ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย

พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักของชาติ รัฐให้การสนับสนุน มีความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์มาแต่อดีต นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาได้รับการทะนุบำรุงและอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์เพราะเป็นศูนย์รวมศรัทธา เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน

การดำเนินชีวิตหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้ประชาชนในชาติมีความมั่นคงทางด้านจิตใจ สังคมมีความสงบสุขภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ สถาบันพระพุทธศาสนาได้รับการดูแลและอุปถัมภ์ภายใต้ระบบราชการ แต่ยังคงความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเหนียวแน่น ทั้งทางจารีตประเพณี และกฎหมาย (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยวอุปเสโณ) , ๒๕๕๔)

พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยที่มีความเชื่อ ศรัทธา และถือหลักปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาที่ซึมผสานอยู่ในความคิด จิตใจ และกิจกรรมทุกด้านขอวิถีชีวิตไทยสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จารีตประเพณีต่าง ๆ ของไทย ล้วนมีรากฐานจากคติความเชื่อ จากหลักพระพุทธศาสนา เช่น เทศกาลประจำปี วันสงกรานต์ วันลอยกระทง และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ราชการกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ และการนับศักราชจากราชการ คือ พุทธศักราชที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

สังคมไทยในอดีต มีพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจและสติปัญญาของชุมชน มีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีบทบาทในการให้การศึกษาทั้งทางด้านทั้งความรู้ ด้านศิลปวัฒนธรรม อาชีพ และการดำเนินชีวิต ทำให้สังคมไทยมีความเจริญมั่นคงมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้

ประชาชนไทยกว่าร้อยละ ๙๐ ยังคงนับถือพระพุทธศาสนา และรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา การรักษาและสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา จึงมีส่วนสำคัญที่บริษัทจะต้องถือเป็นหน้าที่และภารกิจที่จะต้องส่งเสริม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ทำหน้าที่ศึกษาและเผยแพร่หลักธรรมคำสอน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสัจธรรมความจริงด้วยตนเอง ผ่านการปฏิบัติขัดเกลาตนบนวิถีแห่งศีล สมาธิ และปัญญาในวิถีพุทธวิถีธรรมที่ร้อยไปกับการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอนบนหนทางแห่งสติ

การรับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของชีวิต จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราจะต้องประสบกับความสำเร็จและสูญเสีย ไม่ได้ดังใจหวัง ดีใจ เสียใจสลับกันไปตลอดเวลา สัจธรรมความจริงจะเตือนให้เราไม่ดีใจจนเหลิง และไม่เสียใจจนหลง เพราะทุกอย่างมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีอะไรที่เราจะยึดไว้เป็นของเราเลยสักอย่างเดียว แม้แต่ชีวิตของเรา วันหนึ่งก็ต้องคืนสู่ธรรมชาติ

เมื่อเราอยู่บนเส้นทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ ผ่านการสอนจากพระสงฆ์ และครูบาอาจารย์ที่ได้ปฏิบัติจนเห็นผล เราก็น้อมมาปฏิบัติที่กายใจของเราเอง จนกระทั่งเห็นตามความเป็นจริง เราจะปล่อยวางได้กับทุกเรื่องที่ประสบ ด้วยความเข้าใจถึงเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ และด้วยความเพียรอย่างต่อเนื่อง เราจะเกิดความเมตตาตนเองและผู้อื่นจนสามารถให้อภัยแก่ผู้ที่ทำร้ายเราได้ในที่สุด

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรมาทุกด้านอย่างอุกฤษฏ์เป็นเวลากว่าแปดหมื่นสี่พันอสงไขย์เพื่อดับทุกข์ในใจของพระองค์จนสำเร็จมาแล้ว การปฏิบัติที่ตัวเราก็เช่นกัน เมื่อเห็นทุกข์ กระทั่งทุกข์ไม่สามารถทำร้ายใจเราได้อีกต่อไป ก็จะยิ่งเพิ่มความศรัทธาในความเพียรต่อการฝึกตนเพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของชีวิต คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา

การเผยแผ่ธรรมจึงจำเป็นต้องมีพระสงฆ์เป็นผู้ทำหน้าที่ศึกษาและเผยแผ่หลักธรรมคำสอน ดังพุทธพจน์ที่พระบรมศาสดดามีพระปฐมวาจาแก่พระสาวก ๖๐ องค์ ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ว่า

“พวกเธอจงเที่ยวจาริกไป

เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนหมู่มาก

เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

จาก พระไตรปิฎกภาษาไทย วินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ข้อ ๓๒ หน้า ๔๙ – ๕๐

การประกาศเผยแพร่หลักพระพุทธธรรม มีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทยและความมั่นคงของชาติ สังคมไทยในอดีตชาวพุทธเข้าถึงหลักธรรมคำสอนโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจและได้เรียนรู้และการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนอย่างมั่นคง เป็นสังคมวิถีพุทธ ดำรงอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เพราะการเสียสละทุ่มเทชีวิต อุทิศเวลาในการประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้วยมองเห็นคุณค่า และความสำคัญของพระพุทธศาสนา

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมในอดีตนั้น พระสงฆ์ได้รับการศรัทธา ยกย่องเป็นปูชนีบุคคล และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ประชาชนชาวไทยจึงได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), ๒๕๕๐ ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ )

แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เกิดความรุนแรงอย่างน่าเป็นห่วงทางชายแดนใต้ของประเทศไทย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการก่อเกิด “พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้” ในเวลาต่อมา จากดำริของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

เรียบเรียงจาก ดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “ประสิทธิผลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้” จากงานวิจัยของ พระมหาปรีชา สาเส็ง
และขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ ณ โอกาสนี้

ตามรอยธรรม “พระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้ “(๑) พระพุทธศาสนาใต้ร่มพระบารมีแผ่ไพศาล (ขออุทิศแด่… พระธรรมทูตอาสาที่ล่วงลับ ด้วยความเสียสละ) : จากงานวิจัยโดย พระมหาปรีชา สาเส็ง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here