ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒)

พระมหาชนก : วิริยะบารมี (สุวรรณภูมิ แผ่นดินทอง)

เกิดเป็นคน ควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป

จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

นรชนผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง

(ตอนที่ ๘)

“สู่ทางโพธิญาณ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

พระมหาชนกเกิดในยุคสมัยที่คนมีอายุ ๑๐,๐๐๐ ปี เสวยราชสมบัติ ๗,๐๐๐ ปี ออกผนวชขณะพระชนมายุเหลืออยู่ประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ใช้เวลาตัดสินใจบวชอยู่ ๔ เดือน จึงออกบวช

ตั้งแต่วันที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่ประตูพระราชอุทยาน ก็ทรงดำริว่า

“การบวชเป็นบรรพชิต

ประเสริฐกว่าการเป็นพระราชา”

จึงรับสั่งมหาดเล็กเป็นความลับ ให้ซื้อผ้าย้อมน้ำฝาดและบาตรดินมาจากตลาด ให้เรียกเจ้าพนักงานภูษามาลามาปลงผมและหนวด พระราชทานบ้านส่วยเป็นรางวัลแก่พนักงานภูษามาลา แล้วโปรดให้กลับไป

จากนั้น ทรงนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง และพาดผืนหนึ่งที่พระอังสา สวมบาตรดินในถุงคล้องพระอังสา ทรงถือไม้เท้าเสด็จจงกรมกลับไปกลับมาบนปราสาท ตามอย่างลีลาพระปัจเจกพุทธเจ้าตลอดทั้งวัน ทรงเปล่งอุทานว่า

“โอ การบรรพชาเป็นสุข

เป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นสุขเหลือเกิน”

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวัน ขณะแสงเงินแสงทองจับขอบฟ้า พระองค์ทรงตั้งพระหฤทัยจะเสด็จลงจากปราสาท ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับพระนางสีวลีเทวีตรัสเรียกเหล่าสตรีคนสนิททั้ง ๗๐๐ คนมาบอกให้ทราบว่า พระองค์ไม่ได้พบพระราชามากว่า ๔ เดือนแล้ว จึงรับสั่งให้ทุกคนตกแต่งประดับประดาตนเองด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง ให้แสดงกิริยาอาการร่าเริงแจ่มใสอย่างสตรี แม้พระเทวีเองก็ทรงประดับตกแต่งพระองค์แล้วเสด็จขึ้นปราสาทพร้อมสตรีเหล่านั้น

ขณะที่พระนางเสด็จไปยังปราสาท ได้เดินสวนทางกับพระราชาซึ่งบวชเป็นบรรพชิตก็จำไม่ได้ ทรงก้มลงกราบเพราะคิดว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามาถวายโอวาทพระราชา

ขณะที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากปราสาทนั้น พระเทวีก็เสด็จเข้าไปห้องบรรทม ทอดพระเนตรเห็นพระเกศาสีดำสนิทดุจปีกแมลงภู่ และห่อเครื่องราชาภรณ์วางอยู่บนที่บรรทม ก็ทราบว่าสมณะที่เดินสวนทางลงไปนั้น ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เป็นพระราชสวามีของพระองค์เอง จึงเสด็จลงจากปราสาทอย่างรีบเร่งตามไปทันพระราชาที่ท้องสนามหลวง

ครั้นถึงจึงสยายเกศาเรี่ยรายเบื้องพระปฤษฎางค์ พร้อมสตรีเหล่านั้น เอาพระหัตถ์ทั้งสองทุบอกกราบทูลว่า “เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงทำแบบนี้” ทรงร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสารยิ่ง ติดตามพระราชาไปไม่ลดละ แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของพระราชา

ครั้งนั้น ชาวพระนครทั้งสิ้นก็เอิกเกริกโกลาหล ชาวเมืองต่างโจษขานกันว่า พระราชาทรงสละราชบัลลังก์ออกผนวช ต่างร้องไห้เสียใจต่อการสละพระราชบัลลังก์ของพระราชา

แม้พระนางสีวลีร้องไห้คร่ำครวญอยู่ก็ไม่สามารถทำให้พระราชาเสด็จกลับได้ จึงให้เรียกเหล่าอำมาตย์มาออกอุบายตรัสสั่งให้จุดไฟเผาเรือนเก่า ศาลาเก่า ข้างหน้าตามทางที่พระราชาจะเสด็จผ่านไป ให้เอาหญ้าและใบไม้มาสุมให้เกิดควันโขมงมากขึ้น ประหนึ่งว่าไฟไหม้กรุงมิถิลาแล้ว เหล่าเสนาอำมาตย์ได้ทำตามพระเทวีรับสั่ง

พระนางสีวลีไปหมอบแทบพระบาทกราบทูลให้ทราบว่า “เปลวไฟโหมลุกไหม้คลังทั้งหลาย แม้อยู่กันคนละฝั่งก็ไหม้ติดกันไปหมด ขอพระองค์โปรดเสด็จกลับไปดับไฟเสียก่อน พระราชทรัพย์อย่าได้วอดวายในเปลวเพลิงเลย ขอพระองค์จงดับไฟนั้นแล้วจึงค่อยเสด็จไปภายหลัง เพราะพระองค์จะถูกครหาว่าเสด็จออกไปโดยไม่เหลียวแลพระนครที่กำลังถูกไฟไหม้ พระองค์จะเสียใจในภายหลัง เพราะความอับอายนั้น มาเถิด พระองค์โปรดสั่งการให้เหล่าอำมาตย์ดับไฟเถิด”

พระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางสีวลีว่า

“เธอพูดอะไรอย่างนั้น

ผู้คนเกิดความกังวล

เพราะไฟเผาผลาญทรัพย์สมบัติ

แต่บัดนี้เราไม่มีทรัพย์สมบัติแล้ว

เรามีชีวิตอยู่สบาย

เมื่อไฟไหม้กรุงมิถิลานคร

จึงไม่ได้ไหม้เราแม้แต่นิดเดียว”

ตรัสแล้วก็เสด็จออกจากพระนครทางประตูทิศเหนือ แม้พระสนมกำนัลทั้งหมดก็ออกตามเสด็จไป

พระนางสีวลีคิดอุบายอีกอย่างหนึ่งได้ จึงตรัสสั่งอำมาตย์ให้ทำเหมือนโจรปล้นฆ่าชาวบ้าน คนทั้งหลายก็ทำเป็นคนถืออาวุธ วิ่งไปมาเหมือนปล้น รดน้ำครั่งที่ร่างกายเหมือนถูกคมหอกคมดาบเลือดแดงฉาน ทุรนทุราายเกลือกกลิ้งโอดครวญบนพื้นดินว่า “ขณะนี้พวกโจรปล้นแผ่นดิน เข่นฆ่าอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์” แม้พระเทวีกราบทูลว่า “โจรป่าปล้นแผ่นดินพระองค์ ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด อย่าให้แผ่นดินนี้พินาศเลย ”

พระมหาชนกสงสัยว่า เมื่อพระองค์อยู่ในพระนครไม่เคยได้ยินว่า มีโจรปล้นแผ่นดิน นี้เห็นจะเป็นอุบายของพระนางสีวลี จึงตรัสว่า

“เราไม่มีความกังวล

มีชีวิตเป็นสุขดี

เมื่อโจรปล้นแว่นแคว้น

พวกโจรไม่ได้ปล้นอะไรๆ ของเราไป

เราจะมีปีติเป็นอาหาร

ให้เวลาผ่านไปด้วยความสุขที่เกิดจากฌาน

เหมือนเทวดาชั้นอาภัสสระ*”

  • * สวรรค์มี ๖ ชั้น เป็นที่อยู่ของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ สูงขึ้นไปกว่านั้นเป็นพรหมโลก มี ๒๐ ชั้น แบ่งเป็นพรหมที่มีรูปร่าง เรียกว่า “รูปพรหม” ๑๖ ชั้น และพรหมที่ไม่มีรูปร่าง เรียกว่า “อรูปพรหม” อีก ๔ ชั้น รวมเป็นพรหมโลก ๒๐ ชั้น ผู้ที่จะไปเกิดในพรหมโลกแต่ละชั้นต้องทำสมาธิจนได้บรรลุฌาน ๔ ขั้นเท่านั้น

แม้เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว มหาชนก็ยังคงติดตามพระองค์ไปอย่างไม่ลดละ พระโพธิสัตว์จึงหยุดในระหว่างทางใหญ่ ตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า

“ราชสมบัติเป็นของใคร”

อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า

“เป็นของพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์”

พระมหาชนกจึงตรัสว่า

“ถ้าเช่นนั้น

ท่านทั้งหลายจงลงราชทัณฑ์

แก่ผู้ที่ลบรอยขีดของพระมหากษัตริย์นี้”

แล้วทรงเอาไม้เท้าขีดเส้นบนแผ่นดินขวางทางไว้

ไม่มีใครกล้าลบรอยขีดที่พระราชาขีดไว้ ข้าราชบริพารยืนอยู่ระหว่างรอยขีดต่างคร่ำครวญกันอย่างเหลือเกิน

แม้พระนางสีวลีก็ไม่กล้าลบรอยขีดนั้น ทรงทอดพระเนตรเห็นพระราชาหันหลังกลับเสด็จต่อไป จึงไม่อาจกลั้นโศกอาดูรได้ ทรงทุบพระอุระล้มลงขวางทางใหญ่กลิ้งเกลือกไปมา ทำให้เส้นขีดลบไป ข้าราชบริพารจึงพากันตามเสด็จต่อไปเพราะไม่มีเส้นขีด

พระโพธิสัตว์ทรงมุ่งหน้าเสด็จขึ้นเหนือไปทางภูเขาเขตป่าหิมวันต์ ส่วนพระนางสีวลีก็พาข้าราชบริพาารตามเสด็จไม่ลดละ แม้พระราชาเสด็จไปไกลถึง ๖๐ โยชน์ก็ยังไม่สาามารถทำให้มหาชนกลับได้

กาลนั้น พระนารทะฤาษี ในป่าหิมวันต์ ออกจากฌานเปล่งอุทานว่า ” โอ ความสุข เป็นสุขจริงหนอ” มหาฤาษีนั้นเห็นพระมหาชนกซึ่งเป็นพระราชาออกผนวช แต่มีมหาชน ข้าราชบริพารและพระมเหสีติดตามมาจากพระนคร ซึ่งจะเ็นอันตรายต่อพระองค์ผู้ตั้งใจออกผนวช จึงไปพบพระราชาด้วยฤทธิ์ สถิตอยู่ในอากาศเบื้องหน้าพระราชา กล่าวสอนเพื่อให้เกิดอุตสาหะว่า “สมณะ ใครหนอตามท่านมา เสียงกึกก้องโกลาหลของประชาชนใหญ่ขนาดนี้ เหมือนเล่นกันอยู่ในบ้าน ทำไมประชาชนจึงตามแวดล้อมท่านมากมายขนาดนี้ ”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

“ประชาชนตามข้าพเจ้า

ซึ่งจากพวกเขามา

ข้าพเจ้าก้าวข้ามสีมา

คือ กิเลสไปแล้ว

ถึงมโนธรรม คือ ฌานของมุนี

ผู้ไม่หลงติดเหย้าเรือน

ที่มีแต่ความเพลิดเพลิน

ท่านก็รู้อยู่ แล้วจะถามทำไม”

มหานารทะฤาษีกล่าวว่า “พระองค์ทรงครองเพศบรรพชิตเพียงร่างกาย ด้วยบริขารและผ้ากาสาวพัสตร์เท่านั้น จะสำคัญว่าข้ามพ้นกิเลสแล้วหาได้ไม่ กรรมคือกิเลส ไม่สามารถข้ามพ้นได้เพียงเพราะบริขารและการนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เพราะอันตรายคือกิเลสยังมีอยู่มาก”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

“ข้าพเจ้าไม่ปรารถนากามทั้งหลายในโลกมนุษย์ ไม่ปรารถนากามทั้งหลายแม้ในเทวโลก ข้าพเจ้าท่องเที่ยวไปตามลำพังแล้วอันตรายจะมีแก่ข้าพเจ้าได้อย่างไร”

มหานารทะฤาษีแสดงอันตรายแห่งการบวชแก่พระโพธิสัตว์ว่า “ อันตรายอยู่ที่ตัวเราเอง คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน ความง่วงเหงา ความไม่ชอบใจ ความเมาเพราะบริโภคอาาหารมากเกินไป พระองค์มีรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณดุจทองคำ เมื่อพระองค์ประกาศให้คนทั้งหลายทราบว่า พระองค์ทิ้งราชสมบัติออกผนวช คนทั้งหลายก็จะศรัทธาถวายบินฑบาตมีรสดีทั้งประณีตแก่พระองค์ พระองค์รับมาเต็มบาตรเสวยพอควรแล้วเข้าบรรณศาลา บรรทมบนที่ลาดด้วยใบไม้ หลับกรน รู้สึกตัวบิดขี้เกียจ พลิกกลับไปกลับมา ทรงเหยียดพระหัตถ์และพระบาท ลุกขึ้นจับราวจีวรเกียจคร้านไม่จับไม้กวาดกวาดอาศรม ไม่ตักน้ำดื่ม บรรทมต่ออีก คิดถึงกามารมณ์ ถึงเวลานั้นก็จะไม่พอใจในการบวช ”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “ท่านผู้เจริญพร่ำสอนข้าพเจ้าดีนักหนา ท่านเป็นใคร”

มหานารทะฤาษีกล่าวว่า “อาตมามีนามว่า ‘นารทะ’ โคตร คือ ‘ กัสสปะ’ อาตมามาหาพระองค์เพราะรู้ว่าการสมาคมกับสัตบุรุษย่อมเป็นประโยชน์ ขอพระองค์ยินดีในบรรพชา พรหมวิหาารธรรมจงเกิดแก่พระองค์ จงบำเพ็ญในศีล ในบริกรรมภาวนา และในฌานให้บริบูรณ์ จงมีความอดทนและความสงบระงับ อย่าถือพระองค์ว่า เป็นกษัตริย์ออกบวช จงลดความถือตัว บำเพ็ญกุศล วิชชา และสมณธรรม แล้วประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความเคารพ ” ครั้นนารทะฤาษีถวายโอวาทพระโพธิสัตว์อย่างนี้แล้ว ก็กลับไปที่อยู่ของตน

เมื่อมหานารทะฤาษีไปแล้ว มิคาชินะฤาษีก็มาถวายโอวาทพระโพธิสัตว์เช่นกันว่า ” พระองค์ทิ้งช้าง ม้า และอาณาประชาราษฎร์ออกผนวช ยินดีในบาตร อาณาประชาราษฎร์ มิตร อำมาตย์ และพระประยูรญาติเหล่านั้นทำให้พระองค์ผิดหวังกระมัง จึงทำให้พระองค์ทิ้งอิสริยยศมาชอบใจบาตร”

พระโพธิสัตว์ตอบมิคาชินะฤาษีว่า

“ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้ามิได้มีความขัดแย้งอะไรกับพระประยูรญาติ ทั้งพระประยูรญาติก็มิได้ขัดแย้งกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่า โลกถูกกิเลสย่ำยี ผู้คนต่างตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ถูกทำลายและถูกฆ่าไปเพราะกิเลส ดังนั้น จึงได้บวชเป็นภิกษุ ”

มหาฤาษีปรารถนาจะฟังข้อความนั้นต่อไปอีก จึงกล่าวว่า “ใครหนอเป็นศาสดาสั่งสอนพระองค์ คำพูดหมดจดในวัตรปฏิบัติอันจะนำไปสู่การก้าวล่วงทุกข์นี้ใครเป็นผู้สอน ”

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “ถึงแม้ข้าพเจ้าจะมีความเคารพในสมณะหรือพราหมณ์อย่างจริงใจ แต่ก็ไม่เคยถามเกี่ยวกับการบรรพชาเลย ข้าพเจ้าไปอุทยาน ได้เห็นต้นมะม่วง ๒ ต้น ต้นหนึ่งมีผลหอมหวาน อีกต้นหนึ่งไม่มีผล เหล่าชนผู้ต้องการผลมะม่วง พากันยื้อแย่งต้นมะม่วงที่มีผล จนใบร่วงกิ่งฉีกหักกลายเป็นต้นไม้มีใบร่วงโกร๋นน่าสังเวชใจ แต่มะม่วงอีกต้นที่ไม่มีผลกลับมีใบเขียวชอุ่ม แผ่กิ่งก้านสมบูรณ์ เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์

ใครเล่าจะฆ่าผู้ไม่มีเหย้าเรือน

ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับตัณหา

มะม่วงต้นหนึ่งมีผล

อีกต้นหนึ่งไม่มีผล

ทั้งสองต้นนั้นเป็นผู้สั่งสอนข้าพเจ้า ”

มิคาชินะฤาษีได้ฟังดังนั้น จึงถวายโอวาทว่า “ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด มหาบพิตร” แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน

"ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง" เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ฉบับธรรมทาน พิมพ์ครั้งที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ คณะ ๗
“ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ฉบับธรรมทาน พิมพ์ครั้งที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ คณะ ๗

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๑๒) “สู่ทางโพธิญาณ” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here