วันนี้วันพระ
วันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙
เรียนรู้วิถีบ้าน พระ ชุมชนของคนจริง แห่งลุ่มน้ำ“บุ่งสะพัง”
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๑๒ “น้ำท่วมนาหาปลาแลกข้าว” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๑๒
น้ำท่วมนาหาปลาแลกข้าว
นาใกล้บุ่งมักถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นจะท่วมน้อยหรือท่วมมาก ปีไหนน้ำบุ่งไม่ท่วมนาก็โชคดีไป พอมีข้าวใส่เล้าได้อุ่นใจ แต่ก็แทบจะนับปีได้ที่น้ำไม่ท่วม ข้าวจึงมักขาดเล้าอยู่เป็นประจำ
บางปีทำนาไปน้ำก็ท่วมหมดทุกไฮ่ ได้แต่ยืนมองยอดข้าวสะบัดตามแรงน้ำ เมื่อไม่ได้ข้าวก็ต้องขึ้นเหล่าขึ้นดอน ขุดมันมาต้ม มาหมก ต้องขุดกอยลงแช่น้ำแก่ง* (*น้ำแก่ง คือ น้ำท่วม) ให้ยางกอยจืดแล้วเอามานึ่งกินพอประทังหิว
คนหัวบุ่งมีนาใกล้น้ำเหมือนจะมีความสุข ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ต้องทุกข์เพราะนาใกล้น้ำ หน้านาแต่ละปีเห็นน้ำมูลหนุนสูงขึ้น ใจเต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ไม่รู้ว่า น้ำจะท่วมนาไหม
พ่อเห็นความทุกข์ยากจากการมีนาน้อย แถมนายังใกล้บุ่ง ได้ข้าวเปลือกไม่พอขวบปี ปีที่น้ำท่วมมากก็แทบจะไม่ได้ข้าวเลย พ่อกับแม่ต้องเผาถ่านขายหาเงินซื้อข้าวกิโลเลี้ยงลูก หมื่นละ ๖๐ – ๗๐ บาท ปีข้าวแพงก็ตกหมื่นละ ๑๐๐ บาท ต่อมา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ได้ฝุ่นใส่นา ได้ข้าวเพิ่มมาเก้าเกวียนสิบเกวียน จึงไม่อดอยาก
ถึงพ่อใหญ่แม่ใหญ่ก็ไม่ต่างกัน บางทีลูกหลานต้องชวนกันไปช่วยดำนาเกี่ยวข้าวกับพี่น้องที่เมืองเดช จะได้แบ่งข้าวมาใส่เล้าเอาไว้
บางปีข้าวกำลังมาน* (*มาน คือ ข้าวกำลังตั้งท้อง) ใกล้ออกรวง น้ำท่วมก็มี บางปียิ่งน่าเหลืออกเหลือใจ ข้าวกำลังเหลืองเต็มท่ง ยังไม่ทันได้เกี่ยว น้ำบุ่งก็มาท่วม บางปีก็จำใจลุยน้ำเก็บเกี่ยว พอได้ข้าวขึ้นมาบ้าง
ทางนาดงบะเฮนก็ท่วมเหมือนกัน ลุงดิษฐ์ วงศ์หอม บ้านหนองทาม พี่ชายของแม่ เล่าว่าที่ดินฟากฮ่องนั้นพ่อใหญ่เล็ดซื้อมาจากพ่อใหญ่เสริฐ ปีไหนน้ำมากน้ำจะบ่าจากมูลท่วมฟากฮ่อง น้ำชลประทานไหลลวด*ใส่กันกับน้ำบุ่ง (*ไหลลวด คือ ไหลบ่าเชื่อมถึงกัน) ท่วมนาหมด ยังเหลืออยู่แค่โนนสะคาม โนนยาง และโนนชาดเท่านั้นเพราะเป็นโนนสูง
พ่อเล่าว่า ปีหนึ่งข้าวกำลังเหลืองใกล้จะได้เกี่ยว น้ำบุ่งขึ้นเอา ๆ วันละศอก ๆ ตื่นเช้ามาไม่มีอะไรถามกัน นอกจากถามว่า วันนี้ น้ำขึ้นกี่ศอก สุดท้ายท่วมนาหมดทุกไฮ่ ทั้งนาทามน้อยของแม่ใหญ่และนาลุ่มของพ่อ ขึ้นไปทางโนนจิก โนนชาดก็เหมือนกัน ข้าวที่กำลังจะได้เกี่ยว ต้องจมน้ำ ไม่เหลือแม้แต่ไฮ่นาเดียว มองไปทางไหนก็เห็นแต่น้ำแก่งขาวเป็นผืน
ปีนั้น พ่อเห็นแม่ใหญ่ยืนมองน้ำแก่ง อยู่ฮ่มคร้อ ร้องไห้น้ำตาไหลหย่วย ๆ* ก็นึกสงสารแม่จนทุกวันนี้ (*ไหลหย่วย ๆ คือ น้ำตาไหลพราก ๆ เป็นทาง)
พ่อใหญ่ต้องหาปลามาตากแห้ง และทำปลาย่างให้แม่ใหญ่ไปแลกข้าว แม่ใหญ่ต้องหาบปลาไปเดินแลกข้าวตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่มีนาโคก นาดอน ต้องหาบไปถึงบ้านกระโสบ บ้านคำไฮ ต้องลงเรือไฟไปขึ้นแลกข้าวที่บ้านนาหว้า โพธิ์ศรี เมืองพิบูลฯ แล้วก็ไปหาพี่น้องที่เมืองเดช ตอนนั้นน้องยังเล็ก (*คือ น้าเวิน) ขาก็ไม่ดี ยังไม่หย่านม แม่ใหญ่ต้องเอาน้องไปด้วย พ่อต้องตามแม่ใหญ่ไปอุ้มน้อง แม่ใหญ่หาบปลาใส่บ่าเดินนำหน้า ส่วนพ่อก็อุ้มน้องเดินตามหลัง
พ่อเล่าว่า พอไปแลกข้าวที่เมืองเดช บ่าวดีน้องชายแม่ใหญ่ ไปซื้อที่ดินมีครอบครัวอยู่บ้านนาโพธิ์ เมืองเดช เห็นพี่สาวลำบากลำบนไม่มีข้าวก็ให้ข้าวมากินเป็นเกวียน ๆ
ต่อมา ทางการมาทำคลองส่งน้ำที่ท่ากกแต้ก็ดีขึ้นบ้าง น้ำท่วมนาปีก็ยังได้ทำนาปัง สลับกันไป แต่ก็ยังขาดเขิน
ในการทำนาแต่ละปี หลังเก็บเกี่ยวเสร็จ ก่อนจะตีข้าว ต้องคัดพันธุ์ข้าวปลูกเอาไว้หว่านกล้าในฤดูถัดไป ประมาณ ๒๐ – ๓๐ มัด วิธีคัดพันธุ์ข้าวปลูก ต้องเลือกแกะเมล็ดข้าวดูทีละรวงว่าข้าวในแต่ละมัด มีข้าวหมาแงง*ปนอยู่หรือไม่ ถ้ามีข้าวหมาแงงปนต้องคัดออก เพราะเป็นข้าวแข็ง เอาไว้ทำพันธุ์ข้าวไม่ได้ (*ข้าวหมาแงง ออกสีแดง เป็นข้าวแข็ง ไม่นิ่ม ทานไม่อร่อย) พ่อเห็นความทุกข์ยากลำบากจากการมีนาน้อย ไม่มีข้าวในเล้า ต้องซื้อข้าวกิโลเลี้ยงลูก เวลาแม่ตักข้าวสารจากโอ่งนึ่งกินแต่ละวัน ต้องคอยวัด คอยตวงว่า ยังเหลือข้าวสารอีกเท่าไหร่ ยังพอนึ่งกินได้อีกกี่วัน จึงจำใจขายนาดงบะเฮนของแม่ ขวนขวายไปหาซื้อนาโคกอยู่บ้านคำหนามแท่ง ตาลสุม
ถึงแม้จะอยู่ไกลจากบ้าน ยังเป็นโคกเป็นดง ไม่มีผู้คน แต่ก็ได้นาหลายไร่มากขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงน้ำท่วม ปีหนึ่งได้ข้าวหลายสิบกระสอบ มีข้าวไว้เต็มเล้า อยากกินเท่าไหร่ก็กิน จึงค่อยดีขึ้น
พ่อเล่าว่า พี่น้องบางคนไม่เข้าใจ นึกเคืองว่าพ่อขายมรดกแม่กิน แต่ความจริงแล้วพ่อดิ้นรนหนีความอดอยากทุกข์ยาก เพราะเคยเห็นความทุกข์ยากลำบากจากการไม่มีข้าวในเล้า ต้องซื้อข้าวกิโลกินพ่อจึงมักพูดว่า
“มีหยังกะบ่คือมีข้าวอยู่เล้า มีของอยู่เฮือน
มีข้าวอยู่เล้า มีของอยู่เฮือน มีเงินอยู่ในกระเป๋าแล้ว มันสำบายใจ”