ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๖ “เรื่องของกรณ์เพื่อนเลี้ยงควายฟากบุ่งของพ่อ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๓๖. เรื่องของกรณ์เพื่อนเลี้ยงควายฟากบุ่งของพ่อ
วัดทุ่งศรีเมืองในช่วงที่พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร)หรือที่ชาวอุบลเรียกท่านว่า “ญาถ่านดีโลด” ยังมีชีวิตอยู่ มีลูกหลานชาวอุบลจากหลายหมู่บ้าน ไปเรียนหนังสืออยู่กับท่าน หัวพ่อทันจากบ้านปากน้ำ พ่อของแม่ใหญ่ผิว พ่อใหญ่หยู่ก็ไปบวชเป็นพระอยู่วัดทุ่งศรีเมือง ท่านจึงเอากรณ์ หลานของท่านไปอยู่เรียนหนังสือที่วัดทุ่งศรีเมืองด้วย
กรณ์เป็นลูกแม่ใหญ่ผิว พ่อใหญ่หยู่ นานเดิ่นโนนจิก เคยเลี้ยงควายอยู่หัวบุ่งด้วยกันกับพ่อ
ตอนกรณ์ไปอยู่วัดทุ่งศรีเมืองกับหัวพ่อทัน คงจะมีเด็กวัดจากหมู่บ้านต่าง ๆ มาเรียนหนังสืออยู่มาก เด็กอยู่ด้วยกันก็คงหยอกล้อกันตามประสาของเด็ก
พ่อเล่าว่า อากาศหนาว ๆ ปีหนึ่ง กรณ์นั่งผิงไฟอยู่กับเพื่อน หยอกกัน แล้วล้มใส่กองไฟ เนื้อตัวเปื่อย ผุพอง รักษาไม่หาย เรียนหนังสือต่อไม่ได้ จึงกลับออกมาเลี้ยงควายอยู่หัวบุ่งด้วยกันกับพ่อ
อยู่ต่อมาแผลที่ถูกไฟไหม้ตามเนื้อตามตัวได้กลายเป็นขี้ทูด* (*ขี้ทูด คือ โรคเรื้อน) มือหงิกงอ นิ้วมือนิ้วเท้ากุด
พ่อกับกรณ์เป็นเพื่อนสนิทกัน เลี้ยงควายด้วยกัน นอนเกลือกกลิ้งกันอยู่ แต่พ่อก็ไม่ติดขี้ทูดจากกรณ์
พ่อบอกว่าที่พ่อไม่ติดขี้ทูดจากกรณ์ทั้งที่นอนเกลือกกลิ้งกันอยู่ กรณ์อาจจะไม่ได้เป็นขี้ทูดจริง ๆ บางทีอาจจะเป็นหนังด้านที่เกิดจากไฟไหม้ ตอนนั้นหมอรักษาเก่ง ๆ ก็ยังไม่มี เดี๋ยวก็เจอฝน เดี๋ยวก็เจอหนาว แผลไม่แห้งดีผิวหนังจึงแตก เกิดพุพอง น้ำเหลืองเยิ้มอยู่ตลอด คนจึงคิดว่าเป็นขี้ทูด พ่อนอนเล่นอยู่ด้วยกันจึงไม่ติด ถึงกรณ์มีลูกมีเมียแล้ว ก็ไม่มีใครเป็นขี้ทูด
ต่อมา ทางการตั้งนิคมขึ้นที่อำเภออำนาจเจริญให้เอาคนเป็นขี้ทูดไปอยู่รวมกันในนิคมนั้น แล้วแบ่งที่ทางให้ทำมาหากิน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคติดต่อ กรณ์จึงถูกนำตัวไปอยู่นิคมอำนาจเจริญ มีที่ทางให้ทำมาหากินอยู่ที่นั่น นาน ๆ กลับบ้านทีก็เอามันแกวมาฝากไทบ้านด้วย
กรณ์อยู่กินกับคนในนิคมอำนาจเจริญ ได้ลูกสาวคนหนึ่ง จึงเอามาให้แม่ใหญ่ผิวเลี้ยง จนออกโรงเรียนโตเป็นสาวจึงไปกรุงเทพ มีลูกมีผัวอยู่กรุงเทพ เจอพ่อทีไรก็เรียกพ่อลุง ๆ อยู่ตลอด
พ่อเล่าถึงกรณ์เพื่อนเลี้ยงควายหัวบุ่งของพ่อว่า
“บักกรณ์มันเป็นขี้ทูดแต่มันบ่ติดหมู่ พ่อนอนเกือกกันอยู่กะบ่ติด แต่กี้อีแม่*เพิ่นด๊าด่า! (*คือ แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม) บ่ให้ไปเล่นนำมัน ว่ามันเป็นขี้ทูด ย่านติดขี้ทูดนำมัน”
“แนวเลี้ยงงัวเลี้ยงควายอยู่นำกัน กะเล่นนำกัน นอนอยู่ไฮ่อยู่นาเกือกกันอยู่ มันกะบ่ติด”
“แต่กี้ บักกรณ์มันไปอยู่นำหัวพ่อทัน วัดท่ง(วัดทุ่งศรีเมือง) หมู่หยอกซุกมันใส่กองไฟยามหนาว ๆ บาดนี้ หมู่กะจับออก ของมันล้มใส่กองไฟ มันกะเลยมาเปื่อยออกนำตนนำโต ตีนกุดตีนปุ้มเข้า เป็นบาดเป็นแผลลามไป แต่ว่า เป็นบาดเป็นแผล ดีขึ้นแน่แล้วละ มันกะฮั่งไปเลี้ยงงัวเลี้ยงควายอยู่กับพ่อ”
“หัวพ่อทันเป็นพ่อแม่ใหญ่ผิว เอาหลานไปเรียนหนังสืออยู่วัดท่งนำ” พ่อพูดย้ำ
“บักกรณ์หมู่มันเป็นเจ้าเป็นนายหลายแต่คราวมันไปอยู่วัดท่ง มันฮู้จักกัน หมู่เฮียนหนังสือนำกัน แต่บักกรณ์บ่ได้เฮียนต่อ ย้อนหยอกกันกับหมู่ หมู่ซุกหัวมันใส่กองไฟ กะเลยได้ออกมาอยู่บ้าน มาเลี้ยงควายอยู่นำกันกับพ่อ ยามแล้งยามใจมันกะบ่ขึ้นบ้าน นอนอยู่แต่ท่งแต่นา เถียงแม่ใหญ่ผิว อยู่นาเทิงก่อนเถิงนากกจาน”
“ลางเถือมันกะไปนอนอยู่เถียงโนนจิก ข้างขุมดิน ข้วมฮ่องหัวแฮดไปกะเป็นโนนพระเจ้า
“มันนอนอยู่โนนจิกผู้เดียว แต่มันถืกเลขดี มันว่า ผีโตหนึ่งมาบอกเลขมัน”
“แต่กี้ บักกรณ์ มันไปนอนโนนจิกฝันถืกเลขดี”
“ต่อมา มันกะไปอยู่อำนาจเจริญ อยู่นิคมคนขี้ทูด เขาเอาคนเป็นขี้ทูดไปรวมกันไว้ ย่านมันเป็นโรคติดต่อคนอื่น เขากะมีดินให้เฮ็ด มันกะเฮ็ดกินเฮ็ดอยาก ปลูกมันแกว ปลูกสิ่งปลูกของหลายอย่าง ยามมันมา มันกะเอามาให้ไทบ้านกิน”
“บาดนี้พวกที่เป็นขี้ทูดอยู่นำกันกะเลยเอากัน ผู้หญิงที่เอากันกับบักกรณ์ ผัวเป็นขี้ทูด แต่เมียบ่ได้เป็น ผัวมาตาย อยู่ต่อมากะเลยเอากันกับบักกรณ์ ได้ลูกคนหนึ่ง มันเอามาให้แม่ใหญ่ผิวเลี้ยง มาเข้าโรงเรียนอยู่บ้าน”
“ไปวัดสระเกศปีนั้น พ่อกะจำบ่ได้ว่าไปงานหยัง มันยังมาเอิ้นใส่ “พ่อลุง ๆ” มันไปเอาลูกเอาผัวอยู่กรุงเทพ ออกโรงเรียนใหญ่เป็นสาวเป็นนางมา มันกะเลยหนีไปกรุงเทพกรุงไทย ไปได้ผัวอยู่กรุงเทพ พ่อไปกรุงเทพปีหนึ่ง ไปหาครูบาอยู่วัดสระเกศ เห็นมันมาหวัดดี มาเอิ้นใส่ “พ่อลุง ๆ พ่อกะพอจำมันได้แน่”
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๖ “เรื่องของกรณ์เพื่อนเลี้ยงควายฟากบุ่งของพ่อ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร