ตามรอยพ่อ ๕ ธันวา มหาราช
วันแห่งชาติ รวมใจภักดิ์ รักในหลวง
พระมหากษัตริย์คือหัวใจไทยทั้งปวง
ขอกราบถวายด้วยความจงรักและภักดี …
“ตามรอยพ่อทุกย่างก้าว
จากยอดดอย สู่ยอดธรรม”
เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหาากษัตริย์ วัดสระเกศ
สัปดาห์นี้ขอนำทุกท่านเดินทางมาร่วมงานทอดกฐินที่อาศรมบ้านดอกแดง ตำบลบ่อสะลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้เขียนได้ร่วมเดินทางกับคณะมาที่นี่เมื่อสัปดาห์ก่อน ไม่นึกว่าถนนในช่วงฝนตกจะลำบากขนาดนี้ รถต้องค่อยๆ วิ่งไปตามไหล่เขา ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อทำให้รถโยกไปมาตลอดทาง หลายรูปนั่งท้ายกระบะตั้งใจชมบรรยากาศสองข้างทางต้องผิดหวัง เพราะต้องคอยระมัดระวังแทน ถ้าคนขับเผลอสติอาจทำให้รถตกเขาได้ จากปากทางเข้าหมู่บ้านห่างจากถนนใหญ่ประมาณ ๓ กิโลเมตร แต่ใช้เวลาร่วมชั่วโมง
เมื่อไปถึงแล้วในช่วงสายก็ถวายกฐิน ช่วงบ่ายทำให้มีเวลาไปเดินรอบหมู่บ้าน ได้สัมผัสถึงกลิ่นอายของความเป็นชุมชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่ส่วนใหญ่นับถือผีบรรพบุรุษ ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่บนสันเขา มีแม่น้ำไหลผ่านกลางหมู่บ้าน อาชีพส่วนใหญ่ก็ทำไร่ ทำสวนตามไหล่เขา
ในช่วงเย็นหลังจากที่ทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จแล้ว พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ พร้อมกับคณะพระสงฆ์สนทนาธรรมพูดคุยกับคณะญาติโยมที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ถึงการทำงานของท่านในฐานะของพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา
ท่านเล่าให้ฟังถึงที่ตั้งอาศรมพระบัณฑิตอาสาบ้านดอกแดงว่า คนเฒ่าคนแก่เคยเล่าให้ฟัง ย้อนหลังไปในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จทางภาคเหนือบ่อยๆ บริเวณที่ตั้งอาศรมในปัจจุบันนี้ ทางราชการได้ปรับพื้นที่ให้เป็นลานกว้าง เพื่อเป็นที่จอดเฮลิคอปเตอร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ แต่ในวันที่พระองค์เสด็จจริงๆนั้น ท้องฟ้าไม่เปิด ทำให้เฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถจะลงจอดได้ พระองค์ก็เลยไม่ได้เสด็จมาที่นี่ ตั้งแต่นั้นมาพื้นที่ตรงนี้ก็ว่างไม่มีใครทำอะไร
ประมาณปี ๒๕๓๗ ท่านมหาฐานันดร พร้อมกับพระบัณฑิตอาสารูปหนึ่งได้บุกเบิกตั้งเป็นอาศรมพระบัณฑิตอาสาขึ้น ชาวบ้านเห็นว่าเป็นพื้นที่ว่างของชุมชนก็เลยยกถวายท่าน หลังจากที่สร้างแล้วก็ไม่ได้อยู่ประจำ จนหลังจากที่เรียนจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว จึงมาอยู่พัฒนาอย่างจริงจัง แต่ท่านก็ไม่ละทิ้งการเรียน
หลังจากทุกอย่างลงตัวท่านก็เริ่มเรียนต่อในระดับปริญญาเอก แต่การเรียนในครั้งนี้ท่านต้องเดินทางจากเชียงใหม่ ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียน ๓ วัน เสร็จแล้วก็นั่งรถกลับเพื่อทำงานในหน้าที่ต่อจนจบการศึกษา
ท่านเล่าถึงแนวทางในการทำงานให้ฟังว่า
อาศัยหลักการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ตรัสไว้ คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา
เข้าใจ คือ เกิดความเข้าใจว่า คนที่นี่เขาอยู่กันอย่างไร นับถืออะไร แล้วก็มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่กับธรรมชาติที่มีความสงบสุขอย่างไร
เข้าถึง หมายถึง เข้าถึงจิตใจ รู้ว่าความเชื่อ การนับถือผี มีพิธีกรรม วัฒนธรรมทางศาสนาอย่างไร การทำหน้าที่ของเราก็ไม่ได้ยกเลิก แต่ว่า ปรับให้เข้ากับพระพุทธศาสนา อย่างที่นี่เขาชอบตัดต้นไม้ เผาป่าทำไร่ เราก็ทำโครงการบวชต้นไม้ เอาผ้าเหลืองไปผูกไว้ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าตัดต้นไม้ใหญ่
“การที่เราดูแลต้นไม้ ในทางพระพุทธศาสนา
ก็เท่ากับเรากตัญญูต่อธรรมชาติ”
ส่วน การพัฒนา หมายถึงว่า พัฒนาในส่วนที่ยังขาด ทำในส่วนที่ยังไม่สำเร็จให้บริบูรณ์ ท่านยกตัวอย่างให้ฟังว่า คนในชุมชนทำงานมาแล้วขายพืชผลทางการเกษตรได้เงินมา ส่วนใหญ่ก็เก็บเงินไม่อยู่ หมดไปกับสิ่งมึนเมา กับการใช้จ่ายพุ่มเฟือย ก็เลยคิดหาวิธีช่วย
อาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาข้อ สัจจะ คือ การตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ขึ้นมา โดยมีวิธีการใครที่จะเป็นสมาชิกจะต้องนำเงินมาฝากในวันพระ ๑๕ ค่ำของทุกเดือน ตามสัจจะที่ตัวเองได้ให้ไว้
จะมากจะน้อยก็ตามแต่ แต่ต้องนำมาฝาก ซึ่งกรรมการก็ทำหน้าที่ในการบริหาร ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนจำนวน ๑ ล้านกว่าบาท เศรษฐกิจชุมชนถือได้ว่า เป็นชุมชนพึ่งตนเองได้ มีกิน มีใช้ มีสุข และที่สำคัญไม่มีหนี้
การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนพื้นที่ราบสูงของพระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ นั้นถือว่ามีความก้าวหน้าไปตามลำดับ การสร้างศาสนธรรมในใจผู้คนให้งอกงาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เริ่มจะเห็นผลแต่ก็เป็นความลำบากอยู่บ้าง เพราะทุกอย่างล้วนสวนกระแส
ท่านบอกว่า การที่เราไปบอกเขาให้รักษาศีล เป็นสิ่งที่สวนกระแส บางคนอยากรวยก็ไปตัดต้นไม้ใหญ่ไปขาย หรือบางครั้งก็มีเรื่องของยาเสพติด เราก็ต้องทำหน้าที่สอน ทำหน้าที่เทศน์
มีชาวบ้านถามว่า ท่านสอนแล้ว ท่านเทศน์แล้วเขาไม่ฟัง ทำไมท่านถึงยังสอน ยังเทศน์อยู่ อย่างเช่น เรื่องกินเหล้า ท่านเทศน์ไม่รู้กี่ครั้ง เขาก็ยังกินเหมือนเดิน ก็ตอบเขาไปว่า อาตมามีหน้าที่สอน มีหน้าที่เทศน์ ส่วนหน้าที่หยุดหรือไม่หยุดทำความชั่ว เป็นเรื่องของเขา ยังดีที่เราได้ทำหน้าที่ บางครั้งก็เป็นการเตือนสติได้อยู่บ้าง
ท่านเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนออกอากาศทางสถานีวิทยุ ท่านเทศน์เรื่องการเลิกเหล้า สองสามีภริยาซึ่งติดเหล้าด้วยกันได้ยิน ทำให้ใจเป็นทุกข์ พระจะมาเทศน์ให้เลิกอะไร พอเมาได้ที่ก็ทนไม่ได้ก็เลยใช้ค้อนทุบวิทยุทิ้ง แต่ก็มีบางคนที่เวลาไปเยี่ยมตามหมู่บ้านต่างๆที่ได้ฟังวิทยุก็มาเล่าให้ฟังว่า เลิกเหล้าได้เพราะฟังธรรม พระอาจารย์สอนทางสถานีวิทยุ ที่สำคัญเป็นผลมาจากการที่ธรรมะ มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต
การทำงานของพระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ ท่านไม่ได้ทำงานแค่ชุมชนบ้านดอกแดง แต่ท่านยังเผยแผ่ไปสู่ชุมชนอื่น ให้ได้รับอุ่นไอแห่งธรรมะด้วย โดยการจัดโครงการธรรมะคืนถิ่น ธรรมะสัญจร ไปในทุกพื้นที่ที่พอจะไปได้ ที่พอจะทำได้ โดยที่ไม่ตั้งคำถามกับใคร เหนื่อยก็พัก
ท่านบอกว่า เวลาเหนื่อยก็ให้นึกถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแรงก็ทำต่อ ไม่สำเร็จวันนี้ก็ไม่เป็นไร ขอเพียงเราได้ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์
“ตามรอยพ่อทุกย่างก้าว จากยอดดอย สู่ยอดธรรม” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากคอลัมน์ “จาริกบ้านจารึกธรรม” หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐