พระธรรมทูต แปลว่า ทูตธรรมะ หมายถึงผู้นำธรรมะไปเผยแผ่ เทียบได้กับทางฝ่ายบ้านเมือง ก็มีราชทูต มีรัฐทูต แต่ว่าทูตในทางธรรมะมีความหมายต่างจากทูตอื่น ทูตในทางบ้านเมืองนั้น ไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นเรื่องของโลกมนุษย์ที่มีการแบ่งกันเป็นหมู่ชน เป็นชนชาติต่างๆ แต่ละชนชาติก็ย่อมพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของตนเอง

ราชทูต รัฐทูต ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของแผ่นดิน ของชาติของประเทศนั้น ๆ มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติของตนเอง ไปเจรจากับประเทศที่ตัวไปทำหน้าที่นั้น ต่างจากพระธรรมทูต ที่ว่าพระธรรมทูตนั้นเป็นทูตธรรมะ นำธรรมะไปเผยแผ่แก่ประชาชน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

พระธรรมทูต หมายถึง พระสาวกที่ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะ หรือแจกธรรมทานอย่างจริงจัง พระธรรมทูต หมายถึง พระสาวกของพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทำหน้าที่เป็นทูตของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา โดยพระองค์ทรงแต่งตั้งพระธรรมทูตเป็นครั้งแรกด้วยพระองค์เอง เพื่อให้พระธรรมทูตไปประกาศและเผยแผ่พระศาสนา เช่นเดียวกับพระองค์ ให้โลกได้รู้จัก และให้เกิดประโยชน์และความสุขแก่ชาวโลกอย่างแท้จริง

ธรรมวิจัย “โอวาทปาฏิโมกข์” หลักธรรมแรกสำหรับพระธรรมทูตของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ในวันมาฆบูชา

เมื่อย้อนกลับไปในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ พรรษาแรกหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าผ่านไป ๙ เดือน พระองค์ทรงแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์” อันเป็นหลักคำสอนสำคัญสำหรับการเผยแผ่ของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ที่พร้อมใจกันมารับคำสอนจากพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงโดยมิได้นัดหมาย และโอวาทปาติโมกข์ ยังเป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ ๒๐ พรรษาแรก

โอวาทปาฏิโมกข์นั้นถ้าเปรียบในสมัยนี้คงเปรียบได้กับการกำหนด “พันธกิจ” ของพระธรรมทูต จึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นการกำหนดพันธกิจให้กับพระสงฆ์สาวกที่บรรลุพระอรหันต์แล้วออกเผยแผ่พระสัทธรรมอย่างมีหลักการ

โอวาทปาฏิโมกข์
(หันทะ มะยัง โอวาทะปาฏิโมกขะคาถาโย ภะณามะ เส)

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
การทำกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง
ธรรม ๓ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
คือความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย
ปาติโมกเข จะ สังวะโร
การสำรวมในปาฏิโมกข์
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
การนอนการนั่งในที่อันสงัด
อะธิจิตเต จะ อาโยโค
ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
เอตัง พุทธานะสาสะนัง
ธรรม ๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

(ที่มา : มหาปทานสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหา. ที.๑๐/๔๐/๔๕ , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ). คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา.)

อาจกล่าวได้ว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” สามารถจัดเข้าในด้านต่าง ๆ สามด้านของหน้าที่พระธรรมทูตด้วย ดังนี้

. ด้านบุคลิกภาพ พระธรรมทูตจะต้องเป็นผู้มีความอดทน ไม่แสดงกิริยาท่าทีอันจะทำให้เสียบุคลิกภาพ “ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง” เป็นผู้รู้จักข่มจิตใจการปฎิบัติหน้าที่ ไม่เห็นแก่ความยากลำบาก ยอมตรากตำทำงานเพื่อพระศาสนา

๒. ด้านคุณธรรม พระธรรมทูตจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมเป็นอุดมคติประจำตัว ซึ่งคุณธรรมลักษณะพื้นฐานของพระธรรมทูตในโอวาทปาฏิโมกข์ “การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว” ถือเป็นคติประจำตัวที่พระธรรมทูตไม่ทำบาปทั้งด้วยกาย วาจา และใจ เป็นผู้ทำแต่ความดี สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น เป็นผู้มีจิตใจเบิกบาน มีความเมตตาปรานีต่อทุกคน มีความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์

๓. ด้านการดำเนินชีวิต พระธรรมทูตจะต้องดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน มีชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นผู้สำรวมระวังในการบริโภค และการใช้สอยเสนาสนะ

ยกตัวอย่าง เช่น พระขทิรวนิยเรวตะ เป็นผู้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความสงัด ไม่เบียดเบียนใคร มีแต่แผ่เมตตาธรรมให้แก่บุคคลอื่น

เมื่อศึกษาถึงที่มาของการเผยแผ่ธรรมเพื่อความสันติของมวลมนุษยชาติที่ต้องอยู่ร่วมกันกับสรรพชีวิตทั้งสัตว์นานาชนิดและต้นไม้ พระพุทธองค์ทรงมอบหลักการปฏิบัติไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ ไม่เพียงสำหรับการเผยแผ่เท่านั้น หากยังเป็นหลักธรรมสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร หากมีหลักนี้ไว้ปฏิบัติก็จะเกิดความสงบเย็นในใจและยังเผื่อแผ่ความสงบเย็นนี้ไปยังผู้อื่นด้วย ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นพระธรรมทูตของพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน

เรียบเรียงจาก ดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “ประสิทธิผลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้” จากงานวิจัยของ พระมหาปรีชา สาเส็ง
และขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ ณ โอกาสนี้

พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

ตามรอยธรรม “พระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้ “(๒ )ความหมายของพระธรรมทูต และ “โอวาทปาฏิโมกข์” การเผยแผ่หลักธรรมแห่งการดำเนินชีวิตเพื่อความพ้นทุกข์ (ขออุทิศแด่… พระธรรมทูตอาสาที่ล่วงลับ ด้วยความเสียสละ) : จากงานวิจัยโดย พระมหาปรีชา สาเส็ง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here