แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๐ “ฝังสายแฮ่ครูบาที่นาหัวบุ่ง”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒๐
ฝังสายแฮ่ครูบาที่นาหัวบุ่ง
ถึงเดือนเมษายนดอกจานแดงเต็มต้น หัวบุ่งยามนี้ เปลวแดดเป็นตัวเต้นยิบ ๆ ลมหัวกุดหอบเฟืองแห้งขึ้นบนอากาศ ดอกสะแบงปลิดปลิวหมุนคว้างสุดแรงลม ตกลงกองทับถมกันแดงเต็มพื้น มวลความเงียบเหงาแผ่ปกคลุมไปทั่วทุกผืนนา เดินไปทางไหนก็ได้กลิ่นใบไม้แห้งโชยติดจมูก หน้าแล้งกลับมาเยือนบุ่งสระพังอีกปีแล้ว
คนนาหัวบุ่งมีนาไกล เช้าต้องเมือนา* (*เมือนา คือ ไปนา) พอตกเย็นก็ต้องกลับขึ้นบ้าน ไล่วัวไล่ควายเทียวไปเทียวมาอยู่อย่างนี้ทุกวัน ผ่านมาหลายชั่วอายุคน จนทางเป็นโสก* (*โสก คือ ทางเป็นหลุม)
คนมีนาไกลไปมาลำบากจึงต้องมีเกวียนเอาไว้เทียวนา
แต่ถึงแม้จะมีเกวียนก็ไม่ใช่ว่าจะขับเกวียนเทียวนาทุกวัน หากไม่ขนข้าวของหรือขนฝุ่นไปใส่นา* (*ฝุ่น คือ ปุ๋ยคอก) ก็จะไม่เอาเกวียนไปนา ต่างคนต่างเดิน ไล่วัวไล่ควายตาม ๆ กันไป
บางคนก็มีรถซุก พอได้ซุกข้าวซุกของไปนาไปไร่* (*รถซุก คือ รถเข็น)
ตื่นเช้ามาได้ยินเสียงไก่ขัน ลุกนึ่งข้าวเป่าไฟอย่าให้ทันมีแดด ต้องไล่วัวไล่ควายออกจากคอกเมือนา ก่อนครูบาตอกโปง พ่อแม่ ปูย่า ตายาย สอนกันมาอย่างนั้น
ส่วนคนที่ไม่อยากเทียวไปเทียวมาทุกวัน ไม่ทันทำมาหากินก็นอนนา ตื่นมาก็ลงบุ่งลงท่า หาบน้ำฮดฮั้วฮดสวนตั้งแต่เช้ามืด จะขึ้นบ้านทีก็ต่อเมื่อมีงานบุญเท่านั้น (*ฮด คือ รดผัก รดสวน)
การนอนนาเป็นเรื่องปกติของคนมีนาไกล การปลูกเถียงนาให้เหมือนบ้านจึงเป็นสิ่งจำเป็นของคนนอนนา
คนหัวบุ่งที่นอนนาประจำ ทางท่ากกแต้ก็มีเถียงนาพ่อใหญ่โง่น ท่าซาละวันมีเถียงนาพ่อใหญ่โทน ทางด้านโนนจิกมีเถียงนาพ่อใหญ่เขี่ยม และพ่อใหญ่หยู่ โนนชาดมีเถียงนาพ่อใหญ่พวง ถัดขึ้นไปเป็นเถียงนาแม่ใหญ่ยืน ส่วนนาเทิงมีเถียงนาพ่อใหญ่ทา หัวนาแหลมขึ้นไปหาหนองพิลาศจึงเป็นเถียงนาพ่อใหญ่เบย แม่ใหญ่คำมี กำไรงาม และเถียงนาพ่อบุญสร้อย
หัวบุ่งในหน้าแล้งจะดูเงียบเหงากว่าปกติ คนหาปลา เลี้ยงวัว เลี้ยงควายตามบุ่งก็ลดน้อยลง แต่ก็ยังมีคนขึ้นลงอยู่ไม่ได้ขาด ตามหัวไร่ปลายนาไม่มีอะไรทำเพราะแห้งแล้งมาก แดดเป็นตัวเต้นยิบ ๆ อยู่ตามคันนา ตามก้อนหินแฮ่ เดินไปไหนมาไหนก็เหยียบแต่ใบไม้แห้งกร๊อบแกร๊บ ยิ่งดอกสะแบงถูกแดดเผาแห้งกรอบเกรียม ปลิวตามลมแล้ง และดอกจานกลางท่งบานแดงเต็มต้นก็ยิ่งทำให้หน้าแล้งดูโหยแห้งเข้าไปอีก
คนหมดงานในนาจึงอยู่บ้าน ต่ำสาด ตีนุ่น ยัดเสื่อ ยัดหมอน ไว้ใช้ จะได้ไม่ว่าง แต่ถ้าใครปลูกถั่วปลูกแตง เอาไว้ตามเตาถ่านเตาคี ตามรั้วตามสวนพอได้เก็บกิน เช้าก็หาบครุมาตักน้ำรดถั่วรดแตงเย็นก็กลับบ้าน
พ่อใหญ่จะจักตอกสานครุ สานกระบุง สานกะต่าให้ลูกหลานใช้ บางวันก็นั่งหนีบตะกั่วซ่อมตีนมอง ซ่อมเผือกอยู่ใต้ฮ่มคร้อ ฮ่มดู่ ส่วนแม่ใหญ่ก็เข้าเหล่าเข้าดอนหาขี้ขอนดอก หาขี้ยางมาทำกะบองไต้ตอนกลางคืน (*กะบอง คือ ขี้ไต้) และเอาไว้ให้ลูกหลานทำเชื้ออ่อยไฟ ดังไฟนึ่งข้าว (*อ่อยไฟ คือ เป็นเชื้อไฟ *ดังไฟ คือ ก่อไฟ)
ส่วนวิธีทำกะบองนั้น พ่อใหญ่จะใช้ขวานบากโคนต้นยางนาออกเป็นโพรงให้แม่ใหญ่สุม*เอาขี้ยาง(*สุม คือ เผา,รน) เวลาตักขี้ยางแม่ใหญ่จะเอาไฟสุมในโพรงไม้ยางก่อน แล้วทิ้งไว้ระยะหนึ่งรอให้ขี้ยางออก จึงเอาเสียมเหี้ยนไปซัวะขี้ยางแล้วเอาเปลือกหอยอีหมอตักใส่ครุคอนมาคลุกกับขี้ขอนดอก แล้วใช้ไฟอุ่น ๆ คั่วในกระทะแตกหรือหม้อนึ่งบุบ ให้น้ำขี้ยางซึมเข้าไปในเนื้อขี้ขอนดอก เวลาจุดจะได้ติดไฟง่าย ถ้าขี้ขอนดอกใหญ่ไปก็เอาใส่ครกกระเดื่องที่หัวเถียงนา ต่ำให้แหลกก่อนจึงค่อยคลุกกับน้ำขี้ยาง
จากนั้นจึงเอาใบตองกุงใบตองชาดพันให้เป็นท่อนเท่าแขน ยาวราวศอกหนึ่งมัดด้วยตอกที่พ่อใหญ่จักไว้ แล้วจึงเอากะบองแต่ละอันมัดรวมกันไว้เป็นลึม ๆ* ลึมหนึ่งมี ๑๐ อัน เก็บไว้จุดให้แสงสว่างยามกลางคืน หากมีคนถามซื้อก็ขาย (*ลึม คือ คำเรียกมาตรานับกะบองที่มัดรวมกัน หนึ่งลึมมี กะบอง ๑๐ อัน)
เวลาไต้กะบองต้องเสียบที่โฮงกะบอง ขี้กะบอกจะได้ตกลงในโฮง ไม่ไหม้แป้นไหม้เถียงนา ไต้ไปจนกะบองก้อมเข้าแล้วค่อยเอาก้นไปอ่อยไฟนึ่งข้าว
ถ้าเผาเอาขี้ยางในหน้าฝน หากกลัวว่าน้ำฝนจะไหลเข้าปากโพรงต้นยางไปผสมกับขี้ยางทำให้ได้น้ำยางไม่ดี พอเผาเสร็จก็ต้องเอาใบตองกุงปิดเอาไว้ก่อน
หอยน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่
เป็นหอยหายาก
พบมากในบุ่งสระพัง และแม่น้ำมูลบางจุด
พูดถึงเปลือกหอยอีหมอที่แม่ใหญ่ใช้ตักขี้ยาง เป็นหอยน้ำจืดขนาดใหญ่ ราวอุ้งฝ่ามือ โดยมากจะพบในบุ่งสระพัง ในน้ำมูลมีพบบ้างแต่ก็น้อย แม่ใหญ่จะเก็บเปลือกไว้ใช้ประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะเอาไว้ตักขี้ยาง
พอย่างเดือนหกฝนลงถี่เม็ดเข้าหน้านา ต้องรีบไถฮุดนาตกกล้า ต้องเร่งดกกล้าดำนา* ก็เตรียมข้าวของนอนนากันทุกเถียงจะได้ดำนาทันฟ้าทันฝน พอดำนาเสร็จ ฝนก็เร่งถี่มาจนน้ำล้นคันนา ต้นข้าวก็ยืดตัวตั้งตรงเขียวเต็มท่ง ยามแลงลงก็อาบน้ำข้างคันแทนา ฟังเสียงเขียดจ่านาร้องออดแอดระงมท่ง จนถึงเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง หัวลมอ่วยข้าวเหลืองได้เวลาเกี่ยว หัวบุ่งก็กลับมาครึกครื้นไปด้วยลูกหลานเต็มไร่เต็มนาอีกครั้ง (*ดกกล้า คือ ถอนกล้า)
พ่อใหญ่ แม่ใหญ่เป็นคนขยัน จิตใจสะอาด ไม่ว่าจะเป็นหน้าไหนฤดูใดก็นอนนาเป็นประจำ จึงทำเถียงนาให้เป็นเหมือนบ้าน วัวควายก็ทำคอกเอาไว้นา ค่ำมาก็เอาขอนไม้สุมไฟอูดยุง*ให้ผายหนี พอให้ควายได้นอน(*อูดยุง คือ สุมไฟไล่ยุง,อูดหนู สุมไฟไล่หนู)
พ่อเล่าว่า ตอนครูบายังเด็กก็นอนนาอยู่กับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ ไม่ได้ขึ้นบ้านเลย จนคนล้อครูบาว่าเป็นคนป่าคนดอน เห็นคนแปลกหน้าก็กลัว คราวหนึ่งอาวดีจากเมืองเดชมาเยี่ยมพี่สาว*(*คือ แม่ใหญ่จูม ) ครูบาอยู่เถียงนาคนเดียว เห็นอาวดีเป็นคนแปลกหน้าเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน จึงวิ่งเข้าไปแอบอยู่ในป่าหัวเถียงนา อาวดีต้องเรียกออกมาให้ไปบอกแม่ใหญ่ว่าอาวดีมาเยี่ยม
เถียงนาหลังเก่าอยู่ฮ่มม่วงน้อย นาลุ่ม ถัดฮ่มม่วงน้อยขึ้นไป เป็นต้นมะขามหวาน ตามรั้วเต็มไปด้วยต้นเล็บแมว อีกด้านยังเป็นดงมีป่าบักนัด* (*บักนัด คือ ป่าสัปรด) และกอไผ่ใหญ่
คนลือกันว่าเป็นดงจงอางใหญ่ แต่ก็ไม่มีใครเคยเห็นตัว ผู้ใหญ่มักจะสอนว่า งูจงอาง งูทำทานมันจะออกมาหากินขี้กะบอง เวลาไต้กระบองตามป่าตามดง ถ้าขี้กะบองหล่นลงพื้นต้องเขี่ยดินถมดับไฟ ไม่อย่างนั้นงูจงอางงูทำทานมันจะมากินขี้กะบอง มันจะตอด*เอาได้ (*ตอด คือ ฉก)
ที่จริง ผู้ใหญ่คงกลัวไฟลุกลามไหม้ป่าจึงสอนให้ดับไฟทุกครั้งที่เขี่ยขี้กะบอง แต่ไม่สอนตรง ๆ
วันไหนพ่อไม่อยากไล่ควายแม่ลูกอ่อนขึ้นบ้าน เพราะสงสารลูกควายต้องเดินไกล พ่อจะเอาใบไม้อุดขอควายไว้แล้วแอบจูงเข้าไปผูกซ่อนไว้ข้างกอไผ่ใหญ่ในดงหมากนัด พ่อจะบอกควายว่านอนอยู่เงียบ ๆ เบิ่งลูกให้ดี ตื่นเช้ามาพ่อจะรีบลุกมาปล่อยตั้งแต่เช้ามืด
ต่อมา พ่อใหญ่เมฆ แม่ใหญ่มิ่ง ซึ่งเป็นตาทวดยายทวด แบ่งที่แบ่งทางให้ลูกหลาน ต่างคนต่างทำมาหากิน ที่ดินตรงนั้นตกเป็นส่วนของย่าสี แล้วตกทอดต่อมาเป็นของป้าจิต ราว พุทธศักราช ๒๕๑๔ พ่อใหญ่ พ่อใหญ่ แม่ใหญ่จึงย้ายเถียงมาปลูก*อยู่ นาทามน้อย(*ปลูก คือ สร้าง) รอบเถียงนาเต็มไปด้วยป่ากล้วย นุ่น บักนาว บักเว่อ บักเขียบ บักม่วง บักขาม เครือมันอีก่ำ หรือมันข้าวก่ำ
อยู่ต่อมา เถียงที่นาทามน้อยหลังเดิมอยู่ต่ำ ถูกน้ำท่วมบ่อย พ่อใหญ่จึงย้ายเถียงนาหนีน้ำปลูกให้สูงขึ้นไปอยู่ตีนเหล่าหัวนา* (*เหล่า คือ ไร่ซึ่งอยู่ที่ดอนขึ้นไป) แล้วก็อยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ผ่านมาร่วม ๕๐ ปี ลูกหลานยังซ่อมแซมเถียงนารักษารอยมือรอยเท้าพ่อใหญ่แม่ใหญ่เอาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม
พ่อบอกว่า ตอนครูบาคลอดก็คลอดที่เถียงนาหลังนี้ พ่อใหญ่แม่ใหญ่บอกว่า คนนี้เป็นหลานชาย ให้แม่ใหญ่คูณ ผู้ใหญ่บ้านชิด บุญเย็น ตัดสายแฮ่* (*สายแฮ่ หรือ สายบือ คือ สายสะดือ) จะได้ใจเย็นเหมือนแม่ใหญ่คูณ พอคลอดออกมาเห็นสายแฮ่พาดบ่า แม่ใหญ่คูณบอกว่า
“สายแฮ่พาดบ่าคือกันกับผ้าสังฆาฏิครูบา
หลานคนนี้คือสิได้บวชเป็นญาครู ญาซา”
(*ญาครู ญาซา คือ จะได้บวชเป็นพระจนได้ฮดสรง)
ตามความเชื่อของคนอีสาน ผู้ที่จะทำหน้าที่ตัดสายแฮ่แผ่สายบือ ต้องเลือกคนที่มีจิตใจดี ลูกหลานจะได้มีลักษณะนิสัยใจคอเหมือนคนที่ตัดสายแฮ่
จากเหล่าจากดอนกลายเป็นสวนยางพารา มาวันนี้ (พุทธศักราช ๒๕๖๕)ไฟฟ้าเข้าถึงไร่ถึงนาทุกที่ ไม่ต้องเข้าป่าหาขี้ยาง ขี้ขอนดอกทำกะบองจุดไฟอีกแล้ว ถนนหนทางก็ไปมาสะดวก หน้าฝนไม่ต้องเดินลุยหล่มลุยโคลน หน้าแล้งไม่ต้องเดินฝ่าดินทรายร้อน ๆ รถปิกอัพ รถมอเตอร์ไซค์วิ่งสวนกันขึ้นลง จนเป็นปกติ ลูกหลานต่างพากันออกไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา เป็นบ้านเป็นเรือนกันทุกที่
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร