ก่อนจะอ่านบทความนี้อยากขอให้ย้อนกลับไปอ่าน ๔ ตอนที่ผ่านมาในคอลัมน์นี้ เพราะจะทำให้อ่านบทความนี้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาตมาได้เขียนบทความต่อเนื่องมาเป็นตอนที่ ๕ แล้ว ได้กล่าวถึงประเด็นมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อได้รับการประกันตัว ยังมีความชอบด้วยพระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมืองที่จะใส่จีวรได้ตามปกติเสมือนพระสงฆ์ทั่วไป เพราะยังมีสถานะเป็นพระภิกษุสมบูรณ์ทุกประการดังที่ได้กล่าวใน ๔ ตอนที่ผ่านมา
จิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ
และวิเคราะห์ฎีกา ๖๗๘๒/๒๕๔๓ กรณีลาสิกขาต่อหน้าพระพุทธรูป
พร้อมเสนอการแก้ไขปัญหา ม. ๒๙ พรบ คณะสงฆ์ ๒๕๐๕
โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์
ติดตามได้ในคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์
นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒
สำหรับเหตุการณ์จับอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมถอดจีวรโดยที่ท่านไม่ได้กล่าวคำลาสิกขาแล้วส่งท่านเข้าเรือนจำ โดยที่คดีทางโลกยังไม่ถึงที่สุด คดีทางธรรมก็ยังไม่วินิจฉัย ยิ่งทำให้ประโยคที่ว่า “พระสงฆ์ถูกละเมิดสิทธิ” ตอกย้ำให้ชัดขึ้น เพราะในวงการคณะสงฆ์มีการพูดอยู่เสมอว่าเมื่อบวชมาแล้ว บางครั้งก็ถูกกระทำเสมือนพระภิกษุไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเอาเสียเลย
ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมก็เหมือนตำแหน่งรัฐมนตรีฯ เราเคยเห็นปรากฏการณ์รัฐมนตรีฯ ๓ คนถูกแจ้งจับพร้อมกันแล้วไม่ให้ประกันตัวส่งเข้าเรือนจำหรือไม่ ปรากฏการแบบนี้ไม่มีเลย หรือแม้แต่คนที่ถูกกล่าวหาทุจริต ฟอกเงิน ฉ้อโกงฯ หลายร้อยล้าน พันล้าน ตามที่เห็นในข่าวหลายครั้งก็ยังได้รับการประกันตัวให้ไปพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลตามรัฐธรรมนูญ
แต่การปฏิบัติต่ออดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ทั้ง ๓ รูป ถ้าเทียบเคียงในข้อเท็จจริงที่เหมือนกัน แต่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในตอนนี้อาตมาจะได้กล่าวถึง ๓ ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง จิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ คือ มุ่งคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม กล่าวคือ มาตราของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมในการได้รับการประกันตัว ไม่ใช่จับถอดจีวรโดยไม่กล่าวคำลาสิกขาแล้วส่งเข้าเรือนจำอย่างที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้ หรือเมื่อได้รับการประกันตัวความชอบธรรมในการใส่จีวร จากหนังสือ “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร”
มาตรา ๔ วรรคแรก “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” วรรคสอง “ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตาม รัฐธรรมนูญเสมอกัน” ความมุ่งหมายคือ กำหนดหลักประกันเพื่อคุ้มครองความ เท่าเทียมกันของบุคคล สิทธิและ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลและปวง ชนชาวไทย
มาตรา ๒๙ วรรคสาม “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้ กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด มิได้” ความมุ่งหมายคือ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลใน กระบวนการยุติธรรมทางอาญา
มาตรา ๖๗ วรรคแรก “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครอง พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น” วรรคสอง “ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน…และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้ พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย” ความมุ่งหมายคือ กำหนดหลักการในเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐและพระพุทธศาสนาและ ศาสนาอื่น
อดีตกรรมการมหาเถรสมาคมพร้อมเจ้าคุณอีกหลายรูปย่อมได้รับความคุ้มครองในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เสมือนประชาชนทั่วไปอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ตามมาตรา ๔
แม้ว่าจะถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาแต่ถ้าคดียังไม่ถึงที่สุดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าท่านคือผู้บริสุทธิ์และห้ามปฏิบัติกับท่านเสมือนผู้กระทำความผิด ตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง และในรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๖๗ ยังได้บัญญัติเฉพาะเจาะจงในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกว่ารัฐต้องคุ้มครองและปกป้องพระพุทธศาสนา
ดังนั้น อาตมาเห็นว่าอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมพร้อมเจ้าคุณอีกหลายรูปไม่ควรถูกปฏิบัติด้วยวิธีการจับถอดจีวรโดยไม่กล่าวคำลาสิกขาและส่งเข้าเรือนจำ หรือเมื่อได้รับการประกันตัวก็ย่อมมีสิทธิใส่จีวรได้ตามปกติวิสัยเหมือนพระสงฆ์ทั่วไปได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๔ มาตรา ๒๙ วรรคสอง ประกอบกับมาตรา ๖๗
ในประเด็นนี้เมื่อไปค้นดูข้อเท็จจริงเทียบเคียงกัน ปรากฏว่าโทษหนักกว่านี้ ความเสียหายมากกว่านี้ ยังได้รับการประกันตัว ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมกับเจ้าคุณอีกหลายรูป อาตมาจึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกลไกหรือบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา หรือเป็นกระบวนการมุ่งทำลายตัวบุคคลในคณะสงฆ์ หรือไม่
ประเด็นที่สอง วิเคราะห์ฎีกา ๖๗๘๒/๒๕๔๓ กรณีการลาสิขาต่อหน้าพระพุทธรูป เหตุผลที่อาตมายกฎีกานี้ขึ้น เพราะมีคนบางกลุ่มได้นำฎีกานี้มาเทียบเคียงกรณีของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมว่าเมื่อได้รับการประกันตัวแล้ว ไม่มีสิทธิใส่จีวร เพราะความเป็นพระหมดไปแล้ว ซึ่งฎีกานี้กับข้อเท็จจริงของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมมันคนละประเด็นกันเลย
สาระสำคัญของฎีกานี้คือ พระภิกษุต้องสละสมณเพศตามมาตรา ๒๙ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงกลับมาใส่จีวรอีกจึงไม่ผิดตาม ปอ.มาตรา ๒๐๘ เพราะขาดเจตนา ยังเข้าใจว่าตนยังไม่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ซึ่งในฎีกานี้จะกล่าวมีอยู่ ๒ ประการ
ประการที่หนึ่ง ฎีกานี้มันคนละข้อเท็จจริงกับกรณีของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เพราะฎีกานี้ได้มีการให้พระภิกษุนั่งต่อหน้าพระพุทธรูป พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรับรู้ด้วย และให้กล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระพุทธรูปบนโรงพัก ส่วนข้อเท็จจริงของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม คือ ท่านถูกจับถอดจีวรโดยไม่ได้กล่าวคำลาสิกขา แล้วใส่ชุดขาวเข้าไปอยู่ในเรือนจำ จึงไม่สามารถนำฎีกานี้มาเทียบเคียงเพื่อไม่ให้อดีตมหาเถรสมาคมใส่จีวรไม่ได้
ประการที่สอง ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา อาตมาไม่เห็นด้วยกับฎีกานี้ในประเด็นเรื่องการลาสิกขา กล่าวคือ ตามฎีกานี้ได้นำพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาไปหาเจ้าอาวาส แล้วเจ้าอาวาสไม่ทำการลาสิกขาให้ จึงนำตัวมาที่โรงพัก ให้พระภิกษุกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระพุทธรูปโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยานและรับรู้ด้วย ในฎีกานี้ได้อธิบายไปอีกว่าได้ทำตามกระบวนของพระธรรมวินัย ได้กล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าผู้รู้ความ กล่าวคือ กล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าผู้มีสติรู้ได้ถึงความหมายของคำกล่าวลาสิกขานั้น
การลาสิกขาในฎีกานี้ถือว่าเป็นการสละสมณเพศตามกฎหมาย (ม.๒๙) และเป็นไปตามกระบวนการของพระธรรมวินัย แต่การลาสิกขาดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามจารีตของคณะสงฆ์ หรือวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของสังคมไทยที่ถือปฎิบัติกันมาแต่โบราณกาล เพราะในทางคณะสงฆ์ในบริบทของสังคมไทยยึดถืออยู่ ๓ หลักการใหญ่ด้วยกันคือ พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง
เพราะในทางจารีตคณะสงฆ์ เวลาทำการลาสิกขาจะกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุด้วยกันเท่านั้น การทำการลาสิกขาต่อหน้าฆราวาส ไม่นับว่าเป็นการลาสิกขาตามจารีตคณะสงฆ์ไทย ซึ่งเรื่องนี้อาตมาได้อธิบายไว้ในบทความก่อนหน้านี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว
และไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา คือ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เหมือนกันว่า
“ในประเทศไทยถือกันมาว่า การลาสิกขาจะทำต่อหน้าพระภิกษุด้วยกันเท่านั้น จะทำต่อหน้าฆราวาส เช่น ตำรวจ หรือบุคคลอื่นใด ไม่นับว่าเป็นการลาสิกขา ก่อนลาสิกขาต้องแจ้งพระอุปัชฌาย์ให้อนุญาตก่อน ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่อยู่ก็เป็นอาจารย์ผู้ปกครอง ถ้ามิเช่นนั้น ก็ถือว่าหนีสึก เอาผ้าจีวรไปฝากไว้ตามเจดีย์ ตามต้นโพธิ์”
สำหรับข้อดีของประเด็นนี้คือพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาได้สละสมณเพศมาตรามาตรา ๒๙ เพื่อดำเนินตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และได้ทำตามขั้นตามพระธรรมวินัย
แต่ผลกระทบที่ตามมาจะเป็นเหมือนที่ได้เคยอธิบายไว้ในบทความก่อนหน้านี้คือคณะกรรมาธิการที่ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ ได้กล่าวไว้ในชั้นกรรมาธิการเกี่ยวกับมาตรา ๒๙ นี้ว่า “ผมเป็นห่วงอยู่ว่า ตามที่ท่านประธานร่างมานั้นพนักงานสอบสวนมีอำนาจมากเกินไป ผมอยากจะขอให้ลดลงอีก” ซึ่งจะทำให้ฆราวาสทำการลาสิกขาพระภิกษุได้ และเป็นการเปิดช่องโหว่ให้พระสงฆ์ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งเห็นได้จากอดีตที่ผ่านมากรณีของพระพิมลธรรมที่ถูกกลั่นแกล้งตามมาตรา ๒๙ นี้ และที่สำคัญเป็นการทำลายจารีตสงฆ์ และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยให้สูญสิ้นไป
อาตมาตั้งคำถามง่าย ๆ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ท่านที่เคยอุปสมบทเวลาท่านจะลาสิกขาท่านกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าหมู่สงฆ์หรือต่อหน้าฆราวาส ?
ประเด็นที่สาม เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
มาตรา ๒๙ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ นี้ จากที่อาตมาเขียนมาจนถึงตอนนี้จะกล่าวถึงเพียงแต่ปัญหาการบังคับใช้ที่เกิดจากมาตรานี้เท่านั้น แต่ถ้ามองอีกมุมมาตรานี้ก็มีจุดดีที่เกื้อกูลพระธรรมวินัยเหมือนกัน เช่น ให้พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาต้องสละสมณเพศ ซึ่งในทางพระธรรมวินัยหากพระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยก็มีบทลงโทษถึงขั้นให้ลาสิกขาเช่นกัน แต่มันเกิดปัญหาตรงที่การดำเนินกระบวนการของเจ้าหน้าที่เท่านั้นคือคดีทางโลกก็ยังไม่ถึงที่สุด คดีทางธรรมก็ยังไม่ตัดสิน แต่ก็ให้สละสมณเพศเสียแล้ว
หรือมาตรา ๒๙ ได้ให้อำนาจเจ้าอาวาสสามารถนำตัวพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาไปอยู่ในความอารักขาของตนเองได้ในฐานะผู้ปกครอง หรือเป็นพระอาจารย์ ซึ่งวิถีเช่นนี้ก็สอดคล้องกับทางปฏิบัติของพระธรรมวินัยที่ให้ไปอยู่ในความดูแลของอุปัชฌาย์หรือผู้เป็นพระอาจารย์ แต่ปัญหามันเกิดตรงที่มาตรานี้ดูเหมือนจะให้เจ้าอาวาสขอตัวพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาไว้ได้ แต่สุดท้ายผู้ที่จะตัดสินใจว่าให้สละสมณเพศหรือไปอยู่ในความอารักขาของเจ้าอาวาส คือพนักงานสอบสวนแต่เพียงผู้เดียว
และข้อดีอีกประการหนึ่งของมาตรานี้คือ พระภิกษุผู้ถูกกล่าวหาสามารถขอประกันตัวได้ตามมาตรานี้ เพียงแต่เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เท่านั้นเอง ซึ่งอาตมาจะขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของมาตรา ๒๙ มีดังนี้
๑. เสนอแนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย โดยไม่ต้องไปยุ่งยากในการแก้ไขเนื้อหาของมาตรานี้ คือ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม พนักงานสอบควรใช้ดุลยพินิจให้พระภิกษุได้รับการประกันตัว หรือให้ไปอยู่ในความอารักขาของเจ้าอาวาส เมื่อคดีถึงที่สุดหรือทางคณะสงฆ์ได้ตั้งคณะพระวินัยธรขึ้นมาเพื่อวินิจฉัย ถ้าปรากฎว่าพระภิกษุรูปนั้นกระทำความผิดจริงก็ให้ลาสิกขาและรับโทษตามนั้น
แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าเห็นได้ชัดเจนมีหลักฐานพยานพร้อม และความผิดนั้นเป็นอาญาแผ่นดิน หรือเป็นความผิดปาราชิก ตรงนี้อาตมาเห็นด้วยที่พนักงานสอบสวนจะใช้ดุลยพินิจให้พระภิกษุรูปนั้นลาสิกขาตามมาตรา ๒๙ แต่ก็ควรนำพระภิกษุรูปนั้นไปพบเจ้าอาวาสเสียก่อน พนักงานสอบสวนไม่ควรที่จะดำเนินการโดยพลการ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๗/๑ ให้สิทธิผู้ถูกจับขอเจอใครก่อนก็ได้
การให้ไปพบเจ้าอาวาสเพื่อให้ท่านได้สอบถามพระภิกษุรูปดังกล่าวว่าได้ทำผิดจริงไหม หรือย่างไร เป็นการปิดช่องโหว่ในกรณีที่เจ้าหน้าที่อาจจะใช้อำนาจตามอำเภอใจให้พระภิกษุรูปนั้นลาสิกขาก็ได้ พร้อมให้เป็นไปตามครรลองคลองธรรม จารีตอันดีงามของคณะสงฆ์และสังคมไทย
๒. เสนอแนวทางที่แก้ไขปัญหาระยะยาว คือ แก้ไขเนื้อหามาตรา ๒๙ นี้เพื่อลดอำนาจของพนักงานสอบสวน ปิดช่องโหว่การใช้อำนาจตามอำเภอใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๕๐๕ นี้ ซึ่งอาตมาสนใจเนื้อหาใน ร่าง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับมหาคณิสร (ตอนนี้ค้างอยู่ในสภา) ได้ร่างมาตรานี้ วางแนวทางการดำเนินการไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
“พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด หรือผู้บังคับบัญชาเหนือตน แล้วแต่กรณี รับมอบตัวไว้ควบคุม
ถ้าเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด หรือผู้บังคับบัญชาเหนือตน ไม่ยอมรับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนและเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด หรือผู้บังคับบัญชาเหนือตน แล้วแต่กรณี เชื่อว่าพระภิกษุรูปนั้นจะหลบหนี หรือพระภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
การสละสมณเพศตามความในวรรคก่อน เมื่อปรากฏว่าพระภิกษุรูปนั้นมิได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาและในระหว่างเวลาที่ถูกให้สละสมณเพศยังปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมวินัยให้ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นไม่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ”
หรือควรมีคุกสงฆ์หรือไม่ กล่าวคือ ไม่ใช่รูปแบบคุกหรือเรือนจำที่เราเข้าใจกัน แต่ควรเป็นสถานที่สักแห่งที่สับปายะเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม อาจจะเป็นตามป่าเขาที่ไหนสักแห่ง เป็นสถานที่กักบริเวรสำหรับพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาแต่ไม่ได้รับการประกันตัว เมื่อศาลตันสินคดีถึงที่สุดว่าท่านผิดก็ค่อยให้ท่านลาสิกขาไปรับโทษเข้าเรือนจำตามปกติ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับหลักการทางพระพุทธศาสนาว่าด้วยเรื่องของปริวาสกรรม (เป็นสถานที่กักบริเวรในกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวเท่านั้น แต่เมื่อต้องรับโทษจริงก็ลาสิกขาเข้าเรือนจำตามปกติ)
และถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะมีศาลสงฆ์ ที่ไว้ตัดสินคดีเฉพาะข้อพิพาททางพระพุทธศาสนาเท่านั้น ให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทางพระธรรมวินัย และกฎหมาย ได้ทำงานร่วมกันเพื่อระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นในทางพระพุทธศาสนา
เรื่องคุกสงฆ์หรือศาลสงฆ์ในสังคมไทยก็ได้มีการพูดกันในวงวิชาการมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นสักที และถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมาทำวิจัยศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อนำมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียที
ในประเด็นเรื่องศาลสงฆ์นี้ อาตมาเห็นว่าถ้าไม่สามารถมีศาลสงฆ์ได้ ก็ให้มีในรูปแบบคณะกรรมการก็ได้ หรือนำกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม ซึ่งมีตั้งแต่ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฏีกา มาพัฒนาต่อยอดให้เป็นรูปธรรมและให้กระบวนการทำงานเข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะเป็นตอนสุดท้ายที่กล่าวถึงมาตรา ๒๙ นอกจากจะมีประเด็นไหนโผล่ขึ้นมา ทำให้สังคมเกิดความสับสน อาตมาถึงจะย้อนกลับมาเขียนในประเด็นนี้อีก เพื่อเป็นการให้ความรู้และถอดบทเรียนให้สังคมได้เรียนรู้ไปด้วยกัน และอาตมาขอสรุปจบมาตรา ๒๙ ด้วยนิทาน เรื่องดังต่อไปนี้
“มีอาจารย์ท่านหนึ่งสอนวิชาดีดลูกกวาดให้กับลูกศิษย์ และลูกศิษย์คนนี้ร่ำเรียนจนเชี่ยวชาญและเก่งในวิชาดีดลูกกวาด อาจารย์จึงปล่อยให้ลูกศิษย์กลับบ้านเพื่อไปทำมาหากิน เมื่อลูกศิษย์คนนี้กลับถึงบ้าน จึงเกิดอาการร้อนวิชา อยากลองวิชาที่ตนเองร่ำเรียนมา แต่ก็ยังหาที่ลองวิชาดีดลูกกวาดไม่ได้
หากจะลองวิชาใส่คนทั่ว ๆ ไป ก็ไม่กล้าเพราะเดี๋ยวผิดอาญาแผ่นดินเป็นคดีความติดคุก เมื่อมองไปเห็นวัวก็ไม่กล้าลองวิชาอีก เพราะผิดกฎหมายที่ไปทำลายสัตย์ของคนอื่นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนอีก
แต่ในระหว่างนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินมาพอดี จึงคิดว่าน่าจะเหมาะแก่การลองวิชาดีดลูกกวาด เพราะเห็นว่าพระภิกษุไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีราคา คงไม่กล้ามาต่อสู้หรือโต้แย้ง มีปากมีเสียงอะไร หรือถ้ามีสังคมก็จะประนามพระภิกษุรูปนั้นเองว่าเป็นพระอย่าไปยึดติด ต้องปล่อยวาง ต้องให้อภัย แม้จะเป็นการปกป้องสิทธิของตนก็ตาม จึงตัดสินใจลองวิชากับพระภิกษุรูปนี้ ด้วยการดีดลูกกวาดใส่พระภิกษุรูปดังกล่าวจนหูทะลุในที่สุด”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การได้ร่ำเรียนศิลปวิทยามีความรู้ เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องนำความรู้นั้นไปใช้ในทางกุศล หรือประกอบการงานทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ แต่ในทางกลับกันถ้าใช้ความรู้ความสามารถนั้นไปกลั่นแกล้ง หรือทำให้เกิดโทษต่อบุคคลอื่นก็ย่อมได้รับผลกรรมนั้น
ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า สานิ กมฺมานิ นยนฺติ ทุคฺคตึ กรรมชั่วของตนเอง ย่อมนำไปสู่ทุคติ
สำหรับตอนต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องสำนักงานพุทธฯ โอนงบให้ ป.ป.ช., สำนักงานศาลยุติธรรม, และสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ, พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ฯ หรือไม่ และการดำเนินการของสำนักงานพุทธฯ ต่อคณะสงฆ์ ตลอดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
บทความพิเศษตอนที่ ๖ “จิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ และวิเคราะห์ฎีกา ๖๗๘๒/๒๕๔๓ กรณีลาสิกขาต่อหน้าพระพุทธรูป พร้อมเสนอการแก้ไขปัญหา ม. ๒๙ พรบ คณะสงฆ์ ๒๕๐๕” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์ จากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ (นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒)