เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ใครจะรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะตายหรือไม่ ฯ”
(พระพุทธพจน์)
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๑ “นายฮ้อยวัว นายฮ้อยควาย” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๓๑ นายฮ้อยวัว นายฮ้อยควาย
วัวควายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่คนอีสานขาดไม่ได้ การมีวัวมีควายอยู่ในคอก นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการทำไร่ไถนาแล้ว จำนวนวัวควายในคอกยังบ่งบอกถึงสถานะทางครอบครัวอีกด้วย เวลาลูกออกเรือนไปมีครอบครัว ทรัพย์สินที่พ่อแม่จะให้ไปสร้างเนื้อสร้างตัว ก็คือวัวควายนี้เอง
การค้าขายวัวควายจึงเป็นหนึ่งในช่องทางทำมาหาเลี้ยงชีพของคนอีสาน
รูปแบบการค้าวัวค้าควายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผู้ที่ยึดอาชีพค้าวัวค้าควาย เรียกว่า “นายฮ้อยวัวนายฮ้อยควาย”
นายฮ้อยบางคนเดินทางค้าขายวัวควายข้ามจังหวัดจนชำนาญทางก็หันมารับจ้างคุมกองคาราวานเกวียนขนของไปขายข้ามจังหวัดห่างไกล ก็มี
ด้วยความที่นายฮ้อยเดินทางไปต่างถิ่น ต้อนวัวต้อนควายไปขาย ทำให้รู้จักภูมิประเทศและผู้คนมากมาย จึงกลายเป็นคนกว้างขวาง ชีวิตของนายฮ้อยจึงโลดโผน เต็มไปด้วยตำนานในการเดินทาง จนถูกนำมาเขียนเป็นนวนิยาย และถูกดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์หลากหลายเวอร์ชั่น
การค้าวัวค้าควายในยุคของพ่อ เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคนายฮ้อยต้อนวัวควายไปขายในรูปแบบของตา มาเป็นการเลี้ยงขาย ซื้อมาขุนให้อ้วนได้ราคาก็ขาย ซึ่งอยู่ในช่วงหลังพุทธศักราช ๒๕๑๔ เป็นต้นมา ส่วนใหญ่จะซื้อขายเงินเซ็น* (*เงินเซ็น คือ ติดเงินเอาไว้ก่อน) ตกลงราคากันได้ก็จูงวัวจูงควายไปเลย นัดจ่ายเงินอีกที ครึ่งเดือนก็มี เดือนหนึ่งก็มี บางทีจูงวัวควายกลับมาขายหมู่บ้านนั้นรอบใหม่ จึงจ่ายเงินกันก็มี
คงเป็นเพราะคนสมัยนั้นเป็นคนจริง เป็นคนตรง กล้าได้กล้าเสีย พูดคำไหนก็คำนั้น คนจึงไว้เนื้อเชื่อใจยอมให้เซ็นวัวเซ็นควายขายกันได้ โดยไม่ต้องมีสัญญิงสัญญาอะไร ใช้ใจเป็นสัญญาใจ
แม้เช่นนั้น การค้าขายด้วยเงินเซ็นก็จะอยู่ในหมู่ผู้ที่เคยค้าขายด้วยกันมาก่อน หากไม่เคยค้าขายด้วยกันมาก่อน ต้องมีนายหน้ารับประกัน หรือไม่ก็จะต้องวางเงินก่อนจึงจะจูงวัวไปได้
การจูงวัวจูงควายไปขายจากหมู่บ้านนี้ไปหมู่บ้านนั้น ราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามหมู่บ้านที่ไปถึง เช่น ซื้อจากหมู่บ้านนี้ราคาตัวละ ๕,๐๐๐ บาท พอจูงไปขายอีกหมู่บ้านหนึ่ง ผู้ขายก็จะเพิ่มราคาขึ้นเป็น ๕,๕๐๐ หรือ ๖,๐๐๐ บาท หรือมากกว่า แล้วแต่ว่าวัวควายตัวนั้นมีลักษณะดีแค่ไหน โครงวัวควายเป็นอย่างไร ซื้อไปขุนแล้วจะอ้วนพีได้ราคาดีหรือไม่
วัวควายบางตัวแห* (*แห คือ ไม่เชื่อง) เจ้าของจับเนื้อต้องตัวไม่ได้ ไม่รู้ภาษาคน กินฮั้วกินสวน ชนเจ้าของ ถีบเจ้าของ ไม่รู้ฮ่องรู้ฮอย ไม่รู้ซ้าย รู้ขวา ถึงเวลาเข้าแหล่งเข้าคอกก็ไม่รู้จักแหล่งจักคอก หากใครดูลักษณะวัวควายไม่เป็น หลงซื้อวัวควายแหมาก็จะขายต่อไม่ได้ราคา หรือขายไม่ออกก็ขาดทุน วัวควายตัวนั้นก็จะถูกให้เขาซื้อไปฆ่าขายเนื้อแทน
การรู้ลักษณะคุณและโทษของวัวควายจึงเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นนายฮ้อยวัวนายฮ้อยควาย ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ค้าขายขาดทุนได้ เวลาจะซื้อวัวซื้อควาย หากไม่มีความรู้ก็ต้องไปวานให้นายฮ้อยวัวนายฮ้อยควายมาช่วยดูให้
ด้วยความที่การค้าขายวัวควายเป็นช่องทางทำมาหาเลี้ยงชีพที่สร้างรายได้ดี ในแต่ละหมู่บ้านจะมีเฮือนที่มีเดิ่นบ้านกว้างขวางใช้เป็นที่ชุมวัวชุมควายของนายฮ้อยวัวนายฮ้อยควาย เจ้าของเฮือนก็มักจะเป็นคนกว้างขวาง พอนายฮ้อยวัวนายฮ้อยควายมาถึง เฮือนนั้นจะคึกคักเป็นพิเศษ จะมีการเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกัน สนุกสนานครื้นเครงจนดึกดื่น จะมีคนมาร้องทักทายถามขายวัวขายควาย บางคนก็จูงวัวจูงควายมาขายบ้าง มาเลือกซื้อวัวซื้อควายไว้ทำไร่ไถ่นาบ้าง
อยู่ได้สองสามวัน นายฮ้อยวัวนายควายก็จะไล่ต้อนวัวควายไปหมู่บ้านอื่น
พ่อใหญ่ดีจูงอยู่บ้านดงเจริญ เป็นนายฮ้อยวัวนายฮ้อยควายคนหนึ่ง ที่เคยซื้อขายวัวควายด้วยกันกับพ่อใหญ่เล็ด วงศ์หอม พ่อของแม่ ที่คนเรียกพ่อใหญ่ดีจูงเพราะพ่อใหญ่ดีค้าขายวัวควาย ซื้อวัวควายจากบ้านนี้ได้ ก็จูงไปขายบ้านโน้น คนเลยเรียกพ่อใหญ่ดีจูง
“พ่อเถ้าเพิ่นมีที่ดินหลาย ฟากซอยข้างเฮือนแม่ขอดพ่อหนูแดงออกไปหาทางใหญ่กะแม่นที่ของพ่อเถ้า อยู่ต่อมาเพิ่นให้พวกหาปลาท่ากกแต้มาปลุกเฮือนอยู่ เขากะพากันอยู่มาจนทุกมื้อนี้ สวนหลังเฮือนไปฮั่นพ่อเถ้าเพิ่นแบ่งโฉนดออกเป็นแปลง ๆ ให้ลูกคนละแปลง ผู้ขายกะมี ผู้ยุนเอานำพี่นำน้องกะมี”
ลุงดิษฐ์ วงศ์หอม พี่ชายของแม่อยู่บ้านหนองทามเล่าว่า พ่อใหญ่ดีจูงมีบ้านอยู่หลายหมู่บ้าน ทั้งบ้านดงเจริญ บ้านคำไฮใหญ่ และอีกหลายแห่ง พ่อใหญ่ดีไล่วัวไล่ควายไปขายตามหมู่บ้านต่าง ๆ แต่คนตั้งฉายาเป็นคำสร้อยต่อท้ายชื่อว่า “ดีจูง” จะได้จำง่ายเพราะคนชื่อดีมีกันหลายคน เพื่อให้จำกันได้ง่ายก็เลยต้องมีคำสร้อยเป็นฉายาต่อท้าย พอบอกว่า “ดีจูง” ก็หมายถึงพ่อใหญ่ดีที่ค้าวัวค้าควาย หรือพ่อใหญ่ดีที่เป็นนายฮ้อยวัวนายฮ้อยควาย
พ่อใหญ่ดีจูง เป็นเสี่ยว*กันกับพ่อ (*คือ พ่อใหญ่เล็ด วงศ์หอม) จูงงัวจูงควายไปขาย จะว่าจูงก็ไม่ใช่ ที่จริงไล่ต้อนไป แต่คนตั้งฉายาให้อย่างนั้น พ่อใหญ่ดีจูงค้าขายงัวค้าขายควายอยู่กับพ่อ เป็นเสี่ยวกัน ไล่ต้อนงัวไล่ต้อนควายไปขายตามหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้ พอมาถึงบ้านบาก ก็มาพักงัวพักควายอยู่เฮือนพ่อใหญ่เล็ด พอพ่อใหญ่ดีจูงมาเฮือน พ่อใหญ่เล็ดก็ซื้อเหล้าหงส์ทอง เหล้าแม่โขง ลาบเป็ดลาบไก่เลี้ยงกัน อยู่สองสามวันกะว่าไม่มีคนซื้อคนขายกันแล้ว ก็ไล่งัวไล่ควายไปบ้านอื่น
อยู่ต่อมา เมียพ่อใหญ่ดีจูง ชื่อว่า แม่ใหญ่เสริญ กินยาตาย เพราะน้อยใจว่า พ่อใหญ่ดีไปบ้านไหนก็มีเมียอยู่บ้านนั้น เพิ่นเลยน้อยใจกินยาตาย
ลุงดิษฐ์เล่าว่า ตอนนั้นที่ทางของพ่อใหญ่เล็ดยังกว้างขวาง เพราะยังไม่ได้แบ่งให้ลูก ๆ บ้านพ่อใหญ่เล็ดจึงมีเดิ่นบ้านและสวนกว้างขวางฟากบ้านพ่อหนูแดงออกไปจนถึงถนนอีกด้านหนึ่งก็ใช่ พ่อใหญ่ดีจูงจะเอาวัวเอาควายผูกไว้ที่สวนแล้วหาน้ำหาหญ้าให้กิน ใครจะซื้อใครจะขายก็มาที่นี่ พออยู่สองสามวันก็ย้ายไปหมู่บ้านอื่น เพราะย้ายไปหลายหมู่บ้าน พ่อใหญ่ดีจูงจึงมีเมียอยู่หลายที่
แม้ปัจจุบัน ยุคของนายฮ้อยในรูปแบบของตาจะสิ้นสุดลงแล้ว และการค้าขายวัวควายในยุคของพ่อก็กำลังจะหมดไป แต่วัวควายก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่คนอีสานขาดไม่ได้ เพราะวัวควายไม่ได้เป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นเพื่อนชีวิตของคนอีสานด้วย การค้าขายวัวควายจึงจะยังคงดำเนินต่อไป ในวิถีที่คนรุ่นนี้สร้างขึ้นในยุคของตัวเอง
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
“การมาของวัยชรา
ทำให้ร่างกายของโยมพ่อและโยมแม่
กลายเป็นที่ประชุมแห่งโรค
ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันสามัญของชีวิต
คงใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้า
การทำอะไรไว้เป็นเครื่องอนุสรณ์ถึง
ในขณะที่โยมทั้งสองยังรับรู้ได้
ชื่อว่าเป็นการสนองพระคุณในความกตัญญูอย่างหนึ่ง…”
ส่วนหนึ่งจากคำนำ
หนังสือ “ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน”
ญาณวชิระ
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๑ “นายฮ้อยวัว นายฮ้อยควาย” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร