ถอดบทเรียนการปฏิบัติธรรมระยะสั้น

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

         หลายคนอยากจะค้นพบความสงบ หรือแค่ได้อยู่กับตัวเองสักพัก เพื่อสะสางความรู้สึกบางอย่างที่ยังค้างคาอยู่ในจิตใจ  ติดก็แค่ไม่ค่อยจะมีเวลา เพราะเงื่อนไขของชีวิตผูกติดกับภาระที่จำเป็น  ซึ่งไม่สามารถจะวางได้  จึงจำใจผจญความวุ่นวายอย่างว้าวุ่น 

         เมื่อมีโอกาสที่จะพาใจไปพัก หลายคนจึงคว้ามันไว้ แม้จะช่วงสั้นๆ แต่มันก็เป็นเหมือนกับการเติมพลังให้กำลังใจตนเอง เป็นการผ่อนเพื่อให้ใจได้พักมีแรงมาพอที่จะก้าวไปต่อ พร้อมเผชิญกับทุกอย่างที่ทุกย่างก้าวต่อไป

         เหมือนกับพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีกิจกรรมเพื่อให้บุคลากรได้พักใจ วางความวุ่นวาย ใช้ช่วงสั้นๆ ของวันหยุด ได้พักอย่างแท้จริง ด้วยการทำใจให้ว่าง เว้นจากความพลุกพล่าน ให้ใจได้สัมผัสกับความว่างและพบกับความสงบ

         “สงบชั่วคราว” ก็ยังดีกว่า “วุ่นวายชั่วชีวิต” 

         มีใครบางคนสรุปความรู้สึกตัวเองไว้แบบนั้น กับกิจกรรมง่ายๆ คือนั่งสบายๆ ไม่ต้องรับรู้อะไรแค่ใส่ใจกับลมหายใจของตนเองเท่านั้น เป็นวิธีง่ายๆ แต่ยากเหลือเกินที่จะมีโอกาสได้ทำอย่างจริงจัง

         “ความเงียบเสียงดังมาก” อีกคนสะท้อนความรู้สึกของตนเอง  ซึ่งเมื่อก่อนไม่สามารถที่จะนั่งอยู่เงียบๆ เพียงลำพังได้ เพราะถ้าปล่อยให้เงียบ เสียงของความเงียบจะทำให้ใจเหงา มันไม่ใช่เสียงที่หูได้ยิน แต่เป็นเสียงจากจิต ที่มันตะเบ็งเปล่งเสียงก้องกึกตรึกอยู่ในใจจนทนไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องใช้เสียงภายนอกเพื่อข่มกลบเสียงภายใน แล้วก็ปล่อยเวลาไปกับโทรศัพท์ พร้อมปล่อยใจไปกับเรื่องราวต่างๆ ในหน้าจอ จึงไม่เคยที่จะค้นเจอใจของตนเองอย่างแท้จริงเลยสักครั้ง

         แต่พอได้สัมผัสความเงียบเพียงลำพัง โดยไม่มีเครื่องมืออะไรให้ล่ออีก จึงได้ฟังเสียงหัวใจตนเองและใกล้ชิดมัน  มองมันอย่างเมตตา เมื่อเห็นถึงความรักที่มีต่อตนเองอย่างแท้จริง ความรู้สึกปลื้มมันเกิดขึ้นจนเต็มใจ กระทั่งกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว เป็นยิ้มทั้งน้ำตา และรำพึงในใจว่า “ฉันอยู่เพียงลำพังก็ได้” โดยที่ไม่ต้องพึ่งพิงใคร หรือหาสิ่งใดมาทดแทนความรู้สึกนั้นได้

         กิจกรรมเล็กๆ ที่ไม่มีอะไรมาก แค่ชวนอยู่กับความเงียบในช่วงสั้น ๆ กลับทำให้บางคนพบกับความงดงามของชีวิตเพิ่มขึ้น

แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมด แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นน้อยๆ ที่จะค่อยๆ เติมเต็มบารมีทางดีให้กับจิตใจทวีพูนเพิ่มเสริมสร้าง “เกาะกันใจ” เมื่อจะต้องไปเผชิญทุกข์ได้มากขึ้น

         ถ้าสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเสริมอะไรให้กับชีวิตได้บ้าง เมื่อสะท้อนสรุปแล้วก็พบประเด็นที่น่าสนใจ ๓ ประการคือ

       ๑. ฝึกใจให้แกร่ง

เป็นการออกกำลังใจ  ด้วยการว่างเว้นจากความวุ่นวายเพื่อฝึกการรอ และสร้างกล้ามเนื้อแห่งความอดทนให้หนักแน่นมากขึ้น พร้อมทั้งข่มจิตเมื่อคิดฟุ้งซ่าน และวู่วามขุ่นเคืองกับเรื่องภายนอก ก็ค่อยๆ บอกใจให้สงบได้ และปล่อยวางเป็น แม้จะไม่เห็นชัดทั้งหมด แต่ก็สิ้นสงสัยในความสำคัญของลมหายใจ และสัจธรรม เลยทีเดียวว่ามีคุณประโยชน์กับชีวิตมากมายเพียงใด

๒. เปลี่ยนแปลงให้รู้เท่าทัน 

เพราะชัดในไตรลักษณ์ คือ เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความทุกข์ และ ความไร้อัตตาตัวตน ทำให้ทนรับได้กับการเปลี่ยนแปลง แม้จะยังหวั่นไหวแต่ก็ไม่หวาดหวั่นหรือสั่นกลัวเหมือนที่เคย เพราะการได้นั่งสงบทำให้พบความจริงบางอย่างว่า มิอาจจะควบคุม แค่ตามรู้ และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตามใจปรารถนา ถ้ามันจะผิดหวังบ้าง มันก็แค่ทำให้ชีวิตมีสีสันเพิ่มขึ้นเท่านั้น

๓. หมั่นเติมบุญให้ใจ

การได้สวดมนต์ นั่งสมาธิ และการแบ่งปัน เป็นการเติมบุญให้ใจ เพิ่มความรู้สึกถึงคุณค่าทางจิตใจให้มีมากขึ้น คล้ายเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้ไหลลอยไปตามกระแสของกิเลสไปเสียทั้งหมด ได้หักห้ามใจได้ ข่มใจได้ และชนะใจตนเองได้ เหมือนมันมีความภาคภูมิใจซ่อนอยู่ให้รู้สึกดีขึ้นอย่างอัศจรรย์ แน่นอนมันเป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย แต่บอกได้ว่ามันมีจริงและเป็นสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกต่อชีวิตมีความงอกงามมากขึ้น

ที่กล่าวมานั้นเป็นการถอดบทเรียนของกิจกรรมปฏิบัติธรรมระยะสั้น ๒ วัน ๑ คืน รวมเวลาปฏิบัติ ๙ ชั่วโมง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการพาใจไปพัก วางเรื่องภายนอกมาเรียนรู้เรื่องภายในคือจิตใจของตนเอง ซึ่งหลายคนอาจจะละเลย แต่จะดีมากหากหาเวลาแบบนี้ให้ใจบ้าง แล้วจะทำให้ชีวิตประจำวันนั้น มีความสุขมากขึ้น

ถอดบทเรียนการปฏิบัติธรรมระยะสั้น

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here