ทำไม…
คิดดี ทำดี แล้วยังไม่ได้ดี
คำถาม :
(๑) ทำไมคิดดี แล้ว พูดดีแล้ว ทำดีแล้ว ก็ยังไม่ได้ดี หรือว่า (๒) ต้องใช้กรรมที่เคยทำไว้ก่อน หรือว่า (๓) ทุกอย่างก็ตกลงในกฏไตรลักษณ์หมดเลย คือไม่ว่าเราจะทำดีอย่างไร คิดดีอย่างไร และพูดดีอย่างไร ก็คาดหวังอะไรไม่ได้เลย อย่างนั้นหรือเปล่า? หรือว่า (๔) ลึกๆ แล้ว จิตยังคิดไม่ดี แม้ทำอะไรออกไป ก็เลย ยังไม่ดีจริงๆ ? (๕) ถ้าเราไม่สนใจเรื่องภายนอกเลย ไม่สนใจเรื่องบ้านเมืองเลย ถือเป็นการปฏิบัติธรรมไหม?
ถาม-ตอบ สนทนาธรรม
เรื่อง “กรรม กับ ความเป็นจริง
ระหว่างความเชื่อ และ ความศรัทธา
โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง
แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ตอบ
: คำถามนี้อาจแยกให้ชัดเป็นข้อๆ ได้ตามที่แบ่งไว้ โดยข้อ (๑)-(๔) เป็นเรื่องของ “กรรม” และเป็นเรื่องอจินไตยคือไม่ควรคิด อาจเป็นไปได้ที่คิดแล้วจะมีคำตอบหรืออาจสร้างความสงสัยให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นได้
จะสังเกตได้ว่า
คำว่า “กรรมนั้น”
อยู่ในเรื่องของ “ศรัทธา”
คือความเชื่อ ประกอบด้วย
กัมมสัทธา เชื่อว่ากรรมมีจริง
วิปากสัทธา เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง
กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน
โดยศรัทธานั้นได้สร้างกรอบในการคิดให้แคบขึ้น เพียงแค่เราเชื่อก็จะทำให้เราตัดข้อสงสัยเรื่องกรรมและการให้ผลกรรมไปได้ แต่ “ศรัทธา” ที่เราไม่อาจตรวจสอบได้จะทำอย่างไร เรื่องนี้ต้องพิจารณาจาก ตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นการศรัทธาต่อผู้ที่ตรัสคำสอนนี้ไว้ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐ โดยยืนยันได้ว่าเรื่องกรรมมีจริง
ดังข้อความในพระไตรปิฎกว่า “บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น” เป็นข้อยืนยันความสงสัยที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำดี ทำชั่ว การคิดดี คิดชั่ว การพูดดี พูดชั่ว ล้วนมีผลทั้งสิ้น เป็นไปตามที่พระพุทธองค์ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายยืนยันไว้เรียบร้อยแล้ว
แต่ข้อ (๕) นั้นเป็นการพิจารณาระหว่าง ก. การปฎิบัติธรรมเพื่อบรรลุธรรม กับ ข. ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ธมฺมานุธมฺมปฎิปัตฺติ) กล่าวคือ
๑) ปฎิบัติธรรมเพื่อบรรลุธรรม เป็นการหลีกเร้นจากสิ่งยั่วยุภายนอกที่ทำให้เกิดความอยาก หรือความอยากมีอยากเป็น เพื่อแสวงหาที่สัปปายะสำหรับการบรรลุธรรม สำหรับพระภิกษุหรือบุคคลที่ต้องการหลีกจากหมู่จากสังคมหาที่ปฏิบัติด้วยตนเอง
เช่นที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวว่า
“ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้
เป็นสาธุวิหารี
เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละ
ทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น”
“เพราะกามทั้งหลายสวยงามมีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบบุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้วจึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด”
“เป็นผู้ไม่โลภไม่หลอกลวง
ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่
กำจัดอาสวะ (กิเลสดุจน้ำย้อม) และโมหะได้แล้ว
ไม่มีความหวัง
ในโลกทั้งปวงจึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด”
(ผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมใน ขัคควิสาณสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ข้อที่ ๓๕ เป็นต้นไป)
“เรื่องของ “กรรม” เป็นเรื่องอจินไตยคือไม่ควรคิด
อาจเป็นไปได้ที่คิดแล้วจะมีคำตอบ
หรืออาจสร้างความสงสัยให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นได้”
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
๒) ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นการนำเอาข้อปฏิบัติมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น โดยอาจพิจารณาได้จากการปฏิบัติธรรมตามหน้าที่ในสังคม เช่น พ่อแม่และผู้ปกครองมีหลักพรหมวิหาร, ผู้เป็นประชาชนมีหลักฆราวาสธรรม, มนุษย์ต้องมีศีล เป็นต้น ข้อปฏิบัตินี้จึงเป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศหลังจากบรรลุธรรม ขณะเดียวกันก็ส่งพระภิกษุผู้บรรลุธรรมเพื่อประกาศหลักปฏิบัติ ด้วยถ้อยคำว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์”
เพื่อให้ทุกคนรู้จักการปฏิบัติธรรม และสร้างความหมายของการปฏิบัติธรรมว่าสามารถทำได้ทุกที่ โดยเฉพาะบุคคลที่มีธรรมเท่านั้นจึงจะทำให้โลกนี้ดำเนินไปได้อย่างสุขสงบ
ฉะนั้น หลักปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาจึงมีทั้ง ๒ แบบ โดยแบบที่ ๑ เหมาะกับผู้ต้องการจะหาที่สงบจิตสงบใจอย่างที่ผู้มีความทุกข์จะได้แสวงหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ด้วยการปฏิบัติธรรม เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง
ขณะเดียวกันเมื่อปฏิบัติธรรมจนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจึงอาจเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วยการปฏิบัติธรรมในแบบที่ ๒ ที่เป็นแบบปฏิบัติที่เหมาะกับทุกคนที่อยู่ในสังคมจะได้ใช้แนวทางที่ตนได้ปฏิบัติธรรมจนเข้าใจแจ่มแจ้งเพื่อมาใช้ในการอยู่ร่วมกัน
สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมแบบหลีกหนีไปอยู่คนเดียวก็สามารถปฏิบัติธรรมได้เช่นกัน ด้วยการคำนึงถึงประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก มีจิตใจเสียสละแก่สังคมบ้านเมือง เห็นประโยชน์ที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ ก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ชัดเจนที่สุดแล้ว
เจริญพร
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
ถาม-ตอบ สนทนาธรรม เรื่อง “กรรม กับ ความเป็นจริง ระหว่างความเชื่อ และ ความศรัทธา โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ