เรียบเรียงจาก ดุษฎีนิพนธ์

เรื่อง “ประสิทธิผลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้”

จากงานวิจัยของ พระมหาปรีชา สาเส็ง
และขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ ณ โอกาสนี้

        ในตอนนี้ขออธิบายเรื่อง แนวคิด วิธีการ และเป้าหมายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตเป็นไปตามหลักพุทธโอวาท แสดงธรรมให้เหมาะสมกาลเทศะ มีเหตุผล แสดงธรรมด้วยจิตเมตตา โดยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ ไม่แสดงธรรมโดยยกตนข่มท่าน และไม่เสียดสีข่มขู่ผู้อื่น

เช่นเดียวกับเป้าหมายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตสายต่างประเทศ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลความสุขแก่บุคคลทั้งที่เป็นชาวพุทธและไม่ใช่ชาวพุทธ มุ่งที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคลในการดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง โดยใช้หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทางในการชี้นำบุคคลให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นศูนย์รวมจิตใจและกิจกรรมของชาวพุทธในต่างประเทศ โดยมีวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามรอยพระพุทธเจ้าเพื่อให้ประชาเข้าถึงการพึ่งตนพึ่งธรรมภายในตนให้ได้ เช่น สอนการรักษาศีล ฝึกสติในชีวิตประจำวัน สอนการทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบจนเกิดปัญญาในการเห็นสรรพสิ่งทั้งภายนอกและภายในกายใจตามความเป็นจริง คือ เห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง เห็นความทุกข์ จากความไม่ได้ดั่งใจ ความเจ็บป่วย เป็นต้น เห็นอนัตตา คือ ไม่มีสิ่งใดที่เราจะยึดไว้ได้เป็นของเรา

พระธรรมทูตในต่างประเทศยังคงรักษาจารีตการบิณฑบาตไว้ เพื่อโปรดญาติโยมให้เห็นคุณค่าของการให้ การใส่บาตรถือเป็นทานบารมีอันยิ่งใหญ่ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ตั้ง หรือการจัดกิจกรรมภายในวัด เช่น การจัดกิจกรรมปฎิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันสำคัญของชาติ การเทศน์ การปาฐกถา การเขียนบทความ การจัดสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น

การเผยแผ่พระพุทธศาสนานอกที่ตั้ง เช่น การสอน บรรยายธรรมในสถานศึกษา หรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่อยู่นอกวัด การใช้เทคโนโลยี สื่อสารมวลชน วิทยุโทรทัศน์ หรือการจัดกิจกรรมทางศาสนานอกวัด เป็นต้น การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบเครือข่าย เช่น การจัดกิจกรรมทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการ การส่งต่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสร้างเครือข่ายชาวพุทธทั้งฝ่ายฆราวาสและพระสงฆ์ (สมัชชาสงฆ์ไทย) (พระมหาสุริยา วรเมธี และพระสรวิชญ์ อ) ฉและพระสรวิชญ์ อภิปญฺโญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประยูร สุยะใจ, ๒๕๕๖)

วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามาช้านาน คือ นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท จากการเข้ามาเผยแผ่ของพระโสณะ และพระอุตตระ และนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานโดยได้รับอิทธิพลจากการที่ถูกขอมปกครองมาก่อนช่วงหนึ่ง แล้วกลับมาเป็นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกมาตั้งแต่ก่อนกรุงสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยรุ่งเรืองที่สุดในโลก และขยายไปยังต่างประเทศมากมาย มีชาวต่างชาติรอบวชในทุกประเทศที่พระพุทธศาสนาเดินทางจากแผ่นดินไทยไปถึง มีการศึกษาพระพุทธพจน์และการปฎิบัติธรรมอย่างแพร่หลายอีกทั้งมีการแปลในหลายภาษา พุทธศาสนิกชนมีจิตใจใฝ่ในการทำบุญ จนกล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดในปัจจุบัน

การเผยแผ่ของพระสงฆ์ในปัจจุบัน มีทั้งแบบเชิงรับ คือ ยึดถือกันมาเป็นประเพณี เช่น เทศน์สอนโยมที่วัด เป็นต้น และแบบเชิงรุก คือ ปรับให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ตรงกับความต้องการของผู้ฟัง เช่น จัดค่ายอบรมเยาวชน เป็นต้น ลักษณะของผู้เผยแผ่ มีทั้งแบบปัจเจกบุคคล คณะ และหน่วยงาน องค์กร การเผยแผ่ที่ทำเป็นหน่วยงาน หรือ องค์กร เช่น พระธรรมทูต ,หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงาน องค์กรเผยแผ่ต่าง ๆ ที่ฆราวาสเป็นผู้ดำเนินงาน เช่น องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะงานของพระธรรมทูต (ตอนต่อไป) พระธรรมทูตในประเทศไทย

ตามรอยธรรม “พระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้ “ ขออุทิศแด่… พระธรรมทูตอาสาที่ล่วงลับ ด้วยความเสียสละ : (๔) แนวคิด วิธีการ และเป้าหมายการเผยแผ่พระพุทธศาสนา :จากงานวิจัยโดย พระมหาปรีชา สาเส็ง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here