ดวงตาเห็นธรรม ที่ยโสธร
เขียนโดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ
กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
“เป็นหยังโครงการนี้ต้องออกไปหายามโยมนอกวัด?”
พระช่างสงสัยประจำโครงการถามถึงเหตุผลที่ต้องออกไปเยี่ยมโยมในหมู่บ้าน
“เพราะว่าเฮาบ่ได้บิณฑบาตเฉพาะในวัด”
พระอีกรูปที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ตอบขึ้น
“แล้วสิใช้หลักธรรมอีหยังในการไปยามโยมในบ้าน?”
พระช่างสงสัยรูปเดิมถามอีก ถึงหลักธรรมสำหรับการไปเยี่ยมโยมครั้งนี้
“กะพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นล่ะ”
พระรูปเดิมที่ตอบคำถามที่แล้วอธิบาย
“จักเป็นโตจั่งได๋ เมตตา ๆ เห็นแต่ว่ากันซื่อ บ่มีไผเคยเห็นจักเถื่อ”
พระช่างสงสัยพึมพำถึงคำตอบที่ได้มา ว่าเมตตาไม่รู้ว่าเป็นยังไง มีแต่พูดกันเฉย ๆ ไม่เห็นมีใครเคยเห็นว่าจริง ๆ แล้วเมตตาหน้าตาเป็นอย่างไร
“ไป ๆ ฟ้าวไป รถสิออกแล้ว”
พระเจ้าของคำตอบจูงมือพระเจ้าของคำถามไปขึ้นรถก่อนที่รถจะออก ซึ่งหมายความว่าจะต้องอยู่กัน ๒ รูปเพื่อรับผิดชอบความสะอาดทั้งหมดของห้องประชุม
เมื่อคณะสงฆ์โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เดินทางออกจากวัดไป ก็ได้พบกับคุณตาท่านหนึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้
“มื้อนี้พระมายามเด้อ”
พระเจ้าของคำตอบบอกเสียงดังว่ามีพระมาเยี่ยม
“ครับผม ไสล่ะพระ”
คุณตาถามเหมือนว่ามองไม่เห็นทั้งที่อยู่ไม่ไกลกันนัก
“นี่เด๋ พระกะยืนอยู่นี่ คือสิเหลียวบ่เห็น”
พระรูปเดิมย้ำว่าพระก็ยืนอยู่ตรงนี้ และอยู่กันหลายรูปด้วย
“โทษเด้อครับครูบา กระผมตาบอดเหลียวบ่เห็น”
พอคุณตาบอกเหตุผลว่าตาบอด พระทุกรูปก็เข้าใจ
“เอ๋า กะซั้นจะจับเบิ่งว่าแม่นพระบ่?”
พระช่างตอบจับมือพระช่างสงสัยใส่มือคุณตา
“เอ่อ บัดนี่แม่นอยู่ดอก แม่นพระอยู่”
คุณตาลูบ ๆ คลำ ๆ อยู่สักพักจึงยืนยันว่าคือพระจริง เพราะว่าเคยบวชแล้วพระก็ห่มจีวรแบบนี้
“ตาบอดมาสิบวชได้”
พระช่างสงสัยเริ่มยิงคำถามใส่คุณตาว่าตาบอดบวชได้อย่างไร
“ตอนบวชนั่นยังบ่ได้บอดครับครูบา มาบอดตอนซาวหกปีพี้”
คุณตาอธิบายว่าตอนบวชยังปกติดี แต่มาตาบอดตอนอายุ ๒๖ ปี
“เป็นตาเสียดายนำแท้ ได้เห็นโลกแค่ซาวหกปี”
พระช่างสงสัยพูดกับคุณตา ว่าน่าเสียดายที่ได้เห็นโลกแค่ ๒๖ ปี
“กะบ่เป็นตาเสียดายดอกครับ ได้เห็นโลกตั้งว่าซาวหกปี สิน่าเสียดายกว่านี้ถ้าผมตาบอดตั้งแต่เกิด บวชกะสิบ่ได้บวชนำเพิ่น”
คุณตาอธิบายว่าไม่ได้เสียดายเลย อย่างน้อยก็ได้เห็นโลกมาตั้ง ๒๖ ปี และยังมีโอกาสได้บวชอีกด้วย
“แต่ก่อนกะได้ไปวัดแหน่อยู่ครับ มีผู้พาไป เดี๋ยวนี้บางมื้อได้ใส่แต่บาตร บางมื้อกะบ่ได้ใส่”
คุณตาบอกว่าแต่ก่อนได้ไปวัด ตอนนี้ได้แค่ใส่บาตรเป็นบางวัน
“คะซั้นมื้อนี้พระสิมาใส่บาตรโยมเด้อ ไสล่ะมีบาตรบ่”
พระช่างตอบบอกคุณตาว่าพระจะมาใส่บาตรคุณตา ด้วยการนำของบิณฑบาตมามอบให้ เป็นการมาเยี่ยม มาตอบแทนที่ญาติโยมใส่บาตรให้ตอนเช้า แล้วหยิบถุงเครื่องอุปโภคบริโภคที่คณะทำงานไปรับบาตรมาจากบริษัท เอสแอนด์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดชลบุรี ส่งให้พระช่างสงสัยมอบให้คุณตา
“ขอบคุณเด้อครับครูบา มาเยี่ยมยามมีของมาฝากนำพร้อม ข้าน้อยดีใจหลายจนน้ำตาสิออก”
คุณตาจับมือพระช่างสงสัยแน่นแทนการขอบคุณ พร้อมบอกว่าดีใจมากจนน้ำตาจะไหล
“คั่นน้ำตาไหลได้ กะแสดงว่าเหลียวเห็นแล้ว ดีใจนำ”
พระช่างสงสัยตอบทันทีว่า ถ้าน้ำตาไหลได้ ก็ดีใจด้วยนั่นแสดงว่าตามองเห็นแล้ว
“เอาเด้อบาดนี่ พระสิผูกแขนให้”
พระช่างตอบเตรียมผ้าเหลืองที่ตัดมาพร้อมฝ้ายผูกแขนมาผูกแขนให้คุณตา
“เอาพระพุทธศาสนาผูกไว้ ให้มีใจมั่นเที่ยง ศีล ทาน ภาวนาอย่าเลี่ยง บุญเสบียงเจ้าให้สั่งสม”
พระช่างตอบผูกแขนให้คุณตา พร้อมบอกว่าผ้าเหลืองและฝ้ายผูกแขนแทนพระพุทธศาสนา ที่ผูกใจไว้ให้มั่นคงในศีล ทาน ภาวนา ให้คุณตาหมั่นสั่งสมบุญ
“มีฝ้ายยังบ่ ข้าน้อยอยากผูกแขนให้พระ พระที่ใส่บาตรข้าน้อยฮั่นแหม”
พระช่างสงสัยยืนฝ้ายผูกแขน พร้อมกับยื่นแขนให้คุณตาผูก
“เอาพระพุทธศาสนาผูกไว้ ให้หมั่นศึกษาธรรม น้อมนำคำสอน ตามองค์สัมมาเจ้า ให้ตอบแทนบุญข้าว เป็นนาบุญของไทเฮา ใจเจ้าให้มั่นแก่น ผ้าผูกแขนเอาไว้ ให้เจ้าครองตุ้มห่มผ้าเหลือง”
คุณตาผูกแขนแล้วอวยพรให้พระช่างสงสัยอยู่ในผ้าเหลืองต่อไป เป็นเนื้อนาบุญให้โยมนาน ๆ หมั่นศึกษาธรรมตามแนวพระพุทธเจ้า อย่าเพิ่งสิกขาลาเพศ แถมด้วยการสู่ขวัญตามทำนองอีสานชุดใหญ่
“อันนี้ค่าครูเด้อ พระให้เอาไว้ซื้ออีหยังกิน บ่ฮู้ว่าต้องบูชาคุณท่อได๋ ถ้าเหลือกะทอนคืนมาให้พระแล้วกัน ฮู้บ่ล่ะนี่ว่าแบงค์อีหยัง?”
พระช่างสงสัยหยิบปัจจัย ๑๐๐ บาทใส่มือให้เป็นค่าบูชาครูสู่ขวัญ แล้วบอกว่าไม่รู้ว่าต้องบูชาครูเท่าไหร่ถ้าเหลือก็ทอนมา พร้อมถามส่งท้ายว่ารู้ไหมว่าแบงค์อะไร?
“แบงค์ ๑๐๐ ครับครูบา”
คุณตาตอบทันที
“เหลียวบ่เห็นคือฮู้?”
พระช่างสงสัยแปลกใจว่ารู้ได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็น
“ครูบากะลองเอาแบงค์ ๑,๐๐๐ มาเบิ่งแม้ ว่าสิรู้บ่?”
คุณตาพูดพร้อมยิ้มกว้างว่า ถ้าอยากรู้ว่ามองไม่เห็นแล้วรู้ได้อย่างไร ก็ลองเอาแบงค์ ๑,๐๐๐ มาให้ดูสิ
“ข้าน้อยตาบอด แต่ว่ามื้อนี้ได้หน่วยตาแล้ว มีพระมาเป็นหน่วยตาส่องทางให้ ชีวิตข้าน้อยคือสิบ่มืดมนแล้วล่ะ มีบุญส่องทางแล้ว”
คุณตาบอกว่าวันนี้ดีใจ ที่มีพระมาเป็นดวงตาให้ ชีวิตต่อไปไม่มืดมนแล้ว มีบุญมีพระส่องนำทาง
หลังจากนั้นก็ไปเดินทางไปในบ้านอีกหลายหลัง จนตะวันบ่ายคล้อยค่อยได้กลับถึงวัด เสียงระฆังยามเย็น เป็นสัญญาณว่าจะต้องสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้ว
หลังจากทำวัตรสวดมนต์แผ่เมตตาเรียบร้อย ก็เป็นช่วงสรุปกิจกรรม
“ผมอยากฮู้ครับ ว่าเมตตามันเป็นโตจั่งได๋?”
พระช่างตอบถามขึ้นทันทีที่พระช่างสงสัยถือไมค์เตรียมสรุปกิจกรรม ว่าเมตตาเป็นตัวยังไง? ซึ่งเป็นคำถามของพระช่างสงสัยก่อนออกไปทำกิจกรรม
“เมตตาบ่ได้เป็นโตดอกครับ แต่เหลียวเห็นได้ เพราะว่าเป็นเมตตาธรรม กะคือการทำด้วยเมตตา เมตตานี่บ่แม่นหลักธรรม แต่ว่าเป็นหลักทำหลักเฮ็ด ทำโดยมีเมตตาเป็นหลัก แล้วกะใช้กรุณาซ่อยให้พ้นทุกข์ มุทิตาไว้ยินดียามเพิ่นมีความสุข พร้อมกับปลูกอุเบกขาวางใจไว้ให้เป็นกลาง จั่งซี้จั่งเอิ้นว่าพรหม เพราะว่าได้เฮ็ดได้ทำตามหลักพรหมวิหาร คือจั่งที่เฮาไปเยี่ยมโยมมื้อนี้ ตอนแลงหลังจากทำวัตรแล้วผมกะแผ่เมตตาให้โยมตาที่เพิ่นตาบอด เป็นดวงตา เป็นแสงสว่างแห่งบุญให้เพิ่น”
พระช่างสงสัยรับบทอธิบายว่า เมตตาธรรม คือทำด้วยเมตตา กรุณาช่วยให้พ้นทุกข์ มุทิตายินดียามมีสุข และปลูกอุเบกขาวางใจเป็นกลาง เหมือนกับที่ไปเยี่ยมโยมวันนี้ พร้อมทั้งบอกอีกว่าหลังจากทำวัตรก็แผ่เมตตาให้คุณตา เป็นดวงตา เป็นแสงสว่างแห่งบุญให้โยม นี่คือพรหม เพราะทำตามหลักพรหมวิหาร สิ้นเสียงคำอธิบายก็มีเสียงสาธุดังขึ้นพร้อมทั้งก้องห้องประชุมในวันนั้น
เสียงระฆังยามเช้าดังขึ้น เป็นสัญญาณว่าพระจะออกรับบิณฑบาต วิถีแห่งความงดงามในยามเช้าที่แสงทองของพระอาทิตย์สาดมาจับกับริ้วผ้าเหลือง เป็นสองแสงทองของรุ่งอรุณวันใหม่ ชาวบ้านนั่งเป็นแถวเรียงรายรอใส่บาตรคณะพระสงฆ์ มองไปเห็นคุณตานั่งรอใส่บาตรอยู่ไกล
“ขอจับเบิ่งแขนแหน่ครูบา”
คุณตาพูดหลังจากรับพรจบ พระช่างสงสัยเดินไปยืนแขนให้จับ
“ดีใจอยู่ดอก ครูบาที่ผูกแขนไว้มื้อวานนี้ยังบ่สึก นิมนต์บวชเป็นนาบุญ เป็นดวงตาให้โยมแหน่เด้อ”
คุณตาบอกว่าดีใจที่พระที่ผูกแขนไว้เมื่อวานยังไม่สึก และนิมนต์บวชเป็นเนื้อนาบุญและดวงตาให้โยมต่อไป
เสียงระฆังทำวัตรเย็นดังขึ้นอีกวัน ขณะที่คณะพระสงฆ์กำลังทยอยไปสวดมนต์ก็เห็นคุณตามีคนเดินนำเข้าประตูวัดมา
“เอาเงินทอนมาส่งพระติ?”
พระช่างสงสัยถามทักทายว่าเอาเงินทอนมาให้พระเหรอ?
“บ่มีแหล่วครูบาเงินทอน ซื้อยาเบิดแล้ว กับหลานมันขอไปโรงเรียน บ่พอดอก ได้จกถงตื่มใส่อีก”
คุณตาอธิบายว่าเงินไม่เหลือทอน เพราะซื้อยากับแบ่งให้หลานไปโรงเรียนหมดแล้ว ซ้ำเงินยังไม่พอต้องควักกระเป๋าเพิ่มอีก
“คือตกลงกันว่าให้ไปซื้อแนวกิน คือเอาไปซื้อยา”
พระถามเพราะเหมือนว่าคุณตาจะใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่ตกลงกัน
“ซื้อยากะซื้อมากินนั่นล่ะ ให้หลานไปโรงเรียนมันกะไปซื้อแนวกินนั่นล่ะครูบา”
ตาบอกว่ายาก็ซื้อมากิน ให้หลานไปโรงเรียนก็ไปซื้อของกิน
“เงินบ่พอสิเฮ็ดจั่งได๋ ต้องให้บูชาครูเพิ่มบ่?”
พระช่างสงสัยถามว่าถ้าเงินไม่พอ ต้องบูชาครูเพิ่มไหม?
“บ่ดอกครูบา มื้อนี้อยากมาสวดมนต์ บ่ได้มาวัดโดนแล้ว พาข้าน้อยไปสวดมนต์นำแหน่”
คุณตาบอกว่าไม่ต้องการเงินเพิ่ม แต่อยากมาสวดมนต์ คิดถึงวัด ไม่ได้มานานแล้ว
พระช่างสงสัยจูงคุณตาเดินขึ้นมาบนศาลา พร้อมจัดแจงที่นั่งให้นั่ง หาน้ำท่ามาให้คุณตาเผื่อว่าสวดมนต์แล้วจะคอแห้ง
“คือบริการกันดีแท้ บ่แม่นพอผูกเสี่ยวกันแล้วติ”
พระช่างตอบถามแซวว่าบริการดีขนาดนี้น่าจะผูกเป็นเสี่ยวกันไปเลย
“เพราะเคยเป็นผู้รับจากญาติโยมไง การเป็นผู้ให้จึงมีค่าอันหาประมาณมิได้”
พระช่างสงสัยตอบ ถึงจะออกสำบัดสำนวนไปสักหน่อย แต่คำตอบนั้นก็มิได้เกินไปจากความจริงเล
หลังจากจบโครงการก็เดินทางกลับมาสำนักงานที่กรุงเทพฯ ครูบาอาจารย์ท่านถามถึงโครงการที่ยโสธรว่าเป็นอย่างไรบ้าง ได้ผลบ้างไหม?
“โครงการที่ยโสธรเหรอครับ ได้ผลดีมาก โยมได้ดวงตา พระได้เห็นธรรม”
พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ
“ดวงตาเห็นธรรมที่ยโสธร” เขียนโดย พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ จากคอลัมน์ เย็นกายสุขใจ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑