“จิตคิดนอกกาย”

โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

ปัญหาความวุ่นวายทั้งใจและกายในสังคมปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคู่สามีภรรยาคิดนอกใจกัน​  ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและผู้หญิงที่ออกตามข่าวสารในแต่ละวัน​ 

เห็นแล้วสะเทือนใจคนทุกวันนี้​ ยิ่งก้าวสู่โลกแห่งความเจริญก้าวหน้ายิ่งละเลยความดีศีลธรรมขาดหายไปหมด  เพราะการเจริญทางวัตถุอำนวยความสะดวก​ อาจจะเผลอเรอความขี้เกียจ​ ความเห็นแก่ตัว​  ความโลภ​ ความโกร​ธ ความหลง​ อิจฉาริษยา​เข้ามาครอบงำจิตใจได้

ความเจริญก้าวหน้ามันดีไหม​ … คำตอบคงจะเหมือนกันทั้งหมดว่า​ “ดี”  ส่วนผู้เขียนก็ไม่เคยปฏิเสธเรื่องความเจริญทางวัตถุ​  ความคิดส่วนตัวคือ​ ความเจริญทางด้านวัตถุควรมีขอบเขตของธรรมกำกับไว้ด้วยจะส่งผลดีต่อตนและผู้อื่น

ธรรมข้อหนึ่งที่สามารถช่วยเราได้จากปัญหาดังกล่าวเบื้องต้นนั้น​นั่นคือ​

“ความซื่อสัตย์หรือมีสัจจะ”  

หมายความว่า  จริงใจ​ ซื่อตรง​ เข้าอกเข้าใจ​ เอาใส่กันและกัน​  เอาใจเขามาใส่ใจเรา​ ไม่หลอกลวง​  จงรักภักดี ให้เกียรติ​ เคารพ นี้เป็นขอบข่ายที่จะทำให้อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขระหว่างคนสองคน

สาระสำคัญจะให้ทุกคนเป็นไปได้ดั่งใจตนทุกคนคงเป็นได้ยาก​  แต่สิ่งที่ง่ายกว่าคือ​ “ให้เราปรับจิตปรับใจให้เข้ากับเขาจะง่ายกว่าที่ให้เขามาเป็นดั่งใจตนเสียอีก”

เคยได้ยินแต่คำว่า​ “คิดนอกใจ”  ครั้งนี้มาดูว่า​ “จิตคิดนอกกาย”  เป็นอย่างไรบ้าง​ ?

จิตคิดนอกกาย​ คือ​ ความคิดที่คิดไม่ซื่อสัตย์ต่อกายของตน​ ร่างกายนี้  ลองสังเกตถามตนว่า​ วันหนึ่งๆ​ เราเคยคิดที่เอาจิตมาเฝ้าดูกายอย่างมีสติแบบจริงจังบ้างไหม​  หรือมีความรู้สึกตัวจริงๆ ที่กายหรือยัง

ส่วนมากเราใช้จิตคิดเรื่องคนอื่นมากมาย​ เช่น ​เรื่อง​สามีภรรยาไปกับใคร​ หึงหวงจนเกินเหตุ​ จนตนกลับมาทุกข์ใจเอง​ เรื่องลูก​ เรื่องหน้าที่การงาน​ เป็นต้น​ 

ทั้งหมดทำให้ตนเองทุกข์ใจ​ เพราะความคิดออกนอกกาย​ คิดไปหากายอื่น​ (แบกสังขารหรือขันธ์​ ๕​ ตนยังหนักไม่พอ​ ต้องดิ้นรนไปแบกสังขารคนอื่นเพิ่มขึ้นก็ยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจิตขาดความซื่อสัตย์ต่อกาย​สังขารตน)​

ภาษาบ้านๆ คือ “ตนเองยังดูตัวเองไม่ได้​ ยังไปรับเอาคนอื่นมาดูแลเป็นภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นอีก​ ”

การไม่ให้จิตคิดนอกกาย​ด้วยวิธีการฝึกฝนจิต​ โดยรูปแบบการเจริญสติสัมปชัญญะ​  ความรู้สึกตัว​  ให้สังเกตดูที่กายเคลื่อนไหวรู้ที่อาการการเคลื่อนไหวของกาย

ความคิดที่คิดมากจนหนักปวดหัว​ ไปยึดมั่นในความคิดว่าเป็นจริงเป็นจัง

เราให้ความสำคัญกับเรื่องความคิดที่เป็นทุกข์ยิ่งทุกข์​  ยิ่งแบกยิ่งหนัก​ หนักความคิด​ คิดหนัก​ ไม่ปล่อยความคิดยิ่งหนัก จากหนึ่งกลายเป็นสอง​ สาม​วัน​ ไปเรื่อยๆ​ จนกว่าจิตมันจะปล่อยวาง​ เรื่องนี้​  หรือเปลี่ยนให้ความจิตนี้ไปทำเรื่องใหม่บ้าง​ อย่าจมปักกับความคิดเดิมๆ​ แล้วมันก็จะคลายจากความคิดเรื่องเก่านั้น​ 

เมื่อคลายจากเรื่องความคิดที่ทุกข์ใจแล้ว​ พยายามประคับประคองจิตที่เป็นปกติสุขสบายใจใจเบาโล่งไปเรื่อยๆ​  แต่จิตจะมีขึ้นมีลง คิดดีบ้าง​ คิดไม่ดีบ้าง​ เฉยๆบ้าง​ มันเป็นปกติของธรรมชาติของจิต​ เราเป็นเพียงผู้รับรู้มันเฉยๆ​ ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นเขา​ เพียงแค่รู้อาการของจิตที่เกิดขึ้น​ รู้สึกตัว​มากๆ​ ไปเรื่อยๆ

ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท​ หากมีการลืมเนื้อลืมตัว​ ขาดสติแล้วสามารถทำผิดได้อย่างไม่เกรงกลัวต่อบาป​เพียงแค่เสี้ยววินาที​ สิ่งที่ทำไปอาจจะเปลี่ยนชีวิตให้ตกต่ำได้​ เพราะความเผลอเลอขาดสตินั้นเอง​

"จิตคิดนอกกาย" จาริกธรรมอเมริกา ตอน ๙ โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย
“จิตคิดนอกกาย” จาริกธรรมอเมริกา ตอน ๙
โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย

ดังนั้น​  ความคิดนอกกาย​  รู้ว่าคิดนอกกายแล้ว​ ปล่อยมันไปกลับมารู้สึกตัวที่กาย ตีที่ขาเบาๆ​ บ่อยๆ ครั้ง ​รู้สึกตัวไปด้วย  หรือกลับมาดูลมหายใจเข้าออกเบาๆ​ ที่กายของเรา แล้ว​สติ ความรู้สึกตัว ก็จะกลับมาที่กายนี้​ 

จิตคิดนอกกาย​ โดยการดึงจิตกลับมาด้วยตัวสติหรือความรู้สึกตัวเบาๆ ที่กาย​ ให้ประสานกายใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน​  ให้จิตซื่อสัตย์ต่อกาย​  ใจสั่งให้กายทำดีกายก็ทำตามที่ใจสั่ง​ควบคู่กันไป จะเดินไปด้วยกันควบคู่กันไปฉันและเธอ​ 

สุดท้ายถึงเวลาแยกทางกันคือตาย​ หรือดับ​ ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป​เป็นธรรมดาเท่านี้เอง

“จิตคิดนอกกาย”

โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย

คอลัมน์ ธรรมลิขิต (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย ผู้เขียน พระธรรมทูต ประเทศสหรัฐอเมริกา

“การไม่ให้จิตคิดนอกกาย​ด้วยวิธีการฝึกฝนจิต​ โดยรูปแบบการเจริญสติสัมปชัญญะ​  ความรู้สึกตัว​  ให้สังเกตดูที่กายเคลื่อนไหวรู้ที่อาการการเคลื่อนไหวของกาย”

โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์  อนาลโย ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here