หนังสือ "พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ : เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์เพื่อชีวิตที่ดีงาม" เรียบเรียงโดย  พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฉบับธรรมทาน ปีพ.ศ.๒๕๕๒
หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ : เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์เพื่อชีวิตที่ดีงาม” เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฉบับธรรมทาน ปีพ.ศ.๒๕๕๒

วันนี้วันพฤหัสบดี กราบนมัสการพระรัตนตรัยและพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยเศียรเกล้า ขออารธนา…

รัตนสูตร

พระสูตรว่าด้วยอานุภาพ

การน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย

เพื่อป้องกันภูติผีปีศาจ และอุบัติภัยทั้งหลาย

เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ในขณะน้ัน มาเป็นพละ เป็นกำลังใจในการฝึกหัดขัดเกลาตน จนกว่าจะล่วงพ้นแห่งทุกข์ทางใจด้วยเทอญ

รัตนสูตร

พระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุทกปาฐะ และ อรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต จุฬวรรค

ตำนานและอานุภาพการป้องกัน

รัตนสูตร เป็นพระสูตรที่พระอานนท์เถระเรียนจากพระพุทธองค์โดยตรง เพื่อใช้สวดขจัดปัดเป่าภัยพิบัติที่เกิดกับชาวกรุงเวสาลี พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระเถระน้อมรำลึกถึงคุณของรัตนะ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทำสัจกริยาให้เกิดเป็นอานุภาพ ขจัดปัดเป่าภัยพิบัติทั้งหลาย

เนื้อความในพระสูตรท่อนแรก เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้เหล่าภูติทั้งหลายได้อนุโมทนาบุญกุศลที่หมู่มนุษย์อุทิศให้ และเมื่ออนุโมทนาแล้ว ขอให้เกิดเมตตาทำการรักษามนุษย์ทั้งหลาย

เนื้อความท่อนต่อมา เป็นการน้อมคุณพระรัตนตรัยเป็นสัจวาจาเพื่อให้เกิดความสวัสดี ส่วนท่อนสุดท้าย เป็นคำกล่าวของท้าวสักกะที่ผูกขึ้นเป็นคาถาพรรณาคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นสัจวาจาทำให้เกิดความสวัสดี

รัตนสูตรปรากฏอยู่ในพระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ และปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต

กรุงเวสาลี นครหลวงแห่งแคว้นวัชชี เคยเป็นเมืองมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เนืองแน่นไปด้วยอาณาประชาราษฎร์ เกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง สมัยนั้น กรุงเวสาลีเกิดฝนแล้งติดต่อกันหลายปี ข้าวกล้าแห้งตายเพราะแดดแผดเผา ผู้คนอดอยากล้มตายจำนวนมาก คนยากจนตายก่อนกลายเป็นซากศพอนาถาไร้คนจัดการ ถูกทิ้งเกลื่อนนคร พวกอมนุษย์ได้กลิ่นซากศพก็พากันเข้าสู่นคร ทำอันตรายแก่หมู่มนุษย์ ทำให้คนตายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อความไม่สะอาดปฏิกูลแพร่กระจายไป โรคระบาดก็เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนล้มตายเหลือที่จะนับได้

นครเวสาลีที่เคยเป็นเมืองมั่งคั่ง ผู้คนพลุกพล่านขวักไขว่ไปมาได้ประสบภัยพิบัติร้ายแรง ๓ ประการในคราวเดียว คือ

๑. ข้าวยากหมากแพง (ทุพภิกขภัย) ๒. ภูติผีปีศาจทำร้าย (อมนุสสภัย) ๓. เกิดโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คน (โรคภัย)

ชาวเมืองรวมตัวกันไปร้องทุกข์ต่อพระเจ้าแผ่นดินว่า ในเมืองนี้ไม่เคยมีภัยทั้ง ๓ ประการนี้เกิดขึ้นมา ๗ ชั่วคนแล้ว เห็นทีผู้ปกครองรัฐจะประพฤติไม่ชอบด้วยทำนองคลองธรรม จึงทำให้เกิดเหตุร้าย

พระราชาโปรดให้ชาวเมืองประชุมกันที่ศาลากลางเมือง เพื่อตรวจสอบความผิดของพระองค์ ก็ไม่เห็นความผิดประการใด จึงปรึกษากันว่าทำอย่างไร ภัยทั้งสามนี้จะสงบลงได้ ผลของการปรึกษาได้ตกลงที่จะทูลเชิญเสด็จองค์สงเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากแคว้นมคธสู่กรุงเวสาลี

ด้วยได้ยินกันมาว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์เปี่ยมด้วยมหากรุณาธิคุณ ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่สัตว์ มีมหิทธานุภาพ พระองค์เสด็จไปที่ไหนก็มีแต่ความสงบสุข หากพระองค์เสด็จสู่กรุงเวสาลี ภัยพิบัติทั้งปวงจักระงับลงไป

คราวนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ถวายเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ชาววัชชีจึงส่งเจ้าลิจฉวี ชื่อมหาลิ และมหาอำมาตย์ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นราชทูต นำเครื่องบรรณาการเดิมทางเข้าสู่แคว้นมคธ ทูลร้องขอพระเจ้าพิมพิสารเพื่อขอพระราชทานวโรกาส กราบทูลเชิญเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสู่กรุงเวสาลี

พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเห็นว่า หากพระองค์เสด็จไปกรุงเวสาลี ประโยชน์สองอย่างจักเกิดขึ้น คือ

พระองค์จะแสดงรัตนสูตรในสมาคมนั้น เป็นเหตุให้ชาววัชชีได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุมรรคผลเป็นอันมาก ประการหนึ่และภัยพิบัติทั้งหลายจะสงบลงเพราะการเสด็จไปของพระองค์ ประการหนึ่ง

พระพุทธองค์ทรงทราบประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ชาววัชชีเช่นนี้ จึงทรงรับนิมนต์เพื่อเสด็จสู่กรุงเวสาลี

พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงโปรดให้ตกแต่งเส้นทางเสด็จพระพุทธดำเนินตั้งแต่กรุงราชคฤห์ถึงฝั่งแม่น้ำคงคา อันเป็นพรมแดนของแคว้นทั้งสอง สั่งให้ปรับพื้น ถมดินทำทางให้เรียบเสมอ ให้ปลูกที่ประทับแรมทุกโยชน์ เตรียมให้เสด็จวันละโยชน์ (๑ โยชน์ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ) องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป สู่ฝั่งแม่น้ำคงคาสิ้นทาง ๕ โยชน์ ใช้ระยะเวลาเดินทาง ๕ วัน

ฝ่ายกรุงเวสาลี ก็ได้ตกแต่งเส้นทางจากฝั่งแม่น้ำคงคา ถึงกรุงเวสาลีเป็นระยะทางถึง ๓ โยชน์ เตรียมการรับเสด็จพระพุทธองค์ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาอย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน

ขณะที่เรือส่งเสด็จที่พระเจ้าพิมพิสารจัดถวายใกล้ถึงฝั่งนครเวสาลี มหาเมฆตั้งเค้าขึ้นทั้ง ๔ ทิศ พอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่างพระบาทแรก เหยียบผืนแผ่นดินที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแคว้นมคธ ฝน โบกขรพรรษได้ตกลงมาอย่างหนักบนแผ่นดินแคว้นวัชชี ทุกแห่งน้ำไหลไปแค่เข่า แค่สะเอว พัดพาเอาสิ่งโสโครกต่างๆ ลงแม่น้ำลำคลองไปสิ้น พื้นดินชุ่มเย็น และสะอาดไปทั่วแคว้นวัชชี

แม้ท้าวสักกะจอมเทพก็ทรงดำริว่า พระพุทธองค์ทรงอาศัยคุณแห่งพระรัตนตรัยเป็นสัจวาจา เกิดความสวัสดีแก่ชาวพระนครแล้ว แม้เราเองก็พึงอาศัยคุณแห่งพระรัตนตรัย กล่าวบางสิ่งบางอย่างเพื่อความสวัสดีแก่ชาวพระนครเช่นกัน จึงได้ตรัสคาถาว่า

ยานีทะ ภูตานิ สะมาคะตานิ

ภุมมานิวา ยานิวะ อันตะลิกเข

ตะถาคะตัง เทวะมนุสสะปูชิตัง

พุทธัง นะมัสสามะ สุวัตติ โหตุ ฯลฯ

ครั้นท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสคาถาเป็นสัจกริยาให้เกิดความสุขสวัสดีอย่างนี้แล้ว ทรงกระทำประทักษิณพระพุทธองค์แล้ว ได้เสด็จไปยังดาวดึงส์เทพนครพร้อมด้วยเทพบริษัท แต่นั้นฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารกลับอุดมสมบูรณ์ นครเวสาลีได้กลับมาเป็นเมืองมั่งคั่ง ผู้คนพลุกพล่านไปมาขวักไขว่เหมือนเดิม

พระพุทธองค์ประทับอยู่ประมาณกึ่งเดือน จึงเสด็จกลับกรุงราชคฤห์ เหล่าเจ้าลิจฉวีตามส่งเสด็จพร้อมด้วยเครื่องสักการะเป็นอันมากจนถึงฝั่งแม่น้ำคงคา

เหล่านาคราชทั้งหลายในแม่น้ำคงคา คิดกันว่าหมู่มนุษย์ทำการสักการะพระพุทธองค์เป็นอันมาก จึงได้ทูลวิงวอนให้พระพุทธองค์อนุเคราะห์พวกตน ผู้มีพระภาคเจ้ารับคำนิมนต์ เหล่านาคราชนำเสด็จพระพุทธองค์สู่นาคพิภพ พระองค์แสดงธรรมโปรดเหล่านาคราชตลอดราตรี รุ่งขึ้นเหล่านาคราชถวายสักการะและภัตตาหารทิพย์ พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาเสร็จแล้วได้เสด็จออกจากนาคพิภพ เหล่าภุมมเทวดา และเทวดาทั้งหลาย ก็ได้สักการะต่อจากนี้เช่นเดียวกัน

เหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ตรัสรัตนสูตร และเสด็จเข้าสู่นาคพิภพนี้ เกิดขึ้นในระหว่างพรรษาที่ ๒ หลังการตรัสรู้

อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต กล่าวว่า ในครั้งพุทธกาลนั้น ได้มีการประชุมใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ๓ ครั้งเท่านั้น คือ

๑. ยมกปาฏิหาริยสมาคม ได้แก่ การชุมนุมใหญ่ในคราวที่พระพุทธองค์แสดงยมกปาฏิหาริย์

. เทโวโรหนสมาคม ได้แก่ การชุมนุมใหญ่ คราวที่พระพุทธองค์ เสด็จลงจากการจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

๓. คังโคโรหนสมาคม ได้แก่ การชุมนุมใหญ่ในคราวที่พระพุทธองค์เสด็จลงแม่น้ำคงคา สมัยที่กรุงเวสาลีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงครั้งนี้

รัตนสูตร พระสูตรแรกแห่งการก่อกำเนิดการเจริญพระพุทธมนต์ ครั้งยิ่งใหญ่ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งกรุงเวสาลี นครหลวงแห่งแคว้นวัชชี เกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรงสามประการในคราวเดียวกัน คือ ๑. ข้าวยากหมากแพง (ทุพภิกขภัย) ๒. ภูตผีปีศาจทำร้าย (อมนุสสภัย ) ๓.เกิดโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คน (โรคภัย) ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับยืนที่ประตูพระนครเวสาลี รับสั่งให้พระอานนท์เรียนรัตนสูตร กล่าวสัจจะอันอาศัยคุณพระรัตนตรัยเพื่อกำจัดอุปัทวันตรายทั้งหลาย ภัยพิบัติทั้งปวง พระอานนท์เอาน้ำใส่บาตรของพระพุทธองค์เดินสวดรัตนสูตรพลางประพรมน้ำพระพุทธมนต์ไปทั่วพระนคร…

  • พอพระอานนท์เถระขึ้นบท “ยังกิญจิ วิตตตัง ฯลฯ พวกอมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งโรคภัยในตัวมนุษย์ก็หายไปสิ้น…

อานุภาพการป้องกัน

รัตนสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์เถระสวดเป็นองค์แรก ภายหลังได้กลายเป็นแบบอย่างในการทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับพระสงฆ์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่มีการทำน้ำพระพุทธมนต์จะต้องสวดรัตนสูตร

รัตนสูตรมีอานุภาพในการขจัดปัดเป่าภัยพิบัติทั้งหลายให้อันตรธานหายสิ้นไป พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระอานนท์เถระรำลึกถึงคุณพระรัตนะ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ทำสัจกิริยาประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้เกิดความสุขสวัสดีแก่ชาวเมืองเวสาลี

ด้วยอานุภาพแห่งรัตนสูตรนี้ แม้กรุงเวสาลีจะเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ผู้คนอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก ซากศพถูกทอดทิ้งเกลื่อนนคร ภูติผีปีศาจทำอันตรายแก่หมู่มนุษย์ โรคระบาดเกิดขึ้นแพร่กระจายไปทั่ว ผู้คนล้มตายเหลือที่จะนับได้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์เถระสวดรัตนสูตร และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ภัยพิบัติเช่นนี้ก็ยังระงับลงได้ฉับพลัน

นอกจากนี้ ในบทขัดตำนาน (บทเกริ่นนำ) ยังระบุอานุภาพของรัตนสูตรเพิ่มเติมเข้ามาอีก คือ สามารถป้องกันภัยที่เกิดจากผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม ภัยจากโจรผู้ร้าย จากอาวุธนานาประการ จากธรรมชาติ จากเคราะห์กรรม จากสัตว์ร้าย ตลอดจนภัยอันเกิดจากความไม่เที่ยงธรรม (อสัทธรรม) ของจิตมนุษย์ทั้งหลายด้วย

ในบทขัดตำนาน ท่านได้ประพันธ์เป็นคาถาแสดงอานุภาพรัตนสูตร ไว้ดังนี้

“ขอให้เหล่าเทวดาจงคุ้มครองให้พ้นจากภัยที่เกิดจากผู้ปกครอง ภัยที่เกิดจากโจร ภัยจากมนุษย์ ภัยจากอมนุษย์ อัคคีภัย อุทกภัย ภัยจากปีศาจ ภัยจากขวากและหนามแหลมคม ภัยเกิดจากเคราะห์ร้าย ยามร้าย จากโรคภัยไข้เจ็บ จากความไม่เที่ยงธรรม จากความเข้าใจผิด จากคนชั่ว ภัยต่างๆ ที่เกิดจากสัตว์ร้ายนานาชนิด มีช้าง ม้า โค สุนัข และงูที่มีพิษ เป็นต้น และจากอมนุษย์ เช่น ยักษ์ และนางผีเสื้อน้ำ เป็นต้น จากโรคต่างๆ และจากอุบัติเหตุนานาประการ

ขอให้พวกเราจงตั้งการุณจิตสวดพระปริตรที่เหล่าเทวดาทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาล ยังยอมรับเอาความศักดิ์สิทธิ์ และที่ทำภัย ๓ ประการ อันเกิดจากโรค จากอมนุษย์ และจากข้าวยากหมากแพง ในนครเวสาลีให้อันตรธานหายไปอย่างฉับพลัน จงตั้งใจสวดให้เหมือนกับที่ท่านพระอานนท์เถระได้รำลึกถึงพุทธคุณทั้งหลายของพระตถาคตเจ้า ตั้งแต่ทรงปรารถนาพระโพธิญาณ ดังนี้ คือ ได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ให้สมบูรณ์ ครบบารมีทั้ง ๓๐ ทรงบำเพ็ญมหาบริจาค ๕ ประการ จริยา ๓ ประการ การเสด็จลงสู่ครรภ์ในภพสุดท้าย การประสูติ การเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ การบำเพ็ญความเพียร ทรงชนะมาร และตรัสรู้สัพพัญญุตญาณ ณ โพธิบัลลังก์ ทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร และโลกุตรธรรม ๙ ประการทั้งปวงเหล่านี้ แล้วสวดพระปริตรทั้งคืนตลอด ๓ ยาม ในระหว่างกำแพง ๓ ชั้นของนครเวสาลี ฉะนั้นเถิด”

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

รัตนสูตร

ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิภุมมานิ

วา ยานิวะ อันตะลิกเข

สัพเพ วะ ภูตา สุมะนา ภะวันตุ

อะโถปิ สักกัจจะ สุณันตุ ภาสิตัง

ตัสมา หิ ภูตา นิสาเมถะ สัพเพ

เมตตัง กะโรถะ มานุสิยา ปะชายะ

ทิวา จะ รัตโต จะ หะรันติ เย พะลิง

ตัสมา หิ เน รักขะถะ อัปปะมัตตาฯ

ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา

สัคเคสุ วา ยัง ระตะนัง ปะณีตัง

นะ โน สะมัง อัตถิ ตะถาคะเตนะ

อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

ขะยัง วิราคัง อะมะตัง ปะณีตัง

ยะทัชฌะคา สักยะมุนี สะมาหิโต

นะ เตนะ ธัมเมนะ สะมัตถิ กิญจิ

อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

ยัมพุทธะเสฏโฐ ปะริวัณณะยี สุจิง

สะมาธิมานันตะริกัญญะมาหุ

สะมาธินา เตนะ สะโม นะ วิชชะติ

อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

เย ปุคคะลา อัฏฐะ สะตัง ปะสัฏฐา

จัตตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนติ

เต ทักขิเณยยา สุคะตัสสะ สาวะกา

เอเตสุ ทินนานิ มะหัปผะลานิ

อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

เย สุปปะยุตตา มะนะสา ทัฬเหนะ

นิกกามิโน โคตะมะสาสะนัมหิ

เต ปัตติปัตตา อะมะตัง วิคัยหะ

ลัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา

อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

ยะถินทะขีโล ปะฐะวิง สิโต สิยา

จะตุพภิ วาเตภิ อะสัมปะกัมปิโย

ตะถูปะมัง สัปปุริสัง วะทามิ

โย อะริยะสัจจานิ อะเวจจะ ปัสสะติ

อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

เย อะริยะสัจจานิ วิภาวะยันติ

คัมภีระปัญเญนะ สุเทสิตานิ

กิญจาปิ เต โหนติ ภุสัปปะมัตตา

นะ เต ภะวัง อัฏฐะมะมาทิยันติ

อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

สะหาวัสสะ ทัสสะนะสัมปะทายะ

ตะยัสสุ ธัมมา ชะหิตา ภะวันติ

สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉิตัญจะ

สีลัพพะตัง วาปิ ยะทัตถิ กิญจิ

จะตูหะปาเยหิ จะ วิปปะมุตโต

ฉะ จาภิฐานานิ อะภัพโพ กาตุง

อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

กิญจาปิ โส กัมมัง กะโรติ ปาปะตัง

กาเยนะ วาจายุทะ เจตะสา วา

อะภัพโพ โส ตัสสะ ปะฏิจฉะทายะ

อะภัพพะตา ทิฏฐะปะทัสสะ วุตตา

อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

วะนัปปะคุมเพ ยะถา ผุสสิตัคเค

คิมหานะมาเส ปะฐะมัสมิง คิมเห

ตะถูปะมัง ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ

นิพพานะคามิง ปะระมัง หิตายะ

อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

วะโร วะรัญญู วะระโท วะราหะโร

อะนุตตะโร ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ

อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

ขีณัง ปุราณัง นะวัง นัตถิ สัมภะวัง

วิรัตตะจิตตายะติเก ภะวัสมิง

เต ขีณะพีชา อะวิรุฬหิฉันทา

นิพพันติ ธีรา ยะถายัมปะทีโป

อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง

เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ

ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ

ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข

ตะถาคะตัง เทวะมะนุสสะปูชิตัง

พุทธัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุฯ

ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ

ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข

ตะถาคะตัง เทวะมะนุสสะปูชิตัง

ธัมมัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุฯ

ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ

ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข

ตะถาคะตัง เทวะมะนุสสะปูชิตัง

สังฆัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุฯ

คำแปล

ภูตทั้งหลายเอ๋ย ทั้งเหล่าท่านที่เป็นพระภูมิเจ้าที่ก็ดี ทั้งที่สถิตอยู่ในอากาศก็ดี บรรดาที่มาประชุมกันในที่นี้ ขอภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีน้ำใจเอื้ออาทร เชิญฟังคำสดุดีพระรัตนตรัยที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนี้ด้วยความเคารพเถิด

ภูตทั้งหลายเอ๋ย ขอท่านทั้งปวงจงฟังข้าพเจ้า ขอท่านทั้งหลายจงมีไมตรีจิตต่อประชาชาวมนุษย์ เพราะชนทั้งหลายเหล่านั้น ทำบุญอุทิศให้เทวดาทั้งวันทั้งคืน เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาท ช่วยคุ้มครองปกปักษ์รักษาเขาเถิด ฯ

ทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดในโลกนี้ หรือโลกอื่น หรือรัตนะอันสูงค่าในสรวงสวรรค์บรรดามี ทรัพย์หรือรัตนะนั้น ที่จะมีค่าเสมอด้วยพระตถาคตเจ้านั้นไม่มีเลย ข้อนี้เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระพุทธเจ้าประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิดฯ

พระศากยมุนีเจ้าทรงมีพระหฤทัยดำรงมั่น บรรลุธรรมอันเป็นที่สิ้นกิเลส สิ้นราคะ เป็นอมตะ ประณีตนั้นแล้ว สิ่งไรใดจะเสมอด้วยพระธรรมนั้นไม่มี แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระธรรมประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิดฯ

สมาธิอื่นใดจะเสมอด้วยสมาธิที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงสรรเสริญไว้ว่า เป็นธรรมสะอาดหมดจด บัณฑิตทั้งหลายยอมรับว่าสามารถให้ผลต่อเนื่องได้โดยลำดับนั้น ไม่มี แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระธรรมประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิด ฯ

ระสงฆ์สาวกของพระสุคตเจ้า ๘ ท่าน นับเป็นคู่ได้ ๔ คู่ (หมายถึงพระอริยบุคคลได้บรรลุธรรม ๘ จำพวก ดังนี้ ๑. พระโสดาปัตติมรรค ๒. พระโสดาปัตติผล ๓. พระสกิทาคามิมรรค ๔. พระสกิทาคามิผล ๕.พระอนาคามิมรรค ๖. พระอนาคามิผล ๗. พระอรหัตมรรค ๘. พระอรหัตผล ) ซึ่งสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ควรทักษิณาทาน ทานที่ถวายแก่ท่านนั้นย่อมมีผลมาก แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระสงฆ์ประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิดฯ

เราเรียกบุคคลผู้เห็นอริยสัจอย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นสัตบุรุษ แม้ถูกโลกธรรมกระทบก็ไม่หวั่นไหว เหมือนเสาเขื่อนที่ถูกฝังลึกลงในแผ่นดินแล้ว แม้ถูกพายุพัดกระหน่ำมาจากทิศทั้ง ๔ ก็ไม่หวั่นไหว แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระสงฆ์ประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิด ฯ

ผู้เห็นอริยสัจที่พระบรมศาสดาผู้ทรงพระปัญญาอันลึกซึ้ง ทรงแสดงไว้ดีแล้วด้วยตนเอง ท่านเหล่านั้น ถึงแม้จะยังมีความประมาทมัวเมาอยู่บ้าง แต่ท่านก็จะไม่กลับมาเกิดในภพที่ ๘ อีก (ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน แม้จะยังมีความประมาทอยู่บ้าง แต่ก็จะไม่มีความผิดร้ายแรง และกลับมาเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ) แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระสงฆ์ประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิด ฯ

พระโสดาบันละสังโยชน์ซึ่งเป็นเครื่องร้อยรัดจิตเบื้องต้น ๓ ประการคือ (๑) สักกายทิฐิ ความเห็นว่าตัวตนของตน (๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย และ (๓) สีลัพพตปรามาส การถือมั่นในศีลพรตจนกลายเป็นความเคร่งเครียด ซึ่งนับว่าเป็นกิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง

อนึ่ง พระโสดาบันพ้นจากอบายทั้ง ๔ แล้ว ทั้งไม่อาจทำความผิดร้ายแรง ๖ ประการ (คือ อนันตริยกรรม ๕ ได้แก่ ๑.ฆ่าบิดา ๒.ฆ่ามารดา ๓.ฆ่ารพระอรหันต์ ๔.ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ถึงห้อพระโลหิต ๕.ทำสงฆ์ให้แตกกัน และ ๖. ยกย่องเชิดชูศาสดาอื่น ) แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระสงฆ์ประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิดฯ

ถึงแม้พระโสดาบันจะยังทำบาปทางกาย ทางวาจา หรือทางใจอยู่บ้างก็จริง แต่เมื่อทำแล้วท่านก็เปิดเผย ไม่ปกปิดบาปของตนไว้ (พร้อมที่จะยอมรับและเปิดเผยสิ่งที่ได้กระทำตามความเป็นจริง การแสดงอาบัติของพระภิกษุ ก็เป็นการดำเนินตามปฏิปทาของพระโสดาบันข้างต้น เมื่อพระภิกษุต้องอาบัติแล้ว จึงต้องแสดงอาบัติทันที ในปัจจุบัน พระภิกษุจึงต้องมีการแสดงอาบัติเช้าเย็น เพื่อเป็นการเตือนสติให้มีจิตตั้งมั่นในการละบาปแม้เพียงเล็กน้อย และทำความดีต่อไป อันเป็นการเจริญรอยตามปฏิปทาของพระโสดาบัน )

เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า สำหรับบุคคลผู้เห็นทางนำไปสู่พระนิพพานแล้ว จะไม่ปกปิดบาปของตนไว้ แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระสงฆ์ ประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอเกิดความสุขสวัสดีเถิดฯ

ถึงคราวต้นเดือนแห่งคิมหันตฤดู หมู่ไม้ในป่าต่างผลิดอกออกใบงามสะพรั่ง ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงธรรมอันประเสริฐให้แตกกิ่งก้านงอกงามเป็นเครื่องชี้ทางดำเนินไปสู่พระนิพพานเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก เปรียบเสมือนพุ่มไม้ในป่า ที่ผลิดอกออกใบในฤดูคิมหันตกาล ฉันนั้น (หมู่ชนได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้วก็หายเศร้าโศก เกิดความผ่องใสเบิกบาน ท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ผลิดอกออกใบในฤดูคิมหันตกาล ) แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระพุทธเจ้าประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิดฯ

พระตถาคตผู้ประเสริฐ ทรงทราบธรรมอันประเสริฐ ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีใครยิ่งกว่า ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้แล้ว แม้ข้อนี้ก็เป็นรัตนคุณอย่างสูงในพระพุทธเจ้าประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิดฯ

พระอริยบุคคลผู้มีกรรมเก่าหมดสิ้นแล้ว กรรมอันเป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่ก็ไม่มี ท่านเหล่านั้นมีจิตเหนื่อยหน่ายในอันที่จะเกิดในภพต่อไป ขจัดพืชคือกิเลสให้สิ้นไปแล้ว ปราศจากความพอใจในกาม อันจะทำให้เกิดอีก มีปัญญาแหลมคม ย่อมปรินิพพาน เหมือนประทีปดับไป เพราะสิ้นเชื้อเพลิง แม้ข้อนี้เป็นรัตนคุณอย่างสูง ในพระสงฆ์ประการหนึ่ง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอจงเกิดความสุขสวัสดีเถิดฯ

(ข้อความต่อจากนี้ไป เป็นคาถาที่ท้าวสักกะเทวราช กล่าวชักชวนให้ภูตทั้งหลาย ได้นอบน้อมต่อพระรัตนตรัย และอวยพรให้ชาวกรุง เวสาลีเกิดความสุขสวัสดี)

ภูตทั้งหลายเอ๋ย ทั้งเหล่าท่านที่เป็นพระภูมิเจ้าที่ ทั้งที่สถิตอยู่ในอากาศ บรรดาที่มาประชุมกันในที่นี้แล้ว ขอเราทั้งหลาย จงน้อมนมัสการพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งเหล่าเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสุขสวัสดีจงมีเถิดฯ

ภูตทั้งหลายเอ๋ย ทั้งเหล่าท่านที่เป็นพระภูมิเจ้าที่ ทั้งที่สถิตอยู่ในอากาศ บรรดาที่มาประชุมกันในที่นี้แล้ว ขอเราทั้งหลาย จงนมัสการพระธรรม ซึ่งมีพระคุณอันเหล่าเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีเถิดฯ

ภูตทั้งหลายเอ๋ย ทั้งเหล่าท่านที่เป็นพระภูมิเจ้าที่ ทั้งที่สถิตอยู่ในอากาศ บรรดาที่มาประชุมกันในที่่นี้แล้ว ขอเราทั้งหลายนมัสการพระสงฆ์ ผู้ซึ่งเหล่าเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีเถิดฯ

รัตนสูตร พระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันพฤหัสบดี

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ผู้เขียน และเรียบเรียงหนังสือ ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ ปีพ.ศ.๒๕๕๔ และ หนังสือ พุทธานุภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๙ จัดพิมพ์โดยกองทุนพุทธานุภาพ ปีพ.ศ. ๒๕๕๒

จากหนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร” เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ ดำเนินการจัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับธรรมทาน

และ หนังสือ “พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตดีงาม “เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม ) พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here