินดียินร้ายชอบชังหรือแรงเย้ายวนยั่วยุใด ๆ

                   ๙. พระวิธูรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญสัจจบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยความตั้งมั่น ในสัจจะความจริง

                   ๑๐. พระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมี หมายถึง การบำเพ็ญบารมีด้วยการทุ่มเท อุทิศตนเสียสละแม้แต่สิ่งที่สละได้ยาก

          พระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญพระบารมี ละเอียดขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่ ขั้นธรรมดา เรียกว่า  “บารมี” ขั้นกลาง เรียกว่า “อุปบารมี” และขั้นสูงสุด เรียกว่า “ปรมัตถบารมี

ขั้นธรรมดา พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมี โดยไม่คำนึงถึงทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ และคนที่พระองค์รัก เพื่อบรรลุพระโพธิญาณแล้ว ทรงสละได้ แม้กระทั่งทรัพย์สมบัติทั้งปวง ยศถาบรรดาศักดิ์ และคนที่พระองค์รัก

ขั้นกลาง พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมี โดยไม่คำนึงถึงอวัยวะ ร่างกาย ทรงหวงแหนพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าหวงแหนอวัยวะ ร่างกาย เพื่อบรรลุพระโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงสละได้ แม้กระทั่งอวัยวะ และร่างกายของตน   

ขั้นสูงสุด พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมี โดยไม่คำนึงถึงชีวิต ทรงหวงแหนพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต เพื่อบรรลุพระโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงสละได้ แม้กระทั่งชีวิตของตน  

          บารมีทั้ง ๑๐ ประการ พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญละเอียดขึ้นไปตามลำดับ รวมเป็นบารมี ๓๐  ประการ ดังนี้

          ๑. เนกขัมมบารมี การบำเพ็ญบารมีด้วยการออกบวช เป็นการปลีกตัว ปลีกใจ ออกจากการครองเรือน ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งยั่วยุทางกายอันอาศัยเรือนเป็นเหตุ แม้จะยังไม่ออกบวชก็พรากกาย ออกไปจากความวุ่นวายของโลกในขณะนั้น เป็นกายวิเวก และการตั้งจิต ให้อยู่ในความสงบ เป็นจิตวิเวก เนกขัมมะ ขั้นสูงสุด หมายถึง การออกจากกิเลสทั้งปวง โดยมีความดับทุกข์ เป็นเป้าหมาย

          พระโพธิสัตว์ ได้ทรงปฏิบัติในเนกขัมมบารมีมาโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นธรรมดา จนถึงขั้นสูงสุด  บางพระชาติ ก็ออกบวช บางพระชาติ แม้ไม่ได้ออกบวช ก็ทรงดำรงตนอย่างมีสติ น้อมใจให้ออกจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองต่าง ๆ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีอย่างแรงกล้า ตามลำดับ ดังนี้

          (๑) เนกขัมมบารมี ปลีกตัวออกไปจากความยินดีในทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ และ คนที่รัก ด้วยความรักในพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ และคนที่รัก จึงตัดความห่วงใย ปลีกตนเองไปบำเพ็ญกายวิเวก คือ ความสงัดทางกาย ถึงแม้ทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ และคนที่รัก จะสูญสิ้นไป เพราะการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ก็เสียสละได้ ไม่ยอมละทิ้งปณิธาน   

          (๒) เนกขัมมอุปบารมี ปลีกตัวออกไปด้วยความรักในพระโพธิญาณ โดยไม่คำนึงถึงอวัยวะ  ร่างกาย จึงตัดความห่วงใย ที่มีต่ออวัยวะ ร่างกาย ปลีกตัวออกไปบำเพ็ญจิตวิเวก ด้วยการบำเพ็ญฌาน และสมาธิ เมื่อต้องบำเพ็ญเนกขัมมอุปบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว ก็ไม่ห่วงใยอวัยวะ ร่างกาย แม้จะต้องสูญเสียอวัยวะ ร่างกาย ก็เสียสละได้ ไม่ยอมละทิ้งปณิธาน   

          (๓) เนกขัมมปรมัตถบารมี ปลีกตัวออกไปด้วยความรักในพระโพธิญาณ โดยไม่คำนึงถึงชีวิต  จึงตัดความอาลัยในชีวิต ปลีกตนบำเพ็ญอุปธิวิเวก คือ ความสงัดจากกิเลส ด้วยอริยมรรคญาณ  เมื่อต้องบำเพ็ญเนกขัมมปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้จะต้องสูญเสียชีวิต ก็เสียสละได้ไม่ยอมละทิ้งปณิธาน   

         ๒. วิริยบารมี การบำเพ็ญบารมีด้วยความเพียร ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายาม บากบั่น อุตสาหะ ไม่ทอดทิ้งธุระ หน้าที่มีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป ไม่ท้อถอย จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ เพียรพยายาม ไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศล เพียรพยายาม ในการทำกุศลให้เกิดขึ้น และเพียรชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว   

ความเพียรพยายามมีหลายระดับ แต่ที่จะเป็นวิริยบารมี มุ่งเอาความเพียรพยายามให้ตนพ้นจากทุกข์ ความเพียรที่จะต้องตั้งไว้อย่างสูงสุด มี ๔ ประการ คือ  

          สังวรปธาน  เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น  

          ปหานปธาน  เพียรละบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว

          ภาวนาปธาน   เพียรทำความดีที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น  

          อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งอยู่

          เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี อย่างแรงกล้า  ตามลำดับ ดังนี้

          (๑) วิริยบารมี ความเพียรที่มุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย รักในความเพียรพยายาม  เพื่อให้ได้มาซึ่งพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าเพียรพยายามให้ได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ และคนที่รัก เมื่อต้องเพียรพยายามให้ได้มาซึ่งพระโพธิญาณแล้ว จึงยอมตัดใจ สละได้แม้กระทั่งทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ และคนที่รัก   

          (๒) วิริยอุปบารมี ความเพียรที่มุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย รักเพียรพยายามเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าเพียรพยายามรักษาอวัยวะ ร่างกาย เมื่อต้องเพียรพยายามให้ได้มาซึ่งพระโพธิญาณแล้ว ก็ไม่คำนึงถึงอวัยวะ ร่างกาย จึงยอมตัดใจสละได้ แม้กระทั่งอวัยวะ  ร่างกาย  

          (๓) วิริยปรมัตถบารมี ความเพียรพยายามที่มุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย รักเพียรพยายาม เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าเพียรรักษาชีวิต เมื่อต้องเพียรพยายามให้ได้มาซึ่งพระโพธิญาณแล้ว ก็ไม่คำนึงถึงชีวิต จึงยอมตัดใจสละได้ แม้กระทั่งชีวิต

         ๓. เมตตาบารมี การบำเพ็ญบารมีด้วยความรัก ความปรารถนาดี มีไมตรีจิต เกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวง มีความสุข มุ่งประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย  ความเมตตา เป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทั้งเป็นพื้นฐานในการสร้างความสามัคคีของหมู่ชน ทำให้มองกันในแง่ดี ไม่มีอคติ ไม่โกรธ เกลียด ไม่เห็นแก่ตัว หวังดีต่อกัน   รับฟังกัน ด้วยความเข้าใจ   

ความเมตตาประกอบด้วย เมตตากายกรรม การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมตตาวจีกรรม การพูดจากันดีด้วยถ้อยคำสุภาพอ่อนโยน ว่ากล่าวตักเตือนด้วยความหวังดี เมตตามโนกรรม การมองกันในแง่ดี มีความปรารถนาดี มีความหวังดี มีความสงสาร มีความเห็นใจ อยากช่วยเหลือ ให้พ้นทุกข์ คิด ทำแต่สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่กัน    

เมื่อพระพุทธเจ้า ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี อย่างแรงกล้า ตามลำดับ ดังนี้

          (๑) เมตตาบารมี ความเมตตาที่มีพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย เมตตาตนเสมอด้วยเมตตาผู้อื่น และสัตว์อื่น รักความมีเมตตา ยิ่งกว่ารักทรัพย์สมบัติ เมื่อต้องบำเพ็ญเมตตาบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ทรัพย์สมบัติ ก็สละได้  

          (๒) เมตตาอุปบารมี ความเมตตาที่มีพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย เมตตาตนเสมอด้วยเมตตาผู้อื่น และสัตว์อื่น รักความมีเมตตา ยิ่งกว่ารักอวัยวะ ร่างกาย เมื่อต้องบำเพ็ญเมตตาอุปบารมี  เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้อวัยวะ ร่างกาย ก็สละได้  

          (๓) เมตตาปรมัตถบารมี ความเมตตาที่มีพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย เมตตาตนเสมอด้วยเมตตาผู้อื่น และสัตว์อื่น รักความมีเมตตา ยิ่งกว่ารักชีวิต เมื่อต้องบำเพ็ญเมตตาปรมัตถบารมี  เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ชีวิต ก็สละได้  

         ๔. อธิษฐานบารมี การบำเพ็ญบารมีด้วยความตั้งใจมั่น ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน แล้วดำเนินไปตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ การอธิษฐานที่จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลที่พึงประสงค์นั้น ต้องมีวิริยะ คือ ความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป ไม่ท้อถอย มีขันติ คือ  ความอดทน มีสัจจะ คือ ความจริงใจ และรักษาความตั้งใจ ไว้อย่างมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหว  

          ลักษณะอธิษฐานธรรม ต้องประกอบด้วยปัญญา สิ่งนั้น ต้องเป็นจริง และมีความจริงใจ ซื่อตรง ต่อสิ่งที่อธิษฐาน  

          สิ่งที่ต้องอธิษฐานไว้ เป็นเป้าหมายสูงสุด คือ อธิษฐานให้สามารถพ้นทุกข์ได้   

เมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีอย่างแรงกล้า ตามลำดับ ดังนี้

          (๑) อธิษฐานบารมี อธิษฐานใจ ตั้งมั่นไว้ เพื่อให้ได้พระโพธิญาณ รักษาคำอธิษฐานเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่ารักษาทรัพย์สมบัติ เมื่อต้องบำเพ็ญอธิษฐานบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว   แม้จะต้องเสียสละทรัพย์สมบัติไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธานที่ตั้งมั่นอธิษฐานไว้  

          (๒) อธิษฐานอุปบารมี อธิษฐานใจ ตั้งมั่นไว้ เพื่อให้ได้พระโพธิญาณ รักษาคำอธิษฐาน                เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่ารักษาอวัยวะ ร่างกาย เมื่อต้องบำเพ็ญอธิษฐานอุปบารมี  เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้จะต้องเสียสละอวัยวะ ร่างกายไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธานที่ตั้งมั่นอธิษฐานไว้  

          (๓) อธิษฐานปรมัตถบารมี การอธิษฐานใจ ตั้งมั่นไว้ เพื่อให้ได้พระโพธิญาณ รักษาคำอธิษฐาน เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่ารักษาชีวิต เมื่อต้องบำเพ็ญอธิษฐานปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว  แม้จะต้องสละชีวิตไป ก็ไม่ยอมละทิ้งปณิธานที่ตั้งมั่นอธิษฐานไว้  

         ๕. ปัญญาบารมี การบำเพ็ญบารมี ด้วยความรอบรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริง ความรอบรู้ เป็นพื้นฐานที่ใช้พิจารณาไตร่ตรอง รู้จริงตามเหตุ  และผล ช่วยในการวินิจฉัยเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา ให้รู้ว่า ผิด ถูก ชั่ว ดี อย่างไร อะไรจริง อะไรเท็จ และ อะไรเป็นสัจธรรม เลือกยึดถือเอาแต่สิ่งที่ถูกต้อง ละทิ้งสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

          ปัญญาบารมี ขั้นสูงสุด มุ่งให้เกิดความพ้นทุกข์ ด้วยการอบรมศีล ให้เจริญ ศีลอบรมสมาธิ และ สมาธิอบรมปัญญา จนเกิดความรู้ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ทำให้เข้าใจสภาพธรรม ตามความเป็นจริง จนสามารถตัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง  

เมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี อย่างแก่กล้า  ตามลำดับ ดังนี้

          (๑) ปัญญาบารมี การใช้ปัญญา เพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณ เป็นเบื้องหน้า รักการแสวงหาปัญญา เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าการแสวงหาทรัพย์สมบัติ เมื่อต้องบำเพ็ญปัญญาบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว  แม้ทรัพย์สมบัติ ก็เสียสละได้

          (๒) ปัญญาอุปบารมี การใช้ปัญญา เพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณ เป็นเบื้องหน้า รักการแสวงหาปัญญา เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าอวัยวะ ร่างกาย เมื่อต้องบำเพ็ญปัญญาอุปบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้อวัยวะ ร่างกาย ก็เสียสละได้  

          (๓) ปัญญาปรมัตถบารมี การใช้ปัญญา เพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณ เป็นเบื้องหน้า รักการ แสวงหาปัญญา เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าชีวิต เมื่อต้องบำเพ็ญปัญญาปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ชีวิต ก็เสียสละได้  

         ๖. ศีลบารมี การบำเพ็ญบารมีด้วยการรักษากายวาจาให้อยู่ในหลักความประพฤติ ที่เป็น         แบบแผนแห่งภาวะของตน ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย ระวังกาย ไม่ให้ทำร้ายผู้ใด หรือสัตว์ใด จนเกิดความลำบากเดือดร้อน การระวังวาจาไม่ให้กระทบกระทั่งผู้ใด หรือสัตว์ใด จนเกิดความลำบากเดือดร้อน ขั้นสูงสุด เพื่อจะรักษาศีลไม่ให้ถูกทำลาย จึงยอมสละได้ แม้กระทั่งชีวิต  

เมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญศีลบารมี อย่างแรงกล้า ตามลำดับ ดังนี้

          (๑) ศีลบารมี การรักษาศีล โดยมีพระโพธิญาณ เป็นเป้าหมาย รักการรักษาศีลเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าทรัพย์ เมื่อต้องบำเพ็ญศีลบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ทรัพย์สมบัติก็เสียสละได้

          (๒) ศีลอุปบารมี การรักษาศีล โดยมีพระโพธิญาณ เป็นเป้าหมาย รักการรักษาศีลเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าอวัยวะ ร่างกาย เมื่อต้องบำเพ็ญศีลอุปบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว  แม้อวัยวะ ร่างกาย ก็เสียสละได้

          (๓) ศีลปรมัตถบารมี การรักษาศีล โดยมีพระโพธิญาณ เป็นเป้าหมาย รักการรักษาศีลเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต เมื่อต้องบำเพ็ญศีลปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ชีวิตก็เสียสละได้

         ๗. ขันติบารมี การบำเพ็ญบารมีด้วยความอดทน ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญา ควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติ หรือการปฏิบัติที่ตั้งไว้ เพื่อจุดหมายอันชอบ ในเบื้องต้น อดทนต่อความตรากตรำ ทั้งหนาว ร้อน หิว กระหาย อดทนต่อทุกขเวทนาในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ขั้นสูงสุด สามารถทนต่อความเจ็บปวดใจอย่างไม่เป็นธรรม อดทนต่อถ้อยคำที่คนอื่นดูถูกเหยียดหยาม  

เมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญขันติบารมี อย่างแรงกล้า  ตามลำดับ ดังนี้

          (๑) ขันติบารมี ขันติที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณ เป็นเบื้องหน้า รักขันติ  เพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติ เมื่อต้องบำเพ็ญขันติบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ทรัพย์สมบัติ ก็เสียสละได้

          (๒) ขันติอุปบารมี ขันติที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณ เป็นเบื้องหน้า รักขันติเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าอวัยวะ ร่างกายของตน เมื่อต้องบำเพ็ญขันติอุปบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้อวัยวะ ร่างกาย ก็เสียสละได้

          (๓) ขันติปรมัตถบารมี ขันติที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณ เป็นเบื้องหน้า รักขันติเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าชีวิตของตน เมื่อต้องบำเพ็ญขันติปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ชีวิต ก็เสียสละได้

         ๘. อุเบกขาบารมี การบำเพ็ญบารมีด้วยความวางใจเป็นกลาง ความวางใจสงบราบเรียบ สม่ำเสมอ เที่ยงธรรม และดำรงอยู่ในธรรม ไม่เอนเอียงหรือหวั่นไหวไป ด้วยความยินดียินร้าย ชอบ ชัง หรือแรงเย้ายวนยั่วยุใด ๆ แม้จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความลำบาก ยุ่งยากใจ ก็มีใจเป็นกลาง  ไม่โกรธ เกลียด มองทุกสิ่ง และยอมรับตามความเป็นจริง อุเบกขาในเบื้องต้น เป็นการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่ให้อคติมามีอิทธิพล ทำให้เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ด้วยอำนาจของความรัก ชัง อุเบกขาอย่างสูง ได้แก่ อุเบกขาในฌาน อันเป็นผลมาจากกำลังสมาธิที่เกิดจากความสงบระงับอย่างสูง

          เมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอุเบกขาอย่างสูงสุด ขณะเกิด              เป็นนารทมหาพรหม ดำรงอยู่ในอุเบกขาฌานอันเป็นสุข แต่เพื่อพระโพธิญาณแล้ว ทรงละวางความสุขจากอุเบกขาฌานนั้น ตั้งมั่นในพรหมวิหารธรรมอันบริสุทธิ์ คอยช่วยเหลือสัตว์โลก ผู้ประสบกับความลำบาก ดังนี้

          (๑) อุเบกขาบารมี อุเบกขาอันเกิดจากปัญญาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาอุเบกขาอันเกิดจากปัญญา ยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติ เมื่อต้องบำเพ็ญอุเบกขาบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ทรัพย์สมบัติ ก็เสียสละได้

          (๒) อุเบกขาอุปบารมี อุเบกขาอันเกิดจากปัญญาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาอุเบกขาอันเกิดจากปัญญา ยิ่งกว่ารักษาอวัยวะ ร่างกาย เมื่อต้องบำเพ็ญอุเบกขาอุปบารมีเพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้อวัยวะ ร่างกาย ก็เสียสละได้

          (๓) อุเบกขาปรมัตถบารมี อุเบกขาอันเกิดจากปัญญาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาอุเบกขาอันเกิดจากปัญญา ยิ่งกว่ารักษาชีวิตของตน เมื่อต้องบำเพ็ญอุเบกขาปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ชีวิต ก็เสียสละได้  

         ๙. สัจจบารมี การบำเพ็ญบารมีด้วยความตั้งมั่นในสัจจะความจริง คือ ความซื่อตรง พูดไว้อย่างไร ก็ยอมรับอย่างนั้น ตั้งใจไว้อย่างไร ก็ทำอย่างนั้น มุ่งแสวงหาความจริง หรือความถูกต้อง  เที่ยงธรรม และรักษาความเที่ยงธรรมไว้ ลักษณะแห่งสัจจบารมีทางกาย ได้แก่ การตั้งสัจจะกับตนไว้ว่า จะไม่ทำสิ่งชั่วร้าย จะไม่พูดสิ่งชั่วร้าย จะทำแต่สิ่งที่ดีงาม จะพูดแต่คำจริง คำอ่อนโยน คำที่ทำให้เกิดความสามัคคี ก่อให้เกิดประโยชน์ จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่อิจฉาตาร้อน เมื่อตั้งสัจจะไว้อย่างนี้แล้ว ก็ตั้งหน้ารักษาสัจจะด้วยความซื่อสัตย์ต่อความตั้งใจของตน

          สัจจบารมีในขั้นต้น ได้แก่ ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ต่อการงาน ซื่อสัตย์ต่อบุคคล และ ซื่อสัตย์ต่อความเที่ยงธรรม สัจจบารมีขั้นสูงสุด เมื่อต้องรักษาสัจจะ ก็ยอมสละได้ แม้กระทั่งชีวิต  

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญสัจจบารมี อย่างแรงกล้า  ตามลำดับ ดังนี้

          (๑) สัจจบารมี สัจจะที่บำเพ็ญด้วยความหนักแน่น แน่นอน ยึดถือสัจจะต่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติ เมื่อต้องรักษาสัจจบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ทรัพย์สมบัติ ก็เสียสละได้

          (๒) สัจจอุปบารมี สัจจะที่บำเพ็ญด้วยความหนักแน่น แน่นอน ยึดถือสัจจะต่อพระโพธิญาณยิ่งกว่ายึดถืออวัยวะ ร่างกายของตน เมื่อต้องรักษาสัจจอุปบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้อวัยวะ ร่างกาย ก็เสียสละได้

          (๓) สัจจปรมัตถบารมี สัจจะที่บำเพ็ญด้วยความหนักแน่น แน่นอน ยึดถือสัจจะต่อพระโพธิญาณยิ่งกว่ายึดถือชีวิตของตน เมื่อต้องรักษาสัจจปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว   ชีวิต ก็เสียสละได้

         ๑๐. ทานบารมี การบำเพ็ญบารมีด้วยการทุ่มเทอุทิศตนเสียสละ แม้แต่สิ่งที่สละได้ยากการให้ เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ขาดแคลน เพื่อสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ เพื่อผูกมิตรภาพ เพื่อบูชาผู้ที่ควรบูชา  เพื่อตอบแทนคุณ หรือเพื่อการบำเพ็ญบุญ ในขั้นต้น ได้แก่ การสงเคราะห์ผู้อื่นและสัตว์อื่น ด้วยวัตถุสิ่งของ เรียกว่า “อามิสทาน” นับตั้งแต่ญาติพี่น้อง พวกพ้อง สมณะ และพราหมณ์ผู้ทรงศีล และสัตว์เดรัจฉาน ตามโอกาส โดยไม่คำนึงถึงทรัพย์สมบัติ อวัยวะ ร่างกาย และชีวิต

          ทานบารมี สูงขึ้นไป ได้แก่ การให้ธรรมะ เป็นทาน ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนให้ผู้อื่นคิดดี   ทำดี ให้เขาสามารถครองชีวิตอยู่ได้ ด้วยความดีงาม เป็นการสงเคราะห์โดยธรรม เป็นการให้ปัญญา สามารถดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และมีคุณค่า เรียกว่า “ธรรมทาน

          พระโพธิสัตว์ ปรารถนาพุทธภูมิ ทรงสั่งสมทานบารมีมาช้านาน ทรงสละทรัพย์สมบัติที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก สละอวัยวะ ร่างกายที่หวงแหนยิ่ง และสละชีวิต ที่สละได้แสนยาก ทานบารมี ของพระโพธิสัตว์ พอกพูนยิ่งขึ้นตามลำดับ จนเป็นทานที่มีความมั่นคงต่อการปรารถนาพระโพธิญาณ  ดังนี้

          (๑) ทานบารมี ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละทรัพย์ โดยมีพระโพธิญาณเป็นเป้าหมาย หวงแหนพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าหวงแหนทรัพย์สมบัติ เมื่อต้องบำเพ็ญทานบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ทรัพย์สมบัติ ที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก ก็ยอมสละได้

          (๒) ทานอุปบารมี ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละอวัยวะ ร่างกาย หวงแหนพระโพธิญาณยิ่งกว่าหวงแหนอวัยวะ ร่างกาย เมื่อต้องบำเพ็ญทานอุปบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้อวัยวะ  ร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่หวงแหนยิ่ง บุคคลเสียสละได้ยาก ก็ยอมสละได้

          (๓) ทานปรมัตถบารมี ทานที่บำเพ็ญด้วยการสละชีวิต หวงแหนพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต เมื่อต้องบำเพ็ญทานปรมัตถบารมี เพื่อพระโพธิญาณแล้ว แม้ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่หวงแหนยิ่ง เสียสละได้ยากยิ่ง ก็ยอมสละได้

“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ : คำอุทิศ และ ความนำ จากทศชาติสู่ทศบารมี

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here