ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๓๐ “เมื่อพ่อรู้จักเช็คเงินสดครั้งแรก” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๓๐. เมื่อพ่อรู้จักเช็คเงินสดครั้งแรก
เมื่อก่อนการค้าวัวค้าควายจะซื้อเงินเซ็นกันเป็นส่วนใหญ่ ตกลงกันได้ก็จูงวัวจูงควายไปเลย ตามแต่จะนัดจ่ายเงินกันวันไหน
คราวหนึ่งพ่อขายวัวเกวียนเงินเซ็นให้จ่าคำ ผู้ใหญ่บ้านปุ้ย นัดจ่ายเงิน ๒๐ วัน พอถึงวันไม่เห็นจ่าคำเอาเงินมาจ่าย พ่อต้องไปตามถึงบ้านโนนสิงไค เมืองเดชโน้นก็ยังไม่ได้เงิน เขาเลื่อนออกไปก็ใจไม่ดี กลัวถูกต้ม
จ่าคำเป็นญาติพ่อถ่าน (พระมงคลธรรมวัฒน์) เป็นลูกผู้ใหญ่บ้านปุ้ย ซุมแซงแม่ใหญ่คูณ ประสานพิมพ์ แม่พ่อถ่าน พอครบวันไม่เห็นจ่าคำเอาเงินมาจ่ายจึงต้องไปตาม พ่อบอกว่าเรื่องตามทวงหนี้ทวงสิน แม่ก็ตามดีเหลือเกิน ถึงแม้ต้องไปตามจากพวกนักเลงแม่ก็ไม่กลัว
พ่อเล่าว่าตอนขายงัวเกวียนเงินเซ็นให้จ่าคำ นัดกันว่าอีก ๒๐ วันจะเอาเงินมาจ่าย พ่อบอกจ่าคำว่า “เจ้าอย่าต้มข่อยใด๋ ข่อยแห่งทุกข์แห่งยาก ใช้แก่งัวแก่เกวียนเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียอยู่”
จ่าคำบอกว่า “เออ! กูบ่ต้มมึงดอกอีหนู บักเกิน กูฮู้จักมึงอยู่ดอกว่ามึงเป็นลูกผู้ใด๋”
พอครบ ๒๐ วันก็ไม่เห็นจ่าคำเอาเงินมาให้ ไปตามถึงบ้านโนนสิงไค เมืองเดชก็ไม่ได้ จึงให้อีพ่อ (*คือ พ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม) พาไปนั่งคอยเอาเงินอยู่บ้านสาวจันทีที่บ้านดงเจริญ เพราะบ้านอีกหลังของจ่าคำอยู่บ้านดงเจริญ ตรงข้ามกับบ้านสาวจันที ไปนั่งถ้านั่งคอยก็หลบหน้าหลบตา หิวข้าวหิวน้ำก็หิว คิดลุโตน*อีพ่อกะผ่องกัน(*ลุโตน หรือ ลุโตนซาด คือ สงสาร) พามาหิวข้าวหิวน้ำ สาวจันทีก็ว่า “พ่ออาวมากินข้าวกินน้ำก่อน” สาวจันทีเรียกให้กินข้าว
พ่อเล่าว่า สาวจันทีเป็นลูกย่านก พ่อสาวจันทีเป็นสายทางปู่กว้าง พ่อฝั้น ซุมเดียวกับอีพ่อ นามสกุล วงศ์ชะอุ่มเหมือนกันกับเรา แต่ออกเรือนมีครอบมีครัวแล้วจึงไปใช้นามสกุลอื่น สาวจันทีมีพี่น้องพ่อเดียวกัน ๓ คน คือ พ่อใหญ่สงค์ วงศ์ชะอุ่ม ย้ายไปอยู่วารินชำราบ แม่ใหญ่เจน ย้ายไปอยู่บ้านนาหว้า และสาวจันที อยู่บ้านดงเจริญ
ต่อมา ย่านกแต่งงานใหม่กับพ่อใหญ่โทน จึงได้แม่เนียงเป็นน้องต่างพ่ออีกคนหนึ่ง อยู่มาไม่นาน พ่อใหญ่โทนก็ไปบวชอยู่วัดป่ากับครูบาก็เคยอยู่ด้วยกัน แล้วย้ายไปอยู่ภูพาน สกลนคร ตอนให้อีพ่อพาไปตามเงินจึงไปคอยที่บ้านสาวจันที
สาวจันทีบอกว่า “พ่ออาว แกงหน่อไม้ใส่แต่เกลือ บ่ได้ใส่ปลาแดกขี้ร้า” พ่อก็ไม่รู้รส กินแต่พอให้ทุเลาหิว ส่วนในใจก็ว้าวุ่นอยู่ว่าจะไม่ได้เงินค่าวัว
วันนั้น พ่อกลับมาบ้านตัวเปล่า ไม่ได้เงินค่าวัว อีพ่อก็ว่าให้* ขายวัวไม่ได้เงิน ก็พลอยเป็นทุกข์เป็นร้อนไปด้วย (*ว่าให้ คือ ต่อว่าต่อขาน,ตำหนิ)
รุ่งขึ้นตื่นเช้ามา แม่รู้ว่าพ่อไม่ได้เงินค่าวัวก็กระมังกะมอ*แต่งตัวจะไปตามเงินเอง (*กะมังกะมอ คือ กุลีกุจอ ) ก็พอดีเขาเอาเงินค่างัวมาให้ ๑๕,๐๐๐ บาท ลูกจ่าคำเป็นคนเอามาให้บอกว่า “เมื่อวานผมว่าจะเอาเงินมาให้แต่รถไปเหยียบตะปูอยู่หัวตะพาน ต้องเอารถไปเปลี่ยนล้อ จึงมาไม่ได้”
หลังจากซื้อขายวัวกันคราวนั้นแล้ว พ่อก็ไม่ได้เห็นจ่าคำอีกเลย ได้ยินว่าไปบวช ต่อมา เห็นจ่าคำมาเฮือนแม่ใหญ่คูณ ประสานพิมพ์ แม่พ่อถ่าน พอจ่าคำเห็นพ่อก็หัวเราะฮ่า ๆ ใส่ บอกว่า “โอ้! เกินมาคือได้ขี่รถคันงามแท้”
ตอนนั้น พ่อซื้อรถมอเตอร์ไซค์ อาร์ จี วี คันใหญ่รุ่นแรก ๆ ที่ออกมา พ่อจึงตอบไปว่า “บ่งามคือรถพ่อถ่านดอก”
พ่อปรารภถึงความหลังว่า ตอนนั้นจ่าคำไม่ได้คิดจะต้มตุ๋นดอก คงเห็นว่าพ่อกับแม่ทุกข์ยากหรือไม่ก็คงเห็นว่า พ่อกับแม่อยู่ใกล้พี่ใกล้น้อง เพราะเฮือนแม่ใหญ่คูณ แม่ย่านก ปู่โทนก็เกี่ยวข้องเป็นญาติพี่น้องกัน
ต่อมา พอคนรู้ว่าพ่อกับแม่ได้เงินค่างัวเกวียนจากจ่าคำ เห็นคนมาตามเอาเงินเต็มไปหมด แต่ก็ไม่มีใครได้เงิน ไล่วัวไล่ควายไปขายเป็นหมู่เป็นฝูงก็ไม่ได้เงิน คงถูกต้ม หรือไม่จ่าคำก็หมุนเงินไม่ทัน พอต้มเขาแล้ว ไม่ยอมจ่ายเงินค่าวัวค่าควาย ก็คงหนีหายหน้าหายตาไป ต่อมา เห็นว่าไปค้าขายทองกลับมาร่ำรวยมีเงินมีทองอีก ตอนหลังจึงบวช มาเจอกันอีกทีตอนบวชเป็นพระแล้ว
ยุคนั้น การจ่ายเงินซื้อขายด้วยเช็คเงินสดคงเพิ่งเข้ามาบ้านเรา ชาวบ้านก็ยังไม่มีใครรู้จัก ผู้คนจึงกลัวกันว่าจะถูกต้มถูกตุ๋น พ่อเองก็ไม่รู้จักเหมือนกัน ตอนนั้น ใครซื้อขายวัวควายจ่าคำก็จะเขียนเช็คให้เขา บอกว่า “เอาไปขึ้นเงินที่ธนาคาร” ทีแรกจ่าคำจะเขียนเช็คให้พ่อเหมือนกัน บอกว่าให้ไปขึ้นเงินที่ธนาคาร แต่พ่อไม่รู้ว่าเช็คเป็นแบบไหน พ่อไม่เอาเพราะไม่มีความรู้ กลัวถูกต้ม ส่วนแม่ก็ว่า “เช็คเชิคอิหยัง บ่เอา ๆ” พ่อกับแม่ไม่มีความรู้เรื่องเช็ค รู้แต่เรื่องเงิน จะค้าขายสิบหมื่นสิบพันก็ว่าไป พ่อจึงไม่เอา บอกจ่าคำว่าจะให้เอาเกี้ยเอากระดาษไปแลกเอาเงินพ่อทำไม่เป็น กระดาษมันจะเป็นเงินได้อย่างไร จะซื้อจะขายก็เอาเงินซื้อขายกัน จึงตกลงว่าให้จ่ายเป็นเงิน
ตอนไปตามเงินค่าวัวรอบแรก พ่อไม่เจอจ่าคำ แต่ได้เจอเมียจ่าคำ เมียจ่าคำก็บอกอีกว่า เอาเช็คนี้ไปเบิกเอา พ่อไม่เอา บอกว่าเบิกก็ไม่รู้จะเบิกยังไง รู้จักแต่เงินจึงขอให้จ่ายเป็นเงิน
พ่อเล่าถึงความหลังเมื่อครั้งสู้ทุกข์สู้ยากกับแม่ว่า ช่วงนั้นแม่ก็สู้ทุกข์สู้ยากเหลือเกิน ทุกข์ก็สู้ด้วยกัน ปั่นจักรยานไปหาซื้อวัวซื้อควายตามหมู่บ้านต่าง ๆ ไกลแค่ไหนก็ไปกัน จนถึงบ้านหนองแล้ง หนองเลิ้งโน้น พอซื้อได้ก็ให้แม่ไล่วัวไล่ควายย่างกลับมา (*ย่างกลับ คือ เดินกลับ) บางทีก็ไล่ลัดผีป่าช้า ส่วนพ่อต้องค่อย ๆ ปั่นจักยาน ตามหลังมา ต่อมามีมอเตอร์ไซค์ก็ขับมอเตอร์ไซค์ตามหลัง เพราะแม่ขับมอเตอร์ไซค์ไม่เป็น
อีกอย่าง สมัยนั้นยังไม่มีรถรับจ้างขนส่งเหมือนทุกวันนี้ ซื้อขายกันเสร็จได้วัวได้ควายก็ต้องไล่เดินกลับมา แม่บอกว่า “โอ้ย! จักแม่นอีหยัง ให้ไล่งัวไล่ควายผ่าผีปะหลอก ผีป่าช้า” ตอนนั้น แม่ก็ยังแข็งแรง ไม่เหนื่อยง่ายเหมือนทุกวันนี้ พ่อไปซื้อวัวซื้อควายไกลแค่ไหนแม่ก็ไปด้วย
เมื่อก่อนมีแต่นักเลงวัวนักเลงควาย ต้องเอาใจซื้อใจ ใครอยากได้ตัวไหนคู่ไหนก็ซื้อเงินเซ็นเอาไว้แล้วจูงไปเหมือนอ้ายพรหม* (*อ้ายพรหมคือ พ่อพรหม ธาระวงศ์) อยากได้ตัวไหนก็ไปจูงมาล้ม พอขายเนื้อได้ ก็เอาเงินไปจ่ายคืนเขา เวลานักเลงซื้อวัวซื้อควายเซ็นไว้ ไม่เอาเงินมาจ่ายตามนัด แม่ก็ตามเขาดีเหลือเกิน
ตอนนั้นจะซื้อจะขายวัวควาย ซื้อด้วยเงินเซ็นกันทั้งนั้น แต่ทุกวันนี้ ไม่มีใครกล้าทำแล้วเพราะรู้ทันกันหมด คนต้มตุ๋นกันมากจึงต้องระวังตัว ชีวิตพ่อโชกโชนกับวัวกับควายมาพอสมควร ต้องอดทนสู้ทุกข์สู้ยากมาด้วยกันกับแม่ อยากได้เหมือนเขาไม่หามันก็ไม่ได้ ไม่ทำมันก็ไม่มี
“เห็นเขามีกะอยากมีนำเขา บ่เฮ็ดบ่สร้างมันกะบ่มี เห็นเขาได้กะอยากได้นำเขา บ่เฮ็ดบ่ทำมันกะบ่ได้ คันบ่เฮ็ดบ่สร้าง เห็นเขามีกะได้แต่แนมเบิ่งเขา”
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร